“ความชั่วย่อมเผาผลาญในภายหลัง” - พุทธภาษิต
ตั๋งโต๊ะ เดิมเป็นเจ้าเมืองชีหลง ตั้งตนขึ้นเป็นผู้มีอำนาจ ในเมืองหลวงได้อย่างรวดเร็ว และถึงกาลอวสานก็อย่างรวดเร็ว ถ้าตั๋งโต๊ะจะทำความชั่วให้น้อยลงสักหน่อย ก็คงจะมีชีวิตอยู่ได้อีกนาน
เมื่อตั๋งโต๊ะมีอำนาจแล้ว ได้ทำการหยาบช้า ผิดศีลธรรมอย่างร้ายกาจ น่าขยะแขยงที่จะนำมาบรรยาย ตั๋งโต๊ะ เห็นการฆ่าคนเป็นเกมอันน่าสนุก เอาคนมาตัดแขนตัดขา ใส่กระทะเหล็กตัมทั้งเป็น ๆ เมื่อเห็นคนเหล่านั้นปวดเจ็บครวญคราง ก็หัวเราะยินดี
ตั๋งโต๊ะตัดสินความผิดของมนุษย์ด้วยดาบเสมอ ไม่ว่าผู้เฒ่าผู้แก่ จนกระทั่งลูกเด็กเล็กแดงอันไร้ประสีประสา ก็พลอยได้รับความทารุณจากตั๋งโต๊ะ
ตั๋งโต๊ะทำความเดือดร้อนให้เกิดทุกเส้นหญ้า โดยเผาเมืองลกเอี๋ยงซึ่งเป็นเมืองหลวง แล้วให้ผู้คนอพยพไปอยู่เมืองเตียงอัน เมืองหลวงใหม่
ตั๋งโต๊ะทะนงตนว่า แม้จะทำความชั่วร้ายประการใด ก็ไม่มีใครมาทำอันตรายได้ แต่ในที่สุดกรรมก็ตามทัน ตั้งโต๊ะ ก็ถึงที่สุดโดยฝีมือของลิโป้ ทหารเอกของตนนั่นเอง
ตั๋งโต๊ะทำความเดือดร้อนให้เกิดทุกเส้นหญ้า |
ชีวิตของตั๋งโต๊ะขณะมีอำนาจวาสนา เต็มไปด้วยความชั่วร้ายทารุณ ตั๋งโต๊ะถือว่าอำนาจอยู่ในมือตน ใครเลยจะกล้ามาลงโทษ
แต่ผู้พิพากษาอันไม่มีรูปกายจะต้องลงอาชญาอันแน่นอนแก่ผู้ประกอบกรรมอันชั่วเสมอ แม้ผู้นั้นจะหนีไปสุดมุมโลก จะเอากำแพงแก้วเจ็ดชั้นมาล้อมไว้ ผู้พิพากษาคนนี้จะต้อง คร่าเอาตัวมาลงโทษจนได้
เราฆ่ามดเสียตัวหนึ่ง มดนั้นก็ตายเปล่า ไม่มีญาติพี่น้องของมดหรือใคร ๆ จะมากล่าวโทษว่า เราฆ่ามดผู้ปราศจากความผิด เราทำชีวิตให้ล่วงลับไปชีวิตหนึ่งได้อย่างง่าย ๆ ไม่ต้องกลัวว่าใครจะมาเอาเราไปตัดหัว
แต่ผลแห่งความชั่วเป็นผลอันมีอิทธิฤทธิ์ ไม่มีความชั่วใดที่ทำลงไปโดยไม่มีผลชั่วสนอง ถ้ามนุษย์ลงโทษกันเองมิได้ ธรรมะอันเรื่องฤทธิ์จะเข้ามาเกี่ยวข้อง ธรรมะสั่งให้คนรบกันฆ่าฟันกันล้มตาย เพื่อใช้หนี้ที่มนุษย์ได้ประหารชีวิตสัตว์ซึ่งไร้ความผิด ซึ่งไม่มีปากเสียงจะเรียกร้องความยุติธรรม
ข้าพเจ้าเชื่ออย่างนี้ ฉะนั้นอย่าพึงเชื่อว่าจะเป็นการปลอดภัย ถึงแม้ว่าจะทำชั่วในที่ลับตา หรือถือว่ามีอานุภาพที่จะกำจัดภัยอันตรายที่เกิดจากการกระทำชั่วเสียได้ เพราะความชั่วย่อมต้องเผาผลาญผู้กระทำเสมอและ แน่นอนอย่างที่สุด
------------
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ "บุคคลภาษิตในสามก๊ก" ผลงานของอาจารย์เปลื้อง ณ นคร หรือนามปากกา ตำรา ณ เมืองใต้
กรุณาแสดงความคิดเห็น