รูปแบบของระบบการปกครอง ของ วุย จ๊ก และ ง่อ ในสมัยสามก๊ก
จากฮั่นตะวันออกที่สงบสุขมานาน สู่สงครามแย่งชิงอำนาจสามก๊ก เป็นยุครบราฆ่าฟันมากที่สุดยุคสมัยหนึ่งในประวัติศาสตร์จีนและโลก เป็นการนองเลือดกว่าร้อยปี ชั่วอายุคนไปยังชั่วอายุคน ทั้งสามอาณาจักรทุ่มเทพัฒนายุทโธปกรณ์ และกลยุทธ์การทำศึกตลอดเวลา" รูปแบบการปกครอง ของ วุย จ๊ก และ ง่อ "
หลังจากเกิดกบฏโจรโพกผ้าเหลือง หัวเมืองต่าง ๆ ก็ซ่องซุมกำลังเพื่อป้องกันพวกโจร มีกองอาสาเกิดขึ้นเช่น กลุ่มสามพี่น้องที่ทำการโดยอิสระ บางเมืองที่มีกำลังน้อยก็คิดการใหญ่ จนโฮจิ๋น ผู้บัญชาการแห่งกองทัพฮั่นถูกลอบฆ่า ตั๋งโต๊ะได้เข้ามายึดกุมอำนาจ ตั้งแต่นั้นบ้างเมืองก็แตกออกเป็นก๊กเป็นเหล่ามากมาย จนกระทั่งโจโฉ เล่าปี่ และซุนกวน ได้รวบรวมอาณาจักรเป็นของตนและตั้งยันกันในลักษณะสามก๊กอยู่ยาวนาน
==[ วุยก๊ก ]==
วุยก๊ก ของ โจโฉ |
วุยก๊กครอบครองดินแดนทางเหนือของประเทศอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทั้งก๊กมีประชากรประมาณ 4,400,000 คน หรือคิดเป็น 58 เปอร์เซ็นต์ของแผ่นดินจีนหรือต้าฮั่นตะวันออกในยุคนั้น
วุยก๊กมีฮ่องเต้ทั้งหมด 5 พระองค์ แต่เป็นการสถาปนาย้อนหลังหนึ่งพระองค์ คือ พระเจ้าโจโฉ หากรวมพระเจ้าโจโฉด้วย วุยก๊กจะมีฮ่องเต้ถึง 6 พระองค์ คือ พระเจ้าโจโฉ พระเจ้าโจผี พระเจ้าโจยอย พระเจ้าโจฮอง พระเจ้าโจมอ และพระเจ้าโจฮวน
- กำลังทหาร -
แรกเริ่มเดิมที โจโฉมีกำลังทหารของตนเองประมาณ 5, 000 นาย โดยทหารเอกส่วนใหญ่มาจากอาสาสมัครที่เป็นญาติหรือแซ่เดียวกัน เช่น แฮหัวตุ้น แฮหัวเอี๋ยน โจหยิน โจหอง (โจโฉเดิมแซ่ “แฮหัว” แต่เปลี่ยนเป็นแซ่โจตามพ่อ เพราะพ่อของโจโฉคือโจโก๋ เปลี่ยนไปใช้แซ่โจตามพ่อบุญธรรมซึ่งเป็นขันทีชื่อโจเท้ง)กองทัพของโจโฉเติบโตแบบก้าวกระโดดจากการเอาชนะกบฏโพกผ้าเหลือง ทำให้ได้ทหารอีกรวมประมาณ 300,000 นาย กลายเป็นกองทัพขนาดมหึมาในยุคนั้น ต่อมากำลังทหารโจโฉยิ่งเพิ่มขึ้นจากการชนะอ้วนเสี้ยวในศึกกัวต๋อ และเพิ่มมากขึ้นอีกหลังจากยึดได้เกงจิ๋ว (กวางโจว) ทำให้โจโฉผูกขาดกองทหารม้าไว้ได้แต่ผู้เดียว
