“ ปญฺญา นรานํ รตนํ” -พุทธภาษิต-
ถ้าไม่มีขงเบ้ง หนังสือสามก๊กก็จะลือชื่อว่าเป็นหนังสือที่มีกลศึกลึกซึ้ง หรือเป็นตำราพิชัยสงครามของคนโบราณไม่ได้ ขงเบ้งได้แสดงให้เห็นว่า ปัญญาเป็นแก้วของมนุษย์
ขงเบ้งอยู่ ณ เขาโงลังกั๋ง เมืองซินเอี๋ย แต่ปัญญาของตนแผ่รัศมีไปไกล ทำให้เล่าปี่อุตส่าห์มาเชิญไปเป็นที่ปรึกษา ได้ยศและอำนาจเป็นที่เคารพของคนทั้งหลาย อันผู้มีปัญญานั้น แม้จะอยู่ในที่มืดที่ต่ำอย่างไร ปัญญาก็จะพาตัวผู้นั้นให้สูงขึ้น และสว่างไสวประจักษ์แก่คนทั้งหลายแน่นอน ทำนองท่าน ประเสริฐอักษรได้สดุดีไว้ว่า
"ของดีดีเด็ด เหมือนเพชรเหมือนทองขงเบ้งถือพัดออกรบศึก มีเกวียนเป็นพาหนะ แต่อาวุธอันสำคัญของขงเบ้งอยู่ในสมอง ปัญญาวุธของขงเบ้งนี่แหละ ที่โจโฉต้องครั่นคร้าม ที่จิวยี่ต้องรากเลือดตาย ที่ข้าศึกผู้มีกำลังต้องพ่ายแพ้พินาศ
ขงเบ้งเอาชนะข้าศึกได้รวดเร็วและสะดวกดาย โดยเปลืองชีวิตทหารน้อยที่สุด โดยลูกเกาทัณฑ์ไม่ต้อง ออกจากแล่งกี่ดอกเลย ปัญญาประหยัดทั้งทรัพย์ ทั้งเวลา และทั้งชีวิตคน
จิวยี่คิดกลจะทำลายขงเบ้งหลายครั้ง แต่ขงเบ้งกลับทำให้จิวยี่ตกหลุมที่จิวยี่เองขุดเอาไว้ทุกครั้งไป ขงเบ้งกระทำการต่าง ๆ อย่างสุขุม เมื่อถึงคราวอับจนก็ไม่ตื่นตกใจ คิดอ่านเปลี่ยนเหตุร้ายให้เป็นดี
ลักษณะที่ดีที่สุดที่แสดงว่าขงเบ้งเป็นผู้มีปัญญา คือมีหัวใจอันบริสุทธิ์ ขงเบ้งไม่เคยคิดทำลายใคร โดยความเกลียดชัง ไม่เคยริษยาคนที่ตนเห็นว่าดีกว่า เช่น กังอุย (เกียงอุย) ซึ่งขงเบ้งยอมรับว่าเป็นผู้มีปัญญา ขณะที่ขงเบ้งมีโอกาสฆ่ากังอุย ในระหว่างที่กังอุยหนีจากเมืองเทียนซุยไปทางเมืองเตียงอันนั้น ขงเบ้งกลับลงจากเกวียนไปเจรจากับกังอุยด้วยคำพูดอันอ่อนหวาน
“เราก็พอใจคบเพื่อนผู้แสวงหาวิชา ก็มิได้เห็นมีผู้ใดมีปัญญาหลักแหลมเหมือนท่าน บัดนี้เรามาพบท่าน ก็มีความยินดียิ่งนัก ท่านไปอยู่กับเราเถิดจะได้ช่วยกันคิดอ่านทำการทำนุบำรุงแผ่นดินให้เป็นสุขสืบไป อย่าให้ เสียทีที่ได้ร่ำเรียนวิชาไว้”
ถ้าเป็นจิวยี่ก็คงฆ่ากังอุยเสียแล้ว
ขงเบ้งตายเพราะถึงอายุชัย เมื่อรบกับสุมาอี้ ณ เขากิสาน แม้ขงเบ้งทราบว่าความตายมารออยู่เฉพาะหน้า ก็ยังมีใจสงบ และอภัยโทษให้แก่อุยเอี๋ยน ซึ่งรีบร้อนเข้ามาแจ้งข่าวแก่ขงเบ้งในโรงพิธีต่ออายุ จนสะดุดโคมเสี่ยงทายดับไป
ขงเบ้งกล่าวว่า “ความตายนี้เป็นบุราณกรรม” ผู้มีปัญญาย่อม ไม่เศร้าโศกในสิ่งซึ่งเป็นไปตามธรรมดาโลก ในขณะเจ็บหนัก ความคิดของขงเบ้งก็ยังมั่นคงอยู่ ได้จัดการต่าง ๆ ล่วงหน้าไว้อย่างเรียบร้อยถูกต้อง ทั้งเมื่อตายแล้วยังออกรบได้
ขงเบ้งผู้ออกรบด้วยพัดเล่มเดียว |
การกระทำของขงเบ้งแสดงให้เห็นความเป็น ผู้มีปัญญาแท้ ขงเบ้งไม่เคยเศร้าใจ ไม่เคยช้ำใจ และไม่เคยให้ใครมาลวงได้ ผู้ที่หวังทำลายขงเบ้ง กลับเป็นทำลายตนเองโดยไม่รู้สึก แม้ขงเบ้งจะอยู่ในเงื้อมมือศัตรู ปัญญาของตนก็เป็นเกราะเพชรป้องกันมิให้อันตรายมาพ้องพาน ผู้มีปัญญาช่างเลิศเสียจริงหนอ
ผู้ต้องการปัญญาจำต้องแสวงหาความรู้ ต้องฝึกฝนตนเอง และจำต้องเล่าเรียนไม่หยุดหย่อน จะต้องเป็นคนรักวิชา ตามหนังสือเราทราบแต่ว่า ขงเบ้งยุ่งอยู่แต่การศึกสงคราม แต่ตอนที่ขงเบ้งจะตายนั้น หนังสือบอก ให้เราทราบว่า ขงเบ้งได้ค้นคว้าหาความรู้เคียงมากับการศึกทีเดียว คือได้คิดแต่งตำราหน้าไม้ ซึ่งยิงได้ที่ละสิบลูก
ปัญญาเป็นทรัพย์ที่ไม่รู้จักสิ้นสุด เป็นอาวุธที่มีอานุภาพ เป็นกำแพงแก้วที่ศัตรูไม่อาจทำลายได้ ปัญญาเป็นถึงเพียงนี้ แต่ปัญญาก็อยู่ในสมองของคนนั่นเอง ไม่ใช่ถุงเงินที่ต้องแบก ไม่ใช่กำแพงที่ต้องสร้าง ไม่ใช่อาวุธที่ต้องถือให้หนักกาย เช่น ขงเบ้งผู้ออกรบด้วยพัดเล่มเดียว
------------
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ "บุคคลภาษิตในสามก๊ก" ผลงานของอาจารย์เปลื้อง ณ นคร หรือนามปากกา ตำรา ณ เมืองใต้
กรุณาแสดงความคิดเห็น