ชีวประวัติของ ตันซิ่ว (เฉินโซว่, Chen Shou, 陳壽) ผู้ประพันธ์ จดหมายเหตุสามก๊ก
ตันซิ่ว (เฉินโซว่, Chen Shou, 陳壽) เกิดในปีที่ 11 ศักราชเกี้ยนเฮ็ง หรือในปี ค.ศ. 233 ในแผ่นดินพระเจ้าเล่าเสี้ยนราชวงศ์ซู่ฮั่นแห่งเสฉวน ซึ่งในขณะนั้นบิดาของเขาได้ถูกขงเบ้งลงโทษโดยการกล้อนผมแล้วปลดลงเป็นไพร่ เนื่องจากบิดาของตันซิ่วนั้นเป็นที่ปรึกษาของม้าเจ๊กเมื่อครั้งที่จ๊กก๊กเสียเกเต๋ง ต่อมาบิดาของตันซิ่วได้รับอภัยโทษให้เลื่อนไปเป็นสามัญชนและว่างงานอยู่กับบ้าน"ชีวประวัติของผู้ประพันธ์ จดหมายเหตุสามก๊ก"
ในวัยเด็กตันซิ่วได้ศึกษาวิชาการกับอาจารย์คนหนึ่งที่มีชื่อว่า เจียวจิว เมื่อถึงวัยหนุ่มเขาก็เข้ารับราชการในตำแหน่งหัวหน้าหอสมุดหลวง แต่เขานั้นไม่เป็นที่พอใจของขันทีฮุยโฮผู้เป็นที่โปรดปรานของเล่าเสี้ยนฮ่องเต้ ดังนั้นการรับราชการของเขาจึงไม่ก้าวหน้านัก และออกจะมืดมนซะด้วยซ้ำไป
ต่อมาบิดาของตันซิ่วถึงแก่กรรมไป ตันซิ่วต้องไว้ทุกข์อยู่กับบ้าน พอดีกับเขาเกิดล้มป่วยจึงต้องให้สาวใช้ปรนิบัติ ผู้คนตำบลเดียวกันทราบเรื่องต่างพากันตำหนิตันซิ่วว่า ไม่มีความกตัญญูต่อบิดา ทำเรื่องเสื่อมเสียศีลธรรม ในที่สุด ตันซิ่วก็ถูกถอดออกจากราชการและเป็นที่รังเกียจของผู้คนทั่วไป
จนกระทั่ง ในปี ค.ศ.263 ตันซิ่วมีอายุ 31 ปี จ๊กก๊กก็ล่มสลายลง เล่าเสี้ยน ยอมจำนนต่อการบุกรุกของ เตงงาย แม่ทัพวุยก๊กโดยดี ตันซิ่วได้ถูกจับเป็นเชลยไปยังวุยก๊กด้วย เหล่าข้าราชการเสฉวนเดิมนั้นได้ถูกเสนอชื่อให้เข้ารับราชการในวุยก๊กซึ่งเป็นราชสำนักใหม่ แต่เนื่องจากชาวเสฉวนพากันรังเกียจตันซิ่วตามที่กล่าวมาแล้ว ตันซิ่วจึงไม่ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับราชการในราชอาณาจักรวุย
จนกระทั่งสุมาเอี๋ยน หลานชายของสุมาอี้ ทำการปราบดาภิเษกล้มราชวงศ์วุ่ยในปี ค.ศ. 265 ตั้งตนเองเป็นจิ้นหวู่ตี้แห่งราชวงศ์จิ้น เตียวหัวซึ่งเป็นข้าราชการมีเกียรติคนหนึ่ง ได้อ่านงานเขียนของตันซิ่วและชื่นชมเขามาก จึงได้เสนอให้จิ้นหวู่ตี้แต่งตั้งตันซิ่วเป็น เห่าเหนียม
หลังจากนั้น ตันซิ่วก็ถูกเรียกตัวไปยังนครหลวงโลหยาง หรือลกเอี๋ยง ให้รับตำแหน่งผู้ช่วยส่วนภูมิภาค ต่อมาในปีที่ 5 ของรัชกาลจิ้นหวู่ตี้ฮ่องเต้ เขาได้ย้ายกลับไปเป็นข้าราชการตำแหน่งลอย ณ ภูมิลำเนาเดิม(เสฉวน)
