"ผู้นำยุคใหม่ไม่ตัดหัวใคร ไม่ยืมหัวใคร แต่เปลี่ยนหัวคนทั้งชาติ ล้างสมองเพื่อประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง" บทความสั้น ๆ เกี่ยวกับเรื่องสามก๊ก โดย 'วินทร์ เลียววาริณ' ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ นักเขียนรางวัลซีไรต์ จากผลงานเรื่อง 'ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน' และ 'สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน'
"ผู้นำยุคใหม่ไม่ตัดหัวใคร ไม่ยืมหัวใคร แต่เปลี่ยนหัวคนทั้งชาติ ล้างสมองเพื่อประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง"
บทความสั้น ๆ เกี่ยวกับเรื่องสามก๊ก โดย 'วินทร์ เลียววาริณ' ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ นักเขียนรางวัลซีไรต์ จากผลงานเรื่อง 'ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน' และ 'สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน'
เป็นอีกครั้งที่คุณ 'วินทร์ เลียววาริณ' เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องสามก๊ก ซึ่งก่อนหน้านี้ สามก๊กวิทยาเคยนำมาให้ทุกท่านได้อ่านไปแล้ว ในเรื่อง 'ผ่าหัวรักษา วิสัยทัศน์' มาครั้งนี้คุณวินทร์ จะเล่าเรื่องเกี่ยวกับบทบาทของผู้นำของก๊กทั้งสาม อย่าง โจโฉ เล่าปี่ และซุนกวน
โจโฉ โหดเหี้ยม ‘ยืมหัว’ ลูกน้อง ทำได้ทุกอย่างเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย แม้ว่าจะต้องฆ่าคนของตัวเอง
เล่าปี่ วิสัยทัศน์ไกล ‘ยืมหัว’ คนเก่งมาใช้งาน เป็นนักการเมือง มือประสานสิบทิศ
ซุนกวน ยอดนักปกครอง ‘ยืมหัว’ ใช้สภาขุนนางปรึกษาการบ้านการเมือง
เมื่อวิเคราะห์ตัวละครสามก๊กจบ คุณวินทร์ก็จะแถมท้ายด้วยการยกตัวอย่าง เปรียบเทียบเหตุบ้านการเมืองในปัจจุบัน
อ่านแล้วสนุก ได้ขยายขนาดของสมอง จึงจำต้องขออนุญาติบันทึกไว้ และนำมาปันกันอ่านครับ
ยืมหัว
ตำนาน สามก๊ก เล่าเรื่องผู้นำที่มีสีสันหลากหลายประเภท มากพอที่เราใช้ศึกษาผู้นำในโลกทั้งในแวดวงสงคราม การเมือง และธุรกิจ เราอาจไม่รู้นิสัยใจคอที่แท้จริงของบุคคลจริงที่ตัวละครใช้อิง แต่หากว่าตามในหนังสือแล้ว ก็จะเห็นภาพผู้นำแต่ละประเภทที่มีสีสันน่าสนใจก๊กแรกนำโดยโจโฉ ภาพในนิยายคือจอมเผด็จการผู้โหดเหี้ยม ทำได้ทุกอย่างเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย แม้ว่าจะต้องฆ่าคนของตัวเอง
โจโฉเป็นผู้นำที่ไม่เคยไว้ใจใคร นิสัยขี้ระแวงกลัวว่าจะมีคนลอบฆ่าตน ครั้งหนึ่งเขาแกล้งละเมอ ชักดาบฟันทหารคนสนิทที่เฝ้ายามอยู่ตาย แล้วเล่นละครร้องห่มร้องไห้อย่างเสียอกเสียใจ ผลก็คือ ตั้งแต่นั้นไม่มีใครกล้าเข้าใกล้โจโฉ กลัวว่าจะเจอแจ็คพ็อตตายก่อนเวลาอันควร
ครั้งที่โจโฉยกทัพไปทำศึกกับอ้วนสุดซึ่งไปกบดานอยู่ที่เมืองลำหยง ทัพของโจโฉล้อมเมืองนานจนเสบียงร่อยหรอ โจโฉสั่งลดอาหารของไพร่พล ทำให้ทหารเริ่มอดอยากและไม่ค่อยอยากรบ
โจโฉเห็นว่าทหารเริ่มหมดความฮึกเหิม จึงเรียกตัว อองเฮา นายทหารผู้คุมการจ่ายข้าวมาพบ บอกอองเฮาว่า “การยึดเมืองลำหยงยากกว่าที่คาด เพราะเสบียงร่อยหรอ ทหารกำลังจะหมดกำลังใจ แต่เรามีวิธีเรียกขวัญทหารคืนมา”
อองเฮาถามว่า “จะเรียกขวัญอย่างไร?”
