เรื่องราวและประวัติของ เตาอี้ แม่ทัพผู้พิชิตเมืองง่อ รวมแผ่นดินจีนที่แตกแยกให้คืนสู่ความสงบสุข
“ลมหายใจของข้าพเจ้าจวนเจียนจะสิ้น คงเหลือแต่เพียงความสัตย์ หากพระองค์ทรงปรารถนาจะได้เมืองง่อแล้ว ขอพระองค์ทรงใช้แม่ทัพเตาอี้เถิด”คำร้องขออันโรยราของ เอียวเก๋า ขุนนางชั้นผู้ใหญ่แห่งราชสำนักจิ้น ผู้นอนรอวาระสุดท้ายอยู่บนเตียง เขาพยายามกลั้นใจ ทูลเสนอต่อพระเจ้าสุมาเอี๋ยน ที่ทรงโน้มศีรษะฟังเสียงอันแผ่วเบา พร้อมกับวางพระหัตถ์ข้างหนึ่ง กุมมืออันซูบบางของชายชรา
พลันที่ลมหายใจของเอียวเก๋าหมดลง พระเจ้าสุมาเอี๋ยนทรงมีน้ำพระอัสุชนไหลนองท่วมพระพักตร์ ทรงพร่ำรำพันถึงขุนนางชราผู้จากไป แต่ในพระทัยของพระองค์นั้น เต็มเปี่ยมไปด้วยคำถามและความหวัง ... เตาอี้ ... เตาอี้ ... ?
ในหนังสือสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน) กล่าวถึง “เตาอี้” (Du Yu) ไว้ในตอนที่ 87 อันเป็นตอนสุดท้ายของเรื่อง ไว้แต่เพียงว่าเป็นแม่ทัพใหญ่ได้รับการแต่งตั้งเป็น “ตินหลำจงกุ๋น” (แม่ทัพผู้พิชิตภาคใต้, General Who Guards the South) และ “ไตโต๋ก๊ก” (แม่ทัพใหญ่, Commander in Chief) จากพระเจ้าสุมาเอี๋ยน แล้วยกทัพทั้งทางบกทางเรือเข้าบุกตีเมืองง่อของพระเจ้าซุนโฮ รวบรวมแผ่นดินได้สำเร็จ
เตาอี้ เป็นใคร? มีวีรกรรมเก่งกล้าเพียงใด เชิญล้อมวงเข้ามาฟังเถิด สามก๊กวิทยา จะขยายความให้ฟัง
ทหารนักวิชาการ
เตาอี้ (Du Yu, 杜預,222-285) ชื่อรอง ยวนไข (Yuankai, 元凱) เป็นชาวเมืองจิงเหยา ตำบลเตาเหลง เป็นบุตรเตาสู เป็นหลานปู่เตาจี๋ อดีตนายทหารของโจโฉ เตาอี้ได้แต่งงานกับลูกสาวของสุมาอี้ จึงนับเป็นลูกเขยบุคคลสำคัญของเมือง เตาอี้เริ่มรับราชการทหารในสังกัดของจงโฮย ร่วมทำศึกในการยึดตีเมืองจ๊ก ครั้นเมื่อจงโฮยก่อการกบฏ จงโฮยถูกสังหาร แต่เตาอี้แคล้วคลาดได้รับการอภัยโทษ ทั้งยังรับราชการเรื่อยมา จนได้ตำแหน่งนายทหารระดับสูงของเมืองจิ้นเตาจี๋ นายทหารเอกของโจโฉ (ไม่มีในวรรณกรรม) ปู่ของเตาอี้ |
นอกจากจะอ่านจั่วจ้วนจนจำขึ้นใจ เตาอี้ยังสามารถแต่งตำราวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาในจั่วจ้วนและหนังสือเล่มอื่นไว้อีกด้วย เรียกได้ว่าเขาเป็น “ทหารนักวิชาการ” เป็นนักปราชญ์ เมธีชั้นครูของเมืองจิ้นเลยทีเดียว
หนังสือกราบทูล
เมื่อเอียวเก๋าตาย พระเจ้าสุมาเอี๋ยนได้แต่งตั้งให้เตาอี้เป็นแม่ทัพใหญ่ ตามคำสั่งเสียของเอียวเก๋า ครั้นเมื่อเตาอี้รับตำแหน่ง ก็ตั้งหน้าตั้งตาทำการฝึกฝนไพร่พลอยู่ที่เมืองซงหยง เพื่อเตรียมกำลังสำหรับให้พร้อมสำหรับการบุกเข้าตีเมืองง่อ
จนกระทั่งปี ค.ศ.280 จิ้นไท่คังศก เตาอี้ ได้มีหนังสือกราบทูลพระเจ้าสุมาเอี๋ยน ความว่า