ในตอนนั้น เจียวจิวผู้เป็นอาจารย์ของเขากำลังป่วย และรักษาตัวอยู่กับบ้าน ตันซิ่วได้รับสานต่อหน้าที่ในการเขียนประวัติศาสตร์ยุคสามก๊กต่อจากเจียวจิว โดยรับช่วงเอาเอกสารต่างๆ เช่นเอกสารเกี่ยวกับจ๊กก๊ก เป็นต้น ซึ่งเอกสารเหล่านี้มีไม่มากนัก แต่มันก็เป็นเอกสารสำคัญสำหรับการเขียนสามก๊กของเขาในเวลาต่อมา
ตันซิ่ว 233–297 |
การเขียนจดหมายเหตุ
ต่อมา ตันซิ่วก็ย้ายไปทำหน้าที่ประพันธกรในราชการส่วนกลางที่นครลกเอี๋ยง เขาได้รับมอบหมายจาก ซูนหอย ราชเลขาธิการและ ห่อเขียว รองราชเลขาธิการ ให้รวบรวมวรรณกรรมของ ขงเบ้ง ผู้ล่วงลับ ตันซิ่วใช้เวลาประมาณ 5 ปี จึงสามารถทำได้สำเร็จลุล่วง โดยในระหว่างที่เขารวบรวมวรรณกรรมของขงเบ้งอยู่นั้น เขาได้ทำการรวบรวมเอกสารต่างๆที่จำเป็นในการเขียนประวัติศาสตร์สามก๊กไว้ด้วยตันซิ่ว มีอุปสรรคในการเขียนประวัติศาสตร์อยู่พอสมควร แม้เขาจะมีตำแหน่งประพันธกรของราชวงศ์จิ้น สามารถค้นจดหมายเหตุวุยเท่าที่มีอยู่ในหอสมุดหลวงได้ก็ตาม แต่เนื่องจากเขาเป็นขุนนางชั้นผู้น้อย ไม่ได้รับอนุญาตให้แตะต้องจดหมายเหตุวุยก๊กในหอสมุดโดยพลการ เขาจึงไม่ได้รับความสะดวกในการรวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับวุยก๊กเท่าที่ควรนัก
ส่วนทางจ๊กก๊ก ตันซิ่วเขียนเอาไว้ในหมายเหตุของจดหมายเหตุสามก๊กของเขาว่า จ๊กก๊กไม่ได้แต่งตั้งพนักงานพงศาวดาร (ผู้จดบันทึกประวัติศาสตร์) เอาไว้ ตันซิ่วจึงมีจดหมายเหตุของจ๊กก๊กเพียงเล็กน้อยที่ได้รับมาจากอาจารย์เจียวจิวของเขา
ส่วนทางง่อก๊กค่อนข้างขาดแคลนข้อมูลมากเพราะง่อยังไม่ได้ยอมจำนนด้วยจิ้นก๊ก ด้วยประการฉะนี้เองทำให้การค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ของตันซิ่วในระยะแรกค่อนข้างลำบากมาก อย่างไรก็ตาม ตันซิ่วเพียรพยายามเรียบเรียง จดหมายเหตุสามก๊ก อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเป็นเวล่านานกว่า 30 ปี จนในที่สุดจดหมายเหตุสามก๊กซึ่งมีความยาวรวม 65 เล่มสมุด ก็เสร็จสิ้นลง โดยตันซิ่วมีหลักเกณฑ์
"ถือว่าก๊กวุ่ยเป็นราชวงศ์ที่ปกครองแผ่นดินจีนอย่างถูกต้องในยุคสามก๊ก ส่วนอีกสองก๊กคือจ๊กและง่อเป็นเพียงรัฐที่มีการปกครองเพียงบางส่วนของจีนเท่านั้น"
เขาจึงมีวิธีการเขียนเรียบเรียงดังนี้
