ม้าเจ๊ก นายทหารคนสนิทของขงเบ้ง อาสาออกรบแล้วแพ้ จึงยอมให้ขงเบ้งตัดสินประหารชีวิตทั้งน้ำตา แต่ในความเป็นจริงแล้ว ม้าเจ๊กไม่ได้ถูกประหาร แถมยังพยายามแหกคุกหนีด้วย
“ม้าเจ๊กนี้ปากรู้มากกว่าใจ ซึ่งจะใช้การใหญ่ไปภายหน้ามิได้”ม้าเจ๊ก เป็นตัวละครสำคัญคนหนึ่งในเรื่อง สามก๊ก เป็นนายทหารคนสนิทของขงเบ้ง อาสาออกรบกับสุมาอี้ที่สมรภูมิด่านเกเต๋ง แต่ด้วยความทะนงตัว ดื้อรั้นไม่ฟังคำเตือนจากเพื่อนร่วมทัพ สมรภูมินั้นจึงเป็นสนามรบครั้งสุดท้ายของม้าเจ๊ก กองทัพของขงเบ้งต้องล่าถอย เกิดความเสียหายหนัก ม้าเจ๊กต้องยอมสังเวยศีรษะซึ่งนำไปประกันไว้ ให้ขงเบ้งตัดสินประหารชีวิตทั้งน้ำตา
เนื้อหาเรื่องราวชีวิตของม้าเจ๊ก ดูเหมือนเป็นเรื่องของนายทหารกล้า เป็นลูกรัก เป็นเด็กนายของขงเบ้ง แต่หากวิเคราะห์กันลงไปแล้ว ม้าเจ๊กถูกประหารนั้นก็สมควรแล้วกับความผิด และยิ่งหากอ่านตามตัวหนังสือในหน้าประวัติศาสตร์
ม้าเจ๊กตัวจริง ไม่ได้ถูกประหาร ? และดูแย่กว่าในวรรณกรรม ... มากโข !
ม้าเจ๊ก ในวรรณกรรม
ม้าเจ๊ก (Ma Su) |
ม้าเจ๊กปรากฏตัวครั้งแรกพร้อมกับม้าเลี้ยง พี่ชาย เมื่อเล่าปี่เข้าเมืองเกงจิ๋วแล้วคิดรวบรวมผู้มีสติปัญญาความสามารถ จากนั้นก็ติดตามเล่าปี่เข้าไปยังเสฉวน จวบจนกระทั่งเล่าปี่ตาย
ก่อนตาย เล่าปี่ได้เตือนขงเบ้งไว้ว่า “ม้าเจ๊กนั้นเจรจาเกินรู้นัก จะใช้ราชการไปข้างหน้าให้ท่านพิเคราะห์จงดี”
ขงเบ้งได้แต่รับฟัง แต่ก็ยังไม่วายใช้งานม้าเจ๊กเรื่อยมา ไล่ตั้งแต่การตั้งเป็นนายทหารตรวจตราทัพเมื่อครั้งยกทัพไปปราบเบ้งเฮ็กในตอนใต้ ไปจนถึงการปรึกษาม้าเจ๊กให้ช่วยวางแผน ปล่อยข่าวลวงให้พระเจ้าโจยอยไม่ไว้ใจสุมาอี้
ต่อมาขงเบ้งจะไปตีวุยก๊ก ม้าเจ๊กได้อาสาออกรบกับสุมาอี้และเตียวคับ ที่ด่านเกเต๋ง ขงเบ้งเตือนให้ระมัดระวังแล้ว แต่ม้าเจ๊กมั่นใจในฝีมือ หากแพ้กลับมาจะยอมให้ประหารชีวิตตนเอง ภรรยาและบุตร ขงเบ้งเห็ม้าเจ๊กตบปากรับคำดังนั้นจึงยอมให้ออกรบ แต่ก็ส่งอองเป๋งไปเป็นเพื่อนช่วยคิด
