ประวัติความเป็นมาของเทพเจ้ากวนอู วิธีการเคารพ วิธีบูชาเทพเจ้ากวนอู บทสวดบูชาเทพเจ้ากวนอู ปางบูชาต่าง ๆ ของกวนอู และศาลเทพเจ้ากวนอูในประเทศไทย
"เทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ โชคลาภ บารมี"เทพเจ้ากวนอู ในวรรณกรรมจีนเรื่องสามก๊ก เป็นผู้มีจริยธรรมในด้านความซื่อสัตย์และความกล้าหาญเหนือกว่าผู้ใดในใต้หล้า จึงได้รับการยอมรับ การยกย่องสรรเสริญจากผู้คนทั่วผืนแผ่นดินจีน ทำให้ท่านได้ก้าวข้ามจากการเป็นสามัญชนคนธรรมดา ให้กลายมาเป็นเทพเจ้า
ผู้คนโดยทั่ว ๆ ไป จะเคารพบูชาเทพเจ้ากวนอู ด้วยความดีงาม 4 ประการคือ ความซื่อสัตย์ คุณธรรม ความกตัญญูรู้คุณ และความกล้าหาญ ส่วนในลัทธิเต๋า ก็ยกย่องให้ท่านเป็นเซียนแห่งความจงรักภักดี และพุทธสาสนาฝ่ายมหายานก็ยกย่องท่านให้เป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง เรียกว่า "พระสังฆารามโพธิสัตว์" หรือ "เจียหลานผูซา"
สำหรับประวัติความเป็นมาของท่าน วิธีการเคารพบูชา บทสวด ปางบูชา และศาลเทพเจ้ากวนอูในประเทศไทยนั้น มีรายละเอียดดังนี้
- [message]
- สารบัญ
- 1. วิธีการเคารพบูชา เทพเจ้ากวนอู
2. สิ่งที่ต้องเตรียมเมื่อจะทำการกราบไหว้บูชาเทพเจ้ากวนอู
3. ขั้นตอนในการไหว้ เทพเจ้ากวนอู
4. บทสวด คาถาบูชาเทพเจ้ากวนอูฉบับเต็ม
5. บทสวด คาถาบูชาเทพเจ้ากวนอูฉบับย่อ
6. คำขอพรเทพเจ้ากวนอู
7. วิธีการบูชาและคำบูชาเทพเจ้ากวนอู แบบง่าย
8. ปางต่าง ๆ ของเทพเจ้ากวนอู
9. การจัดวางและการบูชาภายในบ้าน หรือสำนักงาน
10. ศาลเจ้ากวนอูในประเทศไทย
11. วันคล้ายวันเกิดเทพเจ้ากวนอู (กว้านอี้กง-关羽公)
12. ซื้อหาบูชาเทพเจ้ากวนอู
ประวัติความเป็นมาของเทพเจ้ากวนอู โดย ผศ.ถาวร สิกขโกศล
วิธีการเคารพบูชา เทพเจ้ากวนอู
การเคารพสักการะเทพเจ้ากวนอู หรือเทพเจ้ากวนกงนั้น เป็นประเพณีที่นิยมทำกันมานานหลายพันปีแล้ว ซึ่งคติความเชื่อก็จะแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น ไม่ได้มีข้อกำหนดไว้อย่างเคร่งครัดตายตัว แต่ส่วนมาก นิยมสักการะด้วยน้ำชาหรือสุรา รวมทั้งอาหารคาวหวานและผลไม้ในลัทธิเต๋าอาจจะเซ่นไหว้ด้วยอาหารคาวหวาน แต่หากเป็นชาวพุทธนิกายมหายาน จะนิยมเซ่นไหว้ด้วยอาหารเจและผลไม้ และบางครั้งยังมีการเซ่นไหว้ม้าเซ็กเธาว์ ซึ่งเป็นม้าคู่ใจของเทพเจ้ากวนอูด้วยพืชผัก และผลไม้ต่าง ๆ อีกด้วย
วิธีการเคารพบูชา เทพเจ้ากวนอู |
สิ่งที่ต้องเตรียมเมื่อจะทำการกราบไหว้บูชาเทพเจ้ากวนอู
- ธูป 3 ดอก
- เทียนแดง
- ตั่วกิม หรือ คอซี้ (กระดาษทองขอบทองสีส้ม เป็นรูปทองแท่งและเงินจีน) พร้อมธง 1 ชุด
- เง็งเตี๋ย หรือ หงิ่งเตี๋ย/งิ่งเตี๋ย (กระดาษเงิน กระดาษทอง) 12 แผ่น