ในยุคนี้ มีการสร้างอานม้าและโกลนเพื่อช่วยในการบังคับ ทำให้ประสิทธิภาพของกองทหารม้าสูงขึ้น ทำให้กองทัพวุยก๊กมีประสิทธิภาพในการรบภาคพื้นดินดีเยี่ยม ทหารม้าสามารถตีตะลุยผ่ากองทหารเดินเท้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ม้าศึกช่วยให้ยกไปโจมตีข้าศึกได้อย่างรวดเร็วและสามารถหนีได้อย่างรวดเร็ว แต่ในสมัยนั้น การใช้ม้าคงไม่ได้กว้างขวาง น่าจะยังมีจำกัดให้ใช้เฉพาะแม่ทัพนายกองคนสำคัญเท่านั้น ทหารส่วนใหญ่ยังคงพลเดินเท้า
กองทหารม้ามักถูกใช้ในยุทธการแบบสายฟ้าแลบ เช่น ใช้โจมตีตัดเสบียงของฝ่ายข้าศึก ตีตัดกองกำลังของข้าศึกให้แยกออกเป็นส่วนๆแล้วทำลายทิ้ง ซึ่งโจโฉเชี่ยวชาญยุทธศาสตร์ด้านนี้มาก เพราะมีกองทหารม้าที่มีประสิทธิภาพ
-สถาบันทางการทหาร-
โครงสร้างบัญชาการของทัพวุยก๊กก็ถ่ายทอดมาจากระบอบการบังคับบัญชาของฮั่น แต่เมื่อโจโฉได้กำลังพลของอ้วนเสี้ยวมาปกครองก็มีการปรับเปลี่ยนสายการบังคับบัญชาขึ้นมาใหม่ โดยมีทหารอาชีพส่วนกลาง และกองกำลังในภูมิภาคเรียกว่า กองทัพภายนอกกองทัพส่วนกลางมีที่มาจากทหารองครักษ์ของโจโฉซึ่งเรียกว่ากองทหารเสือและเสือดาว ผู้บัญชาการก็มักเป็นเครือญาติของโจโฉ เช่น โจฮิว โจจิ๋น ส่วนทหารเอกก็เช่นเคาทู เตียนอุย เป็นต้น ในปี ค.ศ. 220 กองทัพส่วนกลางได้กรมเดียวเรียกว่าจงเจียน ภายใต้การบังคับบัญชาของเคาทู พอถึงยุคสมัยของโจผีและโจยอย ในปี ค.ศ.230 ก็มีทหารส่วนกลางอยู่ 5 กองด้วยกัน
กองทัพภูมิภาคมักมีขนาดใหญ่กว่ากองทัพส่วนกลาง บางกองอาจมีกำลังพลมากกว่า 50,000 คน ในปีค.ศ. 222 โจผีแยกกองกำลังภูมิภาคแบ่งตามจังหวัดโดยมีหัวหน้าผู้ควบคุม (Chief Controllers) ที่ได้รับการแต่งตั้งจากส่วนกลาง
กองกำลังภูมิภาคมักหมายความถึง กองทัพตะวันออก นอกจากนี้ก็มีทหารชายแดน ซึ่งถูกควบคุมโดยผู้บัญชาการใหญ่ (Grand administrators)หรือผู้ตรวจการ (Inspector) ตำแหน่งทั้งสองนี้มักจะแยกกันดูแล พลเรือนและทหารในเขตแดนนั้น
- บูซู - (Buqu) และการสืบทอดตำแหน่ง
บูซูเป็นนักสู้อิสระ บูและซูเป็นหน่วยย่อยของทัพ ระหว่างราชวงศ์ฮั่นถึงสามก๊ก มีการรวมคำทั้งสองนี้เพื่อหมายถึงกองทัพทหารอิสระที่ทำงานให้กับขุนศึกเป็นการส่วนตัว ความสัมพันธ์ระหว่างแม่ทัพ 2 ทัพกับบูซู เป็นแบบสืบทอดตามสายเลือด ถ้าแม่ทัพตาย บุตรชายคนโตก็จะขึ้นสืบทอดตำแหน่งแทน แต่ถ้าทหารตาย สมาชิกในครอบครัวที่เป็นชายจะได้รับตำแหน่งต่อ ส่วนคนอื่นๆ ก็จะเป็นแรงงานในภาคเกษตร ซึ่งผลตอบแทนก็คือ จะได้รับสถานะให้เป็นเจ้าของที่ดิน (คล้ายกับระบบศักดินาของไทย)เนื่องจากในสมัยจักรพรรดิกวงอูได้ปลดประจำการทหารทำให้กองกำลังตามจังหวัดอ่อนแอ ส่วนทหารชายแดนจะถูกยกระดับชั่วคราวในเวลาที่มีศึกสงครามเท่านั้นหลังจากที่ระบอบฮั่นล่มสลายลง วุยก๊กก็ได้ยกระดับรูปแบบบูซูขึ้นขนานใหญ่ ครอบครัวของนายทหารจะต้องย้ายไปอยู่ในเมืองหลวงหรือรอบๆ เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมมิให้แปรพักตร์ในยามที่ไปรบ ทหารและครอบครัวถือว่าเป็นทรัพย์สินของกองทัพ ทหารและบุคคลในครอบครัวที่มีสถานะทางทหารเท่านั้น เพื่อให้แน่ใจว่าการแต่งงานไปภายนอกจะไม่ทำให้กำลังคนของกองทัพลดน้อยลง และจะต้องรับใช้กองทัพไปตลอดชีวิต
- นโยบายตันเถียน -
นโยบายตันเถียนเป็นระบบผลิตอาหารให้กองทัพ ก่อตั้งโดยโจโฉ โดยการใช้เหล่าทหารที่ว่างเว้นจากการรบได้ร่วมทำนากับราษฏร์เพื่อให้มีการผลิตให้มีการผลิตอาหารอย่างพอเพียงแก่กองทัพวุย ส่วนรายละเอียดไม่ปรากฏชัดว่ามีรูปแบบอย่างไร- จุดแข็ง -
วุยก๊กเป็นก๊กที่กุมอำนาจทางการเมืองการทหารไว้ทั้งหมด อีกทั้งยังตั้งอยู่ ณ ใจกลางของแผ่นดินจีน จึงถือได้ว่ามีความได้เปรียบก๊กอื่นๆทั้งด้านกำลังทหารและทรัพยากรต่างๆ ด้วยพื้นที่ที่กว้างขวาง ทำให้วุยก๊กแผ่ขยายดินแดนไปเรื่อยๆ ในลักษณะปลาใหญ่กินปลาเล็กจนยากที่ก๊กอื่นจะต่อกรได้ ปัจจัยสำคัญที่สุดของวุยก๊กก็คือ ทรัพยากรบุคคลที่วางรากฐานมาตั้งแต่พระเจ้าโจโฉ ไม่ว่าจะเป็นนักรบฝ่ายบู๊และมันสมองของกุนซือฝ่ายบุ๋นที่มีมากมายกว่าก๊กอื่น ๆ- จุดอ่อน -
ในช่วงปลายราชวงศ์วุย หลังจากพระเจ้าโจยอยสิ้นพระชนม์ ฮ่องเต้วุยก๊กล้วนแต่ทรงพระเยาว์ การเมืองในประเทศจึงเกิดความวุ่นวายอย่างมาก เกิดการแก่งแย่งอำนาจภายในและการปฏิวัติรัฐประหาร ในที่สุด อำนาจเบ็ดเสร็จตกเป็นของตระกูลสุมา นำโดยสุมาอี้กับลูกชายสองคน คือ สุมาสู กับ สุมาเจียว ทำให้ราชวงศ์วุยอ่อนแอลง ท้ายที่สุดแม้จะรวบรวมแผ่นดินเป็นหนึ่งได้ แต่ก็ไม่ใช่ในนามของราชวงศ์วุยและตระกูลโจอีกต่อไป
______________________________________________
==( จ๊กก๊ก )==
จ๊กก๊ก ของ เล่าปี่ |
จ๊กก๊กมีอายุยืนยาวประมาณ 43 ปี มีกษัตริย์เพียง 2 พระองค์ คือ พระเจ้าเล่าปี่ และพระเจ้าเล่าเสี้ยน จ๊กก๊กก่อสร้างประเทศขึ้นได้โดยความสามารถของอัครมหาเสนาบดีคนสำคัญ คือ จูกัดเหลียงหรือขงเบ้ง เมื่อขงเบ้งตาย จ๊กก๊กก็อ่อนแอลงตามลำดับ ใน ค.ศ. 263 ทัพวุยมุ่งมาตามทางลัดอิมเป๋งมุ่งตรงมาถึงเชงโต๋ พระเจ้าเล่าเสี้ยนยอมจำนนอย่างง่ายดาย เป็นอันสิ้นสุดจ๊กก๊กที่มีอายุยืนยาวถึง 43 ปี
