ชีวิตคนในโลกยุคใหม่...มีทางเลือกทางรอดมากมายครับ... จะนั่ง “ดื่มสุราร้องขับศัพท์บรรสาน”...รอวันตาย...ตามแบบโจโฉไปทำไมมี.
“ดื่มสุราร้องขับศัพท์บรรสาน ชีวิตคนจะยืนนานสักเพียงไหน”4 ก.พ.63 'กิเลน ประลองเชิง' สื่อมวลชนอาวุโสของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ได้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องสามก๊กเปรียบเทียบกับสถานการณ์บ้านเมืองไทยในคอลัมน์ชักธงรบ เรื่อง 'ลำนำเพลง โจโฉ'
เนื้อหาในบทความกล่าวถึงบทลำนำของโจโฉ ตัวละครเอกของเรื่องสามก๊ก ที่ร้องเพลงขับกล่อมไพร่พลก่อนทำศึกออกรบในยุทธนาวีผาแดง ซึ่งในศึกครั้งนั้นกองทัพของโจโฉพ่ายแพ้ทั้งกลอุบาย และแพ้ด้วยโรคภัยตามธรรมชาติ แล้วปิดท้ายให้ชวนคิดกับสถานการณ์ 'ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่'
อ่านแล้วได้ทบทวนเรื่องสามก๊ก พร้อมได้ข้อคิดอันลุ่มลึก จึงต้องขอบันทึกไว้และแบ่งปันกันครับ
ชักธงรบ : ลำนำเพลง โจโฉ
ในหนังสือ 101 คำถามสามก๊ก (หลี่ฉวนจวิน เขียน ถาวร สิกขโกศล แปล มติชน 2556) คำถามที่ 100 ถามว่า ทำไม ปัญญาชนยุคสามก๊ก จึงมีความคิดว่า ควรหาความสุขให้ทันเวลา “ดื่มสุราร้องขับศัพท์บรรสาน ชีวิตคนจะยืนนานสักเพียงไหน”ผู้รู้เรื่องจีน รู้ดี ลำนำเพลงสั้น จีนเรียก ต่วนเกอสิง บทนี้ ฝีมือโจโฉ (ทวีป วรดิลก แปล)
ลำนำเพลงสั้นเป็นเพลงประเภทร้องคลอดนตรี บันไดเสียงผิง ในร้อยกรองบทลำนำเพลงสั้นของโจผี มีข้อความวรรคหนึ่ง “ลำนำเพลงสั้นเสียงเบาไม่ทอดยาว” คงเป็นเพลงพรรณนาอารมณ์ที่เสียงต่ำเบา
สาระสำคัญในบทกวีของโจโฉ...หวังว่าจะมีคนเก่งจากทุกสารทิศมาร่วมงานใหญ่รบร่วมแผ่นดินกับตน ลำนำเพลงสั้นบทนี้ แม้เป็นความกระหายอยากได้คนเก่ง แต่ก็มีพลังยิ่งใหญ่ดึงดูดใจผู้อ่านมากที่สุด
โจโฉ |
เช้าไม่อาจประกันได้ว่าจะรอดไปถึงค่ำ
ตั๋งโต๊ะ ซัวหยง อ้องอุ้น ล้วนพบจุดจบอย่างรวดเร็วไปในการช่วงชิงอำนาจ ปัญญาชน ผู้มีชื่อเสียง วิ่งหาที่พึ่งไปอยู่กับผู้มีอำนาจ แต่ก็ยากจะรักษาชีวิตไว้ได้ ขงหยง เอี้ยวสิ้ว จีคาง ล้วนถูกประหาร
ส่วนปัญญาชน ชนชั้นล่าง และชาวบ้าน ยิ่งไร้ที่พึ่ง ต้องร่อนเร่บ้าง ตายบ้างกลางถนน ในยุคจลาจลนี้ มากมายประมาณมิได้ โจโฉกล่าวไว้ในกวีนิพนธ์บทหนึ่ง...“กระดูกขาวพราวทุ่งถิ่น พลันลี้สิ้นเสียงไก่ขัน”
เป็นสภาพอันน่าสลดรันทดใจ
นอกจากไฟสงคราม ผู้คนยังต้องหวาดผวากับโรคระบาด ที่เกิดติดต่อกันเป็นแรมปี
ตลอดปลายราชวงศ์ฮั่น ต่อเนื่องถึงราชวงศ์วุ่ย ราชวงศ์จิ้น ในพงศาวดารมีการจดบันทึกข้อความประเภท “เมืองหลวงเกิดโรคระบาดใหญ่”
แถบจิ่วเจียง หลู่เจียง เกิดโรคระบาดใหญ่ในมณฑลเก็งจิ๋ว เมืองอ่วนเซีย ฮูโต้เกิดโรคระบาดใหญ่ ที่เหอซั่ว ก็เหมือนกัน
บทความเรื่องซัวอี้ซี่ ของโจผี กล่าวว่า รัชศกเจี้ยนอาน ปีที่ 22 (ค.ศ.217) เกิดโรคระบาดใหญ่ ทำให้เห็นภาพคนตายยกครอบครัว หรือตายยกตระกูล สังคมเกิดปรากฏการณ์
“ทุกบ้านมีศพสุดโศกา ทุกเคหามีเสียงโศกร่ำไห้”
ปราชญ์ทางอักษรศาสตร์ในกลุ่ม “เจ็ดเธียรเจี้ยนอาน” เฉินเหลิน สี่วก้าน อิงช่าง และหลิวเจิน ล้วนตายเพราะโรคระบาดในคราวเดียวกัน
ด้วยเหตุที่ชีวิตเปราะบางเช่นนี้ ในบ้านเมืองจลาจล คนไม่มีสิทธิ์จะมั่งคั่งสูงศักดิ์ ชีวิตจึงมีค่าควรถนอมสูงสุด ความคิดหาความสุขให้ทันเวลา บทลำนำนั้น ที่โจโฉขับว่า
“ดื่มสุราร้องขับศัพท์บรรสาน ชีวิตคนจะยืนนานสักเพียงไหน”
จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนตระหนัก และแพร่หลายในยุคสามก๊กและในราชวงศ์จิ้น
กองทัพเรือ ของ โจโฉ |
โรคระบาดสมัยดึกดำบรรพ์ คนตายมากเพราะไม่รู้ต้นตอ และวิธีดูแลรักษา...เมื่อมาเกิดในสมัยใหม่...วิทยาศาสตร์การแพทย์ก้าวหน้า อยู่ในบ้านก็แค่ท่องคาถา กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ
ออกนอกบ้านอยู่ในหมู่คนมากๆก็ใส่หน้ากากเข้าหากันเข้าไว้ ...แค่นี้ก็เอาตัวรอดปลอดภัยได้ในระดับหนึ่ง
ชีวิตคนในโลกยุคใหม่...มีทางเลือกทางรอดมากมายครับ... จะนั่ง “ดื่มสุราร้องขับศัพท์บรรสาน”...รอวันตาย...ตามแบบโจโฉไปทำไมมี.
กิเลน ประลองเชิง
กรุณาแสดงความคิดเห็น