'กระจกเงาสามบาน' จะว่าด้วยเรื่องของผู้นำและความจริง โดยยกเรื่องราวของ เล่าปี่ วินสตัน เชอร์ชิล และ ถังไท่จง ว่าผู้นำทั้งสามท่านนี้ให้ความสำคัญกับ 'กระจกเงา' มากน้อยเพียงใด
"ความจริงก็คือความจริง กระจกเงาเพียงสะท้อนภาพตามความจริง ขึ้นอยู่กับผู้มองว่าจะมองหรือไม่มอง และรับหรือไม่รับความจริง"
'กระจกเงาสามบาน' จะว่าด้วยเรื่องของผู้นำและความจริง โดยยกเรื่องราวของ เล่าปี่ วินสตัน เชอร์ชิล และ ถังไท่จง ว่าผู้นำทั้งสามท่านนี้ให้ความสำคัญกับ 'กระจกเงา' มากน้อยเพียงใด
ส่วนตัวผมเอง ในฐานะแฟนคลับท่านอาจารย์วินทร์ จากหนังสือ ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน น้ำเงินแท้ 17องศาเหนือ ฯลฯ เป็นทุน รวมทั้งเห็นว่าอาจารย์เกริ่นนำเรื่องด้วย 'เล่าปี่' ตัวละครเอกจากสามก๊ก อ่านแล้วจึงประทับใจมาก เลยต้องขอบันทึกไว้ในบล็อก และนำมาแบ่งปันทุกท่านครับ
กระจกเงาสามบาน
เล่าปี่ |
ในช่วงบั้นปลายชีวิตของผู้นำทั้งสามก๊ก แต่ละก๊กก็ตั้งตนเป็นจักรพรรดิ และยังรบพุ่งกันอยู่เพื่อรวมแผ่นดินเป็นของฝ่ายตน
ในการศึกระหว่างพระเจ้าเล่าปี่กับฝ่ายกังตั๋ง นำทัพโดยลกซุน พระเจ้าเล่าปี่สั่งให้ทหารตั้งค่ายเรียงรายไปตามสองฝั่งน้ำ ระยะทางเจ็ดร้อยลี้
ม้าเลี้ยงที่ปรึกษาทางทหารแนะนำพระเจ้าเล่าปี่ให้ปรึกษาขงเบ้งก่อน พระเจ้าเล่าปี่ไม่พอพระทัย ตรัสว่าเรื่องแค่นี้ไม่จำเป็นต้องปรึกษาใคร พระองค์ทรงมีประสบการณ์ทำศึกมาทั้งชีวิต
เมื่อเห็นว่าเจ้านายไม่ฟังเสียง ม้าเลี้ยงก็ส่งม้าเร็วไปที่เสฉวนนำแผนการตั้งค่ายไปให้ขงเบ้งดู ขงเบ้งเห็นแผนการศึกของพระเจ้าเล่าปี่แล้วก็ตกใจ มองออกว่าหากข้าศึกจุดไฟเผา ทั้งกองทัพจะพินาศ ในอดีตก็มีบทเรียนคราวโจโฉแตกทัพเรือมาแล้ว เมื่อเขาสั่งผูกเรือทั้งหมดเข้าด้วยกัน
คำห้ามของขงเบ้งมาไม่ทันการณ์ เพราะกองทัพลกซุนโจมตีก่อน ในราตรีหนึ่งเมื่อลมแรง ทหารกังตั๋งก็จุดไฟเผาค่ายของพระเจ้าเล่าปี่พินาศ เพลิงรายล้อมปิดทุกทางหนี ยาวต่อเนื่องทั้งเจ็ดร้อยลี้
พระเจ้าเล่าปี่ทรงรอดชีวิตมาได้เพราะทหารเอกจูล่งบุกฝ่าวงล้อมศัตรูเข้าไปช่วย ด้วยฝีมือทวนที่เป็นหนึ่งในแผ่นดิน จูล่งฆ่าทหารเอกฝ่ายศัตรูอย่างง่ายดาย ช่วยพระองค์ออกมาได้
พระเจ้าเล่าปี่แตกทัพหนีไปถึงเสฉวน ไพร่พลเจ็ดสิบห้าหมื่นเหลือเพียงสามร้อย ตรอมพระทัยจนสิ้นพระชนม์
.………………..
