ไม่ว่าจะเป็นการศึกสงคราม ธุรกิจ กีฬา หรือ การเมือง การตัดสินแพ้ชนะมักวัดกันที่ความสามารถของกุนซือ
"แพ้ชนะ วัดกันที่กุนซือ"
29 มีนาคม 2559, หนังสือพิมพ์แนวหน้า คอลัมน์เลียบวิภาวดี ของคุณ กมลศักดิ์ ตั้งธรรมนิยม ได้ลงบทความสั้น ๆ น่าสนใจบทความหนึ่ง เรื่อง "กุนซือ"
บทความนี้จะกล่าวถึงความสำคัญของอาชีพกุนซือ ที่ไม่ว่าจะเป็นการศึกสงคราม ธุรกิจ กีฬา หรือ การเมือง การตัดสินแพ้ชนะมักวัดกันที่ความสามารถของกุนซือ แล้วยกตัวอย่างกุนซือจากวรรณกรรมจีนเรื่อง "สามก๊ก" อย่าง "ขงเบ้งและกุยแก"
"กุนซือ" เป็นบทความสั้น ๆ แต่อ่านแล้วชวนให้คิดไปไกล ......... ไกลถึงหลังเลือกตั้งปี 60 ..... คิดแล้วสยดสยอง ลองอ่านและจินตนาการกันดูเถิดครับ
เลียบวิภาวดี : กุนซือ
29 มี.ค. 2559ซิโก้ เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง กุนซือฟุตบอลทีมชาติไทย |
หลังจาก “เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง” พาทีมฟุตบอลไทยเดินลึกไปถึง 12 ทีมสุดท้ายของเอเชียที่จะพันตูสู่บอลโลก จนคนไทย “ได้เฮ” กันทั่วหน้า
“ซิโก้” ก็ได้รับคำชมและคำขอบคุณจาก “ลุงตู่” อย่างจริงใจในฐานะ “กุนซือทีมไทย” ที่ทำหน้าที่ได้เยี่ยมยอด
พูดถึงคำว่า “กุนซือ” ย่อมแตกต่างไปจากคำว่า “ที่ปรึกษา” อย่างแน่นอน เพราะ “ที่ปรึกษา” ได้แต่เสนอคำแนะนำ ไม่สามารถลงไปล้วงลูกถึงขั้น “จัดทำแผน” และ “วางกลยุทธ์ในการต่อสู้ได้” ในขณะที่ “กุนซือ” คือ “หัวใจของการปฏิบัติการโดยตรง”
ชัยชนะอันมากมายที่ผู้นำได้รับ และองค์กรประสบความสำเร็จเพราะมี “ยอดกุนซือ” วางแผนให้ ยกตัวอย่างในพงศาวดาร “สามก๊ก” จะเห็นว่า “จ๊กก๊กของเล่าปี่” ได้มี “ขงเบ้ง” เป็นยอดกุนซือ “วุยก๊กของโจโฉ” ก็มียอดกุนซือประกอบไปด้วย “กุยแก ซุนฮก ซุนฮิว และ สุมาอี้” ขณะที่ “ง่อก๊กของซุนกวน” ก็มี “โลซก และ ลกซุน” เป็นกุนซือใหญ่
ในบรรดายอดกุนซือทั้งหลาย ผู้วิเคราะห์พงศาวดารสามก๊กส่วนใหญ่ ต่างยกโป้งให้ “ขงเบ้งแห่งจ๊กก๊ก” เป็น “กุนซือยอดอัจฉริยะ” โดยลืมยอดกุนซืออีกรายที่ชื่อ “กุยแก” ของโจโฉแห่งวุยก๊ก อย่างไม่คาดคิด
กุยแก ยอดกุนซือของโจโฉ |
แท้จริง “กุยแก” คือยอดกุนซือที่วางแผนรบให้โจโฉรบชนะได้ทุกศึก ชนิดไม่เคยแพ้ใคร เพราะกุยแกอ่านกลยุทธ์ของศัตรูได้ทุกช็อตอย่างทะลุแจ้ง แต่แล้ว “กุยแกเป็นคนอายุสั้น” แค่สามสิบปีเศษเท่านั้นก็ล้มป่วยตาย “โจโฉผู้ร้องไห้ไม่เป็น” ถึงกับต้อง “หลั่งน้ำตาให้แก่กุยแกยอดกุนซือรายนี้” ที่ต้องจากไปอย่างอาลัยอาวรณ์ จากนั้นมาโจโฉก็รบแพ้มากกว่าชนะ
ว่ากันว่า “สงครามที่เซ็กเพ็ก” หรือเรียกอีกชื่อว่า “โจโฉแตกทัพเรือ” โดยทหารจำนวน 10 หมื่นของโจโฉถูกไฟเผาตายในกองเพลิงที่ตำบลเซียะเปีย ในปี พ.ศ.751 อันเกิดจากการวางแผนของ “ขงเบ้งและจิวยี่” นั้น ถ้า “กุยแก” ยังมีชีวิตอยู่ เหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดขึ้น เพราะ “แผนตื้นๆ แบบนี้ กุยแกอ่านขาด”
“ยอดกุนซือ” จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการทำสงครามชิงบ้านชิงเมือง ในการทำสงครามด้านการค้า ในการทำศึกด้านกีฬาและในการทำศึกด้านการเมือง
ลองมาติดตามดู “กุนซือขั้วอำนาจใหม่” จะสามารถ “บอนไซขั้วอำนาจเก่า” ที่มีกุนซือระดับ “กุยแก และขงเบ้ง” ได้หรือไม่?
กมลศักดิ์ ตั้งธรรมนิยม
เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง
กรุณาแสดงความคิดเห็น