เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 15 และ 22 พฤษภาคม 2558 ได้ลงบทความที่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรมจีนเรื่อง "สามก๊ก" ไว้ในคอลัมน์การเมือง ชื่อว่า "โหราศาสตร์กับกลยุทธ์" และ "โจโฉแตกทัพเรือ" ทั้งสองบทความเป็นผลงานของคุณ "ชูศักดิ์ จงธนะพิพัฒน์" ผู้เชี่ยวชาญด้านโหราศาสตร์ทั้งตำราตะวันออกและตะวันตก โดยกล่าวถึงเรื่องราวเหตุการณ์ในช่วง "ยุทธนาวีที่ผาแดง"
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 15 และ 22 พฤษภาคม 2558 ได้ลงบทความที่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรมจีนเรื่อง "สามก๊ก" ไว้ในคอลัมน์การเมือง ชื่อว่า "โหราศาสตร์กับกลยุทธ์" และ "โจโฉแตกทัพเรือ" ทั้งสองบทความเป็นผลงานของคุณ "ชูศักดิ์ จงธนะพิพัฒน์" ผู้เชี่ยวชาญด้านโหราศาสตร์ทั้งตำราตะวันออกและตะวันตก โดยกล่าวถึงเรื่องราวเหตุการณ์ในช่วง "ยุทธนาวีที่ผาแดง""โหราศาสตร์ยิ่งใหญ่แค่ไหน ผู้เข้าถึงแก่นแท้เท่านั้นที่ตอบได้"
ผมอ่านบทความนี้ทั้งสองบทนี้แล้วรู้สึกสนุก และชื่นชอบในบทความนี้มาก เพราะนอกจากจะเล่าเรื่องสามก๊กตอนศึกผาแดงได้อย่างละเอียด ทั้งจากมุมมองของวรรณกรรมและบันทึกทางประวัติศาสตร์แล้ว ผู้เขียนยังได้วิเคราะห์ถึงปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง ที่นอกเหนือจากลมบูรพา อันเป็นต้นเหตุแห่งการถูกเผากองเรือ นั่นคือปัจจัยทาง "โหราศาสตร์"
ผู้อ่านจะได้รับทราบถึงอิทธิพลแห่งดวงดาว ณ ห้วงเวลาที่เกิดศึกผาแดง ซึ่งตามบันทึกทางประวัติศาสตร์เป็นวันที่เกิด "สุริยคราส"
แฟนภาพยนตร์สามก๊กหลายท่านคงอาจจะจำกันได้ ว่าในภาพยนตร์ "สามก๊ก โจโฉแตกทัพเรือ" ของจอหน์วู ได้มีฉากการเกิดสุริยคราส อันเป็นเหตุให้ทหารเกิดล้มป่วยลงก่อนการศึก
ข้อสังเกตนี้ สามก๊กวิทยา เองก็เคยเขียนไว้เช่นกันในบทความเรื่อง "สุริยุปราคา พาโจโฉแตกทัพเรือ" แต่ก็ยังขาดรายละเอียดสำคัญ ๆ ทั้งข้อมูลวันเวลา และเค้าความทางโหราศาสตร์
ผมจึงขออนุญาตนำบทความของคุณ "ชูศักดิ์ จงธนะพิพัฒน์" ซึ่งเป็นบทความที่มีข้อมูลสำคัญมากมาย อันจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเรื่องสามก๊ก มาบันทึกไว้ในบล็อกสามก๊กวิทยา และฝากให้ทุกท่านนำไปศึกษากันต่อไป
โหราศาสตร์กับกลยุทธ์
โดย : ชูศักดิ์ จงธนะพิพัฒน์วันที่ 15 พฤษภาคม 2558, กรุงเทพธุรกิจ
คุณ ชูศักดิ์ จงธนะพิพัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโหราศาสตร์ทั้งตำราตะวันออกและตะวันตก |
นี่คือประโยคอมตะที่นักกลยุทธ์ โดยเฉพาะผู้ศึกษาพิชัยสงครามจีน ต้องรู้จักและเข้าใจอย่างลึกซึ้ง คมวาทะนี้มาจาก “สามก๊ก” ตอน “ศึกเช็กเพ็ก (ผาแดง)” หรือ “โจโฉแตกทัพเรือ” นั่นเอง
ตลอดยุคสามก๊กกว่าร้อยปี มีการศึกนับครั้งไม่ถ้วน แต่ที่นักประวัติศาสตร์ยกย่องว่า เป็นการศึกครั้งสำคัญ เป็นการศึกที่พลิกผันประวัติศาสตร์ มีเพียง 5 ครั้งศึกเช็กเพ็กคือ 1 ใน 5 ครั้งนั้น !