ม้าเจ๊กไปถึงถึงด่านเกเต๋ง แต่ไม่ยอมรักษาด่าน ดื้อรั้นเห็นว่าควรไปตั้งค่ายบนที่สูง เพราะพิชัยสงครามบอกว่าที่สูงเป็นชัยภูมิอันได้เปรียบ อองเป๋งห้ามไว้ก็ไม่ฟัง สุดท้ายจึงถูกทหารของสุมาอี้ล้อมให้อดน้ำอดอาหารแล้วเอาไฟเผา ม้าเจ๊กจึงต้องพ่ายแพ้อย่างยับเยิน ทหารล้มตายก่ายกอง กองทัพสุมาอี้ยกตามตีจนเกือบจะถึงตัวขงเบ้ง ขงเบ้งต้องใช้อุบายกลเมืองร้าง แก้ไขเอาตัวรอดไปได้ แต่ก็ต้องยุติการรบครั้งนั้นไปโดยทันที
หลังการศึกม้าเจ๊กมัดตัวเองเขามาขอขมา แต่ขงเบ้งก็ละโทษให้เพียงบุตรภรรยาของม้าเจ๊ก ส่วนตัวม้าเจ๊กนั้นผิดร้ายแรง จึงให้ตัดศีรษะเสีย
การตายของม้าเจ๊ก
ขงเบ้ง สั่งประหาร ม้าเจ๊ก ทั้งน้ำตา |
ในวรรณกรรม ม้าเจ๊กถูกตัดสินประหารชีวิต ขงเบ้งให้แห่ศพฝังตามประเพณีอย่างสมเกียรติ ส่วนบุตรและภรรยาของม้าเจ๊กก็ได้รับการเลี้ยงดูปูเสื่ออย่างดี ขงเบ้งต้องทำเรื่องถวายฎีกา ขอลงโทษตัวเอง ถอดออกจาการเป็นมหาอุปราช ลดศักดิ์ลงสามขั้น
อ่านสามก๊กในตอนม้าเจ๊กนี้แล้ว บางคนรู้สึกสงสารม้าเจ๊ก โยนความผิดให้ขงเบ้ง ที่ใช้คนผิดแล้วยังประหารชีวิตแม่ทัพในยามศึก แต่ถ้าได้อ่านในจดหมายเหตุสามก๊ก หรือหลักฐานทางประวัติศาสตร์เพิ่มเติม จะรู้ว่า “การประหารชีวิตม้าเจ๊ก ไม่เคยเกิดขึ้นจริง”
เรื่องรายการตายของม้าเจ๊ก ธรรมดากว่าในวรรณกรรมเยอะครับ เพราะในจดหมายเหตุสามก๊กของเฉินโซว่ บทที่ 39 (ชีวประวัติของม้าเลี้ยง) เขียนเรื่องม้าเจ๊กไว้ว่า ม้าเจ๊กแตกทัพแล้วถูกจับกุมตัว ขังคุกไว้รอโทษประหารชีวิต แต่ระหว่างอยู่ในคุกเกิดล้มป่วยลงจนเสียชีวิต
นอกจากนั้น ในจดหมายเหตุสามก๊ก บทที่ 41 (ชีวประวัติของเซียงหลัง, ไม่มีในวรรณกรรม) ยังเขียนไว้อีกว่า เซียงหลังซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของม้าเจ๊ก เคยพยายามช่วยม้าเจ๊กแหกคุก แต่หนีไม่รอดอีกด้วย
สรุปว่า ม้าเจ๊กถูกจับขังคุก พยายามแหกคุก แถมยังป่วยตายเอง ....
เรื่องขงเบ้งตัดศีรษะม้าเจ๊กทั้งน้ำตา จึงเป็นเรื่องโอละพ่อ เพราะมีเพียงในนิทานเท่านั้น และนับว่าเป็นการให้เกียรติม้าเจ๊ก เป็นอย่างยิ่ง ที่ถูกตัดสินประหารชีวิตแบบลูกผู้ชาย
......
ในวรรณกรรม ม้าเจ๊กเป็นคนสนิท เป็นคนใกล้ชิดของขงเบ้ง ออกรบแพ้ ขงเบ้งจำใจประหาร ยกย่องม้าเจ๊กอย่างชายชาติทหาร แต่ในประวัติศาสตร์ ม้าเจ๊กรบแพ้ ถูกจับ พยายามหนี แล้วป่วยตายในคุก
เรื่องนี้จึงสอนให้รู้ว่า
“เด็กของนาย มักสร้างความปวดหัวได้เสมอ”
กรุณาแสดงความคิดเห็น