"กลศึกสามก๊ก" หนังสือสามก๊กฉบับตีพิมพ์ใหม่ ครั้งที่ 4 ผลงานการแปลของอาจารย์ บุญศักดิ์ แสงระวี นักแปลรางวัลสุรินทราชา จากสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย และนักเขียนรางวัลนราธิป จากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ที่ว่าด้วยอุบายร้อยเล่ห์กลยุทธ์ จากแม่แบบวรรณคดีการศึก พิเคราะห์ วิจารณ์แบบเจาะลึก
"กลศึกสามก๊ก" เดิมนั้นเขียนโดย หลี่ปิ่งเยี่ยน กับ ซุนจิง อาจารย์สถาบันการทหารของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน พิมพ์โดยสำนักพิมพ์กองทัพปลดแอกในปักกิ่ง พวกเรานักอ่านชาวไทยจึงโชคดี ที่ได้อาจารย์บุญศักดิ์ ฯ ผู้แตกฉานในตำราพิชัยสงครามเป็นผู้แปลและถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาไทยได้อย่างน่าชื่นชม หลอมรวมจนกลายเป็นตำรากลยุทธ์ที่สมบูรณ์เหนือใคร
"กลศึกสามก๊ก" หนังสือสามก๊กฉบับตีพิมพ์ใหม่ ครั้งที่ 4 ผลงานการแปลของอาจารย์ บุญศักดิ์ แสงระวี นักแปลรางวัลสุรินทราชา จากสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย และนักเขียนรางวัลนราธิป จากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ที่ว่าด้วยอุบายร้อยเล่ห์กลยุทธ์ จากแม่แบบวรรณคดีการศึก พิเคราะห์ วิจารณ์แบบเจาะลึก"เจนจบยอดอุบาย พิชิตได้ด้วยกลศึก ปรับเปลี่ยนดังใจนึก ประยุกต์ได้ทุกเหตุการณ์"
"กลศึกสามก๊ก" เดิมนั้นเขียนโดย หลี่ปิ่งเยี่ยน กับ ซุนจิง อาจารย์สถาบันการทหารของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน พิมพ์โดยสำนักพิมพ์กองทัพปลดแอกในปักกิ่ง พวกเรานักอ่านชาวไทยจึงโชคดี ที่ได้อาจารย์บุญศักดิ์ ฯ ผู้แตกฉานในตำราพิชัยสงครามเป็นผู้แปลและถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาไทยได้อย่างน่าชื่นชม หลอมรวมจนกลายเป็นตำรากลยุทธ์ที่สมบูรณ์เหนือใคร
หนังสือเล่มนี้วางตลาดแล้วตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป ท่านผู้ใดสนใจลองไปหาซื้อได้ สนนราคาเล่มละ 280.- บาท หรือทดลองอ่านได้ โดยการ Download ไฟล์ eBook ไปทดลองอ่านฟรี ที่นี่ ครับ
คำนำผู้แปล
ในประวัติศาสตร์การทหารโบราณอันยาวนานของประเทศจีน มียุคประวัติศาสตร์อยู่ 2 ยุคที่ค่อนข้างรุ่งเรืองเฟื่องฟู คือ ยุคชุนชิวจ้านกว๋อ (770–221 ปี ก่อน ค.ศ.) กับยุคสามก๊ก (ค.ศ. 220–280) ทั้ง 2 ยุคนี้ ล้วนเป็นยุคที่เจ้าครองแคว้นต่างชิงกันยึดครองพื้นที่ พวกขุนศึก ต่างชิงกันเป็นใหญ่ รบราฆ่าฟันมิได้หยุดหย่อน ก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายไปทั่วทั้งแผ่นดิน สงครามที่ต่อเนื่องกันปีแล้วปีเล่า ได้ทำลายการผลิตลงไป ชีวิตความเป็นอยู่ ของประชาชนต้องตกทุกข์ได้ยากเลือดตากระเด็น แต่ในอีกด้านหนึ่ง ระเบียบเก่าของสังคมก็พลอยแหลกสลายไป ทัศนะประเพณีดั้งเดิมที่เคยผูกมัดความคิดของผู้คนมาแต่เก่าก่อน ก็ถูกกระทบกระแทกอย่างรุนแรงการปฏิบัติในสงครามมีความเรียกร้องต้องการที่จะพัฒนาทฤษฎีการทหาร การปกครองอย่างรีบด่วน ในขณะเดียวกันก็ได้เสนอวัตถุดิบให้แก่การพัฒนาทฤษฎีการทหาร การปกครอง อย่างอุดมสมบูรณ์ จากนี้จึงได้สร้างความเฟื่องฟูแก่ความคิด วิชาการทหาร การปกครอง และการบริหาร ของสองยุคนี้อย่างไม่เคยปรากฏมาแต่ก่อน
ในการรบพัลวันของยุคชุนชิวจ้านกว๋อ ก็ได้ผลิตตำราพิชัยสงครามอันอมตะ ดังเช่นของ ซุนวู กับ อู๋จื่อ และ ซือหม่าฝ่า เป็นต้น เช่นเดียวกัน ในยุคสามก๊ก ก็ได้สร้างบุคคลผู้มีอัจฉริยะทางการทหารเยี่ยงโจโฉและขงเบ้งให้ปรากฏขึ้น แม้ ตำราพิชัยสงครามโจโฉ จะหาต้นฉบับไม่พบแล้วก็ตาม แต่ตำราพิชัยสงครามซุนวู ที่โจโฉให้คำอธิบายเป็นคนแรก และ ชมรมขุนพล ของขงเบ้ง ก็ได้ส่องแสงเป็นประกายอย่างไม่มีวันดับชั่วกาลนาน