- เพ้ากวนอู (เสื้อผ้า เครื่องทรงกระดาษเจ้าพ่อกวนอู 1 ชุด)
- ซาแซ หมู ปลา เป็ด ห้ามใช้ไก่
- ผลไม้ 3 ชนิด แต่ควรมีส้ม 5 ใบ
- พวงมาลัย
- น้ำชาและสุราอย่างน้อย 3 ถ้วย
- น้ำมัน 1 ขวด
สิ่งที่ต้องเตรียมเมื่อจะทำการกราบไหว้บูชาเทพเจ้ากวนอู |
ขั้นตอนในการไหว้ เทพเจ้ากวนอู
ปกติแล้วนั้น ควรเคารพสักการะท่านทีกง (พ่อปู่ฟ้าหรือ ปู่สวรรค์) ก่อน แล้วจึงไหว้พระประธานในศาลเจ้านั้น ๆ แต่หากทำการกราบไหว้บูชาท่านที่บ้าน ก็ให้ทำได้เลยให้เตรียมจัดของไหว้ทุกอย่างด้วยความประณีต มีจิตตั้งมั่น มีสมาธิ ไม่ต้องรีบร้อน เช็ดจานชามให้สะอาด ก่อนจะจุดธูป 3 ดอก และเทียนแดง แล้วกล่าวคำอวยพร และอย่าลืมเติมน้ำมันในตะเกียงด้วย รอจนธูปหมดดอกจึงลากระดาษไหว้และนำไปเผา แล้วเก็บของไหว้กลับมารับประทานเพื่อความเป็นสิริมงคล
นอกจากนี้ทุกวันที่ 13 เดือน 5 ของทุกปีตามปฏิทินจีน ถือเป็นวันคล้ายวันเกิดของเทพเจ้ากวนอู ก็จะมีการกราบไหว้บูชาท่าน ตามประเพณีที่สืบทอดต่อกันมา ตั้งแต่ในอดีตกาล
ขั้นตอนในการไหว้ เทพเจ้ากวนอู |
บทสวด คาถาบูชาเทพเจ้ากวนอูฉบับเต็ม
เสิน ปิง ฮั่ว จี๋ หยู เสิน ลิ่ง ฝ่า หมึน ตี้ จื่อ จวน ไป้ ฉิ่งกวน เซิ่น ตี้ จวิน ซู่ เจี้ยง หลิน ซาน กั๋ว จือ สือ หลง หู่ เจียง
อวี้ ตี้ ชื่อ อู๋ โซ่ว เทียน หมึน อู๋ เฟิ่ง อวี้ ตี้ ชิง ชื่อ จื่อ
อิ๋ว เต้า เหลิน เจียน จิ้ว ว่าน หมิง เทียน ปิง เม่ง เจียง สุ่ย อู๋ จวน
ลิ่ว ติง ลิ่ว เจี่ย จีย อู๋ หมิง เซิน ฉี ชื่อ หม่า อิ๋ว วื่อ เจีย
อิง เซี้ยง เม่ง เจียง เพียน เทียน เซี้ย เซียง ฉิ่ง กวน เซิ่น ต้า ตี้ จวิน
โซ่ว จื่อ ต้า เตา จัน เยา เสีย เวย หลิน เสี่ยง เฮอ จั่น เสิน ทง
โจว ฉัง เล่า แย่ เจิน เสี้ยน เซิ่ง เฮอ เซิ่ง ผี่ หลิง เจิ้น ซัน เหอ
อิง เซี้ยง เสิน เจียง ซื่อ โจว ฉั่ง ชุน ชิว อี้ โหย่ง อู๋ ซวง สือ
จง ซิน อี้ ฉี่ เจิน เฉียน คุณ ฝู จู้ หลิว เป้ย ต้า เจี๋ย อี้
หลิว ฉวน ว่าน ซื่อ ฉวน กู่ จิน ตัน ฉี เหวิน โฉ่ว จั่น เสียง เหลียน
ซ่าง หม่า ปอ ไค เชียน ว่าน เจียง อิง เซี้ยง อี้ ฉี่ จั่น เสิน ทง
โซ่ว เจีย ชิง หลง เอี่ยน แย่ เตา จิ่น ฉิ่ง เปิ่น ถาน กวน เซิ่น ตี้
ซื่อ เฟิ่ง อี โหย่ง อู๋ อัน หวัง
บทสวด คาถาบูชาเทพเจ้ากวนอู |
บทสวด คาถาบูชาเทพเจ้ากวนอูฉบับย่อ
นำ มอ ไต่ ซื้อ ไต่ ปุย ฮก หมอ ไต่ ตี่ เต็ก เต็ก เสี่ย จี๋ เสียง โก้ว ฮุก เง็ก อ้วง ไต่ เทียน จุน ฯ (สวดถวาย 3 หรือ 9 จบ)คำแปล
ขอนอบน้อมแด่องค์พระจอมฟ้าเง็กเซียนฮ่องเต้ ผู้เป็นมเหศักดิ์เทพ เต็มเปี่ยมด้วยพระมหาเมตตากรุณาธิคุณอันไพศาล สูงส่งด้วยพุทธเดชไพบูลย์ ขอได้โปรดเกื้อกูลอนุเคราะห์แก่สรรพสัตว์ด้วยเถิด ฯ
