ความยั่งยืนของชัยชนะนั้น คือการทำให้คู่ต่อสู้ยอมกราบด้วยศรัทธา ศิโรราบด้วยหัวใจ ถือเป็นชัยชนะที่เหนือกว่าเหนือ อย่างแท้จริง
ความยั่งยืนของชัยชนะนั้น คือการทำให้คู่ต่อสู้ยอมกราบด้วยศรัทธา ศิโรราบด้วยหัวใจ ถือเป็นชัยชนะที่เหนือกว่าเหนือ อย่างแท้จริงจ๊กก๊ก - เล่าปี่
วุยก๊ก - โจโฉ
ง้อก๊ก - ซุนกวน
แผ่นดินจีนถูกแบ่งเป็นสามก๊กใหญ่ๆ เป็นเหตุให้เกิดการพะวงหน้าพะวงหลังกัน
ครั้งหนึ่ง “โจโฉ” เคยขอให้ “พระเจ้าเหี้ยนเต้” แต่งหนังสือให้แต่งตั้ง “ซุนกวน” เป็นขุนนางผู้ใหญ่ เพื่อจะได้เข้าด้วยกับฝ่ายตน
ฝ่าย “เล่าปี่” ที่มี “ขงเบ้ง” เป็นกุนซือรู้ทัน จึงพยายามดึงเอา “ซุนกวน” มาเป็นฝ่ายตน ตัวแปรสำคัญของสามก๊กก็คือก๊กของ “ซุนกวน” นั่นเอง
“เล่าปี่” กับ “โจโฉ” ไม่มีทางที่จะเข้าเป็นหนึ่งเดียวกันได้
ภาพเช่นนี้คล้าย ๆ กับการเมืองบ้านเรา สองพรรคใหญ่ประกาศล่วงหน้า จะไม่ญาติดีกันแน่นอน พรรคการเมืองทั้งกลางเก่ากลางใหม่ หรือพรรคใหม่ถอดด้ามจึงเสนอตัวเป็นทางเลือก นัยว่าจะขอเป็นตัวแปล สร้างราคาไว้ล่วงหน้า
......
เบ้งเฮ็ก |
ครั้งหนึ่ง “ขงเบ้ง” ยกทัพใหญ่ออกจากเสฉวน เพื่อไปปราบ “เบ้งเฮ็ก” เจ้าเมืองมันอ๋อง ซึ่งเป็นแคว้นที่ห่างออกไป เปรียบเทียบง่าย ๆ คือเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่ค่อยจะกินเส้นกัน
เหตุที่ต้องยกทัพไปเพราะ “เบ้งเฮ็ก” และพวกอันประกอบด้วย “จูโพ” เจ้าเมืองโคกุ้น “โกเตง” เจ้าเมืองอวดจุ้น ทั้งสามรวมกันตีเมืองเองเฉียง ซึ่งเป็นเมืองขึ้นในปกครองของเสฉวน
ด้วยความที่ “เบ้งเฮ็ก” เป็นเจ้าเมืองที่อยู่แดนไกล บ้านป่าเมืองเถื่อน ไม่มีกฎกติกาทางสังคมที่ดี “ขงเบ้ง” จึงวางแผนการณ์ไว้ในใจว่าต้องชนะแบบยั่งยืน ให้ศัตรูพ่ายที่หัวใจ
กว่าที่ “เบ้งเฮ็ก” จะยอมจำนนท์สำนึกตนว่าแพ้จริงๆ “ขงเบ้ง” ต้องใช้ความอดทนอย่างมาก จับได้แล้วปล่อย ปล่อยแล้วจับใหม่ ถึงหกครั้ง
ครั้งที่ ๑ เมื่อจับได้ “เบ้งเฮ็ก” อ้างว่ายังไม่ได้ใช้ฝีมืออะไรเลย เหตุที่ถูกจับได้เพราะพ่ายกลศึกที่ “ขงเบ้ง” ลวงให้เข้าไปยังทางแคบ จึงไม่ยอมรับว่าพ่ายแพ้ หากเป็นพื้นที่กว้างๆทุ่งโล่ง ไฉนเลยจะจับเขาได้
“ขงเบ้ง” ก็ปล่อยไป
นอกจากรวบตัว “เบ้งเฮ็ก” ได้ กองทัพ “ขงเบ้ง” ก็จับตัวขุนทหารใหญ่น้อยคนสำคัญหลายราย แล้วปล่อยไป
