“ทุรชน แม้จะอยู่ในที่สูง ก็ต้องตกต่ำทำลาย เหมือนน้ำบนยอดเขา”
อ้วนเสี้ยว ทำการเลวทรามหลายอย่าง จนควรให้นามว่า ทุรชน จะด้วยโชคชะตาหรือความสบเหมาะอย่างใดก็ตาม อ้วนเสี้ยวได้เริ่มบทบาทของตนในที่อันสูง คือเป็นแม่ทัพใหญ่ คุมนายทัพนายกองถึงสิบเจ็ดหัวเมือง แต่อ้วนเสี้ยวไม่ได้ทำความสูงของตนให้ยิ่งสูงขึ้น หรือแม้แต่ทรงเอาไว้ กลับเลื่อน ต่ำลง ๆ จนจมหายไปในที่สุด
งานจอมทัพของอ้วนเสี้ยวเริ่มด้วยความปราชัย ความไร้สติวิจารณ์ ผู้มีปัญญาซึ่งคอยพิทักษ์ตักเตือนอ้วนเสี้ยวด้วยความสุจริตภักดี กลับได้รับความตอบแทนด้วยโช่ตรวนบ้าง คมดาบบ้าง ความดูหมิ่นบ้าง แต่คนทุจริตกลับเป็นคนวิเศษ ไปหมด ในที่สุดทัพสิบเจ็ดหัวเมืองก็แยกจากกันสิ้น
เตียนฮองซึ่งเป็นผู้มีปัญญา และภักดีต่ออ้วนเสี้ยวอย่างยิ่ง อ้วนเสียวก็เอาใส่คุกเสีย เมื่ออ้วนเสี้ยวจะยกไปรบโจโฉ เตียนฮองก็อุตส่าห์แนะนำมาจากในคุกว่า ควรจะตั้งมั่นคอยท่วงทีดีกว่า ถ้าขืนยกไปก็จะพ่ายแพ้แก่โจโฉ
อ้วนเสี้ยวเกือบจะเชื่อ แต่เมื่อฮองกี๋เป่าหูเข้าหน่อยหนึ่งก็กลับโกรธเตียนฮองยิ่งขึ้น อ้วนเสี้ยวแพ้โจโฉสมกับคำเตียนฮองทุกประการ ทั้งนี้หน้าที่อ้วนเสี้ยวจะระลึกถึงคุณ และขอโทษเตียนฮอง กลับพาลฆ่าเตียนฮองเสียเลย การกระทำเช่นนี้เป็นการกระทำของทุรชนแท้
เมื่ออ้วนเสี้ยวเสียผู้มีปัญญาและผู้เข้มแข็งไปหลายคน เพราะความบัดซบของตนเอง ก็หมดรัศมีลงทุกที ในที่สุดก็ตาย ในขณะโจโฉยกทัพมาประชิดเมือง ทิ้งครอบครัวซึ่งกำลังแก่งแย่งกัน และเหล่าบริวารให้ผจญเหตุการณ์ตามยถากรรม
อ้วนเสี้ยวถึงแก่ความตกต่ำเพราะหูเบา |
อ้วนเสี้ยวถึงแก่ความตกต่ำเพราะหูเบา ไม่รู้จักผู้มีปัญญา คบคนทุจริต ถือทิฐิมานะ ทำผิดแล้วไม่ยอมรับผิด ใจโลเลไม่แน่นอน
ลักษณะเหล่านี้เป็นลักษณะของทุรชน ผู้ที่อยู่ในที่สูง แม้มีลักษณะดังนี้เพียงอย่างเดียว ก็จะต้องล้มทำ ลาย
ต้นไม้ใหญ่รากต้องลึกและแผ่ไปไกล จึงจะเลี้ยงและยึดลำต้นไว้ได้ ผู้ปรารถนาความเป็นใหญ่ก็ต้องคิดลึกและรอบคอบทั้งสองสมัย คือเมื่อยังไม่ได้เป็นใหญ่ และเมื่อได้เป็นใหญ่แล้ว มิฉะนั้นจะต้องล้มครืนเหมือนอ้วนเสี้ยว
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ "บุคคลภาษิตในสามก๊ก" ผลงานของอาจารย์เปลื้อง ณ นคร หรือนามปากกา ตำรา ณ เมืองใต้
กรุณาแสดงความคิดเห็น