บทความ เกี่ยวกับการนำกำลังเข้าปิดล้อมฝ่ายข้าศึกศัตรูในเรื่องสามก๊ก ที่ว่าการปิดล้อมต้องเปิดทางถอยหนีให้ศัตรู ไม่เช่นนั้นศัตรูจะร่วมแรงร่วมใจกันป้องกัน ทำให้การบุกตีนั้นกระทำได้ยาก
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 4 มิ.ย. 2559 คอลัมน์ "ชักธงรบ" ของ "กิเลนประลองเชิง" ได้ลงบทความเกี่ยวกับเรื่องสามก๊กบทความหนึ่งชื่อว่า "วิถีแห่งการล้อมทัพ"“การล้อมตีข้าศึกนั้น ต้องเปิดช่องให้ถอย”- ซุนวู
เนื้อหาของบทความเป็นเรื่องเกี่ยวกับการนำกำลังเข้าปิดล้อมฝ่ายข้าศึกศัตรูในเรื่องสามก๊ก ที่ว่าการปิดล้อมต้องเปิดทางถอยหนีให้ศัตรู ไม่เช่นนั้นศัตรูจะร่วมแรงร่วมใจกันป้องกัน ทำให้การบุกตีนั้นกระทำได้ยาก
อ่านดูแล้ว ผู้เขียนคงต้องการสื่อให้เห็นสถานการณ์ของเมืองไทยในเวลาปัจจุบัน ที่ทางราชการต้องการจับกุมใครสักคน แล้วยกกำลังปิดล้อมสถานที่แห่งนั้นไว้ แต่ก็ถูกต่อต้าน และมีการป้องกันอย่างแน่นหนา
เนื้อความโดยรวม จึงเสมือนการแนะนำให้ทางราชการ ดำเนินกลอุบายตามตำราพิชัยสงครามจีน
เหตุการณ์บ้านเมืองไทยจะเป็นอย่างไร คงต้องติดตาม แต่บทความนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องสามก๊ก กระชับ อ่านง่าย ตามสไตล์ของกิเลนประลองเชิง จึงต้องขอบันทึกไว้ และแบ่งให้อ่านโดยทั่วกัน
วิถีแห่งการล้อมทัพ
ฉางต่วนจิง ศาสตร์แห่งการยืดหยุ่นและพลิกแพลง (เจ้าหยุย รจนา อธิคม สวัสดิญาณ เรียบเรียง พิมพ์ครั้งที่ 4 พ.ศ.2549 สำนักพิมพ์เต๋าประยุกต์) บทที่ 59 ล้อมทัพพึงเปิดช่อง
ในยุทธการหนึ่ง โจโฉยกพลล้อมเมืองหูกวน และสั่งว่า ถ้าตีเมืองแตก จับคนในเมืองฝังทั้งเป็นให้หมด
เพราะคำสั่งนี้ คนเมืองหูกวนจึงสู้ตาย โจโฉตีเมืองอยู่หลายเดือน ก็ตีไม่แตก
โจหยิน ที่ปรึกษาใหญ่ บอกโจโฉว่า ครั้งนี้ท่านสั่งฝังทั้งเป็นทุกคนในเมือง พวกเขาจึงต้องรักษาเมือง ต่อต้านเราอย่างสุดชีวิต อีกทั้งกำแพงและคูเมืองก็แข็งแรงมั่นคง เสบียงอาหารอุดมสมบูรณ์ หากขืนตีหักเอา นักรบไพร่พลจะบาดเจ็บล้มตายมาก
โจหยินเสนออุบาย “ล้อมเมืองควรเปิดช่องไว้ชีวิต”
โจโฉรับฟัง และใช้แผน โจหยิน ผลที่ตามมา กองทหารรักษาเมืองหูกวน ก็ยอมจำนน
ก่อนหน้าเนิ่นนาน ซุนวู เจ้าตำรับพิชัยสงคราม 13 บท เคยกล่าว “การล้อมตีข้าศึกนั้น ต้องเปิดช่องให้ถอย”
นัยแฝงแห่ง คำกล่าวนี้ อธิบายให้แจ่มแจ้งได้ ด้วยเรื่องราว ตอนต้นๆ ของสมัยสามก๊ก ต่อไปนี้
