"สามก๊กฉบับโรงพิมพ์หมอบรัดเลย์" ที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ สยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร องค์รัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษาครบ 7 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2554
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปเดินเที่ยวในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 45 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 15 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้เริ่มมาแล้วตั้งแต่ 30 มี.ค. - 9 เม.ย.2560"หนังสือสามก๊กที่จะมีค่าดั่งทอง"
จุดประสงค์หลัก ๆ คือไปเปิดหูเปิดตา ไปหาซื้อหนังสือใหม่ ๆ มาอ่าน โดยเฉพาะหนังสือสามก๊ก ทั้งเก่าและใหม่ แม้ว่าปัจจุบันชั้นวางหนังสือที่บ้าน จะกลายเป็นภูเขาหนังสือสามก๊ก ก็ยังไม่รู้จักพอ
เดินไปเดินมาก็เห็นหนังสือสามก๊กออกใหม่ ปกสวย ๆ หลายเล่ม อย่างเช่น "ตำราพิชัยสงครามขงเบ้ง" และ "16 กุศโลบายขงเบ้ง" ของสำนักพิมพ์สุขภาพใจ รวมทั้ง "วีรบุรุษสามก๊ก : 27 ขุนศึกผู้เป็นเลิศ" ของสำนักพิมพ์มติชนที่เคยแนะนำไปก่อนหน้านี้แล้ว
ส่วนหนังสือสามก๊กเล่มอื่น ๆ นั้น ส่วนมากจะเป็นการตีพิมพ์ใหม่ ออกแบบปกให้ดูฉูดฉาดทันสมัย อย่างเช่น "สามก๊กฉบับวณิพก" และ "สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน)" ที่มีภาพวิจิตรฝีมือครูเหม เวชกร ประกอบเรื่อง ของสำนักพิมพ์แสงดาว ที่เดินผ่านกี่ที ๆ ก็ต้องแวะหยิบขึ้นมาดู ทั้ง ๆ ที่มีครบทุกเล่มอยู่แล้ว
"สามก๊กฉบับวณิพก" ของสำนักพิมพ์แสงดาว ปกสีชมพู และเขียวสด |
"สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน)" ที่มีภาพวิจิตรฝีมือครูเหม เวชกร |
ทั้งนี้ หนังสือสามก๊กที่มีวางขายมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้น "สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน)" ที่ปัจจุบันไม่มีการจำกัดลิขสิทธิ์ สำนักพิมพ์ต่าง ๆ จึงแข่งกันปั้มออกมาขาย นับกันไม่หวั่นไม่ไหว ทั้งเล่มเล็ก เล่มใหญ่ เล่มย่อย ฯลฯ
แต่ในบรรดาหนังสือสามก๊กในงานสัปดาห์หนังสือฯ ผมสะดุดตาหนังสืออยู่เล่มหนึ่ง ซึ่งว่ากันว่าในอนาคต สามก๊กเล่มนี้จะมีค่าดั่งทองคำ ... หนังสือสามก๊กเล่มนั้นก็คือ
สามก๊กฉบับโรงพิมพ์หมอบรัดเลย์
หนังสือสามก๊กของสมาคมเผยแผ่คุณธรรมเต๊กก่า จีจีนเกาะ ที่เผยแพร่เนื่องในวาระครบรอบ 60 ปี ของสมาคมฯตั้งแต่ปี 2554 แต่ก็ยังพอมีหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้างประปรายในงานสัปดาห์หนังสือฯหนังสือเล่มนี้ดีอย่างไร ?
1. ตรา ภปร.
"สามก๊กฉบับโรงพิมพ์หมอบรัดเลย์" มีตรา ภปร. ของในหลวง ร.9 |
"สามก๊กฉบับโรงพิมพ์หมอบรัดเลย์" เล่มนี้สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ สยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร องค์รัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษาครบ 7 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2554 ดังนั้นบนหน้าปกจึงมีตราพระปรมาภิไธย หรือตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์
เป็นหนังสือสามก๊ก เพียงเล่มเดียวที่มีตราพระปรมาภิไธยนี้ !