“เบ้งเฮ็ก” เมื่อได้รับอิสรภาพแล้ว ควบม้าหมายไปตั้งหลักสู้ใหม่ ถึงกลางทางเจอทหารของตน เมื่อถูกถามว่าท่านมาได้อย่างไร “เบ้งเฮ็ก” เกรงเสียฟอร์มก็โม้ใหญ่เชียว บอกทหารว่าแหกคุกออกมาได้ด้วยการฆ่าผู้คุม และแอบเอาม้าจากทัพ “ขงเบ้ง” ขี่มาโก้ๆ แล้วปลุกระดมทหารฝ่ายตนที่ถูกปล่อยตัวมาให้ตั้งทัพเตรียมสู้ศึกอีกครั้ง
ครั้งที่ ๒ “เบ้งเฮ็ก” ถูกนายบ้านซึ่งเดิมทีเป็นฝ่ายของตน จับตัวแล้วส่งให้ “ขงเบ้ง” คราวนี้ก็เช่นเดิม “เบ้งเฮ็ก” ยังยืนยันว่าไม่ได้แพ้ศึกซักกระหน่อย ยังไม่ได้สู้กันสักตั้งจะหาว่าแพ้ได้อย่างไร สรุปยังไม่ยอมรับความพ่ายแพ้
“ขงเบ้ง” ก็ปล่อยไป
.......
ครั้งที่ ๓ “เบ้งเฮ็ก” ไปจนมุมในเรือ เพราะโดน “ขงเบ้ง” ขอดเกล็ดเข้าให้ “เบ้งเฮ็ก” ผนึกกำลังกับน้องชายชื่อ “เบ้งฮิว” จะทำศึกกับ “ขงเบ้ง” ทางเรือ ไปๆมาๆ กลับถูกจับคาลำเรือทั้งพี่ทั้งน้อง
เช่นเคย คราวนี้ข้อแก้ตัวของ “เบ้งเฮ็ก” บอกว่าหากน้องชายไม่เห็นแก่กิน ไฉนเลยจะกับตัวเขาได้
“ขงเบ้ง” ก็ปล่อยไป
การจับกุมครั้งนี้ ทำให้เหล่าแม่ทัพนายกองฝ่าย “ขงเบ้ง” ต่างสงสัยว่าทำไม่ต้องทำเช่นนี้ เปิดศึกได้ทีขนาดนี้แล้ว ทำไมไม่จัดการให้สิ้นซาก จับได้แล้วก็ฆ่าเสียจะได้สิ้นเรื่องไป
ขาซาดิสต์ส่วนใหญ่เห็นว่าอย่างนั้น
“ขงเบ้ง” เรียกประชุมและชี้แจงหมายเอาใจไพร่พลว่า
“เราคิดจะบำรุงแผ่นดิน “พระเจ้าเล่าเสี้ยน” ให้เป็นสุขสืบไปจึงทำการ ทั้งนี้ท่านทั้งปวงซึ่งรบเหนื่อยมิรู้จะน้อยใจว่าจับ “เบ้งเฮ็ก” ได้แล้วสิปล่อยไปเล่า เพราะเราเห็นเหตุว่า “เบ้งเฮ็ก” นี้เป็นเจ้าเมืองบ้านนอกน้ำใจกระด้างกระเดื่องนัก ผิดคนเมืองเรา
จนได้ตัวมาแล้วยังไม่สารภาพแพ้ทีเดียว ซึ่งปล่อยมันไปนั้นเราคิดให้มันกลัวเกรงทั้งภายนอกและภายในให้จงหนักก่อนจึงจะกลับไปได้
ถ้าเอาแต่พอชนะร่อนๆ แล้วกลับไปเมือง จะยกไปทำการด้วย “พระเจ้าโจผี”เล่าดีร้าย “เบ้งเฮ้ก” จะยกไปตีเมืองเรา ท่านทั้งปวงจงอุตส่าห์รบให้ “เบ้งเฮ็ก” รับแพ้แล้วก็จะได้เป็นสุขด้วยกัน”
หลังจากทำความเข้าใจกันแล้ว ขุนศึกทั้งของ “ขงเบ้ง” ก็ไม่ยอมท้อ เร่งทำศึกตามแผนการที่วางไว้ทุกประการ
เมื่อจับได้ครั้งที่ ๔ “ขงเบ้ง” แกล้งทำลองใจ โดยการสั่งให้ทหารนำตัว “เบ้งเฮ็ก” ไปฆ่าเสีย แต่ “เบ้งเฮ็ก” ไม่สะทกสะท้านบอก “ขงเบ้ง” ไปว่าจะฆ่าก็รีบฆ่าไม่เสียดายชีวิต แต่หากยังเสียดายอยู่แค่ว่าไม่ได้สู้กันเต็มไม้เต็มมือที่แพ้นั้นก็เพราะต้องกล
“ขงเบ้ง” เห็นว่าเป็นคนใจเด็ดเดี่ยวมั่นคง กาลภายหน้าหากทำให้แพ้ด้วยใจ “เบ้งเฮ็ก” จะมีความจงรักภักดีไปจนตาย
“ขงเบ้ง” จึงปล่อยตัวไป
......