ที่ว่าการศึกสำคัญก็เพราะ
- ทั้ง 2 ฝ่ายต่างทุ่มเทกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมาก ถือเป็นการศึกที่มีเดิมพันมหาศาล
- ขุมกำลังทั้ง 2 ฝ่ายแตกต่างห่างไกลกันมากฝ่ายมากมีกำลังมากกว่าฝ่ายน้อย 5 - 10 เท่าแต่ชัยชนะกลับตกเป็นของฝ่ายกำลังน้อยถือเป็นการศึกที่ “ใช้น้อยชนะมาก” อย่างแท้จริง
- เพราะคนน้อยชนะคนมาก ปัจจัยชี้ขาดจึงอยู่ที่สติปัญญา การใช้สติปัญญาสำคัญกว่าการใช้กำลัง กลยุทธ์สำคัญกว่าจำนวนไพร่พลนี่คือสุดยอดการศึกที่ทุกคนยกย่อง
- เมื่อผู้อ่อนแอชนะผู้เข้มแข็ง ทิศทางของประวัติศาสตร์ย่อมเปลี่ยนแปลงไป
การศึกที่เอาชนะกันด้วยสติปัญญาขั้นสูงเยี่ยงนี้ ลมตะวันออกเกี่ยวข้องอะไรด้วย ?
นับตั้งแต่ฉินซีฮ่องเต้ปราบ 6 แคว้นใหญ่และผนวกรวมเข้ากับแคว้นฉิน ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดยุคจ้านกว๋อ (Warring States 403 - 221 B.C.) ที่แผ่นดินแตกแยกและระอุด้วยไฟสงคราม และถือเป็นจุดกำเนิดประเทศจีนนั้นศูนย์รวมอำนาจหรือศูนย์กลางการเมืองการ ปกครอง ล้วนอยู่ในดินแดนภาคเหนือ
เมื่อถึงปลายราชวงศ์ฮั่น ฮ่องเต้ปราศจากอำนาจที่แท้จริง ขุนศึกทั้งหลายตั้งตนเป็นใหญ่-ช่วงชิงอำนาจกัน เกิดศึกสงครามไปทั่ว
โจโฉที่แม้ไม่ได้เกิดจากตระกูลใหญ่ แต่ก็มากด้วยสติปัญญาความสามารถ โดยเฉพาะการใช้คน หลังจากชนะอ้วนเสี้ยวในศึกกัวต๋อ ก็สถาปนาขุมกำลังของตนเอง ครอบครองดินแดนภาคเหนือ หรือ “วุยก๊ก” นั่นเอง
เป้าหมายถัดไปของโจโฉที่ต้องการรวมแผ่นดินเป็นหนึ่งเดียว ก็คือรุกลงสู่ทางใต้ คุกคามง่อก๊กของซุนกวน พร้อมทั้งฉวยโอกาสปิดล้อมทำลายกองกำลังของเล่าปี่ในคราเดียวกัน
แต่ง่อก๊กได้เปรียบที่มีแม่น้ำแยงซีขวางกั้นโจโฉจึงระดมไพร่พลนับล้าน พร้อมกองทัพเรือขนาดใหญ่นับพันด้วยสถานการณ์ที่บีบคั้นและสายตายุทธศาสตร์ ที่ยาวไกลของจิวยี่-ขงเบ้ง ง่อก๊กและจ๊กก๊กตกลงเป็นพันธมิตรร่วมกันในการต่อสู้กับกองทัพโจโฉ