ฮั่นตง ขุนพลกองทัพโพกผ้าเหลือง ฝ่ายกบฏ ยกทัพเข้ายึดเมืองอ้วนเซีย ฝ่ายรัฐบาลส่งจูฮี และเตียวเฉียว นำทัพเข้าล้อมเมือง วางกำลังล้อมไว้หลายชั้น มั่นใจจะยึดเมืองคืนในไม่ช้า
ทัพรัฐบาลสั่งรัวกลอง แสร้งจะเข้าตีทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ไพร่พลม้าศึกฝ่ายโจรโพกผ้าเหลือง ก็มารวมกันทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ แต่ทัพรัฐบาลกลับลอบโจมตีทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
เจอไม้นี้ หัวหน้ากบฏโพกผ้าเหลือง ต้องทิ้งเมืองอ้วนเซียถอยไปตั้งรับที่เมืองเซียวเสีย
แล้วส่งคนมาติดต่อจูฮีและเตียวเฉียว ขอยอมจำนน
ขุนพลหลายคน เห็นดีที่จะให้กบฏยอมจำนน มีจูฮีผู้เดียว ไม่เห็นด้วย
“อันการศึกนั้น ลักษณ์คล้ายสภาวะต่าง” จูฮี ว่า
“ก่อนนี้ เซี่ยงหวี่ก่อการ ราษฎรยังไร้เจ้านายที่แน่ชัด จึงใช้นโยบายตกรางวัลแก่ผู้ยอมจำนน แต่เวลานี้ แผ่นดินเป็นปึกแผ่น มีแต่กองทัพโพกผ้าเหลืองที่ก่อกบฏ ทำให้แผ่นดินวุ่นวาย นโยบายสนับสนุนให้ยอมจำนน จึงไม่อาจทำให้พวกเขากลับตัวได้ มีแต่ต้องใช้นโยบายกำราบให้ถึงที่สุด จึงจะสามารถกำจัดความวุ่นวายให้หมด ครั้งนี้ หากเรายอมรับการยอมจำนน พวกเขาจะกำเริบเสิบสาน เมื่อได้เปรียบจะโจมตีเรา เมื่อเสียเปรียบจะแสร้งยอมจำนน”
เสียงจูฮี เป็นเสียงใหญ่ ทั้งฟังมีเหตุผล ดังนั้นฝ่ายรัฐบาลจึงระดมทัพโหมตีเมืองเซียวเสีย แต่ยิ่งโหมกำลังเท่าไหร่ ก็ยังตีไม่แตก
จูฮีขึ้นบนเนิน ดูสถานการณ์ในเมืองเซียวเสียแล้ว บอกแก่เตียวเฉียวว่า
"สาเหตุที่โจมตีกบฏไม่แตก เพราะโจรกบฏถูกล้อมแน่นหนา คิดจะยอมจำนน เราก็ไม่รับ คิดจะหนีก็หนีไม่ได้ จึงเสี่ยงชีวิตสู้ตาย เหมือนคนสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว จะไม่มีสิ่งใดต้านทานได้ จึงมิพักต้องพูดถึงโจรกบฏโพกผ้าเหลือง ขณะนี้ยังมีไพร่พลม้าศึกถึง 10 หมื่น วิธีล้อมตายที่เรากำลังทำ ให้โทษแก่เราเองมากมาย"
ให้เหตุผลจูงใจแล้ว จูฮี เสนอให้ถอนกำลังทหารรัฐบาลที่ล้อมเมือง เปิดช่องทางกบฏหนี แล้วก็สั่งโหมกำลังบุกตี ผลที่ตามมา โจรโพกผ้าเหลือง ขวัญสู้รบก็หดหาย หลบหนีกันไปคนละทิศละทาง
กองทัพกบฏโพกผ้าเหลืองก็แตกพ่าย ฝ่ายรัฐบาลยึดเมืองเซียวเสียได้โดยง่าย
ฉางต่วนจิง ศาสตร์แห่งการยืดหยุ่นและพลิกแพลง สรุปบทนี้ ทิ้งท้าย...นี่คือวิถีแห่งการล้อมทัพ
วิถีแห่งการล้อมทัพเช่นนี้ กองทัพไม่ว่ายุคโบราณ หรือยุคไหน หากเอาไปใช้ ก็ได้ผลสัมฤทธิ์ทั้งนั้น.
กิเลน ประลองเชิง
กรุณาแสดงความคิดเห็น