คนตอแหลแค่รอดตัว สุดท้ายไม่พ้นตาย
ผิดกับคนที่มีความจงรักภักดีดีรู้คุณคนเป็นที่ตั้ง ย่อมได้รับการสนองตอบในทางที่ดี
ทำไปเถอะความดี แม้คนไม่เห็นเทวดาท่านก็ยังเห็นอยู่ อย่าท้อที่จะทำดีเด๊อพี่น้อง
ทำไปเถอะความดี แม้คนไม่เห็นเทวดาท่านก็ยังเห็นอยู่เราทราบกันดีว่าวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์จีนเรื่อง “สามก๊ก” นั้น ก๊กทั้งสาม ประกอบด้วย “ง่อก๊ก”(ซุนกวน) “วุยก๊ก”(โจโฉ) และ “จ๊กก๊ก”(เล่าปี่)
แต่ยังมีก๊กตัวแปรที่น่าสนใจอีกก๊กหนึ่ง คือก๊กของ “เตียวฬ่อ” เจ้าเมืองฮันต๋ง เปรียบได้กับเกมการเมืองที่พรรคการเมืองใหญ่ แม้ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับต้น ๆ มีสิทธิ์ที่จะได้ขึ้นบริหารประเทศ แต่คะแนนเสียงยังไม่เป็นที่ชี้ขาดถึงเสถียรภาพการเป็นรัฐบาลพรรคเดียวได้ พรรคขนาดกลางจะมีราคาขึ้นมาทันที
จะมีสร้อยสนกลใน ในการต่อรองอะไรกันนั้นก็ค่อยว่ากันอีกที “เตียวฬ่อ” ก็เช่นเดียวกับพรรคตัวแปร
.....
ม้าเฉียวกับหันซุย |
หลังจาก “ม้าเฉียว” พ่ายกลศึกกระดาษเปล่า ซึ่ง “โจโฉ” ยุให้ “หันซุย”ที่เป็นกุนซือผู้ใหญ่ของ “ม้าเฉียว” แตกคอกันสำเร็จ เป็นเหตุให้ “ม้าเฉียว” ต้องหนีตายมาอยู่กับ “เตียวฬ่อ” ณ เมืองฮันต๋ง พร้อมด้วยสหายร่วมรบนั้นคือ “บังเต๊ก”
“ม้าเฉียว” เมื่อเข้าอยู่กับ “เตียวฬ่อ” ก็มีความจงรักภักดีอาสาเป็นทัพหน้าเพื่อรบกับกองทัพของ “เล่าปี่” ซึ่งตอนนั้น “เล่าปี่” กำลังขยายอาณาจักรมา ณ เมืองเสฉวน แต่ก็ติดอยู่ที่ “เล่าเจี้ยง” เจ้าเมืองเสฉวนเป็นแซ่เดียวกัน เกรงคำครหาจึงยังไม่คิดที่จะเข้ายึดครองเสฉวนตามแผนการที่เหล่ากุนซือวางไว้ให้
เมื่อเกิดศึกระหว่าง “เมืองฮันต๋ง” กับ “เมืองเสฉวน” “เล่าปี่” จึงอาสาทัพเพื่อช่วย “เล่าเจี้ยง” ให้พ้นภัย
“ม้าเฉียว” อาสา “เตียวฬ่อ” สู้ศึกกับฝ่าย “เล่าปี่” อย่างถึงพริกถึงขิง จวนเจียนที่จะตี “เล่าปี่”ให้แตกพ่ายหลายครั้ง จน “เล่าปี่”ถึงกับออกปากชมว่า “ม้าเฉียว” มีความเข้มแข็งยิ่งนักสมกับเป็นลูกของขุนศึก นั่นคือ “ม้าเท้ง”ทหารเสือผู้แข็งแกร่งและเคยลงรายมือชื่อกับ “เล่าปี่” และคณะเพื่อจะกำจัด “โจโฉ” ตามราชโองการเลือดของ “พระเจ้าเหี้ยนเต้”
เล่าเจี้ยง |