แม้เป็น 2 สู้ 1 แต่ขุมกำลังก็ด้อยกว่าหลายเท่าถ้าปะทะซึ่งหน้า ต้องพ่ายแพ้ย่อยยับจะสู้ศัตรูที่ร้ายกาจขนาดนี้ ไม่เพียงอาศัยความกล้า แต่ต้องกอปรด้วยสติปัญญา ต้องพึ่งพากลยุทธ์ที่ลึกล้ำ
ด้วยเหตุนี้ แม้เปลือกนอกทั้ง 2 ฝ่ายต่างคุมเชิงกันอยู่ แต่ภายในเบื้องลึกแล้ว ต่างก็ชิงไหวชิงพริบในการวางแผน-กำหนดกลยุทธ์อย่างเข้มข้น
ในที่สุด จุดเปลี่ยนก็มาถึง ไพร่พลโจโฉเป็นชาวเหนือ อยู่บนเรือนาน ๆ ก็แพ้คลื่น กอปรกับเดินทัพมาไกล ร่างกายอ่อนแอ เมื่อเจอสภาพอากาศทางใต้ จึงเกิดโรคระบาด-ป่วยตายจำนวนมาก โจโฉจึงสั่งให้ใช้โซ่ล่ามเรือทั้งหมดเข้าด้วยกัน
คำสั่งนี้ สร้างความตื่นตระหนกยิ่งนัก เพราะหากง่อก๊กโจมตีด้วยไฟ กองทัพเรือทั้งหมดจะพินาศสิ้น โจโฉกล่าวว่า “ท่านไม่ทันความคิดเรา ช่วงเวลานี้เป็นฤดูลมตะวันตก หากจะเผาทัพเรือ ลมย่อมพัดเอาไฟย้อนกลับไปเผาเมืองกังตั๋งราพณาสูรไปเสียก่อน”
โจโฉไม่ใช่คนโง่ เขารู้ว่าจุดอ่อนคืออะไรและปิดจุดอ่อนนั้นเสีย แต่เขาก็พลาดจนได้ แม้เป็นฤดูลมตะวันตก แต่เพียงวันเดียวที่ธรรมชาติแปรปรวน จิวยี่ที่ซุ่มซ่อนแผนการ-ตระเตรียมกำลังพลพร้อมสรรพ ก็ฉวยโอกาสที่ลมเปลี่ยนทิศ โจมตีด้วยไฟ เผากองทัพเรือโจโฉพินาศหมดสิ้น
จุดพลิกผันแพ้ชนะอยู่ที่ “ลมตะวันออก” นี้เอง
คำถามสำคัญคือ จิวยี่-ขงเบ้งรู้ได้อย่างไรว่า จะเกิดลมตะวันออก ?
โจโฉที่เป็นชาวเหนือยังรู้จักฤดูลมตะวันตก แสดงว่ามีกุนซือชาวใต้ร่วมอยู่ด้วย ความรอบรู้ในภูมิอากาศและภูมิประเทศ เป็นเงื่อนไขของชัยชนะอยู่แล้ว จุดสำคัญอยู่ที่ “รู้ลึกซึ้ง” เพียงใดต่างหาก
ขงเบ้งเรียกลม หรือเพียงรู้โหราศาสตร์ ? |
จะรู้ความแปรปรวนของธรรมชาติได้ ต้องคุ้นเคยกับพื้นที่ แต่ถ้าถึงขั้นกำหนดวันเวลา ทางเดียวที่ทำได้คือดูจากดวงดาวหรือรู้ได้จากโหราศาสตร์!