1) เริ่มต้นเขียนถึงก๊กวุ่ยก่อน ตามด้วยจ๊กและง่อตามลำดับ โดยจดหมายเหตุวุยนั้นจะเขียนรวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้อง (ที่ไร้สังกัด คืออยู่ในยุคก่อนที่จะแบ่งเป็นสามก๊ก) กับก๊กวุ่ยด้วย เช่น ลิโป้ ตั๋งโต๊ะ เป็นต้น
2) กษัตริย์ของวุ่ยทุกพระองค์ ตันซิ่วเรียกด้วยราชทินนาม เช่น วุ่ยบู๊เต้ (โจโฉ) วุ่ยบุ๋นเต้ (โจผี) วุ่ยเหม็งเต้ (โจยอย) และสามยุวกษัตริย์ (โจฮอง โจมอ โจฮวน) ทางกษัตริย์ของจ๊กตันซิ่วก็ยังคงให้เกียรติอยู่บ้างโดยเรียกเล่าปี่ว่า "โหงวจู่" แปลว่าเจ้าครองรัฐองค์แรก เรียกเล่าเสี้ยนว่า "โฮ่วจู่" แปลว่าเจ้าครองรัฐองค์หลัง ส่วนกษัตริย์ฝ่ายง่อ ตันซิ่วเรียกชื่อโดยตรงคือ ซุนกวน ซุนเหลียง ซุนฮิว ซุนโฮ
3) ตันซิ่วใช้คำที่แปลว่า "ประวัติ" ของกษัตริย์แต่ละก๊กต่างกัน ของวุ่ยนั้นใช้คำว่า จี้ แปลว่าพระราชประวัติ ส่วนของจ๊กและง่อ ตันซิ่วใช้เพียงคำว่า "จ้วน" ซึ่งแปลว่าชีวประวัติบุคคลเท่านั้น
4) ตันซิ่วเปลี่ยนชื่อก๊กของเล่าปี่จาก "ฮั่น" เป็น "จ๊ก" อาจเป็นเพราะเขาถือว่าฮั่นสิ้นบุญไปแล้ว และเล่าปี่เป็นเพียงกษัตริย์ภาคสานติรัฐมณฑลเสฉวน (ดินแดนปา สู่ หรือ จ๊ก) เท่านั้น หรืออาจจะเป็นว่าตันซิ่วถือว่าวุ่ยเป็นราชวงศ์ที่ถูกต้องของจีน ถ้าใช้ชื่อฮั่นอาจจะเป็นการข่มชื่อของวุ่ยไปก็เป็นไปได้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่าง
ปฏิกิริยาในแง่ลบ
เมื่อต้นฉบับสามก๊กจี่เริ่มเผยแพร่ออกไป ก็มีทั้งปฏิกริยาแง่ลบและแง่บวกต่อตันซิ่วมากมาย อาทิ ในเวลานั้นมีขุนนางชื่อ แฮหัวตำ กำลังเขียนพงศาวดารก๊กวุยอยู่ เมื่อเขาได้เห็นต้นฉบับของตันซิ่ว เขาก็ทำลายพงศาวดารของตนเองทิ้งทันที เป็นต้นแต่โดยรวมแล้ว ปฏิกริยาในแง่ลบต่อตันซิ่วจะมีมากกว่า ตันซิ่วต้องได้รับความอัปยศอดสูเป็นอย่างมาก เนื่องจากทายาทของขุนนางยุควุยก๊กยังคงมีชีวิตอยู่ และทายาทของคนเหล่านี้ก็มีตำแหน่งขุนนางชั้นสูงด้วย พวกขุนนางเหล่านี้ต้องการให้ตันซิ่วเขียนประวัติศาสตร์เชิดชูบรรพบุรุษของเขา แต่ตันซิ่วก็หัวแข็งมิยอมอ่อนให้กับผู้ใดเลย ดังนั้นขุนนางเหล่านี้จึงเกลียดตันซิ่วนัก ตันซิ่วต้องถูกพวกขุนนางเหล่านีเหยียดหยามตลอดเวลา ในงานสโมสรผู้มีเกียรติครั้งใดที่ตันซิ่วไปร่วมงานอยู่ด้วย เหล่าขุนนางจะพูดและทำเหยียดหยามอยู่ในที