“เล่าปี่” รู้ว่า “ม้าเฉียว” เข้าร่วมทำการกับ “เตียวฬ่อ” ด้วยความจำใจเนื่องเพราะยังไร้ที่อยู่เป็นหลักแหล่ง อีกทั้ง “ม้าเฉียว” อาจจะยังไม่ทราบเรื่องที่พ่อได้ลงรายมือร่วมกับ “เล่าปี่” เพื่อกำจัด “โจโฉ” จึงอยากได้ “ม้าเฉียว”มาอยู่ด้วยเพื่อเป็นขุมกำลัง
คณะที่ปรึกษาของ “เล่าปี่” จึงเสนอแนวทางเพื่อให้ “ม้าเฉียว” มาสวามิภักดิ์ว่า ในบรรดาบุคคลใกล้ชิด “เตียวฬ่อ” มีอยู่คนหนึ่งชื่อ “เอียวสง” นิสัยโลภมากเห็นแก่อามิสสินจ้าง ต้องใช้ “เอียวสง” เป็นหมากสำคัญสำหรับเกมนี้
“เล่าปี่” แต่งคนสนิทนำข้าวของเงินทองมากมายไปให้ “เอียวสง” เพื่อใช้ให้ไปเป่าหู “เตียวฬ่อ”ต่างๆนานา เช่น หาว่า “ม้าเฉียว”ไม่ตั้งใจทำศึกบ้างล่ะ หาว่าปันใจบ้างล่ะ
“เตียวฬ่อ” มีหนังสือไปเรียกทัพ “ม้าเฉียว” กลับมาเพื่อวางแผนกันใหม่จะได้มีชัยแก่ข้าศึก ทั้งๆที่ตอนนั้นการสู้รบเป็นไป อย่างสูสี แถมฝ่าย “ม้าเฉียว” ดูจะมีภาษีดีกว่าทัพ “เล่าปี่” ด้วยซ้ำ
เมื่อรับหนังสือเรียกกลับ “ม้าเฉียว”ถือใจซื้อว่าได้รับ อาญาสิทธิ์แห่งการเป็นแม่ทัพมาแล้ว ทัพของตนมีโอกาสใกล้ที่จะเผด็จศึกได้ จึงบอกผู้ถือหนังสือให้กลับไปแจ้ง “เตียวฬ่อ” ว่าจะยังไม่กลับในตอนนี้ ขอทำศึกให้จบเสียก่อน
เมื่อ “ม้าเฉียว” ยังไม่ยอมกลับ “เอียวสง” ก็ยุส่งอีกรอบ “เตียวฬ่อ”ได้ฟังยิ่งควันออกหู เพราะการไม่กลับมาตามคำสั่งกลายเป็นคำตอบในสมมติฐานการปันใจ
“ม้าเฉียว” เพลียใจยิ่งนัก เพราะศึกที่อยู่ต่อหน้านั้นว่าหนัก แต่เงื่อนไขใหม่นั้นหนักขึ้นเป็นทวีคูณ เพราะ “เตียวฬ่อ” ออกคำสั่งให้ไปตีเอา “เมืองเสฉวน” ให้ได้
“ม้าเฉียว” ตกอยู่ในสภาพ “กลับบ่ได้ไปบ่ฮอด จอดพอกระเทิน” จะกลับ “เมืองฮันต๋ง” ไปหา “เตียวฬ่อ” ก็ถูกหมายหัวในความผิดไว้แล้ว จะรบต่อตามเงื่อนไขที่มาใหม่ก็ยากยิ่ง…!!!
สุดท้ายก็มีผู้ชี้ทางสว่างให้ว่า “ม้าเฉียว” ควรไปอยู่กับ “เล่าปี่” เพราะเมื่อครั้ง “ม้าเท้ง” ยังอยู่ ยังเคยได้ร่วมลงชื่อทำการกับ “เล่าปี่” เพื่อกำจัด “โจโฉ”
ถึงตรงนี้ “ม้าเฉียว” คงคิดในใจว่าทำไม่มาบอกช้าจังวุ๊ย!!!
“ม้าเฉียว” เมื่อเข้าอยู่กับ “เล่าปี่” จึงกลายเป็นขุนพลคนสำคัญร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่ เป็นข้าของ “เล่าปี่” จนสิ้นลม
.......