- กำลังทหาร -
กำลังทหารของจ๊กก๊กมีจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับก๊กใหญ่อย่างวุยก๊ก เม่อครั้งบุกเขากิสานครั้งที่ 6 วุยก๊กใช้กำลังพลประมาณ 100,000 นาย แต่ตัวนโยบายหมุนเวียนกำลังพลของขงเบ้ง ทำให้เขาสำรองกำลังไว้อีก 100,000 นาย เพื่อสับเปลี่ยนกัน เพื่อความสดของกำลังพล แม้กระนั้นก็ยังน้อยกว่ากำลังพลของวุยก๊กกว่าครึ่งค่อนสภาพภูมิประเทศของฝ่ายจ๊กเป็นพื้นที่ภูเขาเสียส่วนใหญ่ ทำให้ฝ่ายจ๊กมีกองทัพม้าด้อยกว่าฝ่ายวุยมาก แต่ขงเบ้งได้พัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ให้มีความทันสมัยเหนือคู่ต่อสู้ และมียุทธวิธีที่เหนือกว่าทำให้ชนะกองทัพที่มีกำลังพลมากกว่าได้
อาวุธที่ฝ่ายจ๊กใช้มีความแปลกใหม่ล้ำสมัยกว่าอาวุธในยุคนั้น ขงเบ้งรู้จักวิธีใช้ดินระเบิดและนำมาใช้ในการสงครามเป็นครั้งแรก เมื่อยกทัพไปปราบชนเผ่าทางใต้ ลุดตัดกุดและทหารตีนกะเป๋งต่างก็โดนประทัดเหล็กระเบิดใส่จนศีรษะ แขน ขาขาดตายเกลื่อนทั้งกองทัพ เป็นครั้งแรกที่โลกได้พบเห็นอานุภาพของระเบิดสังหาร
อาวุธมหัศจรรย์ที่ขงเบ้งคิดค้นก็คือ หน้าไม้กล ในนิยายกล่าวว่ายิงได้ทีละ 10 ดอก และยิงได้ไกลมากกว่าธนูโดยทั่วไป แต่ว่าแบบหน้าไม้ที่กล่าวถึงนี้ไม่ปรากฏมาถึงปัจจุบัน เราจึงไม่ทราบว่าหน้าไม้นี้คือต้นแบบของปืนใช่หรือไม่
โคยนตร์ ก็เป็นอีกสิ่งประดิษฐ์หนึ่งที่ขงเบ้งคิดขึ้น เพื่อช่วยในการขนส่งเสบียงและยุทธปัจจัยต่างๆ ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ของเสฉวนเป็นพื้นที่สูงชันทำให้ยากต่อการขนส่ง ในสามก๊กฉบับนิยายได้กล่าวถึงประสิทธิภาพโคยนตร์ไว้อย่างพิสดารว่า “ขงเบ้งก็เอาโคยนตร์นั้นลองดู ทหารเข้ารุนแต่พอให้พ้นจากที่ โคยนตร์นั้นก็เดินไปขึ้นเนินเขาลงลุ่มได้ดังเป็น ขงเบ้งจึงว่า ถ้าเดินแต่ตัวเดียวไปได้ไกลทางประมาณ 300 เส้น แม้ไปทั้งพวกเดินทางได้ถึง 700 ถึง 800 เส้น” เรียกว่าสิ่งประดิษฐ์ของขงเบ้งนี้ล้ำสมัยเสียจนเราคาดไม่ถึง แต่ก็ไม่มีใครทราบหน้าตาของโคยนตร์ว่าเป็นเช่นไร นักวิชาการในยุคปัจจุบันบางท่าน สัณนิษฐานว่าอาจเป็นรถเข็นที่ใช้ล้อเลื่อน
นอกจากนี้ยังมีการประดิษฐ์บัลลูนอากาศร้อน ซึ่งใช้สำหรับบอกตำแหน่งทางการทหาร ซึ่งตกทอดมาถึงปัจจุบันนี้ เรียกกันว่า โคมของขงเบ้ง
- จุดแข็ง -