สิ่งที่ยากที่สุดอย่างหนึ่งในสังคมการปกครองคือการวิจารณ์หรือแย้งผู้ใหญ่ หรือกระทั่งการพูดความจริงกับผู้ใหญ่
การเคารพต่อผู้อาวุโสเป็นธรรมเนียมของชาวตะวันออกมาแต่โบราณ เมืองไทยมีประเพณีการทักทายคือ ผู้มีอายุน้อยกว่าไหว้ผู้มีอายุมากกว่าก่อนเสมอ
ขณะที่ประเพณีฝรั่งใช้ระบบการจับมือกัน เป็นการติดต่อเชิงราบ ด้วยแนวคิดแบบเสมอภาค ข้อดีอย่างหนึ่งคือ ไม่ต้องเล็งว่าใครมีอายุมากกว่าใคร และคำนวณว่าใครควรไหว้ใครก่อน
แต่กระนั้นก็ยังมีแรงกดเชิงดิ่งแฝงอยู่ เสียงของผู้ใหญ่มักดังกว่า
เรามีบ่วงที่เรียกว่า ‘ความเกรงใจ’ และ ‘สัมมาคารวะ’ รัดจนแน่น จนบางครั้งแยกมันไม่ออกจาก ‘ความถูกต้อง’ และ ‘ความจริง’
การพูดกับผู้ใหญ่ในเชิงโต้แย้งและวิจารณ์จึงต้องใช้เทคนิคชั้นสูง เพราะอาจทำให้ตัวเองเดือดร้อนได้ แต่ถ้าลูกน้องไม่พูดเพราะเกรงใจผู้ใหญ่ องค์กรก็อาจล้มได้ เพราะเจ้านายไม่ถูกเสมอไป
เรามีค่านิยมไม่สวนแย้งผู้ใหญ่ อาจเพราะเราถูกอบรมมาแต่เด็กว่า ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน จึงรู้มากกว่า
แต่ความจริงคือการอาบน้ำร้อนมาก่อนเป็นคนละเรื่องกับการรู้มากกว่า และการรู้มากหรือรู้น้อยก็เป็นคนละเรื่องกับสัมมาคารวะ ปนกันเมื่อไร องค์กรก็อาจล้มได้ เพราะไม่มีใครกล้าชี้จุดผิดพลาดของผู้ใหญ่
วินสตัน เชอร์ชิล |
นายกรัฐมนตรีอังกฤษช่วงสงครามโลกครั้งสอง วินสตัน เชอร์ชิล บอกว่าคำวิจารณ์ว่ามีหน้าที่เหมือนกับความเจ็บปวดของร่างกาย เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมี
ไม่เจ็บก็ไม่รู้ว่าร่างกายมีปัญหา
แต่คนส่วนมากพยายามหลีกเลี่ยงความเจ็บปวด ยิ่งอยู่สูง ยิ่งกลัวเจ็บ
.………………..
สามร้อยกว่าปีถัดจากยุคสามก๊ก จีนเคลื่อนเข้าสู่รัชสมัยราชวงศ์ถัง พระเจ้าถังเกาจู่ ปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ถัง ทรงมีโอรสสี่พระองค์ องค์แรกคือหลี่เจี้ยนเฉิง องค์ที่สองนาม หลี่ซื่อหมิง ซึ่งต่อมาขึ้นมาเป็นฮ่องเต้โดยฆ่าเชษฐากับอนุชาของพระองค์ ทรงพระนามว่าพระเจ้าถังไท่จง
ข้อแตกต่างระหว่างพระเจ้าถังไท่จงกับฮ่องเต้อื่นๆ จำนวนมากในประวัติศาสตร์จีนคือ พระองค์ทรงรับฟังความเห็นจากทุกคน โดยไม่สนพระทัยชาติกำเนิด ชาติตระกูล แม้แต่ศัตรู! ทรงดึงศัตรูมาเป็นมิตรและที่ปรึกษา
และศัตรูผู้กลายเป็นที่ปรึกษาคนสำคัญก็คือเว่ยเจิง
เว่ยเจิงเดิมรับใช้รัชทายาทหลี่เจี้ยนเฉิง พระเชษฐาของถังไท่จง เว่ยเจิงมองออกว่าหลี่ซื่อหมิงกำลังคิดการใหญ่ ก็เตือนเจ้านายให้จัดการหลี่ซื่อหมิงเสีย แต่ก็ไม่ทำ ผลก็คือถูกพระอนุชาฆ่าและแย่งบัลลังก์ไป
เมื่อทรงขึ้นเป็นฮ่องเต้แล้ว ถังไท่จงทรงเรียกตัวเว่ยเจิงมาเข้าเฝ้า ตรัสถามว่า “ทำไมเจ้าจึงยุให้เราพี่น้องฆ่ากัน?”