เบ้งเฮ็กถูกจับ |
ครั้งที่ ๕ คราวนี้ “เบ้งเฮ็ก” หนีไปยังพื้นที่ทุรกันดาร เหล่าทหาร “ขงเบ้ง” ได้รับความยากลำบากยิ่งนัก แถมระหว่างทางเจอลำธารที่เป็นพิษ น้ำในลำธารดื่มกินเข้าไป ทหารเจ็บตายไปหลายราย แต่สุดท้ายผู้ที่ช่วยให้ผ่าน พ้นไปได้จนสามารถจับ “เบ้งเฮ็ก” ได้ใช่ใครที่ไหนก็คือพี่ชายของ “เบ้งเฮ็ก” นั่นเอง
เช่นเคย“เบ้งเฮ็ก” ยังไม่ยอมรับว่าพ่ายแพ้
“ขงเบ้ง” ก็ปล่อยไป
ครั้งที่ ๖ เมื่อจับได้คราวนี้ “ขงเบ้ง” รู้เป็นนัยแล้วว่า “เบ้งเฮ็ก” คงหมดทางสู้และจะรู้สึกระอายใจเป็นอย่างมาก จะยอมแพ้โดยราบคาบ เมื่อจัดการเฉลิมฉลองชัยชนะให้กับเหล่าทหาร แล้วจึงให้นำตัว “เบ้งเฮ็ก” เข้ามากินด้วย แต่ให้นั่งโต๊ะที่ห่างออกไปปลายๆแถว
“ขงเบ้ง” แกล้งใช้ให้คนไปกระซิบ “เบ้งเฮ็ก” ว่าจะปล่อยตัวอีกครั้ง ให้เตรียมตัวได้เลย
“เบ้งเฮ็ก” ครั้นได้ยินทหาร “ขงเบ้ง” กระซิบดังนั้น ก็เกิดความระอายใจขึ้นมาน้ำตาตกเชียวละ เจอดอกนี้เข้าไป รีบวางจอกสุราลง แล้วเดินไปคำนับ พร้อมกล่าวกับ “ขงเบ้ง” ว่า
“ตัวข้าพเจ้าได้กระทำความผิด มหาอุปราชไว้ชีวิตปล่อยไปมิเอาโทษข้าพเจ้าถึงหกครั้ง มหาอุปราชจงอดโทษข้าพเจ้าเถิด แต่นี้ไปเมื่อหน้า ข้าพเจ้ามิคิดคดต่อมหาอุปราชอีกสืบไปเลย”
“ขงเบ้ง” จึงปราบได้อย่างราบคาบบรรดาหัวเมืองที่เคยขึ้นแก่ “เบ้งเฮ็ก” และมาสวามิภักดิ์ต่อ “ขงเบ้ง” ก็ให้อิสระครองเมืองเก่าตามเดิม “เบ้งเฮ็ก” ก็เช่นกัน แถมยังช่วยร่างกฎหมาย วางระเบียบกติกาต่างๆ แปลงจากศัตรูให้กลายเป็นมิตรที่ดี ไม่ทำให้ต้องลำบากใจพะวงหน้าระวังหลังอีก
.....
ขงเบ้งเอาชนะใจเบ้งเฮ็ก |
ชัยชนะครั้งนี้ของ “ขงเบ้ง” ชี้ให้เห็นแล้วว่า ความยั่งยืนของชัยชนะนั้น คือการทำให้คู่ต่อสู้ยอมกราบด้วยศรัทธา ศิโรราบด้วยหัวใจ ถือเป็นชัยชนะที่เหนือกว่าเหนือ อย่างแท้จริง
ปรีชา นาฬิกุล
กรุณาแสดงความคิดเห็น