“แต่กาลก่อนนั้น แม่ทัพเอียวเก๋าผู้ภักดี ได้กราบทูลพระองค์ ให้รบกับเมืองง่อ แต่ยังมิทันได้เจรจากับเหล่าขุนนางในที่ประชุม ความก็เกิดขัดแย้ง เห็นต่างกันเสียก่อน จึงยังมิได้ลงมือ แต่เสียงของส่วนใหญ่ยังคงต้องการบุกตีเมืองง่อให้ราบคาบโดยพลัน หากพระองค์ยังมัวลังเล อ้ายซุนโฮจะย้ายเมืองหลวงหนีไปอยู่ตำบลบู๊เฉียง ประตูป้อมค่ายของมันจะได้รับการบำรุงให้แน่นหนา ทหารเมืองง่อจะพรั่งพร้อม การล่าช้าดังนี้ เมื่อตี ก็จะได้เปล่า เมื่อเข้ารบ ก็จะพลาดพลั้ง ปีนี้ ปีหน้า ปีไหน ก็จะไม่ได้เมืองง่อเลย”
พระเจ้าสุมาเอี๋ยน กำลังทรงเล่นหมากรุกอยู่กับเตียวหัว ครั้นเมื่อได้ทราบความตามหนังสือของเตาอี้ ก็ยังรีรอ เตียวหัวเห็นดังนั้นจึงลุกขึ้น สะบัดกระดานหมากรุกทิ้ง ก้มลงคำนับแล้วทูลว่า
“ฝ่าบาททรงชำนาญกลศึก อาณาจักรเรืองรุ่ง ทหารกล้าแกร่ง อ้ายซุนโฮโฉดชั่ว บ้านเมืองเสื่อมถอย ทหารขวัญผวา ฤกษ์งามยามนี้ หากเรารุกตี จะได้เมืองมันโดยง่าย ทรงตัดสินพระทัยด้วยเถิด”
พระเจ้าสุมาเอี๋ยน ตระหนักในความ จึงตัดสินพระทัย ตั้งเตาอี้เป็นแม่ทัพใหญ่ มีสุมาเตี๊ยม อองหุย อ๋องหยก ห่อหุน เป็นแม่ทัพรอง คุมกำลังทหารกว่าสองแสน เรือรบอีกกว่าหมื่นลำ พร้อมกับกำลังทางเรือของ องโยย ตงปีน และ หยังจี้ อีกกว่าสองแสน ยกทัพแยกเป็นหลายสาย เข้าตีเมืองง่ออย่างพร้อมเพรียงกัน
กระบวนยุทธ์เตาอี้
ซุนหลิมเม่ทัพใหญ่เมืองง่อ เสียทีให้เตาอี้ |
“ใช้คนแปดร้อย ลอบยึดเล่อเซียง ซ่องสุมทหารไว้ในเขาปาสัน ปักธงเรียงรายตลอดแนว กลางวันโห่ร้องตีกลองให้อึกทึก กลางคืนจุดไฟให้สว่างไสว ลวงให้ข้าศึกสับสนว่ามีกำลังมากมาย”คำสั่งการอันกระชับของเตาอี้ บัญชาให้ โจวจื่อ แม่ทัพรองนำไปปฏิบัติ สำหรับการเริ่มยุทธ์
ส่วนกองทัพที่เหลือ เตาอี้ให้ซุ่มกำลังรอท่าไว้ จากนั้นเตาอี้ได้นำกำลังทหารไปประจันกับซุนหลิม แม่ทัพใหญ่ฝ่ายเมืองง่อ เตาอี้เข้ารบแล้วแสร้งถอย ลวงให้ซุนหลิมไล่ตาม ซุนหลิมจึงถูกล้อมตีโดยทหารเมืองจิ้นที่ซุ่มกำลังรอ เมื่อทัพซุนหลิมแตกถอยมาถึงชานเมืองเล่อเซียงก็ตกใจ เพราะเห็นธงทิวของเมืองจิ้นปักไว้ทั่วทั้งแนว ควันไฟตลบฟุ้ง เสียงโห่ร้องกลองศึกของกองทัพจิ้นดังกึกก้องไปทั้งป่า ทหารซุนหลิมเสียขวัญเป็นอันมาก โจวจื่อจึงยกกำลังแปดร้อยที่เตรียมไว้ สังหารซุนหลิมได้สำเร็จ ส่วนแม่ทัพคนอื่น ๆ ที่ยกมาพร้อมกันกับซุนหลิม ทั้งลู่จิ้ง และง่อเอี๋ยน ก็ถูกสังหารสิ้น
กองทัพเมืองง่อ ที่เหลือทราบข่าวซุนหลิมตาย พร้อมกับเห็นธงเมืองจิ้นปักไว้ทั่วแผ่นดินของตนก็เสียกำลังใจ รบเมื่อไร แพ้เมื่อนั้น บรรดาหัวเมืองต่าง ๆ จากเมืองกังเหลงถึงเมืองบู๊เฉียง ตลอดแนวสองฟากฝั่งแม่น้ำแยงซีเกียงล้วนยอมแพ้ให้แก่กองทัพของเตาอี้ทั้งสิ้น เมื่อสถานการณ์ศึกราบคาบแล้ว เตาอี้จึงจัดประชุมนายทหาร วางแผนบุกตีเมืองหลวง พระนครเกี๋ยนเงียบ