“ก็โดยพึ่งเจ้า เราอยากจะขอยืมอะไรหน่อยได้ไหม?”
อองเฮาตอบว่า “เพื่อให้การยึดเมืองสำเร็จ จะยืมข้าพเจ้าอะไรก็ได้ทั้งนั้น ว่าแต่ว่าท่านผู้นำจะยืมอะไรหรือ?”
“ขอยืมศีรษะเจ้าหน่อย”
ว่าแล้วก็สั่งให้ทหารลากตัวอองเฮาไปตัดหัว ประกาศต่อเหล่าทหารว่าอองเฮาทุจริตยักยอกข้าวในคลัง จึงต้องสั่งประหาร แล้วสั่งเบิกข้าวมาจ่ายทหาร ทำให้กำลังขวัญทหารดีขึ้นมาก เห็นว่าผู้นำของตนเด็ดขาดและยุติธรรม ด้วยความฮึกเหิมก็ตีเมืองลำหยงสำเร็จ
อย่างไรก็ตาม ว่ากันว่าแม้โจโฉจะดุร้ายในสายตาคนจำนวนมาก แต่เขาสามารถพัฒนาบ้านเมืองจนเจริญรุ่งเรืองดี เป็นผู้นำที่ไม่นำพาวิธีการ ขอเพียงให้บรรลุเป้าหมายเท่านั้น
………………
เล่าปี่ สามก๊ก2010 |
ผู้นำอีกก๊กหนึ่งคือ เล่าปี่ ก็เป็นพวกชอบ ‘ยืมหัว’ คนเหมือนกัน แต่โชคดียังอนุญาตให้หัวติดบ่าอยู่! เล่าปี่มีวิสัยทัศน์ไกล อาศัยมนุษยสัมพันธ์ยอดเยี่ยมดึงคนเก่งจากที่ต่างๆ มาเป็นลูกน้อง สามารถ ‘ยืมหัว’ คนเก่งระดับขงเบ้ง จูล่ง ฯลฯ มาใช้งาน จัดว่าเป็น ‘มือประสานสิบทิศ’ ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในโลกการเมือง
ซุนกวน สามก๊ก2010 |
ส่วนก๊กซุนกวนก็มีวิธีการปกครองที่ชอบ ‘ยืมหัว’ เช่นกัน หากถือคติหลายหัวดีกว่าหัวเดียว นั่นคือใช้ ‘สภา’ ขุนนางปรึกษาการบ้านการเมือง เป็นนักการเมืองที่ชอบประชุมพรรค
กล่าวโดยสรุปคือ โจโฉเป็นผู้นำที่ใช้พระเดชเป็นหลัก ปกครองด้วยความกลัว เล่าปี่กับซุนกวนใช้พระคุณมากกว่า ปกครองด้วยน้ำใจ ผู้นำสองคนหลังจึงมีคนอยากมาเป็นลูกน้องมากกว่าโจโฉ อย่างน้อยชีวิตก็น่าจะโสภากว่าเมื่อศีรษะอยู่ติดร่าง!
