มูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต ขอเรียนเชิญผู้ชื่นชอบในศิลปวัฒนธรรมไทยและเรื่องสามก๊กเข้าชม นิทรรศการหมุนเวียน หุ่นกระบอกเรื่องสามก๊ก ตอนโจโฉแตกทัพเรือ ซึ่งจะเริ่มในวันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม 2562 ถึงวันเสาร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563
The Three Kingdoms Puppet Collection
มูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต ขอเรียนเชิญผู้ชื่นชอบในศิลปวัฒนธรรมไทยและเรื่องสามก๊กเข้าชม นิทรรศการหมุนเวียน หุ่นกระบอกเรื่องสามก๊ก ตอนโจโฉแตกทัพเรือ ซึ่งจะเริ่มในวันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม 2562 ถึงวันเสาร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 และจะเปิดทำการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 13.00 - 16.30 น. ณ มูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต เลขที่ 49/1 ถนนสุขุมวิท 63 (ซอยเอกมัย) เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร
งาน นิทรรศการหมุนเวียน หุ่นกระบอกเรื่องสามก๊ก ตอนโจโฉแตกทัพเรือ นี้มีค่าธรรมเนียมการเข้าชม สำหรับผู้ใหญ่ท่านละ 100 บาท นักเรียน นิสิต นักศึกษาในเครื่องแบบหรือแสดงบัตรประจำตัว ท่านละ 50 บาท
พิเศษ สำหรับสถาบันการศึกษา หากต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะ ไม่เสียค่าธรรมเนียม กรุณาติดต่อและทำหนังสือแจ้งทางมูลนิธิล่วงหน้าก่อน 7 วัน โทร 0 2392 7754 หรือ 08 7332 5467 (เฉพาะรอบเวลา 11.00-12.00 น.)
เด็กเล็กที่อยู่ในความดูแลของผู้ปกครอง สามารถเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม
รายละเอียดเพิ่มเติม ชมได้ที่เว็บไซต์ มูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต
หุ่นกระบอกเรื่องสามก๊ก ตอนโจโฉแตกทัพเรือ
โดยส่วนตัว ข้าพเจ้าชอบสำนวนการเขียนของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) มาก ทั้งร้อยแก้ว และร้อยกรอง เพราะท่านใช้ภาษาได้กระชับรัดกุม คมคาย มีลักษณะเฉพาะตน และยิ่งเรื่องจีนด้วยแล้ว ท่านวางลีลาออกภาษาได้ลักษณะสำเนียงเป็นจีนสวยงามมาก ทั้งเรื่องสามก๊กเอง ก็จัดเป็นวรรณกรรมเชิงประวัติศาสตร์ และพิชัยสงครามชิ้นเอกของโลกเลยทีเดียว เพราะได้ถูกแปลถ่ายทอดเป็นหลายภาษา จนน่าจะเป็นวรรณกรรมสากล
แม้ว่าสามก๊กจะถูกแปลขึ้นในรัชกาลที่ ๑ แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่า คนไทยรู้จักเรื่องสามก๊กมาก่อนแล้วเป็นอย่างดี อย่างน้อยก็เป็นตำราพิชัยสงครามมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาแล้วเป็นแน่ จะสังเกตได้จากพระราชนิพนธ์เรื่องรามเกียรติ์ ของพระเจ้ากรุงธนฯ นั้น ผิดแผกกับฉบับพระพุทธยอดฟ้าฯ ในตอนที่ยักษ์กับลิงรบกัน พระเจ้ากรุงธนฯ ทรงจัดการการรบตามกระบวนยุทธพิชัยสงครามสามก๊ก มีการซุ่มพล และรบล่อ เป็นต้น เชื่อว่าแม่ทัพนายกองของไทยในอดีตต้องเรียนเรื่องสามก๊กเป็นตำรา และตราบเท่าทุกวันนี้ สามก๊กก็จัดเป็นวรรณคดีไทยที่ต้องศึกษากันในหมู่นักเรียนนักศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนโจโฉแตกทัพเรือ
จากนั้นตั้งแต่เล่าปี่มาอยู่กังแฮไปจนโจโฉแตกทัพเรือ และบทสรุปด้วยจีนไจ้ยอนั้น ข้าพเจ้าจำต้องแต่งเองทั้งสิ้น ฉะนั้น หากว่าบทหุ่นเรื่องนี้ ท่านผู้รู้ท่านใดเห็นขัด มิได้เหมาะสม ก็จงโปรดอดโทษไว้ เห็นเพียงเป็นเครื่องบันเทิงใจก็แล้วกัน เผื่อหากว่าเห็นดี จะจำเอาไปบรรเลงหรือขับร้องเล่นอย่างไรก็ย่อมเป็นสิทธิโดยชอบตามรัฐธรรมนูญ หรือหากจะด่าทอติฉินเป็นข้อหยาบช้า ข้าพเจ้าก็จะอโหสิกรรม มิได้ผูกเวรกันสืบไป
อีกประการหนึ่ง เพลงไทยสำเนียงจีนนี้มีอยู่เป็นอันมาก แสดงให้เห็นถึงอัจฉริยภาพของครูบาอาจารย์ทางดุริยางคศิลป์ของไทย ที่ท่านผูกประพันธ์ขึ้นได้อย่างเหมาะสมกลมกลืน บางเพลง เช่น “กัลยาเยี่ยมห้องทางเปลี่ยน” นั้น “คุณครูบุญยงค์ เกตุคง” ก็ได้แต่งขึ้นจากเพลงพื้นเมืองของจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว ท่านก็นำมาบรรจุไว้ในเรื่องสามก๊กตอนนี้ในบางช่วงบางตอน
ข้าพเจ้าได้นำเอาเนื้อร้องของเก่ามาตัดทอนเพื่อความเหมาะสมแก่การแสดงบ้าง เช่นบทที่ว่า “ชักใบขึ้นกบรอก ให้ล้าต้าออกไปเอาเกาทัณฑ์” ฯลฯ ลูกเล่นเพลงหุ่นทำนองตลกนั้น ข้าพเจ้าได้มาจากคุณครูชื้น สกุลแก้ว เป็นทางจำเพาะ คณะคุณครูเปียก ประเสริฐกุล (บิดาท่าน) ทำขึ้น อีกอันหนึ่งคือ “เพลงหุ่นออกธรณีร้องไห้” นั้น ข้าพเจ้าได้มาจากแผ่นเสียง ๗๘ เรื่องสังข์ศิลป์ชัย ท่านครูหม่อมเจริญร้องไว้กับวงท่านครูจางวางทั่ว
ลูกเล่นบางท่อนของเพลงหุ่น ข้าพเจ้าก็จำมาจากการอ่านทำนองเสนาะของจีน ที่ออกอากาศเสียงตามสายสมัยก่อน แล้วมาปรึกษาคุณครูจำเนียรหาจังหวะใส่ลงไป โดยขอคำจีนจากมารดาของอาจารย์จักพันธุ์ คือคำว่า “เล่งซือเปสี่ไหอ๊วง” (อาจารย์มังกรเป็นเจ้าสมุทรทั้ง ๔) เพลงจีนอื่นๆ ได้รับความกรุณาจากคุณครูบุญยงค์ และคุณครูเชื่อมช่วยกันบรรจุให้ จึงสำเร็จออกมาเป็นหุ่นเรื่องสามก๊กตอนโจโฉแตกทัพเรือ
ฉะนั้น หุ่นเรื่องสามก๊ก ตอนโจโฉแตกทัพเรือ นี้ จึงไม่ใช่หุ่นจีน แต่เป็นหุ่นกระบอกไทยออกภาษาออกสำเนียงจีน บรรเลงด้วยเครื่องปี่พาทย์ไทย ประกอบเครื่องจังหวะจีน ส่วนการดำเนินเรื่องอาจมีที่ผิดแผกจากหนังสืออ่านบ้าง ก็ด้วยเหตุต้องการรวบรัดให้ได้ใจความแต่เพียงในเวลา ๒ ชั่วโมงเป็นเหตุ และในบางตอนก็ขอยืมจากเหตุการณ์ตอนอื่นมาใช้ เพื่อให้ได้ความเร้าใจยิ่งขึ้น ด้วยเห็นว่าถ้อยคำมีโวหารไพเราะกินใจ คือตอนจิวยี่ถ่มน้ำลายรดฟ้าว่า “ฟ้าส่งข้ามาเกิดแล้ว ไฉนจึงให้ขงเบ้งมาเกิดอีกเล่า” ดังนี้ แต่โครงเรื่องทั้งสิ้นแล้ว ก็ยังคงเป็นไปตามหนังสือสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) นั้นเอง
วัลลภิศร์ สดประเสริฐ
ผู้ประพันธ์บทหุ่นกระบอกเรื่องสามก๊ก ตอนโจโฉแตกทัพเรือ
ข้อมูลจากสูจิบัตรการแสดงหุ่นกระบอกสามก๊ก
ตอน "โจโฉแตกทัพเรือ"
กรุณาแสดงความคิดเห็น