(เชื่อกันว่ากวนกง (กวนอู) เป็นพระภาคหนึ่งขององค์เง็กเซียนฮ่องเต้มาจุติลงมาโปรดสัตว์)
คำขอพรเทพเจ้ากวนอู
ข้าพเจ้า..... (แจ้งชื่อ-นามสกุล วันเดือนปีเกิด) อาศัยอยู่บ้านเลขที่..... ขอกราบอัญเชิญองค์เทพเจ้ากวนอู โปรดเสด็จลงมารับเครื่องสักการบูชาทั้งหลายเหล่านี้ เมื่อรับแล้วก็ขอได้โปรดให้พรแก่ข้าพเจ้าและครอบครัวประสบแต่สรรพสิ่งมงคล อุดมโชคลาภ ขอโปรดอภิบาลรักษาให้ปราศจากภัยอันตรายทั้งปวง และสิ่งอัปมงคลทั้งหลายอย่าได้มาแผ้วพาน ขอจงประสบแต่ความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล สมบูรณ์พูนผล มีความก้าวหน้าสมความปรารถนาด้วยมงคลทั้งปวง มีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์และมีความสุขตลอดไปเทอญผ้ายันต์ศักดิ์สิทธิ์เทพเจ้ากวนอู |
วิธีการบูชาและคำบูชาเทพเจ้ากวนอู แบบง่าย
ริว จิตสัมผัส ผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการกราบไหว้บูชา และพิธีการ การบูชาเทพเจ้ากวนอู ได้อธิบายการบูชาแบบง่าย ๆ ตามแบบฉบับของตนเองว่า ของไหว้ต่าง ๆ สำหรับบูชาท่านกวนอูนั้น หากอยู่บ้านให้ไหว้ด้วยส้มหรือสาลี่ หรืออื่น ๆ ได้ทุกชนิดหากต้องเดินทางไปไหน ให้ไหว้ท่านกวนอูด้วยแอปเปิ้ล ซึ่งความหมายในภาษาจีนของแอปเปิ้ลนั้น หมายถึง เดินทางปลอดภัย นอกนั้นได้แก่ น้ำชาหนึ่งแก้ว
ส่วนคำสวดบูชาท่านกวนอูนั้น ให้จุดธูปสามดอกแล้วท่อง
"นะโม กวน ฝ่า ลี่ จุ" สามจบ จากนั้นให้กล่าวว่า
"ข้าพเจ้า..... (แจ้งชื่อ-นามสกุล) ขอน้อมทูลเชิญญาณพระบารมีท่านกวนอู ได้โปรดเสด็จลงมาปกปักรักษาคุ้มครองให้ข้าพเจ้าและบุคคลในครอบครัวได้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ด้วยพุทธบารมีของท่านกวนอูด้วยเทอญ"
ปางต่าง ๆ ของเทพเจ้ากวนอู
ปางต่าง ๆ ของเทพเจ้ากวนอู |
รูปเคารพของเทพเจ้ากวนอู สะท้อนผ่านศิลปะมากมายหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรมหรือประติมากรรม
ส่วนใหญ่จะปรากฏรูปของท่านในบุคลิกของแม่ทัพ นายทหารผู้เชี่ยวชาญการยุทธ์ ใบหน้าสีแดงดังผลพุทราสุก หนวดเครายาวสลวย สวมอาภรณ์สีเขียวหรือชุดเกราะ พร้อมง้าวมังกรจันทร์ฉงาย ท่าทางองอาจ สง่างาม
งานศิลปะในเชิงประติมากรรมเพื่อความเป็นสิริมงคลของท่านกวนอูนั้นมีรูปแบบและลักษณะที่ไม่เหมือนกัน แต่ละปางจึงได้รับการกราบไหว้บูชาในความหมายที่แตกต่างกันไปดังนี้
1. กวนอูในท่ายืน
กวนอูในท่ายืน หรือ ลี้กวนกง (立刀關公) เป็น ประติมากรรมรูปเทพเจ้ากวนอูในท่ายืน ซึ่งแบ่งย่อยได้อีก 2 ลักษณะคือกวนอูปางห้ามศึก
กวนอูปางห้ามศึก |
ท่านกวนอูห้ามศึกในท่ายืน สายตาทั้งสองจ้องเขม็งเพ่งมองไปเบื้องหน้า มือขวาถือง้าวมังกรเขียว มือซ้ายสาวหนวดเคราในท่วงท่าสุขุม ดูองอาจสง่างาม