การศึกษาศาสตร์การทหาร-การปกครองในสมัยโบราณ ไม่เพียงมุ่งเน้นที่พิชัยสงคราม แต่ยังรวมถึงโหราศาสตร์ ในฐานะศาสตร์ที่คำนวณการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย
โหราศาสตร์ จีนมีประวัติศาสตร์และพัฒนาการยาวไกลมาก ได้มีบันทึกไว้มากมาย เช่น เมื่อตุลาคม 2,137 ปีก่อน ค.ศ. เกิดสุริยคราสขึ้น (ประมาณ) 2,000 ปีก่อน ค.ศ. ชาวจีนค้นพบว่า วัฏจักรดาวพฤหัส (1 รอบจักรราศี) กินเวลา 12 ปี (ประมาณ) 1,200 ปีก่อน ค.ศ. ชาวจีนแบ่งจักรราศีออกเป็น 28 นักษัตรฤกษ์ (ประมาณ) 1,100 ปีก่อน ค.ศ. ชาวจีนค้นพบจุดวสันตวิษุวัติ (Spring Equinox) ฯลฯ
โดยเฉพาะเรื่องคราส (Eclipse) โหราศาสตร์จีนให้ความสำคัญมาก ไม่เพียงสุริยคราสข้างต้นยังมีบันทึกของสุริยคราสเมื่อ 1,302 ปีก่อน ค.ศ.ในสมัยราชวงศ์ซาง ในคัมภีร์ “ซือจิง” ก็บันทึกคู่คราสอาทิตย์-จันทร์เมื่อ 735 ปีก่อน ค.ศ. คัมภีร์ “ชุนชิว” เล่ม 1 บันทึกสุริยคราส (สรรพคราส) ในวันที่ 17 กรกฎาคม 709 ปีก่อน ค.ศ. ในคัมภีร์ “ชุนชิว” เล่ม 7 ได้บันทึกสุริยคราส (สรรพคราส) วันที่ 20 กันยายน 601 ปีก่อน ค.ศ. คัมภีร์ “ชุนชิว” เล่ม 9 ก็บันทึกสุริยคราส (สรรพคราส) วันที่ 19 มิถุนายน 549 ปีก่อน ค.ศ. ฯลฯ
ตั้งแต่ 750 ปีก่อน ค.ศ. นักโหราศาสตร์จีนได้สังเกตและบันทึกคราสทั้งอาทิตย์และจันทร์รวมกันมากกว่า 1,600 ครั้ง
แน่ใจได้เลยว่า โหราศาสตร์ต้องเป็นวิชาบังคับสำหรับปราชญ์-นักการทหาร-ชนชั้นนำทั้งหลาย ถ้าพวกเขาต้องการความสำเร็จขั้นสูง จิวยี่-ขงเบ้งก็อยู่ในเงื่อนไขนี้เช่นกัน
โหราศาสตร์อาจดูงมงายเหลวไหล แต่ในสายตานักกลยุทธ์ชั้นยอดที่รอบรู้ลึกซึ้ง ย่อมประเมินศาสตร์นี้ต่างจากสามัญชนแน่นอน
ศึกเช็กเพ็กนี้อ่านดูเผิน ๆ คล้ายกับ “คนคำนวณ มิสู้ฟ้าลิขิต” โจโฉที่ขุมกำลังเหนือกว่ากลับพ่ายแพ้ย่อยยับ
อันที่จริง ฟ้าไม่ได้ลิขิตให้โจโฉพ่ายแพ้ แต่ฟ้าลิขิตว่า จะเกิดลมตะวันออก ในเมื่อโจโฉไม่รู้ “เจตนาฟ้า” ย่อมต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้
การวางแผนกลยุทธ์นั้น ต้องสอดคล้องกับเจตนาฟ้า
จะล่วงรู้เจตนาฟ้า ต้องเข้าถึงแก่นแท้โหราศาสตร์
สัปดาห์หน้า เราจะมาวิเคราะห์ “โจโฉแตกทัพเรือ” ในมุมโหราศาสตร์กัน