จ๊กก๊กมีชัยภูมิที่ง่ายต่อการป้องกันแต่ยากต่อการโจมตี เนื่องจากภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อน อีกทั้งการได้ผู้นำชั้นเยี่ยมอย่างขงเบ้งทำให้จ๊กก๊กรักษาอธิปไตยได้อย่างมั่นคง บ้านเมืองก็ร่มเย็น ด้านการทหาร ขงเบ้งพยายามนำทัพบุกขึ้นเหนือจนเกือบยึดดินแดนวุยได้หลายครั้ง- จุดอ่อน -
กษัตริย์องค์หลังของจ๊กก๊ก คือ พระเจ้าเล่าเสี้ยน เป็นฮ่องเต้ที่อ่อนแอที่สุดคนหนึ่งในยุคสามก๊ก ด้วยความโง่เขลาและไม่ใส่ใจในการบริหารกิจการบ้านเมือง เอาแต่รักสนุก ลุ่มหลงสตรี หูเบาเชื่อแต่คำขันที จนนำบ้านเมืองที่พระบิดาและบรรดานายทหารร่วมสร้างขึ้นมาด้วยความลำบากไปสู่กาลอวสานในที่สุด
________________________________________
=={ ง่อก๊ก }==
ง่อก๊ก ของ ซุนกวน |
ง่อก๊กมีอายุยืนยาว 58 ปี มากที่สุดในสามก๊ก แต่มีฮ่องเต้ช้ากว่าก๊กอื่นๆ กล่าวคือ พระเจ้าซุนกวนสถาปนาตนเองเป็นฮ่องเต้เมื่อ ค.ศ.229 หลังจากพระเจ้าโจผีสถาปนาตนเองถึง 9 ปี โดยมีฮ่องเต้ทั้งหมด 4 พระองค์ คือ พระเจ้าซุนกวน พระเจ้าซุนเหลียง พระเจ้าซุนฮิว และพระเจ้าซุนโฮ ไม่นับรวมการสถาปนาย้อนหลังให้ซุนเกี๋ยนและซุนซัก พระราชบิดาและพระเชษฐาของพระเจ้าซุนกวนเป็นฮ่องเต้เช่นเดียวกัน
- กำลังทหาร -
ง่อก๊กมีกำลังไม่มากนักเมื่อเทียบกับวุยก๊ก แต่มีกองทัพเรือที่เข้มแข็งเกรียงไกร เนื่องจากสภาพภูมิประเทศมีแม่น้ำแยงซีเป็นชัยภูมิ ง่อก๊กจึงมีความชำนาญในการรบทางน้ำมากกว่าก๊กอื่น ทำให้ยากต่อการรุกราน กองทัพวุยก๊กพยายามรุกฝ่าแนวป้องกันของง่อก๊กที่หับป๋าหลายครั้งแต่ก็ไม่เคยสำเร็จเรือของฝ่ายง่อมีประสิทธิภาพสูงมาก อาวุธทีเด็ดของฝ่ายง่อก็คือเรือไฟ ซึ่งเสมือนหนึ่งขีปนาวุธในปัจจุบันที่เข้าทำลายเรือของฝ่ายตรงข้ามได้อย่างแม่นยำ กองทัพของโจโฉก็โดนเรือไฟของจิวยี่เข้าโจมตีจนพ่ายแพ้อย่างไม่เป็นท่าเช่นกัน
เรือรบของง่อก๊กมีหลากหลายแบบ ในเอกสารของไป่ซ่งจี่ได้กล่าวถึงชื่อเรือของง่อก๊กเช่น “เมฆบิน” และ “เรือรบมังกรเขียว” ซึ่งเรือที่สามารถบรรทุกม้าได้ 80 ตัวก็ยังถือได้ว่ามีขนาดเล็ก ฝ่ายง่อยังมีเรือขนาดใหญ่ที่บรรจุนักรบได้ถึง 10,000 คน ในปี ค.ศ.280 เมื่อฝ่ายง่อถูกพิชิตโดยไต้จิ้น มีเรือถูกยึดมากถึง 50,000 ลำ ชัยชนะของฝ่ายไต้จิ้นเกิดจากการตีโอบล้อมมาจากทางตะวันตก โดยหลีกเลี่ยงทางเหนือที่ฝ่ายง่อควบคุมเส้นทางน้ำอยู่ หากบุกมาทางเหนือก็คงเอาชนะฝ่ายง่อไม่ได้
- จุดแข็ง -
