ใครจะคาดคิดว่าคนที่ไม่สนโลกอย่าง ซุยเป๋ง จะเป็นยอดนักการทหารไม่แพ้ขงเบ้ง
ซุยเป๋ง เพื่อนสนิทของขงเบ้ง เขาเป็นคนที่เล่าปี่ได้พบระหว่างการเดินทางไปเชิญขงเบ้งที่กระท่อมหญ้า
เล่าปี่เคยเจรจาชักชวนให้ซุยเป๋งมาร่วมงานด้วยกัน แต่ซุยเป๋งปฏิเสธ เพราะเชื่อในหลักการของธรรมชาติที่ทุกสรรพสิ่งล้วน มีเกิด มีดับ ใจความว่า
“ประเพณีแผ่นดินนี้ เกิดจลาจลแล้วก็เป็นสุขเล่า เป็นสุขแล้วก็เกิดจลาจลเล่า เป็นธรรมดามาแต่ก่อน แลซึ่งท่านจะคิดอ่านปราบปรามแผ่นดิน อันถึงกำหนดจลาจลแล้วให้กลับเป็นสุขนั้น เกลือกจะไม่สมความปรารถนาก็จะป่วยการเปล่า อันเกิดมาเป็นคนทุกวันนี้ก็สุดแต่บุญแลกรรม จะหักวาสนานั้นไม่ได้”
การสนทนาในครั้งนี้ ทำให้หลายคนเชื่อว่า ซุยเป๋งเป็นนักปราชญ์ชั้นเซียน ที่เข้าใจหลักการธรรมชาติ ไม่สนใจการเมืองการทหาร บ้างก็ยกย่อง แต่บ้างก็เหยียดหยัน
ทั้งนี้ ผมได้เคยเขียนบทความเรื่อง "ซุยเป๋ง : ไทยเฉย Idol" ไว้นานหลายปีแล้ว และยกย่องในมุมมองเชิงปรัชญาของซุยเป๋ง ที่มองสถานการณ์บ้านเมืองได้อย่างทะลุปรุโปร่ง
ไม่ฝืนทำอะไร ที่สุดท้ายจะกลายเป็นการเพิ่มความวุ่นวายให้ประเทศชาติ
และจากที่เคยคิดว่าซุยเป๋งแค่เข้าใจโลก แต่ตอนนี้ต้องปรับมุมมอง ความคิดใหม่ เพราะจริง ๆ แล้ว ซุยเป๋ง เก่งรอบด้าน ไม่แพ้เพื่อนสนิทอย่าง ขงเบ้งเลย
เตียงจั๋วติ่น กระบวนศึกงูเลื้อย
ความเชื่อเดิม ๆ ของผมถูกเปลี่ยนไปเพราะ ระหว่างการจัดทำ eBook สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 83 ได้อ่านทบทวนการรบระหว่าง เกียงอุยกับเตงงาย และสะดุดตาที่ชื่อคน ๆ หนึ่ง "ชีจิ๋ว"
เหตุการณ์ในตอนนี้ เกียงอุยได้ประลองสติปัญญาการจัดกระบวนทัพกับเตงงาย
เกียงอุยจัดทัพเป็นแปดกอง ประกอบด้วย กองทัพรูปมังกร เสือ พญานาค นก เมฆ เดือนตะวัน ลม และดิน แต่ถูกเตงงายแก้ไขกลได้ จึงหยั่งเชิงให้เตงงายเดินเข้ามาในค่ายกล
เมื่อเตงงายเข้ามาในค่ายกล เกียงอุยก็ปรับกองทัพใหม่ จากแปดกองเป็นกองทัพรูปพญานาคตัวใหญ่ ทำให้เตงงายถูกล้อม จนไม่สามารถหาทางออกได้
ระหว่างที่เตงงายทอดถอนใจ เตรียมรับความพ่ายแพ้ สุมาปอง แม่ทัพใหญ่ที่ยกทัพตามมาก็ตีค่ายกลของเกียงอุยแตกและช่วยเหลือเตงงายออกมาได้สำเร็จ
เมื่อออกมายังที่ปลอดภัยแล้ว เตงงายได้ถามสุมาปองว่าท่านแก้กลนี้ได้อย่างไร
ในหนังสือสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน) เขียนไว้ว่าสุมาปองตอบดังนี้
"เมื่อข้าพเจ้าเด็กอยู่นั้น ได้ไปเรียนวิชา ณ เมืองเกงจิ๋วแลเมืองลกเอี๋ยง ชีจิ๋ว กับ เปงเจือกองง่วน ซึ่งเป็นเพื่อนรักของขงเบ้งบอกกลศึกอันนี้ให้ข้าพเจ้า กระบวนศึกซึ่งเกียงอุยกลายออกนั้นชื่อเตียงจั๋วติ่น ภาษาไทยว่ากระบวนศึกงูเลื้อย ถ้าผู้ใดไม่รู้ถลำเข้าไปก็เสียที ข้าพเจ้าเข้าใจเห็นว่ากระบวนศึกนั้นตั้งศีรษะข้างทิศตะวันตก ข้าพเจ้าจึงตีตรงเข้าไปตัดศีรษะเสียก่อน"
อ่านถึงตรงนี้ ผมก็สะดุด เพราะไม่รู้ว่าทั้ง ชีจิ๋ว กับ เปงเจือกองง่วน เป็นใคร ?