โจโฉแตกทัพเรือ
โดย : ชูศักดิ์ จงธนะพิพัฒน์วันที่ 22 พฤษภาคม 2558, กรุงเทพธุรกิจ
เพลิงไฟเผาผลาญกองทัพเรือโจโฉ |
เป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ แต่งโดยหลอกว้านจง ซึ่งมีชีวิตอยู่ปลายราชวงศ์หยวนถึงต้นราชวงศ์หมิง พิมพ์ครั้งแรกปีค.ศ. 1522 แต่ฉบับลายมือแพร่หลายไปก่อนหน้าแล้ว
หลอกว้านจงอาศัยเค้า โครงประวัติศาสตร์จาก “จดหมายเหตุสามก๊ก” (ซานกว๋อจื่อ) ของ เฉินโซว่ ซึ่งเดิมเป็นชาวจ๊กก๊ก ปีค.ศ. 263 จ๊กก๊กล่มสลาย เขากลายเป็นนายอาลักขณ์ในราชวงศ์จิ้น เฉินโซว่ได้รับมอบหมายให้ทำบันทึกประวัติศาสตร์สมัย 3 ก๊ก ซึ่งเขาใช้เวลากว่าสิบปีจึงสำเร็จ จดหมายเหตุนี้มีเนื้อหาถึง 65 เล่ม 360,000 ตัวอักษรจีน
ยุคสามก๊กเป็นปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (ค.ศ. 25 - 220) เมื่อฮ่องเต้ไร้อำนาจที่แท้จริง แผ่นดินเข้าสู่กลียุค นิยมนับตั้งแต่กบฏโจรโพกผ้าเหลืองในปี 184 จากนั้นเกิดสงครามไปทั่ว เพราะขุนศึกแย่งชิงอำนาจกันเอง สามก๊กจริง ๆ (เฉินโซว่) นับตั้งแต่ปี 220 ที่โจผีปลดเหี้ยนเต้และตั้งตนเป็นฮ่องเต้ราชวงศ์เว่ย และสิ้นสุดในปี 280 เมื่อง่อก๊กล่มสลาย แผ่นดินถูกรวมเป็นหนึ่งภายใต้ราชวงศ์จิ้นของตระกูลสุมา
จดหมาย เหตุสามก๊กบันทึกการศึกมากมาย แต่ที่ตื่นเต้นเร้าใจและเป็นครั้งสำคัญที่พลิกประวัติศาสตร์คือ “ศึกเช็กเพ็ก” หรือการศึกที่ผาแดงในแม่น้ำแยงซี ระหว่างวุ่ยก๊ก (โจโฉ) กับพันธมิตรง่อก๊ก (ซุนกวน) และจ๊กก๊ก (เล่าปี่) ซึ่งผลลัพธ์คือความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับของวุยก๊ก ดังสรุปกันว่า “โจโฉแตกทัพเรือ” นั่นเอง
เพื่อมิให้สับสนในเนื้อหา ผู้เขียนขออ้างอิงบันทึกประวัติศาสตร์ “สือจี้ทุงเจี้ยน” ของ ซือหม่ากวง บทที่ 65 (ในศตวรรษที่ 11) ซึ่งกล่าวถึงจุดสำคัญที่ไม่ปรากฏในฉบับจดหมายเหตุและฉบับนิยาย
...ปี 208 เดือน 7 โจโฉยกทัพลงใต้ปราบเกงจิ๋วของเล่าเปียว เดือน 9 เมื่อยึดเกงจิ๋วได้แล้ว ก็รุกไล่ตามตีกองกำลังเล่าปี่ โดยจัดทัพใหญ่กว่า 2 แสนและทัพเรือนับพัน เตรียมถล่มง่อก๊กของซุนกวนที่เป็นพันธมิตรกับเล่าปี่
ในฤดูหนาว เดือน 10 วันกุยเว่ย (Guiwei) หรือวันแรกของเดือน ได้เกิดสุริยคราส