เหมะสำหรับบูชาตามอาคาร บ้านเรือน บริษัท หรือสำนักงาน ควรวางในตัวตึกหันหน้าออกด้านนอก เพราะบารมีของท่านจะช่วยขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกจากอาคารบ้านเรือน เพราะเชื่อว่าเมื่อสิ่งเลวร้ายผ่านประตูเข้ามา หากเห็นรูปเคารพของท่าน ก็จะรีบหลีกลี้หนีไป ไม่มากร้ำกราย
กวนอูปางสั่งการ
กวนอูปางสั่งการ |
กวนอูปางสั่งการ มีลักษณะยืนตรง มือหนึ่งถือง้าวมังกรเขียว อีกมือหนึ่งชี้สองนิ้วในลักษณะกำลังบัญชาการศึก ใบหน้าเคร่งขรึม จริงจัง
ปางนี้เหมาะกับนักบริหาร ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และเจ้าของธุรกิจ เจ้าคนนายคน มีไว้เสริมบารมี หนุนนำกิจการให้ก้าวหน้ามั่นคง และข่มบริวารให้เคารพยำเกรง อยู่ในโอวาท
2. กวนอูในท่าขี่ม้า
กวนอูในท่าขี่ม้า หรือ ฉีหม่ากวนกง (騎馬關公) เป็นรูปเทพเจ้ากวนอูในท่าขี่ม้า ทะยานไปข้างหน้า พร้อมออกรบ แบ่งออกได้ 2 แบบ ตามลักษณะของม้าดังนี้กวนอูปางขี่ม้าธรรมดา
กวนอูปางขี่ม้าธรรมดา |
กวนอูปางขี่ม้าธรรมดา ม้าจะมีลักษณะ ยืนอยู่กับที่ ยืนนิ่ง หรือก้าวขาเล็กน้อย มิได้กระโดดโลดโผนโจนทะยาน
ปางนี้มีไว้เพื่อแสดงให้เห็นถึงการเตรียมความพร้อม และข่มศัตรูทั้งหลายมิให้คิดร้าย หรือไม่ให้เข้ามาต่อกรทำศึกด้วย
กวนอูปางขี่ม้าพยศ
กวนอูปางขี่ม้าพยศ |
ปางนี้แสดงออกถึงการต่อสู้ การโจมตีศัตรู การแข่งขัน และการเอาชนะคู่แข่งขันในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเรื่องธุรกิจ การค้า กีฬา
3. กวนอูในท่านั่ง
กวนอูในท่านั่ง หรือ จว้อกวนกง (坐關公) เป็นรูปท่านกวนอูในท่านั่ง ซึ่งมีหลายลักษณะดังนี้กวนอูปางนั่งอ่านตำรายามราตรีลูบเครา
กวนอูปางนั่งอ่านตำรายามราตรีลูบเครา |
กวนอูปางนั่งอ่านตำรายามราตรีลูบเครา หรือ กวนกงเยี่ยตู๋ นั่งอ่านตำรา ด้วยสีหน้าเคร่งขรึม มือหนึ่งถือตำรา อีกมือหนึ่งลูบเครา แสดงให้เห็นถึงการสมาธิ
ปางนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องใช้สติปัญญาในอาชีพการงาน หรือ ต้องการประสบความสำเร็จในการสอบแข่งขัน รวมทั้งยังทำให้เป็นที่เกรงขามของคู่แข่งอีกด้วย
กวนอูปางนั่งอ่านตำรายามราตรีมีง้าวตั้ง
กวนอูปางนั่งอ่านตำรายามราตรีมีง้าวตั้ง |
กวนอูปางนั่งอ่านตำรายามราตรีมีง้าวตั้ง มีลักษณะคล้ายกันกับปางอ่านตำราลูบหนวด แตกต่างกับเพียงว่ามีง้าวมังกรเขียวตั้งอยู่ข้างกาย
การบูชาปางนี้จะได้ผลดังเช่นปางอ่านตำราลูบหนวด แต่จะมีความน่าเกรงขามเพิ่มขึ้น ทำให้ศัตรูยำเกรง
กวนอูปางนั่งอ่านตำรายามราตรีพร้อมบริวารด้านหลัง
กวนอูปางนั่งอ่านตำรายามราตรีพร้อมบริวารด้านหลัง |