ปฏิกริยาทางลบต่อสามก๊กจี่ของตันซิ่วก็มีมาก อาทิเช่น หลายคนเจตนาวิจารณ์ว่าตันซิ่วโกรธแค้นที่บิดาของเขาเคยถูกขงเบ้งลงโทษ จึงเขียนวิจารณ์ว่าขงเบ้งมีความสามารถในการปกครองเทียบเท่ากับก่วนจงและเซียวเหอ แต่คงไม่ถนัดในการทำศึกสงครามนัก และยังมีการตำหนิตันซิ่วที่วิจารณ์จูกัดเจี๋ยมบุตรชายของขงเบ้งผู้พลีชีพในการศึกว่า มีเกียรติภูมิเกินกว่าความเป็นจริงอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ขุนนางใหญ่สองคนชื่อว่า เตียวหัว และ เตาอี้ ได้กราบทูลขอให้จิ้นหวู่ตี้พิจารณาต้นร่างของสามก๊กจี่ของตันซิ่ว แต่ก็ถูกคัดค้านอย่างหนักจากขุนนางใหญ่หลายคน เรื่องนี้จึงถูกระงับไปในที่สุด
ต่อมาไม่นานนัก มารดาของตันซิ่วได้ถึงแก่กรรมลง ก่อนนางจะตายได้สั่งเสียให้เขาฝังศพนางเอาไว้ที่นครลกเอี๋ยง ตันซิ่วจึงลาออกจากราชการเพื่อไว้ทุกข์ให้มารดา และฝังศพนางไว้ที่นครลกเอี๋ยง แต่เขาไม่ได้คาดคิดว่า พฤติกรรมของเขากลับถูกพวกขุนนางที่เกลียดชังเขาเอาไปกล่าวหาว่าเขาไม่มีความกตัญญูต่อมารดาเพราะไม่นำศพของนางไปฝังยังบ้านเดิม
ตันซิ่ว (เฉินโซว่, Chen Shou, 陳壽) |
ราชการรับรองผลงาน
นับตั้งแต่ตันซิ่วเขียนสามก๊กจี่สำเร็จลง เขาก็ถูกพวกขุนนางโจมตีตลอดเวลาจนกระทั่งเรื่องค่อยๆเงียบหายไปเอง ตันซิ่วเห็นว่าสถานการณ์ยังไม่อำนวย ประกอบกับต้นร่างสามก๊กจี่ยังไม่สมบูรณ์มากนักเนื่องจากข้อมูลทางฝั่งง่อก๊กยังมีไม่เพียงพอ เขาจึงยังไม่นำขึ้นทูลเกล้าฯถวายต่อจิ้นหวู่ตี้ในที่สุด ซุนโฮ แห่งง่อก๊กก็ยอมจำนนต่อการโจมตีของ เตาอี้และองโยย ในปี ค.ศ. 280 ตันซิ่วจึงได้ทำการแก้ไขต้นร่างของสามก๊กจี่อีกครั้งหนึ่ง ต่อมาเขาก็ได้รับความช่วยเหลือจากขุนนางที่มีชื่อว่า อ้องหุ่น
อ้องหุ่น ได้กราบทูลจิ้นหวู่ตี้ให้แต่งตั้งตันซิ่วเป็นจางวางในวังรัชทายาท แต่ปรากฏว่าตอนนั้นตันซิ่วแก่ชราเต็มที และกำลังถูกโรคภัยรุมเร้า ไม่สามารถรับราชการได้อีกแล้ว และในปีต่อมา (ปี ค.ศ.297) เขาก็ถึงแก่กรรมลง รวมอายุได้ 64 ปี ในปีที่เจ็ดแห่งรัชกาลจิ้นฮุ่ยตี้ (สุมาจง เป็นกษัตริย์องค์ที่สองแห่งราชวงศ์จิ้นตะวันตกต่อจากจิ้นหวู่ตี้หรือสุมาเอี๋ยน)