โจโฉแบ่งกำลังเป็น 2 ทัพ ทัพบกเคลื่อนจากทิศเหนือ ทัพเรือล่องตามแยงซีเกียงจากทิศตะวันตก แล้วตั้งค่ายฝั่งเหนือของแม่น้ำ จิวยี่ (กับทหาร 3 หมื่น) ตั้งค่ายทางฝั่งใต้ ทั้งคู่ยันกันที่ผาแดง เมื่อเป็นฤดูหนาว ม้าก็ขาดแคลนหญ้าทหารโจโฉที่เดินทัพมาไกล ก็ไม่คุ้นสถานที่และลมฟ้าอากาศ จึงป่วยเป็นโรคระบาดและล้มตายจำนวนมาก ส่วนที่เหลือก็เมาคลื่น โจโฉสั่งล่ามทัพเรือทั้งหมดเข้าด้วยกัน
อุยกายเมื่อได้เห็น จึงเสนอแผนโจมตีด้วยเพลิง แผนนี้ตรงใจจิวยี่ วันนั้น เกิดลมพายุจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ อุยกายนำเรือ 10 ลำ แสร้งสวามิภักดิ์โจโฉ เมื่อผ่านครึ่งแม่น้ำ ก็จุดไฟ-แล่นตรงเข้าหา ด้วยแรงลมพายุหนุนส่ง เพลิงจึงเผากองทัพเรือโจโฉหมดสิ้นจิวยี่ฉวยโอกาสโจมตีซ้ำ ถล่มค่ายจนราบเรียบ และบุกยึดพื้นที่เจียงหลิงต่อ เดือน 12 ซุนกวนข้ามแยงซี-บัญชาการรบด้วยตนเอง ตะลุยยึดเกงจิ๋วต่อเนื่อง...
ในนิยายบอกว่าลมตะวันออก แต่ประวัติศาสตร์กล่าวถึง “ลมตะวันออกเฉียงใต้” ทัพโจโฉอยู่ทิศเหนือและตะวันตก หวังได้เปรียบจากทิศทางลม ทั้งยังกล้าล่ามทัพเรือทั้งหมดเข้าด้วยกัน เมื่อต้องเผชิญลมพายุที่กลับทิศกะทันหัน จุดแข็งกลายเป็นจุดอ่อน ถูกเผาพินาศหมดสิ้น
วันที่เผาทัพเรือโจโฉไม่มีบันทึกเอาไว้ แต่จากข้อมูลประวัติศาสตร์ มันต้องเกิดขึ้นช่วงเดือน 10 - 11 ปมเงื่อนสำคัญให้สืบสาวต่อคือ สุริยคราสในวันกุยเว่ย-เดือน 10
ชาวจีนใช้ปฏิทินจันทรคติ ดังนั้น วันกุยเว่ย - วันแรกของเดือน ก็คือวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 10 ซึ่งเป็นวันจันทร์ดับ (อมาวสี) และถ้าจุดอมาวสีนั้นอยู่ใกล้ราหู ก็จะเกิดเป็นสุริยคราส
ข้อมูลของ NASA พบว่า เกิดสุริยคราสขึ้นในวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ.208 |
สุริยคราส-ผสม คือคราสที่เป็นได้ทั้งแบบเต็มดวงและวงแหวน แล้วแต่การมองเห็นจากตำแหน่งบนผิวโลก คราสแบบผสมเกิดขึ้นยากมาก ทั้งศตวรรษที่ 3 เกิดขึ้นเพียง5ครั้งเท่านั้น ความสำคัญของสุริยคราสวันกุยเว่ยอีกประการคือ เป็นสุริยคราสผสมที่นานที่สุดของศตวรรษ (1 นาที 3 วินาที)