กวนอูปางนั่งอ่านตำรายามราตรีพร้อมบริวารด้านหลัง มีลักษณะเหมือนปางอ่านตำราทั่ว ๆ ไป แต่จะแตกต่างกันตรงที่มีบริบารคือบุตร กวนเป๋ง และทหารติดตาม จิวฉอง ยืนอยู่ด้านหลัง
ปางนี้มีคุณเช่นเดิม แต่จะมีโชคด้านบริวาร และความน่าเกรงขาม
กวนอูปางนั่งอ่านตำรายามราตรีถือง้าว
กวนอูปางนั่งอ่านตำรายามราตรีถือง้าว |
กวนอูปางนั่งอ่านตำรายามราตรีถือง้าว มีลักษณะมือหนึ่งถือตำรา อีกมือหนึ่งถือง้าวมังกรเขียวหรือมีดดาบ ทำให้ผู้บูชามีสติปัญญา และเตรียมพร้อมกระทำการใด ๆ ด้วยความรอบคอบ ไม่ประมาท
กวนอูปางนั่งบนบัลลังก์มังกร
กวนอูปางนั่งบนบัลลังก์มังกร |
กวนอูปางนั่งบนบัลลังก์มังกร ท่านจะนั่งเคร่งขรึมอยู่บนบัลลังก์ สายตาจ้องมองไปข้างหน้า ด้วยสีหน้าจริงจัง
ท่านกวนอูปางนี้ เหมาะกับผู้ประกอบอาชีพทุกประเภท แสดงออกถึงความเจริญรุ่งเรืองอย่างสูงสุดในกิจการทุก ๆ ด้าน อีกทั้งยังมีความสงบสุข ร่มเย็น และราบรื่นอีกด้วย
กวนอูปางนั่งบนบัลลังก์มีง้าวตั้ง
กวนอูปางนั่งบนบัลลังก์มีง้าวตั้ง |
กวนอูปางนั่งบนบัลลังก์มีง้าวตั้ง ท่านกวนอูนั่งเคร่งขรึมบนบัลลังก์ อย่างสง่าผ่าเผย สายตาจ้องมองไปข้างหน้า มีง้าวตั้งอยู่ด้านข้างหรือด้านหลัง
แสดงออกถึงความเจริญรุ่งเรืองอย่างสูงสุดในกิจการทุก ๆ ด้าน มีความสงบสุข ร่มเย็น ราบรื่น และน่าเกรงขาม
4. กวนอูในท่าประทานทรัพย์
กวนอูในท่าประทานทรัพย์ |
กวนอูในท่าประทานทรัพย์ หรือ กวนกงไฉเสิน (關公財神) เป็นเทพเจ้ากวนอูในแบบเทพเจ้าแห่งโชคลาภ ในมือจะถือเงินจีนโบราณ ป้ายอวยพร คฑายู้อี่ หรือง้าวมังกรเขียว บางครั้งอาจประทับนั่งบนหลังเสือ ที่อยู่บนกองเงินกองทอง
รูปเคารพปางนี้แสดงถึงมงคลแบบโชคสองชั้น คือนอกจากท่านจะประทานทรัพย์สินเงินทองแล้ว ท่านยังปกป้องภยันอันตราย ไม่ให้มีสิ่งชั่วร้ายใด ๆ มากล้ำกราย
การจัดวางและการบูชาภายในบ้าน หรือสำนักงาน
การจะนำเทพเจ้ากวนอูมาบูชาในบ้านเรือนหรืออาคาร สถานที่ต่าง ๆ นั้น ตามปกติจะวางไว้ในอาคาร หันหน้าท่านออกสู่ประตูทางเข้า เป็นนัยแห่งการปกปักรักษา คุ้มครอง และควรเลือกวางในตำแหน่งที่เป็นมงคลดังนี้- ควรหันหน้าเทพเจ้ากวนอูออกทางประตูใหญ่ของบ้าน
- ห้ามหันหน้าท่านไปทางทิศตะวันออก
- ที่ฐานบูชาควรมีโคมไฟสว่างตลอด และถ้าเป็นสีแดงจะช่วยเพิ่มพลังมั่งมีศรีสุข
- ใช้ผลไม้บูชาดีกว่าเนื้อสัตว์
- ไม่ควรตั้งไว้ในที่สกปรก รกรุงรัง ควรทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ
- หันหน้าเข้าหาโต๊ะกินข้าวก็ได้
- ปางขี่ม้า ต้องตั้งให้หันหน้าสู่ด้านหน้าของอาคารเสมอ เพื่อเตรียมทำศึกต่อสู้กับธุรกิจ การค้าขาย
- ปางอ่านตำรา นิยมตั้งในห้องอ่านหนังสือ ห้องทำงาน เพื่อเสริมสติปัญญา ความรอบรู้
