วีรกรรมอันอาจหาญของ แม่ทัพใหญ่ฝ่ายง่อก๊ก ผู้พิชิตเทพเจ้ากวนอู ผลงานอันล้ำค่า ยากจะหาขุนศึกคนใดทั้งในอดีตและปัจจุบันมาเทียบ
"เขาไม่น่าจะเป็นแค่ขุนศึก เขาคือวีรบุรุษ กลยุทธ์ชนะโดยไม่ต้องรบ ยังไม่มีขุนศึกยุคใด แม้ในยุคสามก๊กด้วยกัน ทำได้เทียบเทียม"
คอลัมน์ชักธงรบ ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ของสื่อมวลชนอาวุโส "กิเลน ประลองเชิง" เป็นคอลัมน์โปรดที่ผมต้องเปิดอ่านอยู่เสมอเมื่ออ่านไทยรัฐ เพราะเป็นบทความสั้นกระทัดรัด แต่ให้ข้อคิดและเกร็ดความรู้มาก อ่านแล้วต้องตีความและครุ่นคิด ว่าผู้เขียนต้องการสื่อถึงเรื่องราวเหตุการณ์ใดในปัจจุบัน รวมทั้งยังมีบทความเกี่ยวกับเรื่องสามก๊กเสมอ ๆ
ล่าสุดวันนี้ (24 พ.ย. 2560) ก็เป็นอีกครั้งที่กิเลน ประลองเชิง ลงบทความสามก๊กในหัวข้อเรื่องเรื่อง "ลิบอง ผู้พิชิตโดยไม่รบ" อันว่าด้วยเรื่องวีรกรรมอันอาจหาญของ แม่ทัพใหญ่ฝ่ายง่อก๊ก ผู้พิชิตเทพเจ้ากวนอู แล้วเปรียบเปรยว่ากลยุทธ์ของลิบอง คือผลงานอันล้ำค่า ยากจะหาขุนศึกคนใดทั้งในอดีตและปัจจุบันมาเทียบ
อ่านแล้วสนุก ได้ข้อคิด จึงขอเก็บบันทึกไว้และนำมาให้อ่านโดยทั่วกัน
ลิบอง ผู้พิชิตโดยไม่รบ
โดย กิเลน ประลองเชิงผมอ่านเรื่อง ลิบอง ขุนศึกผู้คว้าชัยโดยไม่ต้องรบ แล้วเสียใจ อ่านช้าเกินไปครับ
(วีรบุรุษสามก๊ก 27 ขุนศึกผู้เป็นเลิศ หลี่อันสือ เขียน นวรัตน์ ภักดีคำ จันทรัตน์ สิงโตงาม แปล มติชนพิมพ์)
เกิดมายากจนในเมืองยีหลำแห่งอิจิ๋ว ดิ้นรนอพยพมาอาศัยกับเติ้งตังพี่เขย ทหารซุนเซ็ก ที่เมืองกังตั๋งตั้ง อายุ 16 ปี แอบตามพี่เขยไปรบ รบมุทะลุโอหังจนพี่เขยตกใจ
เมื่อแม่เรียกไปตำหนิ เขาว่า “ยากจนข้นแค้น หากได้สร้างผลงาน ย่อมได้หนทางให้มีกิน”
ประโยคท้าย “หากมิเข้าถ้ำเสือ ไฉนเลยจะได้ลูกเสือ” เล่าขานกันเขาถูกทหารรุ่นพี่ปรามาสซึ่งหน้า “พูดจาใหญ่โตเกินตัว หนีไม่พ้นเอาเนื้อเข้าไปป้อนปากเสือ”
ลิบองเลือดร้อน ชักดาบตัดหัวทหารคนนั้น แล้วหนีคดีไปซ่อนตัวเมื่อถูกเกลี้ยกล่อมให้เข้ามอบตัวกับ “ซุนเซ็ก” แม่ทัพ พูดจากันไม่กี่คำ ซุนเซ็กกลับประทับใจ เอาไว้ใช้ใกล้ตัว
เมื่อพี่เขยตาย ลิบองถูกเสนอให้รับตำแหน่งแทน
ซุนเซ็กตาย ซุนกวนเป็นใหญ่ เตรียมยุบกองทหารลิบอง ลิบองยืมเงินมาแต่งองค์ทรงเครื่องพร้อมอาวุธครบ ซุนกวนตรวจทัพ แทนที่จะยุบกลับมอบไพร่พลและม้าให้เพิ่ม
