เมื่อแม่ทัพรบติดพัน ทหารสองฝ่ายจะตีกลอง ม้าล่อเชียร์ เมื่อสองฝ่ายแยกจากกันก็หยุดตี นี่จึงเรียกว่า “หนึ่งเพลง”
เมื่อแม่ทัพรบติดพัน ทหารสองฝ่ายจะตีกลอง ม้าล่อเชียร์ เมื่อสองฝ่ายแยกจากกันก็หยุดตี นี่จึงเรียกว่า “หนึ่งเพลง”
อ่านแล้วได้ทั้งความรู้และความขบคิด จึงต้องขออนุญาตบันทึกไว้ เพื่อไม่ให้บทความดี ๆ เลื่อนหายไปตามกาลเวลา
เพลงเดียวตกม้าตาย
โดย กิเลน ประลองเชิง, 27 ก.พ. 2560ช่วงเวลาที่นักรบสู้กัน สามก๊ก ฉบับที่เจ้าพระยาพระคลัง(หน) แปลเป็นภาษาไทย ใช้คำว่า...เพลง
แต่เวลาในแต่ละเพลงจะสั้น-ยาวแค่ไหน?
นักรบฝ่ายอ้วนเสี้ยวออกไปหลายคนก็ถูกฮัวหยง นักรบฝ่ายศัตรูฆ่าตาย ทหารผู้น้อยตำแหน่งหัวหน้ากองธนูชื่อกวนอูขออาสา อ้วนเสี้ยวโกรธด่าว่าเป็นแค่ทหารเลว ไม่ให้ไปรบกับขุนพล
แต่โจโฉตอนนั้นอยู่กับอ้วนเสี้ยว มองเห็นแววก็ออกปากขอให้กวนอูออกไปสู้
โจโฉสั่งอุ่นเหล้ายื่นให้ กวนอูไม่รับขี่ม้าออกไปกลับมาพร้อมหัวฮัวหยง รับจอกเหล้าในช่วงเวลา “เหล้าในจอกนั้น ยังอุ่นอยู่”
หนังสือ 101 คำถามสามก๊ก (หลี่ฉวนจวินและคณะ เขียน ถาวร สิกขโกศล แปล สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2556) คำถามที่ 19 เมื่อตั้งทัพประจัญกัน แม่ทัพรบกันได้ถึงสองร้อยเพลงจริงหรือ?
คำตอบ...การรบในประวัติศาสตร์ ไม่ปรากฏเรื่องแม่ทัพสองฝ่ายรบกัน 200 เพลงก่อน แล้วเหล่าทหารจึงจะตะลุมบอนกัน ยุคโบราณใช้อาวุธเย็น การรบจะเกิดเมื่อกองทัพเข้าใกล้
ฉะนั้น ต้องอาศัยพลังการรวมกลุ่มโจมตีเป็นเงื่อนไขสำคัญ ของการเอาชนะ
ยุคชุนชิว ทัพรถเป็นกระบวนรบหลัก ตั้งพยุหะทัพเป็นสามกอง กองกลาง ปีกซ้าย และปีกขวา เรียบร้อยแล้วจึงรบกัน ทัพรถนำหน้า พลเดินเท้าอารักขาอยู่ข้างหลัง
ระหว่างการสัประยุทธ์นั้น อาจเกิดสภาพแม่ทัพสู้กัน ถ้าแม่ทัพฆ่าฝ่ายปรปักษ์ได้ ทหารฝ่ายชนะก็ฮึกเหิม
การสู้รบเป็นเพลงมีในนิยายยุคเก่าทั้งสามก๊ก ทั้งซ้องกั๋ง มุ่งดึงดูดความสนใจผู้อ่าน จึงแต่งแต้มสีสันพรรณนาความแกล้วกล้า ให้น้ำหนักแก่การสร้างภาพวีรบุรุษ
นิยายสามก๊ก มักใช้คำ “หุยเหอ” บรรยายการสัประยุทธ์ เช่นตอนม้าเฉียวกับเตียวหุยรบกันตอนกลางวันกว่า 200 เพลง รบต่อกันกลางคืนอีกหลายสิบเพลง
ม้าเฉียวกับเตียวหุยรบกันตอนกลางวันกว่า 200 เพลง |
สมัยราชวงศ์ซางถึงต้นราชวงศ์ฮั่นตะวันตก รถศึกเป็นยุทธการหลัก เมื่อการรบเริ่ม รถศึกสองฝ่ายจะแล่นเข้าหากันในระยะห่าง ใช้ธนูยิงกัน พอรถเข้าใกล้กันก็ใช้อาวุธยาว ง้าว ทวน
หลังรถผ่านกันไปไกลต่างฝ่ายก็หันรถกลับ ใช้ธนูยิงใส่กัน จนถึงใช้อาวุธยาวสั้นต่อสู้กัน เรียก “เหอ” เมื่อรถสวนผ่านกันไป ต่างฝ่ายหันหัวรถกลับ เรียกว่า “หุย”
เมื่อฝ่ายใดพลาดท่า จึงถือว่าการรบจบสิ้น
ยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันตก การสู้รบกับพวกซงหนูเปลี่ยนจากการใช้รถเป็นการรบบนหลังม้า ลักษณะการรบแบบหุย หันกลับเหอ ประจัญ จึงไม่เกิดขึ้นอีก
แต่คำหุยเหอก็ยังใช้บรรยายการรบติดพัน...สืบมา
อาจารย์ถาวรอธิบายเสริมการรบของไทยกับพม่า เมื่อแม่ทัพรบติดพัน ทหารสองฝ่ายจะตีกลอง ม้าล่อเชียร์ เมื่อสองฝ่ายแยกจากกันก็หยุดตี นี่จึงเรียกว่า “หนึ่งเพลง”
สำนวนเพลงเดียวตกม้าตาย เกิดขึ้นในบรรยากาศการรบไทยพม่านี่เอง
ส่วนสงครามการรบแบบไทยกับไทย...เอ้อ...ที่จริงต้องใช้คำว่า ทหารกับพระ รบกันมากว่าสิบวัน สิบคืน...ยังไม่มีฝ่ายชนะ จะยืมคำหุยเหอ ประจัญ หันกลับ หรือคำว่าเพลงมาใช้คงไม่ได้
ฝ่ายพระฝ่ายญาติโยมก็สวดมนต์ตั้งรับไป ฝ่ายทหารก็พนมมือไหว้ รุกคืบหน้าเข้าไป
นี่เป็นสงครามที่โลกต้องช่วยกันบันทึกไว้ น่ารักน่าเอ็นดูทั้งสองฝ่ายเลยจริงๆ
กิเลน ประลองเชิง
เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง
กรุณาแสดงความคิดเห็น