"จูโกะกู๊" (诸葛鼓) แปลว่า กลองของจูโกะเหลียง (จูกัดเหลียง, ขงเบ้ง) ซึ่งในปัจจุบัน ยังคงหาดูได้ที่ศาลเจ้าขงเบ้ง เมืองเสฉวน สำหรับให้ผู้คนไปสักการะบูชา โดยคนเมืองเสฉวนได้เล่าขานกันมาว่าครั้งหนึ่งขงเบ้งได้พูดถึงกลองใบนี้ว่า "ยามสงบใช้หุงต้มอาหาร ยามประจันบานใช้ตีข่มศึก"
เมื่อวานนี้ผมได้มีโอกาสได้อ่านบทความ บทความหนึ่งชื่อว่า "ใครคิดกลองมโหระทึก?" จากเว็บไซต์ "ทางอีศาน" ซึ่งอ่านแล้วพบว่ามีอยู่ช่วงหนึ่งที่ในบทความพูดถึง "ขงเบ้ง" เมื่อครั้งยกทัพไปปราบเบ้งเฮ็ก แล้วอธิบายว่าขงเบ้งได้และใช้ "กลอง" อย่างพิสดารพันลึก ในการทำศึก"ยามสงบใช้หุงต้มอาหาร ยามประจันบานใช้ตีข่มศึก"
กลองที่ว่านี้เรียกว่า "จูโกะกู๊" (诸葛鼓) แปลว่า กลองของจูโกะเหลียง (จูกัดเหลียง, ขงเบ้ง) ซึ่งในปัจจุบัน ยังคงหาดูได้ที่ศาลเจ้าขงเบ้ง เมืองเสฉวน สำหรับให้ผู้คนไปสักการะบูชา โดยคนเมืองเสฉวนได้เล่าขานกันมาว่าครั้งหนึ่งขงเบ้งได้พูดถึงกลองใบนี้ว่า "ยามสงบใช้หุงต้มอาหาร ยามประจันบานใช้ตีข่มศึก"
บทความ "ใครคิดกลองมโหระทึก?" เป็นบทความเชิงประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับวรรณกรรมจีนเรื่องสามก๊กโดยตรง จึงขอนำมาแบ่งปันกันให้ทุกท่านได้ทราบไปด้วย โดยทั่วกัน
ใครคิดกลองมโหระทึก?
“กลองแบบนี้ มนุษยชาติพวกใดเป็นผู้แรกเริ่มดำ ริทำ ขึ้นก่อน ยังเป็นเรื่องที่สงสัยกันอยู่ นักปราชญ์ทางโบราณคดีบางท่านอ้างถึงข้อความในพงศาวดารจีนว่าเมื่อราวก่อน พ.ศ. 592 มีนายพลจีนผู้หนึ่ง ชื่อ ม้าอ้วน (Ma Yuan) ได้นำ กองทัพจีนมาปราบ “พวกชาวป่า” ในท้องที่แถวมณฑลตังเกี๋ย ครั้นมีชัยชนะแล้วจึงสั่งให้รวบรวมเอากลองจาก “พวกชาวป่า” เหล่านั้นเข้าเป็นทรัพย์เชลย แล้วรวมเข้าหลอมหล่อเป็นม้าโลหะส่งไปถวายพระจักรพรรดิ เพราะทรงโปรดของเช่นนั้น นี่เป็นเรื่องแสดงว่ากลองของชน “ชาวป่า” เหล่านั้นเป็นโลหะ
และเมื่อระหว่าง พ.ศ. 724 ถึง พ.ศ. 774 มีเรื่องในพงศาวดารจีนสมัยสามก๊กว่า ขงเบ้ง แม่ทัพจีนของพระเจ้าเล่าปี่ได้นำกองทัพมาปราบปราม “ชาวป่า” ซึ่งอยู่ในประเทศจีนตอนใต้แถวท้องที่มณฑลยูนนาน เมื่อ พ.ศ. 769 แล้วปราบหัวหน้าของ “ชาวป่า” ลงได้ พวก “ชาวป่า” ที่กล่าวนี้ มีหัวหน้าชื่อว่า เบ้งเฮ็ก ซึ่งนักประวัติศาสตร์ลงความเห็นว่า เป็นชนชาติไทยพวกหนึ่ง ปรากฏว่าในการรบกับเบ้งเฮ็กนั้น ขงเบ้งได้ใช้อุบายต่างๆ ขู่ขวัญ เช่น ให้เอากลองโลหะไปตีที่ปากถ้ำ เพื่อให้เสียงกึกก้องบ้าง ให้เอากลองโลหะไปตั้งไว้รับธารกระแสน้ำ ตกตามหุบเขาให้น้ำ ตกลงมาบนหน้ากลองเกิดเสียงกึกก้อง เป็นการขู่ขวัญข้าศึกเพื่อให้เข้าใจว่า กองทัพจีนกำลังยกมามากมาย พวกจีนยกย่องกันว่า ม้าอ้วนและขงเบ้ง เป็นผู้ประดิษฐ์กลองมโหระทึกนี้ขึ้น
ในมณฑลเสฉวน มีศาลเจ้าบรรพบุรุษของขงเบ้งอยู่แห่งหนึ่งและเก็บรักษากลองแบบนี้ไว้หลายใบ เป็นเครื่องอุทิศแก่ขงเบ้ง และเรียกชื่อกลองเหล่านั้นตามชื่อของขงเบ้งว่า “จูโกะกู๊” แปลว่า กลองของจูโกะเหลียง เพราะขงเบ้งมีชื่อตามแซ่ว่า จูโกะเหลียง หรือ จูกัดเหลียง
"จูโกะกู๊" (诸葛鼓) ที่ศาลเจ้าขงเบ้งเมืองเสฉวน มีลักษณะคล้ายหม้อ |
แต่ตามเรื่องราวที่เล่าในพงศาวดารจีน มิได้แสดงว่า ม้าอ้วน และขงเบ้ง เป็นผู้สร้างกลองชนิดนี้ขึ้น หากแต่ไปยึดเอามาอย่างทรัพย์เชลยจากพวก “คนป่า” จึงเป็นการแน่นอนว่าจีนมิได้เป็นผู้แรกเริ่มสร้างกลองชนิดนี้ขึ้น หากแต่เป็นผู้ได้ไปจากดินแดนทางใต้ประเทศจีน แล้วนำเอาแบบอย่างไปดัดแปลงสร้างขึ้นใช้ในภายหลัง
ปัญหาที่ว่าใครเป็นผู้ แรกเริ่มสร้างกลองชนิดนี้ขึ้น จึงยังไม่เป็นที่ประจักษ์ชัด ได้มีนักปราชญ์พยายามพิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับรูปภาพที่ปรากฏเป็นลวดลายอยู่ตามกลองเหล่านั้น ก็ยังหามีผู้ใดลงความเห็นเด็ดขาดไม่ แต่เป็นที่ยอมรับกันว่ากลองเหล่านี้มีกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในท้องที่แหลมอินโดจีนในตอนใดตอนหนึ่ง และบางท่านมีความเห็นว่าบางทีจะอยู่ในท้องที่แหลมอินโดจีนตอนใต้ ราวตอนเหนือของอาณาจักรขอมโบราณ”
** คัดจากบทความเรื่อง มะโหระทึก ของ อ.ธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร จากหนังสือเครื่องดนตรีไทย กรมศิลปากร จัดพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2500 : ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต(ผู้คัด)
เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง
จดหมายเหตุกรุงศรี "วัฒนธรรมกลองมโหระทึก"
กรุณาแสดงความคิดเห็น