เตียวฬ่อ |
ฝ่าย “เตียวฬ่อ” เมื่อเสีย “ม้าเฉียว” ให้แก่ “เล่าปี่” ไป กลับไม่มีการปัดกวาดบ้านของตัวเอง ไม่รู้จักที่จะสรุปบทเรียน “เอียวสง” ขุนนางสอพลอยังอยู่เป็นหอกข้างแคร่อย่างสบายเฉิบ เมื่อเกิดศึกครั้งใหม่กับ “โจโฉ” จึงเรียกหาขุนนางมาปรึกษาสงคราม “บังเต๊ก” จึงอาสาทำการในสงครามครั้งนี้
“บังเต๊ก” นั้นเป็นนายทหารมากฝีมือ ที่เข้าด้วย “เตียวฬ่อ” พร้อมๆกับ “ม้าเฉียว” แต่คราวที่ “ม้าเฉียว”ออกรบกับ “เล่าปี่” นั้น “บังเต๊ก” ป่วยกะทันหันไม่สามารถออกศึกร่วมได้ จุดนี้เองเหล่าขุนนางทั้งหลายจึงออกปากห้ามว่าไม่มีความเหมาะสมเกรงว่า “บังเต๊ก” จะใช้เหตุนี้หนีทัพเพื่อตามไปอยู่กับ “ม้าเฉียว”
สุดท้าย “บังเต๊ก”ก็หาทางพิสูจน์ตัวเองจนทุกคนมั่นใจว่ามีคุณสมบัติเพียงพอที่จะเป็นแม่ทัพสู้ศึกครั้งนี้ได้
เหตุการณ์ทุกอย่างจึงคล้ายกันแทบจะไม่ผิดเพี้ยน กับเมื่อคราวที่ “ม้าเฉียว” รบกับ “เล่าปี่” เพราะ “โจโฉ”เห็นฝีมือการรบที่อาจหาญของ “บังเต๊ก” อยากได้มาอยู่ร่วมทัพ จึงแต่คนสนิทลอบนำข้าวของเงินทองไปให้แก่ “เอียวสง” เพื่อยุยงให้ “เตียวฬ่อ”หวาดระแวง “บังเต๊ก”
ทุกอย่างเหมือนกันแป๊ะ !!!
สุดท้าย “บังเต๊ก”ก็เผ่นไปอยู่กับ “โจโฉ” และกลายเป็นขุนศึกผู้จงรักภักดีกับ “โจโฉ” จนวันสุดท้ายของชีวิต
......
เอียวสง |
บทสรุปของศึก “เมืองฮันต๋ง” ที่ “เตียวฬ่อ”ได้รบทั้งกับ “เล่าปี่” และ “โจโฉ” สุดท้าย “เตียวฬ่อ” ยอมจำนนแก่ “โจโฉ”
เมื่อ “โจโฉ”ได้เมืองแล้วจึงจัดแจงบ้านเมืองให้อยู่ในความสงบ สั่งย้าย “เตียวฬ่อ” ให้ไปกินหัวเมืองอื่นอันเป็นเมืองรอง “เตียวฬ่อ” ก็ว่าง่ายไม่ขัดใจ ยอมทำตามคำสั่งไป แม้จะอยู่เมืองที่เล็กกว่าแต่ก็ยังดี ที่ยังมีลมหายใจ
ขณะที่ “โจโฉ” จัดแจงบ้านเมืองอยู่นั้น “เอียวสง” เป็นฝ่ายกระหยิ่มยิ้มย่องอยู่ในใจ แถมยินดีด้วยซ้ำที่ “เตียวฬ่อ” ถูกสั่งให้ไปอยู่ที่อื่น เพราะคิดว่าตนได้ทำความชอบใหญ่หลวงทำให้ “โจโฉ” ได้ “เมืองฮันต๋ง” ในครั้งนี้
“โจโฉ” ให้คนเรียก “เอียวสง”เข้ามาหา เมื่อมาถึง ไม่พูดพร่ำทำเพลง “โจโฉ” สั่งประหารเสียเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง และให้เหตุผลการสั่งประหารว่า จะปล่อยให้เป็นหอกข้างแคร่ต่อไปนั้นได้ เพราะเป็นคนไม่ภักดีต่อนาย
คนตอแหลแค่รอดตัว สุดท้ายไม่พ้นตาย
ผิดกับคนที่มีความจงรักภักดีดีรู้คุณคนเป็นที่ตั้ง ย่อมได้รับการสนองตอบในทางที่ดี
ทำไปเถอะความดี แม้คนไม่เห็นเทวดาท่านก็ยังเห็นอยู่ อย่าท้อที่จะทำดีเด๊อพี่น้อง
ปรีชา นาฬิกุล
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นผลงานของคุณ ปรีชา นาฬิกุล จากเพจ "หยิบสามก๊ก มาถกเล่น" ที่แบ่งปันมาให้อ่านเล่นกัน หากนักอ่านท่านใดสนใจบทความสามก๊กดี ๆ เพิ่มเติม สามารถแวะไปเยี่ยมชมได้ ทั้งนี้ต้องขอขอบพระคุณท่านมา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ
กรุณาแสดงความคิดเห็น