การทำงานอย่างหนึ่งอย่างใด เราต้องทำอย่างสุดฝีมือจนเกิดความชำนาญในทักษะนั้นๆ ทักษะชีวิตจะพาเรารอดได้แม้ในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน นาทีเป็นนาทีตาย
การทำงานอย่างหนึ่งอย่างใด เราต้องทำอย่างสุดฝีมือจนเกิดความชำนาญในทักษะนั้นๆ ทักษะชีวิตจะพาเรารอดได้แม้ในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน นาทีเป็นนาทีตาย
วรรคทองในวรรณกรรมสามก๊ก มีผู้หยิบมาเล่ามากมาย วิเคราะห์ในแง่มุมต่างๆอย่างกว้างขวาง การวิเคราะห์ที่หลากหลายย่อมเห็นแง่มุมที่น่าสนใจ เป็นเครื่องเคียงในการอ่านงานวรรณกรรมคลาสสิคได้อีกอย่างหนึ่ง
ครั้งนี้ เรามาวิเคราะห์เหตุการณ์หลัง “โจโฉ”สิ้นลมกันครับ
“โจโฉ” ตายเมื่อตอนอายุหกสิบปี ก่อนตายป่วยหนักเป็นโรคเกี่ยวกับอาการปวดหัวอย่างรุนแรง ชนิดที่แก้อย่างไรก็ไม่ตก แถมก่อนตายมองซ้าย มองขวา ก็เห็นผู้คนที่เคยถูก “โจโฉ” ทำรายจนเสียชีวิตแล้วทั้งสิ้น สิ่งที่เกิดขึ้นนี้น่าจะเป็นผลแห่งกรรมที่เขาได้ก่อไว้ทั้งสิ้น
“โจโฉ” มีลูกชายสี่คน ส่งให้ไปเป็นเจ้าเมืองตามหัวเมืองต่างๆ
“โจผี”
“โจเจียง”
“โจหิม”
“โจสิด”
โจผี |
หลัง “โจโฉ” สิ้นเหล่าขุนนางยกให้ “โจผี” ขึ้นแทน “โจผี” จัดแจงงานศพให้พ่ออย่างสมเกียรติ
“โจเจียง” ที่ได้เป็นเจ้าเมืองอยู่อีกเมืองหนึ่ง ยกขบวนมาเพื่อจะคารวะศพพ่อ อย่างเอิกเกริกมีทหารติดตามมาอย่างมาก ขุนนางใน “โจผี” จึงลงความเห็นว่าขบวนใหญ่มาขนาดนี้ เกรงจะเป็นการยกมาชิงเอาเมือง “โจผี” จึงให้ขุนนางผู้ใหญ่ออกไปว่ากล่าว
“โจเจียง” นึกขึ้นได้ว่าตนมาเอิกเกริกจริงๆ จึงให้ทหารกลับไป แล้วเข้าไปเคารพศพพ่อตามประเพณี
โจเจียง |
น้องของ “โจผี” อีกสองคน “โจหิม” กับ “โจสิด” ไม่ได้มาเคารพศพพ่อ “โจผี” จึงปรึกษาขุนนางว่าต้องสั่งสอน เพราะการกระทำเช่นนี้สื่อว่าเป็นอาการของผู้แข็งเมือง
“โจหิม” ได้ข่าวว่าพี่ชายสั่งทหารยกมาสั่งสอน เกรงความผิดจึงชิงผูกคอตายเพื่อหนีความผิด
“โจสิด” เป็นผู้มีสติปัญญาหลักแหลม เชี่ยวชาญในการร่ายกวี เขียนโครงเขียนกลอน ทุกครั้งที่ “โจโฉ” ออกศึกเขาจะเขียนกวี เขียนโคลงให้กำลังใจ อยู่เสมอ จนเป็นที่รักใคร่ของพ่อ
เมื่อทหารที่ “โจผี” ใช้ให้มาว่ากล่าวถึงความผิด หมายให้จับตัวไปส่งให้ แต่เขาทำใจดีสู้เสือไม่เกรงอาญา แถมไล่ตะเพิดให้กลับไป
“โจผี” จึงให้ทหารอีกชุดมาจับตัวอีกครั้ง เพื่อลงอาญา
เมื่อจับมาได้แล้วครั้นจะชำระความด้วยการสั่งประหารเสียก็เกรงคนครหา
“โจผี”จึงประลองกึ๋นเพื่อให้น้องชายจนมุม จะได้ฆ่าได้อย่างไร้ข้อกังขา
"โจผี" ตั้งโจทย์ให้ "โจสิด"ว่าโคลงกลอน กล่าวถึงความรักความผูกพันฉันพี่น้อง แต่ห้ามมีคำว่าพี่น้องปนอยู่ในนั้น จำกัดเวลา โดยให้เดินไป ว่าไป ภายในเจ็ดก้าว
เหตุที่ตั้งโจทย์มาอย่างนี้เพราะลึกๆแล้ว “โจผี” แอบสงสัยมาตลอดว่า การเขียนกวี โคลงกลอน ต่างๆที่แต่งชมพ่อก่อนออกศึกแต่ละครั้งนั้น “โจสิด” เป็นคนแต่งเองหรือใช้ให้คนอื่นเขียนให้เพื่อประจบพ่อ
โจสิด |
“โจสิด” รับโจทย์มาแล้วตั้งสติมั่นทำตามกติกา จึงว่าโครงกวีออกมา ใจความว่า
“คั่วถั่วเอากิ่งถั่ว เป็นฟืนใส่ไฟ
เมล็ดถั่วในกระทะจะไหม้
ก็เพราะกิ่งถั่วต้นรากอันเดียวกันนั่นเอง
เหตุใดจึงเร่งไฟให้หนักนัก”
จบการร่ายกวี “โจผี” รีบคว้าน้องเข้ามากอด ทั้งสองรักใคร่กลมเกลียวกันยิ่งกว่าเดิม
นาทีเป็นนาทีตายนั้น รอดได้ด้วยทักษะโดยแท้
เรื่องนี้จึงสื่อได้ถึงประเด็นเปรียบการทำงานอย่างหนึ่งอย่างใด เราต้องทำอย่างสุดฝีมือจนเกิดความชำนาญในทักษะนั้นๆ ทักษะชีวิตจะพาเรารอดได้แม้ในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน นาทีเป็นนาทีตาย
ปรีชา นาฬิกุล
กรุณาแสดงความคิดเห็น