ง่อก๊กเป็นก๊กที่มีชัยภูมิดีที่สุดอีกก๊กหนึ่ง การตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำ ทำให้มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ราษฎรไม่อดอยาก แม้อาจได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมอยู่บ้าง แม่น้ำแยงซีเจียงที่ขวางกั้นเป็นจุดแข็งที่สุดในการป้องกันประเทศ ทำให้ก๊กอื่นยากที่จะบุกมาโจมตีได้ และด้วยความสามารถผนวกกับการอุ้มชูของยอดขุนพลแต่ละยุคสมัยทำให้สามารถดำรงยืนยงอยู่ได้ยาวนานกว่าก๊กใด ๆ- จุดอ่อน -
เช่นเดียวกับก๊กอื่นๆ หลังยุคของพระเจ้าซุนกวน การเมืองการปกครองภายในประเทศก็เริ่มมีปัญหาภายใน ฮ่องเต้องค์หลังๆไม่เข้มแข็งเหมือนพระเจ้าซุนกวน และตกอยู่ใต้อำนาจของนายทหารหลายคนกาลอวสานของง่อก๊กมาถึง เมื่อพระเจ้าซุนโฮ ทรราชย์หมายเลขหนึ่งแห่งยุคสามก๊กขึ้นครองราชย์ และได้ทำการโฉดชั่วมากมายจนแผ่นดินลุกเป็นไฟ ในที่สุด ทัพง่อจึงพ่ายแพ้ต่อไต้จิ้น จบสิ้นแผ่นดินง่อที่มีอายุยืนยาวมาเกือบ 60 ปี
________________________________________
อ้างอิงจาก
- "จริง - เท็จ สามก๊ก...เรื่องจริงที่คุณอาจไม่เคยรู้" โดยคุณ อัสดงคต ที่ได้เขียนมาจากหนังสือ "อินไซด์สามก๊ก"(ฉบับอ่านสามก๊กอย่างไรให้แตกฉาน) โดยคุณ ณรงค์ชัย ปัญญานนท์ชัย
NOYd9
(FB : นอย 'ดี นายน์ )
__________________
หมายเหตุ
บทความนี้เรียบเรียงโดย คุณ นอย ดี' นายน์ (NOYd9) ที่ส่งเข้ามาร่วมแบ่งปันให้กับเพื่อน ๆ ผู้รักในวิชาสามก๊กทุกคน ....
สามก๊กวิทยา จึงขอขอบพระคุณท่านมา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ
สามก๊กวิทยา จึงขอขอบพระคุณท่านมา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ
1. ในสมัยโจยอย มีการสถาปนาฮ่องเต้ย้อนหลังอีกสองพระองค์ คือ โจโก๋ และโจเท้งครับ (ไม่เข้าใจ ทำไมไม่สถาปนาพ่อแท้ๆของโจโก๋ เพราะโจเท้งเป็นพ่อบุญธรรมของโจโก๋)
ตอบลบ2. ในความคิดผม จุดแข็งของวุยคือจำนวนทหาร ของจ๊กคือคณะอริสโตแครตที่มากฝีมือ ส่วนง่อคือการเอาดีด้านเศรษฐกิจ ไม่เน้นสงคราม ซึ่งก๊กทั้งสามก็ล้มลงเพราะจุดแข็งของตัวเองเป็นเหตุ วุยล้มลงเพราะทหารกบฏต่อราชวงศ์ จ๊กล้มเพราะขาดคณะอริสโตแครตไป (ขงเบ้งกับห้าทหารเสือตาย ก็ทำอะไรไม่ได้อีก) ส่วนง่อที่สนแต่การทำการค้าและความสงบ มากกว่าการปราบอีกสองก๊ก ลงท้ายก็มาพังเพราะถูกก๊กอื่นที่ตนไม่ยอมไปปราบเข้ายึดครอง