“ความหลอกลวงช่วยในครั้งแรก แล้วทำลายในครั้งหลัง แต่ความสัตย์ช่วยตลอดกาล”
กวนอู ได้ชื่อว่าเป็นผู้ดำรงความสัตย์มั่น อันความสัตย์ของกวนอูนั้น แม้ศัตรูก็ยังสรรเสริญและให้เกียรติยศ เมื่อกวนอูตายแล้ว คนทั้งปวงก็ยังบูชานับถือ ยังมีศาลเจ้ากวนอูจนกระทั่งบัดนี้
เมื่อทหารโจโฉล้อมกวนอูไว้ได้นั้น โจโฉแลเห็นฝีมือกวนอู ก็อยากได้ไว้เป็นทหาร จึงให้เตียวเลี้ยวมาเกลี้ยกล่อม ถ้าลิโป้ได้โอกาสเช่นนี้ก็คงตกลงทันที เพราะเมื่อรอดชีวิตแล้ว จะคิดหนีไปเสียเมื่อใดก็ได้ แต่กวนอูมิได้คิดเช่นนั้น เพราะกลัวจะเสียสัตย์ที่ได้ปฏิญาณไว้กับเล่าปี่ เตียวเลี้ยวได้พยายามพูดเกลี้ยกล่อมอย่างอ่อนหวาน ในที่สุดก็ตกลงกันว่า กวนอูจะยอมไปอยู่กับโจโฉ แต่ก็มีข้อแม้ว่า ถ้ากวนอูได้ข่าวเล่าปี่แล้ว ก็จะกลับไปอยู่กับเล่าปี่ตามเดิม
ขณะที่อยู่กับโจโฉนั้น โจโฉพยายามทำนุบำรุงกวนอูอย่างเต็มที่ และพยายามให้กวนอูทำการทุจริตต่อเล่าปี แต่กวนอูก็คงถือความสัตย์มั่นคง มิได้เห็นแก่ลาภสักการอย่างใดเลย
อย่างไรก็ตาม กวนอูได้ตอบแทนคุณโจโฉ และกระทำงานให้โจโฉด้วยความสุจริต แม้จะไปรบกับอ้วนเสี้ยว ซึ่งในขณะนั้น เล่าปี่ได้ไปอาศัยอยู่ด้วย
เมื่อกวนอูได้ปฏิบัติตามสัญญาที่ได้ให้ไว้กับโจโฉทุกประการแล้ว ก็ได้เขียนหนังสือลาโจโฉแล้วออกไปหาเล่าปี ขณะเดินทาง กวนอูได้ฆ่านายด่านฝ่ายโจโฉที่ขัดขวางเสีย หลายคน ถ้าเป็นผู้อื่นโจโฉคงพยายามจับตัวมาลงโทษจงได้ แต่โจโฉมีความเคารพในความสัตย์สุจริตของกวนอู กลับจัดแจงช่วยให้กวนอูได้ไปโดยสะดวก
โดยอำนาจความสัตย์ กวนอูได้พ้นจากภัยพิบัติหลายครั้ง เช่นตอนเปี๋ยนฮีคิดกลลวงกวนอูไปที่วัดตีนก๊กซือ ก็เผอิญ ให้หลวงจีนเภาเจ๋งบอกให้รู้ตัวเสียก่อน ตอนที่อองเช็งคิดจะทำร้าย ก็บังเอิญให้โฮปั้นแจ้งเรื่องให้รู้ตัว ดังนี้ที่คนโบราณกล่าวว่า เทพเจ้าย่อมคุ้มครองผู้ถือสัตย์นั้น เป็นการถูกต้องแท้
กวนอูตายเพราะถือสัตย์ เมื่อถูกล้อมอยู่ที่เมืองเป็กเสีย นั้น ซุนกวนให้จูกัดกิ๋นมาเกลี้ยกล่อม แต่การเกลี้ยกล่อมคราวนี้ ไม่มีข้อตกลงเป็นข้อแม้กันไว้เหมือนคราวโจโฉ กวนอูจึงไม่ยอม แม้ตนเองรู้ว่าไม่มีทางที่จะรอดพ้นไปได้
กวนอูหนีออกจากเมืองเป็กเสียพร้อมด้วยทหารประมาณร้อยคนเศษ แต่ในที่สุดก็ถูกจับไปให้ชุนกวน แม้ความตายจะมารออยู่ตรงหน้า กวนอูก็ไม่ยอมละทิ้งความสัตย์ที่ได้ให้ไว้กับ เล่าปี่และเตียวหุย ถ้าไม่ใช่เพราะโจหอม ซุนกวนก็คงยกโทษให้กวนอูเสียแล้ว เพราะมีความเลื่อมใสในความสัตย์อันมั่นคงของกวนอู ผู้อ่านจะแลเห็นได้ว่า ผู้มีสัตย์นั้น แม้พญามัจจุราชก็รังรอ
อันความสัตย์ของกวนอูนั้น แม้ศัตรูก็ยังสรรเสริญ |
อำนาจความสัตย์เป็นอำนาจที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่เพียงแต่จับหัวใจคน แม้แต่สัตว์ก็ยังมีความรู้สึกในความสัตย์ซื่อ เมื่อกวนอูตายแล้ว ม้าของกวนอูก็ไม่ยอมกินหญ้ากินน้ำ และตาย ตามเจ้าของไปในไม่ช้า ไม่ยอมให้หลังของมันสัมผัสกับผู้อื่น นอกจากนายของมัน
มนุษย์นั้น แม้จะมีวิสัยอยากหลอกลวงผู้อื่น แต่ก็ไม่อยากให้ผู้อื่นหลอกลวงตน ผู้มีความสัตย์จึงได้รับความนิยมจากมนุษย์ทั่วไป หัวใจมนุษย์โดยธรรมดามีลักษณะสว่างไสวนำมนุษย์ไปสู่แดนแห่งความเจริญ ความหลอกลวงเป็นจุดมืดที่ ทำให้แสงนั้นคล้ำลงทุกที ศาสนาคริสเตียนจึงต้องมีแก้บาป (Confession) ศาสนาพุทธจึงต้องมีปลงอาบัติ เพื่อขับจุดมืดไปเสียจากหัวใจ เพราะถ้าความสว่างแห่งหัวใจดับเสียแล้ว ก็ไม่ต้องสงสัยว่า มนุษย์จะต้องก้าวลงสู่เหวแห่งความหายนะ
ผู้ที่เก็บเอาความหลอกลวงไว้ในหัวใจย่อมไม่มีความสงบ ต้องระแวงระวังอยู่เสมอ เพราะความหลอกลวงนั้นคอยหาหนทางที่จะทลายห้องหัวใจออกมาปรากฏแก่ตาโลก แล้วก็ ทำลายผู้ที่ขังมันไว้เหมือนผีที่ประหารหมอผีที่จับมันมาขังไว้ฉะนั้น
ถ้านักการเมืองจะมีความสัตย์อย่างกวนอู โลกก็จะมีความสงบ ถ้าทุกคนดำรงความสัตย์นั้นแหละคือ อุทัยแห่งศรีอารยยุค
------------
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ "บุคคลภาษิตในสามก๊ก" ผลงานของอาจารย์เปลื้อง ณ นคร หรือนามปากกา ตำรา ณ เมืองใต้
กรุณาแสดงความคิดเห็น