หลังจากตันซิ่วตายไปแล้ว ถึงจะมีคนกล่าวขวัญถึงบันทึกสามก๊กของเขา และขุนนางหลายคนก็ถวายหนังสือกราบทูลจิ้นฮุ่ยตี้ให้ส่งคนไปคัดลอกต้นฉบับยังบ้านของตันซิ่ว หนังสือสามก๊กจี่หรือจดหมายเหตุสามก๊กจึงเป็นที่รับรองของทางราชการ และได้เข้าไปอยู่ในหอสมุดหลวงตั้งแต่นั้นมา
คำวิจารณ์ของนักประวัติศาสตร์ต่อตันซิ่ว
ตันซิ่ว นักประวัติศาสตร์แห่งราชสำนักจิ้น |
1) ตันซิ่วไม่เรียกก๊กของเล่าปี่ "ฮั่น" หากแต่เรียก "จ๊ก" เป็นการเปลี่ยนชื่อโดยพลการอย่างไม่สมควร
2) การที่ตันซิ่วให้ก๊กวุ่ยเป็นราชวงศ์ที่ถูกต้องของประเทศจีนในขณะนั้น นักประวัติศาสตร์ถือว่าเป็นความผิดพลาดที่ไม่ยอมให้อภัย เนื่องจากความจริงมีว่า พระเจ้าเหี้ยนเต้เป็นฮ่องเต้ที่ไม่มีพระจริยาวัตรบกพร่อง โจโฉใช้อำนาจข่มพระเจ้าเหี้ยนเต้ตลอดมา และโจผีบุตรชายที่ได้เป็นฮ่องเต้ขึ้นมาก็เพราะใช้อำนาจข่มขู่ให้พระเจ้าเหี้ยนเต้ส่งมอบราชบัลลังก์แก่ตน ตามหลักของลัทธิขงจื๊อถือว่าเป็นการปล้นราชสมบัติ ตามความเห็นของนักประวัติศาสตร์นั้นควรให้ราชวงศ์ที่ปกครองจีนอย่างถูกต้องในยุคนั้น คือราชวงศ์จ๊กฮั่นของก๊กเล่าปี่จึงจะสมควร เพราะเมื่อเล่าปี่ทราบข่าวว่าพระเจ้าเหี้ยนเต้ถูกปลดและสวรรคตไปแล้ว เล่าปี่จึงจัดพิธีศพให้แก่พระเจ้าเหี้ยนเต้และถวายพระนามว่า "เฮ่าหมินฮ่องเต้" แล้วเล่าปี่จึงขึ้นครองราชสมบัติเป็นฮ่องเต้เพื่อสืบสายราชวงศ์ฮั่นไว้ต่อไป
3) นักประวัติศาสตร์ตำหนิว่า ตันซิ่วมีความลำเอียงเข้าข้างก๊กวุ่ยและราชวงศ์จิ้น และมีอคติกับขงเบ้งสมุหนายกแห่งจ๊กก๊ก กับจูกัดเจี๋ยมบุตรชายมากเกินไปในการเขียนประวัติศาสตร์สามก๊ก ดังที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้
3.1) ในการเขียนประวัติศาสตร์บุคคลวุยก๊ก ตันซิ่วมักใช้ถ้อยคำช่วยปกปิดความผิดให้แก่วุยเสมอ เช่นในพระราชประวัติบู๊เต้ (โจโฉ) ตอนที่โจโฉประหารขุนนางตงฉินชื่อ ตังสิน ซึ่งวางแผนสังหารเขานั้น ตันซิ่วเขียนตอนนี้ไว้เพียงว่า
"แผนลับของพวกตังสินรั่วไหล ถูกประหารสิ้นชีวิตทุกคน"
ทั้งที่เรื่องจริงมีว่า ตังสินได้รับราชโองการในเสื้อพระราชทานจากพระเจ้าเหี้ยนเต้ และอีกเรื่องตอนที่โจโฉประหารฮกเฮามเหสีแห่งพระเจ้าเหี้ยนเต้ที่วางแผนกับฮกอ้วนบิดาจะสังหารเขา ตันซิ่วบันทึกเพียงว่า
"ฮกเฮามเหสีแห่งฮั่นมีจดหมายถึงฮกอ้วนบิดาว่าฮ่องเต้โกรธแค้นที่ท่าน(โจโฉ) ประหารตังสิน อันข้อความในจดหมายใช้ถ้อยคำเลวร้ายมาก เรื่องปรากฏ ฮกเฮาถูกฆ่าตาย ญาติพี่น้องถูกสังหารสิ้นชีวิตทุกตัวคน"