เว่ยเจิงตอบกลับอย่างไม่สะทกสะท้านว่า “ถ้าพระเชษฐาของพระองค์ทรงรับฟังคำแนะนำของข้าพระองค์ ก็คงไม่ถูกฆ่าตาย”
ความเป็นคนตรงเช่นนี้มิเพียงทำให้เว่ยเจิงรักษาชีวิตได้ ยังได้เป็นเสนาบดี ให้คำปรึกษาแก่ถังไท่จง
ตลอดชีวิตในตำแหน่งที่ปรึกษา เว่ยเจิงพูดแย้งจักรพรรดิมากมายหลายร้อยเรื่อง โดยไม่เกรงว่าจะหมิ่นละเมิดเบื้องสูง เว่ยเจิงเห็นว่าประโยชน์ของแผ่นดินสำคัญกว่าองค์จักรพรรดิ
เล่ากันว่าครั้งหนึ่งเว่ยเจิงถกเถียงกับฮ่องเต้อย่างรุนแรง จนพระองค์พิโรธจัด รับสั่งกับพระมเหสีว่า “สักวันเราจะตัดหัวไอ้ขุนนางปากไม่ดีคนนี้ ทำให้เราอับอายต่อขุนนางทั้งหลายตลอดเวลา”
พระมเหสีตรัสว่า “มีแต่ขุนนางที่ซื่อสัตย์และรักแผ่นดินจึงกล้าทำเช่นนี้ และมีแต่จักรพรรดิผู้ทรงพระปรีชาจึงสามารถมีขุนนางเช่นนี้”
เว่ยเจิงจึงยังสามารถรักษาศีรษะบนไหล่ได้
เว่ยเจิงชี้ให้ฮ่องเต้ฟังความรอบด้าน มิเช่นนั้นจะเป็นจักรพรรดิที่โง่งม หากทรงฟังแต่เรื่องดีงามที่ขุนนางสอพลอกล่าว ก็ไม่มีทางรู้ความจริง และทำให้ตัดสินความผิดพลาด ผลก็คือแผ่นดินลุกเป็นไฟ
ถังไท่จง |
ตลอดรัชสมัยยาวนานของฮ่องเต้ถังไท่จง แผ่นดินมิได้ลุกเป็นไฟ ตรงกันข้ามกลับเจริญรุ่งเรืองในทุกด้าน เพราะถังไท่จงทรงมองเห็นความสำคัญของ ‘กระจกเงา’
ทรงจารึกว่าโลกมีกระจกเงาอยู่สามบาน
กระจกเงาบานที่หนึ่งคือแผ่นทองแดงที่ขัดเงา ใช้เพื่อแต่งตัว
กระจกเงาบานที่สองคืออดีต ใช้เพื่อดูและเข้าใจการเกิดและดับของแผ่นดิน
กระจกเงาบานที่สามคือคน ใช้เพื่อเข้าใจข้อดีและข้อเสีย
คนตรงอย่างเว่ยเจิงก็คือกระจกเงาที่ทุกแผ่นดินจำเป็นต้องมี
เพราะความจริงก็คือความจริง กระจกเงาเพียงสะท้อนภาพตามความจริง ขึ้นอยู่กับผู้มองว่าจะมองหรือไม่มอง และรับหรือไม่รับความจริง
ยามเมื่อกระจกเงาแห่งความจริงแตกสลาย ความจริงยังดำรงอยู่ แต่ภาพสะท้อนหายไป และเราก็เดินลงเหวด้วยความไม่รู้
.………………..
วินทร์ เลียววาริณ
เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง
กรุณาแสดงความคิดเห็น