เมืองง่อ ก็แค่ลำไผ่
ณ ที่ประชุมนายทหาร เตาอี้วางแผนเข้าตีเกี๋ยนเงียบ เมืองหลวงของง่อก๊ก แต่หูเฟิ่น(ห่อหุน) ที่ปรึกษา แนะว่าบัดนี้เป็นฤดูน้ำหลาก ควรรอให้ถึงฤดูใบไม้ผลิ จึงค่อยเข้าตี
เตาอี้ จึงชี้แจง โดยให้ความเห็นแก่ที่ประชุมเป็นสำคัญว่า
“เมืองง่อ ก็แค่ลำไผ่ ทหารเราเหมือนคมมีด แหวกปล้องไผ่ไปได้สองสามปล้อง ลำไผ่ที่เหลือก็จะแหวกเป็นทางอย่างง่ายดาย”
ที่ประชุมได้ยินอุปมาดังนั้น จึงเข้าในสถานการณ์ของสงครามครั้งนี้เป็นอย่างชัดแจ้ง และตกลงใจ เข้าตีทันที
ลำไผ่ เมื่อแตกแล้ว รอยแตกนั้นก็ทำให้ไม้ที่เคยแข็งตั้งตรง แหวกแยกหักโค่นลง กองทัพของเมืองจิ้น บุกเข้าตีเกี๋ยนเงียบอย่างง่ายดาย องโยยแม่ทัพเรือซึ่งยกทัพล่วงมารอไว้แล้ว จึงเข้าถึงพระนครและจับกุมพระเจ้าซุนโฮไว้ได้สำเร็จ
คำของเตาอี้นี้ ภายหลังกลายเป็นสำนวนจีน “บุกหน้าเหมือนผ่าลำไผ่” (勢如破竹) มีใช้มาจนถึงปัจจุบัน
เรารวมแผ่นดินได้เพราะเตาอี้
พระเจ้าสุมาเอี๋ยน |
“ความดีความชอบครานี้ เป็นของแม่ทัพเอียวเก๋าโดยแท้ น่าเสียดายยิ่งนัก ที่เขาไม่มีชีวิตอยู่ได้เห็นความสำเร็จ อย่างไรก็ดีข้าพเจ้าก็ขอขอบคุณในน้ำใจของท่านเอียวเก๋า ที่ได้แนะนำให้ข้าพเจ้าแต่งตั้งแม่ทัพเตาอี้ ผู้ทำให้แผนการนี้สำเร็จ เรารวมแผ่นดินได้เพราะเตาอี้”
หลังศึกสงบ เตาอี้ได้รับบรรดาศักดิ์ชั้นพระยา ปกครองเมืองกังตั๋งจวบจนอายุได้ 63 ปี เตาอี้ก็สิ้นใจอย่างสงบ “ตัวตายแต่ชื่อยัง” ชื่อเสียงและผลงานทางวิชาการของเตาอี้ยังสืบต่อเรื่อยมาอีกหลายร้อยปี
แม้จะไม่เด่นดัง เท่าตัวละครหลักคนอื่น ๆ แต่ เตาอี้ ก็คืออีกหนึ่งวีรชนคนสำคัญ ที่มีผลงานไม่น้อยหน้าใครเลย
เตาอี้นี่แปลกใจมาก ค่าพลังดีทุกอย่าง แต่ค่าพลัง WAR แค่ 20 ทั้งที่ใส่ชุดเกราะออกรบในรูป
ตอบลบทีนี้มีคำถามว่า ซุนหลิมที่พูดถึง ใช่ Sun Xin หรือเปล่าครับ
ง่อเอี๋ยนที่ตายไปคือ Wu Yan แต่ยังมี Wu Yan อีกคนที่ยังสู้รบจนถึงจุดที่ซุนโฮยอมแพ้ เเล้วก็ยังมีชีวิตอยู่ รายนี้อ่านเป็นไทยว่าอะไรครับ
แล้วก็ ห่อหุน กับ หูเฟิ่น นี่ใช่พ่อลูก Hu Zun กับ Hu Fen หรือเปล่า
- เตาอี้ ไม่ชำนาญ/ไม่มีประวัติการรบพุ่งครับ
ลบ- ซุนหลิม = Sun Xin ถูกแล้วครับ
- แม่ทัพง่อรายสุดท้ายนั้นคือ อู้เยี้ยง Wu Yang ครับ
- ห่อหุน กับ หูเฟิ่น (Hu Fen) คือคน ๆ เดียวกัน เป็นบุตรคนโตของ โฮจุ๋น (Hu Zun) ครับ
ว่าแต่รูปซุนหลิมเสียเมืองใครวาดครับ มีไอ้หยาด้วย 55555
ลบปล.สามก๊กภาคหก เตาอี้ค่า WAR ประมาณหกสิบกว่าๆ เท่ากับเอียวเก๋านะครับ