- ปางออกศึก นิยมตั้งไว้ที่ทางสามแพร่ง สี่แพร่ง บริเวณที่ชง จุดอัปมงคล หรือหันหน้าออกนอกอาคาร เพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้าย
- ปางนั่งบัลลังก์มังกร ปางนี้มีสิริมงคลสูงสุดแก่ผู้ทำงาน นิยมตั้งในห้องทำงาน เสริมให้ก้าวหน้ามั่นคง
การจัดวางและการบูชาเทพเจ้ากวนอูภายในบ้าน หรือสำนักงาน |
ศาลเจ้ากวนอูในประเทศไทย
เทพเจ้ากวนอูเป็นหนึ่งในเทพเจ้าที่มีศาลเจ้ามากที่สุด ในประเทศจีนเคยมีศาลเจ้ากวนอูถึง 116 แห่ง ในไต้หวันมีศาลเจ้ากวนอูมากถึง 500 แห่ง ส่วนในประเทศไทย ศาลเจ้ากวนอูที่ได้รับความนิยมที่สุดอยู่ที่ตลาดเก่าเยาวราช กรุงเทพมหานคร สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2435 แต่ศาลเจ้ากวนอูที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยนั้น อยู่ที่คลองสาน ธนบุรี กรุงเทพฯ สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2279ศาลเจ้ากวนอูในประเทศไทย เท่าที่พอจะรวบรวมได้นั้น มีดังนี้
- ศาลเจ้าพ่อกวนอู ตลาดเก่าเยาวราช ถนนเยาวราช กรุงเทพมหานคร
- ศาลเจ้าพ่อกวนอู ซอยสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร
- ศาลเจ้าพ่อกวนอู สมาคมฮากกาแห่งประเทศไทย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร
- ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ ซอยอิศรานุภาพ ถนนเยาวราช กรุงเทพมหานคร
- ศาลเจ้าพ่อกวนอู ซอยวรรัตน์ ถนนจันทร์ กรุงเทพมหานคร
- ศาลเจ้าพ่อเสือ ถนนตะนาวศรี เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
- วัดมังกรกมลาวาส(วัดเล่งเน่ยยี่ 1) ถนนเจริญกรุง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
- ศาลเจ้าพ่อกวนอู แขวงตลาดพลู เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร
- ศาลเจ้าพ่อกวนอู แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร
- ศาลเจ้าพ่อกวนอู แขวงคลองต้นไทน เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร
- ศาลเจ้าพ่อกวนอู แขวงพระขโนง เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร
- ศาลเจ้าพ่อกวนอู ตำบลห้วยกะปิ อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี
- ศาลเจ้าพ่อกวนอู อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
- ศาลเจ้าพ่อกวนอู (หล่าจาซาไทซือ) ตำบลอ่างศิลา อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี
- ศาลเจ้าพ่อกวนอู ตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี
- ศาลเจ้าพ่อกวนอู วัดปากคลองมะขามเฒ่า อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท
- ศาลเจ้าพ่อกวนอู ตำบลคุ้งสำเภา อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท
- ศาลเทพเจ้ากวนอู (ตงหลีตึ๊ง) ตำบลบ่อพลับ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม
- ศาลเจ้ากวนอู จังหวัดนครศรีธรรมราช
- ศาลเจ้าพ่อกวนอู ท่างิ้ว อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์
- วัดพนัญเชิงวรวิหาร ตำบลกระมัง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- ศาลเจ้าพ่อกวนอู บ้านนาบอน ตำบลฉลอง จังหวัดภูเก็ต
- ศาลเจ้าพ่อกวนอู ตำบลดอนตะโก อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี
- ศาลเจ้าพ่อกวนอู ถนนพระราชวิริยาภรณ์ บางพึ่ง จังหวัดสมุทรปราการ
- ศาลเจ้าพ่อกวนอู สำนักงานเทศบาลตำบลอัมพวา ตำบลแม่กลอง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม
- ศาลเจ้าพ่อกวนอู ตำบลท่าฉลอม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร
- ศาลเจ้าพ่อกวนอู ถนนนกเขา ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
- ศาลเจ้าพ่อกวนอู เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี
- ศาลเจ้าพ่อกวนอู อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง
- ศาลเจ้าพ่อกวนอู อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
วันคล้ายวันเกิดเทพเจ้ากวนอู (กว้านอี้กง-关羽公)
วันคล้ายวันเกิดของเทพเจ้ากวนอูในแต่ละปีจะไม่ตรงกัน เพราะยึดถือตามปฏิทินจีนที่เชื่อว่าท่านเกิดในวันที่ 24 เดือน 6
ดังนั้นเมื่อเทียบกับปฏิทินสมัยปัจจุบัน วันเกิดของท่านจึงเปลี่ยนไปทุกปี ดังเช่น
- [col]
- ปี 2556 วันพุธ ที่ 31 กรกฎาคม 2556
ปี 2557 วันอาทิตย์ ที่ 20 กรกฎาคม 2557
ปี 2558 วันเสาร์ ที่ 8 สิงหาคม 2558
ปี 2559 วันพุธ ที่ 27 กรกฎาคม 2559
ปี 2560 วันจันทร์ ที่ 17 กรกฎาคม 2560
ปี 2561 วันอาทิตย์ ที่ 5 สิงหาคม 2561
ปี 2562 วันศุกร์ ที่ 26 กรกฎาคม 2562
ปี 2563 วันพฤหัสบดี ที่ 13 สิงหาคม 2563
ปี 2564 วันจันทร์ ที่ 2 สิงหาคม 2564
ปี 2565 วันศุกร์ ที่ 22 กรกฎาคม 2565 - ปี 2566 วันพฤหัสบดี ที่ 10 สิงหาคม 2566
ปี 2567 วันจันทร์ ที่ 29 กรกฎาคม 2567
ปี 2568 วันศุกร์ ที่ 18 กรกฎาคม 2568
ปี 2569 วันพฤหัสบดี ที่ 6 สิงหาคม 2569
ปี 2570 วันอังคาร ที่ 27 กรกฎาคม 2570
ปี 2571 วันจันทร์ ที่ 14 สิงหาคม 2571
ปี 2572 วันศุกร์ ที่ 3 สิงหาคม 2572
ปี 2573 วันพุธที่ 24 กรกฎาคม 2573
ปี 2574 วันจันทร์ ที่ 11 สิงหาคม 2574
ปี 2575 วันศุกร์ ที่ 30 กรกฎาคม 2575
ซื้อหาบูชาเทพเจ้ากวนอู
ท่านที่สนใจบูชา สั่งซื้อ รูปเคารพของเทพเจ้ากวนอู สามารถซื้อหาบูชาได้ทางช่องทางเหล่านี้
กรุณาแสดงความคิดเห็น