ผมจึงต้องไปหยิบหนังสือสามก๊กหลาย ๆ เวอร์ชั่นมาเทียบเคียง ทั้ง สามก๊กฉบับภาษาอังกฤษของบริวิท เทเลอร์ และ สามก๊กฉบับแปลใหม่ของวรรณไว พัธโนทัย
จึงพอได้คำตอบว่า ชีจิ๋ว กับ เปงเจือกองง่วน คือ ซุยเป๋ง และโจ๊ะก๋งหงวน (Cui Zhouping and Shi Guangyuan) เพื่อนร่วมก๊วนของขงเบ้งนั่นเอง
และทำให้รู้ว่ากลยุทธ์ทางการทหารอย่าง "เตียงจั๋วติ่น" กระบวนศึกงูเลื้อย อันซับซ้อนของขงเบ้ง ไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรงหรือแปลกใหม่ของ ซุยเป๋ง เลย
ซุยเป๋ง คือ ชีจิ๋วเปง
ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าหนังสือสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน)แปลผิด แต่เป็นเพราะการแก้ไขดัดแปลงมาหลายครั้งจนผิดเพี้ยนไป ของราชบัณฑิตยสภา ทำให้เรียงคำสลับกัน
เพราะเมื่อผมเปิดเทียบกับ "สามก๊กฉบับโรงพิมพ์หมอบรัดเลย์" สุดยอดหนังสือสามก๊กที่จะมีค่าดั่งทอง ซึ่งเป็นฉบับที่ใกล้เคียงกับต้นฉบับดั้งเดิมมากที่สุดก็พบว่า
ในฉบับโรงพิมพ์หมอบลัดเลย์ เขียนเป็น "ชีจิ๋วเปง กับ เจือกองง่วน" ซึ่งก็ตรงกับชื่อในภาษาอังกฤษว่า Cui Zhouping และ Shi Guangyuan
นี่จึงพอทำให้เข้าใจได้ว่า ทีมงานแปลของเจ้าพระยาพระคลัง(หน) มีหลายคณะ และเรียกชื่อคนเดิม ๆ ไม่ตรงกันจาก ซุยเป๋ง มาเรียกชื่อเต็มตามภาษาจีนเป็น ชีจิ๋วเปง
หนำซ้ำการผู้คัดลอกในรุ่นหลัง ๆ ยังสับสน นำคำว่า "กับ" มาคั่นกลางชื่อ ชีจิ๋วเปง เสียอีก จึงยิ่งผิดเพี้ยนไปกันใหญ่
ดังนั้น ใครมีสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน) เล่มที่ตีพิมพ์ใหม่ ๆ อย่าลืมกลับไปแก้คำในตอนนี้ให้ถูกต้องด้วยนะครับ
แต่สาระสำคัญที่ได้จากการพบจุดบกพร่องนี้คือ
ความรู้ใหม่ที่ว่า ซุยเป๋ง ไม่ได้เป็นแค่ผู้รู้ทางโลกธรรม แต่เขายังเป็นนักการทหาร ที่วางหมากกลได้อย่างแยบยล
เกียงอุยเป็นศิษย์เอกของขงเบ้ง ตั้งค่ายกลที่ได้รับการถ่ายทอดจากขงเบ้ง จนเกือบเอาชนะเตงงายได้สำเร็จ
แต่สุมาปอง ซึ่งได้เคยเรียนรู้เรื่องกลทัพจาก ซุยเป๋ง ก็สามารถแก้กลของขงเบ้งนี้ได้อย่างง่ายดาย
นั่นแสดงว่า ซุยเป๋ง เก่งไม่แพ้ขงเบ้ง และไม่ใช่แค่ ไทยเฉยธรรมดา ๆ !!!
กรุณาแสดงความคิดเห็น