2. Original & Classic
สำเนาจากต้นฉบับที่สมเด็จเจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร ประทานแก่ราชบัณฑิตยสภา |
"สามก๊กฉบับโรงพิมพ์หมอบรัดเลย์" เป็นหนังสือสามก๊กที่วางจำหน่ายในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2408 เป็นหนังสือชุด 4 เล่มจบ ซึ่งปัจจุบันต้นฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกได้หายสาบสูญไปจากวงการหนังสือไทยแล้วส่วนฉบับที่ตีพิมพ์ครั้งหลัง ๆ อีกถึงหกครั้ง ก็หายากมาก หากมีครบทั้ง 4 เล่มก็ประเมินค่ามากกว่าแสนบาท
ฉบับที่ตีพิมพ์ปี 2554 นี้เป็นการตีพิมพ์ครั้งที่ 7 โดยสำเนาจากต้นฉบับจากกองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ฉบับที่สมเด็จเจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศร ประทานแก่ราชบัณฑิตยสภา อันเป็นฉบับพิมพ์ เมื่อ จ.ศ.1246 (พ.ศ.2427) ซึ่งเป็นฉบับตีพิมพ์ครั้งที่สาม
นับว่าเป็นสามก๊กฉบับที่ใกล้เคียงกับต้นฉบับดั้งเดิมมากที่สุดในเวลานี้ เพราะปัจจุบันสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ที่วางขายกันล้วนเป็นฉบับราชบัณฑิตยสภา ที่ผ่านการแก้ไขดัดแปลงมาหลายครั้งจนผิดเพี้ยนไป
3. รื่น
รักษาสำนวนดั้งเดิมของเจ้าพระยาพระคลัง(หน) |
"สามก๊กฉบับโรงพิมพ์หมอบรัดเลย์" นั้นมีมาก่อน แต่พอราชบัณฑิตยสภามาชำระใหม่ ก็กลายเป็น "สามก๊กฉบับราชบัณฑิตยสภา" ที่แพร่หลายในปัจจุบัน สำนวนดั้งเดิมอันไพเราะ ของเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ได้ถูกดัดแปลงแก้ไขไป
ในกรณีนี้อาจารย์สุกิจ นิมมานเหมินท์ ปราชญ์ทางภาษาและวรรณกรรมคนหนึ่งของไทยกล่าวว่า
"...ตามความรู้สึกของข้าพเจ้านั้น ฉบับพิมพ์ครั้งก่อนๆ อ่านรื่นหูดีกว่า ฉบับที่ราชบัญฑิตยสภาดันไปแก้ เช่น ใครๆ ก็เคยรู้จักทหารเสือของเล่าปี่คนที่ช่วยชีวิตอาเต๊าราชบุตรไว้ได้ชื่อว่า "เตียวจูหลง" หรือตัดแซ่ "เตียว" ...ออกเสียเหลือแต่ "จูหลง" ลุ่นๆ เท่านั้น ครั้นมาอ่านฉบับแก้ไขของราชบัณฑิตยสภาที่แก้ชื่อ "จูหลง" ไปเป็น "จูล่ง" แล้ว ก็อดรู้สึกว่าหยุมหยิมจุกจิกเกินไปไม่เข้าเรื่องเสียมากกว่าอย่างอื่น..."
"สามก๊กฉบับโรงพิมพ์หมอบรัดเลย์" จะตีพิมพ์ตามแบบหนังสือไทยโบราณ ที่จะมี ฟองมัน หรือ ตาไก่ (๏) ตอนขึ้นต้นย่อหน้า และจะมี อังคั่นวิสรรชนีย์ (๚ะ) เมื่อจบตอน แลดูสละสลวยยิ่งนัก
หนังสือเล่มนี้จึงเป็นหนังสือที่รักษาสำนวนดั้งเดิมของเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ไว้มากกว่าฉบับใด ๆ นับเป็นคุณค่าทางวรรณกรรมอันวิเศษยิ่ง
ด้านหน้ากล่อง Box Set ของ "สามก๊กฉบับโรงพิมพ์หมอบรัดเลย์" |
"สามก๊กฉบับโรงพิมพ์หมอบรัดเลย์" อาจจะไม่ใช่หนังสือใหม่ แต่ด้วยคุณสมบัติพิเศษตามที่กล่าวมานั้น ไม่มีหนังสือสามก๊กอื่นใดเทียบได้ ผมจึงขอยกให้หนังสือเล่มนี้เป็นสุดยอดหนังสือสามก๊ก ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เป็นหนังสือสามก๊กที่มีคุณค่า มีความหมาย
หากท่านเป็นทั้งนักอ่าน เป็นแฟนสามก๊ก และเป็นนักสะสม ... บอกได้คำเดียวว่า "ต้องมี"
รายละเอียดหนังสือ
- ชื่อหนังสือ : สามก๊กฉบับโรงพิมพ์หมอบรัดเลย์
- ผู้แต่ง : เจ้าพระยาพระคลังหน
- ISBN : 978-616-90134-4-0
- ปีที่ออก : 2554
- ชื่อสำนักพิมพ์ : โรงพิมพ์ปากคลองบางกอกใหญ่
- กว้าง (นิ้ว) : 6
- สูง (นิ้ว) : 9.5
- จำนวน : 4 เล่ม บรรจุกล่อง
- เนื้อในพิมพ์ : ขาวดำ
กรุณาแสดงความคิดเห็น