ลิบองความรู้น้อย เมื่อซุนกวนแนะให้อ่านตำรา ก็ทุ่มเทอ่านจนแตกฉาน โลซกแม่ทัพใหญ่ต่อจากจิวยี่ ดูแคลนลิบอง เรื่องความหยาบกระด้างไร้การศึกษามานาน
วันหนึ่งแวะไปทักทาย สนทนาชั่วครู่ ก็ประหลาดใจในความรอบรู้กลศึกลุ่มลึก ออกปาก
“ท่านไม่ใช่อาเหมิงแห่งง่อก๊กคนเก่า” “คำ อาหมิงแห่งง่อก๊ก” เป็นที่มาคำพังเพย...“บัณฑิตนั้นมิพานพบสามวัน มิอาจมองด้วยสายตาเช่นเดิม” ลิบองไม่แค่ขุนพลรบดุดันยังเป็นที่ปรึกษาสงครามสำคัญที่ซุนกวนเชื่อฟัง
วีรบุรุษสามก๊ก 27 ขุนศึกผู้เป็นเลิศ |
หลังศึกเซ็กเพ็กตีโจโฉแตกทัพได้ ปัญหาของผู้ชนะซุนกวน-เล่าปี่ คือการแบ่งเกงจิ๋ว กวนอูส่งกำลังยึดเตียงสา เลงเหลง และฮุยเอี๋ยง ซุนกวนสั่งลิบองไปยึดคืน
สงครามนี้ ลิบองไม่ใช้กำลัง ใช้จดหมายสามฉบับ สองฉบับแรก เมืองเตียงสาและฮุยเอี๋ยงจำนน แต่ห้าวฝู่เมืองเลงเหลงยังฮึดสู้
ไม่ยอมแพ้ ลิบองใช้แผนสองซ้ำ ห้าวฝู่ก็ยกธงขาว
ซุนกวนเจอศึกสองด้าน ด้านหนึ่งโจโฉ อีกด้านกวนอู ลิบองแนะซุนกวนให้ทำศึกด้านเดียวกับกวนอู ขณะเผชิญหน้าใช้สารพัดวิธีผูกมิตรกวนอู จนกวนอูตายใจ ยกทัพจากเกงจิ๋วไปตีฮวนเสีย
สุดยอดอัจฉริยะลิบอง แนะให้ซุนกวนเรียกตัวเขากลับส่งลกซุนขุนศึกหน้าใหม่ไม่อยู่ในสายตากวนอูมาแทน กวนอูหลงกล เรียกทหารที่ลำกุ๋นไปช่วยรบที่เซียนฝาน
ลิบองได้ช่องยึดลำกุ๋นกวนอูรบโจโฉที่เซียงฝาน รู้ข่าวก็ถอยทัพกลับมาช่วย แต่ลิบองก็รุกยึดเมืองกังเหลงเอาครอบครัวกวนอู และครอบครัวทหารไว้ดูแลอย่างดี
กลยุทธ์นี้ มีผลมหัศจรรย์ ทหารกวนอูรู้ว่าครอบครัวยังอยู่ดี ไม่มีใจรบ ทิ้งกวนอูโดดเดี่ยว และถูกจับได้ กวนอูขุนพลผู้ยิ่งใหญ่ก๊กเล่าปี่ สิ้นชื่อตอนนี้
ผลงานยิ่งใหญ่ลิบองมีมาก หลังสงครามเกงจิ๋วจบ ซุนกวนให้ลิบองเป็นเจ้าเมืองลำกุ๋นและเมืองฉานเหลิง ให้เงินหนึ่งแสน ทองคำห้าร้อยชั่ง
ปณิธานที่ลิบองบอกแม่ อยากได้ลูกเสือต้องเข้าถ้ำเสือ สัมฤทธิ์แล้ว ถึงวันนั้นลิบองร่ำรวยแล้ว แต่เขาปิดฉากสุดท้ายงดงาม ยังไม่ทันไปรับตำแหน่ง อายุสี่สิบเอ็ดปีลิบองป่วยตาย
คำสั่งเสียสุดท้าย เขาถวายเงินทองของกำนัลคืนให้แผ่นดิน
นักรบอย่างลิบองถูกบันทึกไว้ในจดหมายเหตุสามก๊ก เขาไม่น่าจะเป็นแค่ขุนศึก เขาคือวีรบุรุษ กลยุทธ์ชนะโดยไม่ต้องรบ ยังไม่มีขุนศึกยุคใด แม้ในยุคสามก๊กด้วยกัน ทำได้เทียบเทียม
เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง
กรุณาแสดงความคิดเห็น