ดังนี้นักประวัติศาสตร์ถือว่าตันซิ่วมีเจตนาลำเอียงเข้าข้างก๊กวุ่ย ผิดจากหลักการของนักประวัติศาสตร์ที่ดี
3.2) ในการเขียนประวัติของ ขงเบ้งและจูกัดเจี๋ยมผู้บุตร ตันซิ่วใช้คำในประวัติขงเบ้งตอนที่ขงเบ้งยกทัพบุกตีวุยก๊กว่า "จูกัดเหลียงแม่ทัพจ๊ก บุกรุกชายแดน" และยังเขียนวิจารณ์ขงเบ้งว่า
"ขงเบ้งมีความสามารถทางด้านการจัดการปกครองรัฐเยี่ยมยอด สามารถเทียบชั้นได้กับขวันต๋ง(ก่วนจง...กวนต๋ง) แห่งยุคชุนชิวและเซียวโห แห่งยุคไซฮั่น แต่การที่เขาระดมพลออกรบไม่ว่างเว้นและไม่ประสบผลสำเร็จเลยนั้นอาจเป็นเพราะการทำสงคราม วางแผนกลยุทธ์อันซับซ้อนไม่ใช่สิ่งที่เขาถนัดก็เป็นได้"
และวิจารณ์ จูกัดเจี๋ยม บุตรขงเบ้งผู้พลีชีพในการรบกับวุยก๊กครั้งเสียเสฉวนว่า "มีเกียรติคุณเกินกว่าความเป็นจริง"
กล่าวกันว่า การวิเคราะห์เกี่ยวกับขงเบ้งในแง่ไม่ค่อยดีเป็นเพราะบิดาของตันซิ่วเคยถูกขงเบ้งลงโทษ และการที่วิจารณ์จูกัดเจี๋ยมในแง่ร้ายเพราะตันซิ่วเคยถูกจูกัดเจี๋ยมสบประมาทมาก่อน ดังนั้นนักประวัติศาสตร์จึงถือว่า ตันซิ่วมีใจอคติขัดกับหลักของนักประวัติศาสตร์ผู้เที่ยงธรรม
3.3) มาตรว่า ตันซิ่ว จะมีข้อเสียข้างต้น แต่นักประวัติศาสตร์ก็ยังยกย่องเขาว่ามีความสามารถในการเขียนประวัติศาสตร์อย่างย่อโดยได้รายละเอียดใจความครบถ้วนสมบูรณ์ และบางท่านแสดงความเห็นใจตันซิ่วว่า เขาอยู่ในราชสำนักจิ้น จึงมิกล้าเขียนผิดแผกไปจากความประสงค์ของสุมาเอี๋ยน และข้อกล่าวหาบางข้อข้างต้น ก็ได้มีผู้ออกมาให้เหตุผลแก้ต่างให้ตันซิ่วอยู่บ้างเหมือนกัน
ถ้าผิดพลาดอะไร ข้าน้อยต้องขออภัย มา ณ ที่นี้ ด้วยครับ
GFsamkok
_____________________
หมายเหตุ
บทความนี้เรียบเรียงโดย คุณ GFsamkok ที่ส่งเข้ามาร่วมแบ่งปันให้กับเพื่อน ๆ ผู้รักในวิชาสามก๊กทุกคน ....สามก๊กวิทยา จึงขอขอบพระคุณท่านมา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ
เขาได้รับมอบหมายจาก ซูนหอย ราชเลขาธิการและ ห่อเขียว รองราชเลขาธิการ ให้รวบรวมวรรณกรรมของ ขงเบ้ง ผู้ล่วงลับ
ตอบลบซูนหอยกับห่อเขียวนี่สาบานได้ว่าชื่อคน 555
ชื่อน่ารักดีนะครับ จำง่าย จำได้ไม่ลืมเลย
ลบเคยได้ยินมาว่าพ่อของเฉินโซ่วก็คือ ตันเซ็ก ที่ถูกขงเบ้งประหาร
ตอบลบ