หากโจโฉมีชีวิตอยู่ถึงวันนี้ และมองเห็นภาพโลกยุคใหม่ เกือบสองพันปีหลังยุคของเขา เขาอาจตกใจที่พบว่ามีผู้นำซึ่งโหดเหี้ยมกว่าเขาหลายเท่า ผู้นำยุคใหม่ไม่ตัดหัวใคร ไม่ยืมหัวใคร แต่เปลี่ยนหัวคนทั้งชาติ ล้างสมองเพื่อประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง เช่นเปลี่ยนหัวให้โลภขึ้น กรอกหัวด้วยนิสัยรักโครงการประชานิยม เปลี่ยนหัวจึงร้ายกาจกว่าตัดหัวหลายเท่า!
สิ่งหนึ่งที่ผู้นำยุคสามก๊กไม่ค่อยเน้นก็คือการตลาดและพีอาร์ ซึ่งเป็นความถนัดของผู้นำยุคใหม่ มันเป็นเครื่องมือทำให้ประชาชนเชื่อมั่นผู้นำและนักการเมืองโดยไม่กังขา
คำถามคือในโลกยุคใหม่ที่ส่วนใหญ่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย และการเข้าถึงข้อมูลดีกว่าง่ายกว่าสมัยสามก๊กล้านเท่า ทำไมผู้นำพันธุ์เปลี่ยนหัวคนจึงอยู่ได้? คำตอบอาจคือเพราะเราต้องการเอง
มันอาจเป็นธรรมชาติของคนทั้งโลกก็ได้ที่อยากได้คนที่พูดสิ่งที่พวกเขาอยากได้ยิน นักการเมืองจึงทำหน้าที่เหมือนจิตแพทย์ให้ประชาชน พูดอะไรก็ได้ให้พวกเขาสบายใจ
นักการเมืองมีสองแบบ นักการเมืองผู้ต้องการผลประโยชน์พูดสิ่งที่ประชาชนอยากได้ยิน นักการเมืองผู้ต้องการช่วยชาติพูดสิ่งที่ประชาชนควรได้ยิน
มันอาจเป็นธรรมชาติของคนอีกก็ได้ที่คาดหวังสูงต่อผู้นำของตน ต้องการ ‘อัศวินขี่ม้าขาว’ ซึ่งเก่งทุกอย่างแต่หากความจำของเราไม่สั้นเกินไปก็คงจำได้ว่า โลกการเมืองไม่เคยมีอัศวินขี่ม้าขาว มีแต่นักสร้างภาพ อัศวินขี่ม้าขาวพรรค์นี้ปรากฏตัวเรื่อยๆ ไม่เคยหมด เราเป็นคนสร้างมันขึ้นมาเอง!
ผู้นำไม่ใช่เทวดา หากประชาชนคาดหวังว่าผู้นำต้องทำงานเก่ง เสียสละเพื่อประเทศชาติ ก็อาจยึดติดมายาอย่างหนึ่ง เพราะบทบาทของนักการเมืองคือการประสานผลประโยชน์กันเสมอ เมื่อขึ้นครองตำแหน่งสูงสุดแล้วก็มักติดใจรสชาติของอำนาจ อยากรักษาอำนาจไว้ให้นานที่สุด หายากมากที่ผู้นำรู้จักก้าวลงจากอำนาจเอง
ดังนั้นหากประชาชนอยากได้ผู้นำที่ดี ทำงานเก่ง มีคุณธรรม จึงถือว่า “ขอมากไปนิดส์”! และเป็นภาพลวงตาขนาดใหญ่ เพราะประเทศชาติจะรอดหรือไม่ขึ้นอยู่กับประชาชน ไม่ใช่ใครอื่น
ประชาชนต้องตามทันนักการเมืองและไม่ยอมให้ผู้มีอำนาจกรอกหัวง่ายๆ
คนที่ช่วยประชาชนได้ก็คือประชาชน
และวิธีการช่วยก็คือขยายขนาดสมองของตัวเอง
____________
วินทร์ เลียววาริณ
กรุณาแสดงความคิดเห็น