พิกัดภูมิศาสตร์ของผาแดงคือ 29:52:10.92 องศาเหนือ 113:37:13.08 องศาตะวันออก ซึ่งเห็นสุริยคราสครั้งนี้ได้บางส่วน เช่นเดียวกับนครฮูโต๋ที่เป็นเมืองหลวงของวุยก๊ก ก็เห็นแค่บางส่วนเช่นกัน คราสที่ผ่านพื้นที่สำคัญทั้ง 2 นี้ บ่งชี้ถึงเหตุการณ์ใหญ่ที่จะเกิดขึ้นตามมา
อันที่จริง วันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ. 208 ก็เกิดจันทรคราส-เงามัว (Penumbral) ด้วย แต่เห็นได้ในยุโรป - แอฟริกา - อเมริกาใต้เท่านั้น มองไม่เห็นในประเทศจีน จึงไม่ค่อยมีผลต่อศึกเช็กเพ็กเท่าใด
เมื่อผูกดวงสุริยคราส จุดคราสอยู่ที่ 4 องศา 49 ลิปดาในราศีพิจิก พิจิกเป็นภพที่ 8 (มรณะ) ของดวงโลก ซึ่งหมายถึงความตาย ความพินาศ เภทภัยทั้งปวง จุดคราสกุมอังคารสนิท ถือเป็น “อังคารดับร่วมคราส” ด้วย อังคารคือการต่อสู้ สงคราม เพลิง ฯลฯ อังคารยังกุมราหูสนิท บอกถึงลมพายุที่รุนแรง พิจิกคือราศีธาตุน้ำ ลมพายุจากน้ำ-บนน้ำ-พื้นที่ใกล้น้ำ
ลัคนา ดวงคราสอยู่ที่ 1 องศา 23 ลิปดาในราศีมังกร เกาะวรโคตมนวางค์ ทั้งได้มุม 60 จากจุดคราสสนิทพอดี สุริยคราสครั้งนี้มีพลังรุนแรงมาก ทั้งยังมีดาวใหญ่ถึง 4 ดวง คือ พฤหัส-เสาร์-มฤตยู-พลูโต สถิตย์ในภพเกณฑ์ โดยเฉพาะมฤตยู (วรโคตมนวางค์) ทำมุม 90 กับลัคน์สนิทพอดี มฤตยูคือภัยธรรมชาติ อุบัติภัยที่คาดไม่ถึง ฯลฯทั้งหมดบอกถึงภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นกะทันหันและมีอำนาจทำลายล้างสูงมาก
มฤตยู เป็นดาวสำคัญมากในดวงเพราะอยู่ในภพ 10 มฤตยูเป็นดาวแห่งความพลิกผัน-เปลี่ยนแปลง พลิกผันคือฝ่ายกำลังมากกลับพ่ายแพ้ เปลี่ยนแปลงคือเกิดเป็นดุลกำลัง 3 ก๊กขึ้นในแผ่นดิน
สุริยคราสมีอิทธิพล (อย่างน้อย) 1 ปี แต่มีพลังเข้มข้นสุดช่วง +/- 1 เดือน โจโฉถูกเผาทัพเรือและพ่ายแพ้ย่อยยับหลังเกิดคราสไม่นาน จึงถูกต้องสอดคล้องกับหลักโหราศาสตร์แล้ว
มันสะท้อนว่า ฝ่ายโจโฉถือตัวว่าเหนือกว่ามาก จึงมองข้ามอิทธิพลดวงดาวและปัจจัยทางโหราศาสตร์ มิฉะนั้น เขาคงไม่กระทำการสุ่มเสี่ยงเช่นนี้ แต่ฝ่ายจิวยี่กลับมองเห็นและยึดกุมโอกาสไว้ได้ จึงได้ชัยชนะอย่างงดงาม
โหราศาสตร์ยิ่งใหญ่แค่ไหน ผู้เข้าถึงแก่นแท้เท่านั้นที่ตอบได้
กรุณาแสดงความคิดเห็น