ผู้เยี่ยมชมครบ 3 ล้าน Pageviews กับวิธีการศึกษาเรื่องสามก๊ก ที่สามก๊กวิทยาใช้เป็นแนวทางในการสร้างสรรค์บล็อก
เรื่องสามก๊ก แม้จะได้รับการยกย่องว่าเป็นวรรณกรรมชิ้นเอกของโลก แต่นักอ่านเรื่องสามก๊กหลาย ๆ ท่าน เมื่อเริ่มอ่านแล้ว ก็ไม่สามารถอ่านต่อได้จนจบ เพราะมีเนื้อหาและตัวละครมากเกิน ไม่สามารถจดจำหรือจับใจความของเรื่องได้ ทำให้เลิกอ่านไปในที่สุดวิธีการศึกษาเรื่องสามก๊ก ให้ได้ผลมากที่สุด
ในการนี้เพื่อให้เป็น แนวทางสำหรับผู้ที่เริ่มอ่านหรือศึกษาเรื่องสามก๊ก เราจึงขอแบ่งปันวิธีการศึกษาเรื่องสามก๊ก ที่สามก๊กวิทยาใช้เป็นแนวทางในการศึกษา และสร้างสรรค์บล็อกสามก๊กแห่งนี้ ให้พวกเราได้ชมกันครับ
1. การเริ่มต้น
“อย่าฝันถึงหมื่นลี้ หากไม่มีก้าวแรก”ทุกอย่างต้องมีการเริ่มต้น เริ่มศึกษาสามก๊ก ไม่ยาก! เพราะหาง่ายในทุกสื่อไม่ว่าจะเป็นหนังสือ เว็บไซต์ เกม การ์ตูน ภาพยนตร์ ฯลฯ ทุกอย่างสามารถนำมาศึกษาหรือประยุกต์ใช้ได้ด้วยกันหมด แต่สำหรับผู้เริ่มต้นศึกษา ควรเริ่มจากสิ่งที่ตนเองถนัด ชอบเล่นเกมก็ให้หาเกมมาเล่น ชอบอ่านการ์ตูนให้อ่านการ์ตูน อย่าฝืนเริ่มจากหนังสือเล่มหนา ๆ เพราะตัวละครสามก๊กมีมากมายยากจะจดจำ ภาษาที่ใช้ แม้สละสลวยแต่ต้องตีความ ทำให้เกิดความเบื่อหน่ายท้อถอย จนล้มเลิกไม่ศึกษาต่อ
การเริ่มต้นศึกษาเรื่องสามก๊ก ให้เริ่มจากสิ่งที่เราถนัด สิ่งที่เราชอบ จะทำให้เรารักสามก๊กไปโดยปริยาย และอยากศึกษาลงลึกไปในรายละเอียดเองโดยอัตโนมัติ
ลงหลัก วางเท้าก้าวแรกของเราให้ดี ถ้าสนุกแล้ว เราจะเดินผิวปาก ชมวิว ไปถึงจุดหมายโดยไม่รู้ตัว
2. อ่านสามก๊กให้คบได้
“สามก๊กสามจบ คบไม่ได้”คำกล่าวนี้เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาเรื่องสามก๊กอย่างแท้จริง นั่นเพราะมองเรื่องสามก๊กในมุมลบ มองเฉพาะเรื่องเลห์ เพทุบาย การชิงดีชิงเด่น ทรยศหักหลัง มองแบบนี้เป็นอันตราย ! ควรเปลี่ยนทัศนคติใหม่ มองให้เห็นคุณธรรม ความรัก ความซื่อสัตย์ จงรักภักดี ความสามัคคี น้ำจิตร น้ำใจ ฯลฯ
อ่านสามก๊ก ไม่จำเป็นต้องคิดขัดแย้งพร่ำเพรื่อ นิยายอย่างนี้ ประวัติศาสตร์อย่างนั้น ควรศึกษาให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนา ขัดเกลา อย่าไปมุ่งเน้นหา “ความจริง” กับเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อพันกว่าปีที่แล้ว เพราะไม่มีทางชี้วัดได้ว่าอะไรคือ “ความจริง” และจะทำให้คำว่า “สามก๊กสามจบ คบไม่ได้” อยู่ยืนยาวต่อไปอีกเรื่อย ๆ
ง่ายที่สุด คือให้มองสามก๊กในแง่ของวรรณกรรม ฝ่ายดีคือฝ่ายดี ฝ่ายร้ายคือฝ่ายร้าย จำแนกไปให้ชัด อย่าสลับซับซ้อน แล้วเลือกเอาแต่ข้อดี ข้อที่ศึกษาแล้วนำไปใช้เป็นประโยชน์สุขได้ ก็เพียงพอแล้ว
อย่าเฟ้นหา “ความจริง” จากสามก๊ก แต่ให้ศึกษาสามก๊ก เพื่อใช้เผชิญ “ความจริง”
3. เสพติด
“สามก๊ก เป็นยาเสพติดขนานแรง”อันตราย อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับผมก็คือ เสพติดเรื่องสามก๊กอย่างแรง ในช่วงแรก ๆ ที่หลงใหลในวรรณกรรมเรื่องนี้นั้น ในหัวสมองจะมีแต่เรื่องราวของสามก๊ก ทั้งในยามตื่น ยามทำงาน และยามนอน ไม่มีสมาธิ ไม่มีความตั้งใจในการเรียน หรือการทำงาน
จนคิดไปว่า “สามก๊กสามจบ คบไม่ได้” ที่ว่ากันนั้น ไม่ใช่เพราะเจ้าเล่ห์เพทุบายหรอก แต่เป็นเพราะคนที่อ่านสามก๊กมาก ๆ นั้น วัน ๆ หนึ่งจะไม่ทำอะไรเลย มัวแต่ละเมอเพ้อพกกับเรื่องในนิยาย ไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน
สามก๊กเป็นวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์ที่สนุกสนาน อ่านแล้ว ศึกษาแล้ว ย่อมหลงใหลในอรรถรส แต่ก็ต้องคอยเตือนตัวเอง อย่าไปยึดติดกับมันมาก วางมันลง แล้วนำเอาข้อคิด สิ่งที่เป็นประโยชน์ไปใช้ ให้เกิดผล
อย่ามัวท่องจำรายชื่อ รำลึกเหตุการณ์ หลงใหลวีรกรรมของตัวละครที่เราชื่นชอบ จนไม่มีเวลาสร้างวีรกรรมให้ตนเอง
ปิดเว็บ Shut Down คอมพิวเตอร์ เก็บโทรศัพท์มือถือ แล้วออกท่องยุทธจักร สร้างสรรค์ชีวิตจริง
......... จะรออะไรอีกเล่าครับ ........
หมายเหตุ
บทความนี้เขียนขึ้น เนื่องในโอกาสที่วันนี้ บล็อกสามก๊กวิทยาได้รับรายงานว่า มีจำนวนผู้เยี่ยมชมครบ 3 ล้าน Pageviews หรือมีการเปิดเข้าชมหน้าเว็บกว่า 3,000,000 ครั้ง ซึ่งก็นับว่าเป็นจำนวนมากพอสมควรสำหรับบล็อกเล็ก ๆ ที่ศึกษาเฉพาะแต่เรื่อง “สามก๊ก” วรรณกรรมจีน ที่แม้จะรู้จักกว้างขวาง แต่ก็มีผู้สนใจอย่างจริงจังเพียงกลุ่มเล็ก ๆสามก๊กวิทยา ต้องขอขอบพระคุณทุก ๆ ท่าน ที่เข้ามาเยี่ยมชม ติดต่อสอบถาม ให้ข้อแนะนำ และเสนอความคิดเห็นทั้งทางหน้าบล็อกและ Facebook Fanpage อย่างสม่ำเสมอ
เพื่อแทนคำขอบพระคุณในน้ำใจไมตรีที่ทุกท่านมีให้กันมาโดยตลอด สามก๊กวิทยาจึงขอตอบแทน โดยการเขียนบทความสั้น ๆ เกี่ยวกับวิธีศึกษาสามก๊กนี้ขึ้นมาครับ
กรุณาแสดงความคิดเห็น