มีคำพังเพยกล่าวไว้ว่า “กลียุคสร้างวีรชน” ในการต่อสู้ทำสงครามเพื่อชิงความเป็นใหญ่ของเหล่าขุนศึกเป็นดังทะเลบ้าซึ่งคลื่นใหญ่ลมแรงม้วนตลบกลับไปกลับมาอย่างคลุ้มคลั่ง ย่อมจะบังเกิดบุคลากรที่มีความสามารถทางการทหารและ การปกครองแผ่นดินขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ดังเช่น ซุนวู (ซุนอู่) อู๋จื่อ (อู๋ฉี่) ขวันต๋ง (ก่วนจ้ง) งักเย (เยวี่ยอื้) ซือหม่าหยางจี และ ซุนปิน ในยุคชุนชิวจ้านกว๋อ โจโฉ ขงเบ้ง จิวยี่ สุมาอี้ ลกซุน ในยุคสามก๊ก เป็นต้น ล้วนแต่เป็นบุคคลซึ่งโลดแล่นอยู่ในยุคสมัยของตน ต่างแสดงสติปัญญาความสามารถของแต่ละคนอย่างเต็มกำลัง และล้วนทิ้ง ผลงานของตนไว้ในประวัติศาสตร์อย่างไม่อาจจะลบเลือนได้ทั้งสิ้น
ตำนานสามก๊ก ในขณะที่ได้พรรณนาถึงความเป็นไปในประวัติศาสตร์ซึ่งรวมแล้วแยก แยกแล้วรวม คบแล้วแตก แตกแล้วคบ สลับกันไปมา ซึ่งมีการต่อสู้ฟาดฟันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ใครดีใครอยู่ เผยภาพลักษณ์แห่งนักการทหารทั้งหลาย ผู้เปี่ยมล้นด้วยความเป็นวีรชนที่โอ่อ่าผ่าเผยและฮึกห้าวเหิมหาญเป็นอย่างยิ่ง ต่างโลดเต้นคึกคักเหมือนยังมีชีวิตอยู่
แน่นอน แม้ ตำนานสามก๊ก เป็นงานวรรณกรรมซึ่ง “มีข้อเท็จจริง 7 ส่วน ปั้นแต่งขึ้น 3 ส่วน” ก็จริง แต่ก็จำต้องยอมรับว่ายุทธศาสตร์ยุทธวิธี การรุกการรับ ชัยชนะและความพ่ายแพ้ ตลอดจนความแข็งความอ่อน สามัญและพิสดาร ที่เขียน ไว้ในวรรณกรรมชิ้นนี้โดยพื้นฐานแล้ว ก็สอดคล้องกับหลักการของวิทยาศาสตร์การทหาร และกฎเกณฑ์แห่งสงคราม เรื่องราวที่ปั้นแต่งขึ้นเช่น “ยืมเกาทัณฑ์ด้วยเรือฟาง” “กลเมืองว่าง” มิใช่แต่สามารถเห็นได้จากการรบที่คล้ายคลึงกันในสมัยนั้น ทั้งในระยะ ก่อนหรือหลังจากนั้น ก็มีตัวอย่างการรบให้เห็นอยู่มากมาย ฉะนั้นการปั้นแต่งใน วรรณกรรมชิ้นนี้จึงมีต้นธารมาจากชีวิตสงคราม แต่ก็ยกระดับขึ้นสูงกว่าชีวิตสงคราม ทั้งยังสามารถสะท้อนให้เห็นกฎการชี้นำสงครามบางอย่างบาง ประการอย่างลึกซึ้งด้วย จึงเป็นที่ยกย่องกันว่า ตำนานสามก๊ก โดยเนื้อแท้แล้ว เป็นตำราพิชัยสงคราม ที่เป็นรูปธรรมที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่งยวดเล่มหนึ่ง
ตำนานสามก๊ก ซึ่งมีความยาวถึง 70 หมื่นตัวอักษรจีน และ 10 เล่มสมุดเมื่อ แปลเป็นภาษาไทยสำนวนเจ้าพระยาพระคลัง (หน) รวม 2,143 หน้า เขียนถึงสงคราม ที่ไม่เคยว่างเว้นเลยตั้งแต่ปลายสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (ค.ศ. 25–220) มาจนถึงต้นราชวงศ์จิ้น (245–316) ซึ่งเป็นเวลาถึงเกือบ 1 ศตวรรษ ซึ่งหลัวก้วนจงผู้เขียนใช้ ฝีมือทางวรรณกรรมของเขาวาดภาพการรบอันสลับซับซ้อนพลิกกลับไปกลับมา จำนวนนับไม่ถ้วนแต่ต้นจนปลาย อันสะท้อนให้เห็นถึงความคิดการทหารสมัยโบราณของจีนอย่างมีภาพพจน์เป็นรูปธรรม มันมิใช่แต่เป็นการขยายบันทึกการรบอย่างง่าย ๆ สั้น ๆ ในหนังสือประวัติศาสตร์ให้ลึกกว้างออกไปเท่านั้น หากยังได้สอดแทรก เอาประสบการณ์แห่งชีวิต ความรู้เกี่ยวกับสงครามและความช่ำชองในตำราพิชัยสงครามหลากหลายของหลอก้วนจงผู้เขียนเข้าไปไว้ในนั้นด้วย
ผู้เขียนเขียนถึงสงคราม มิใช่เขียนแต่เรื่องการประจัญบานกันของทหารทั้งสองฝ่ายด้วยอาวุธสั้นจนเลือดท่วมกีบม้าทำนองเดียวกันทั้งหมด แต่ได้เขียนถึงการต่อสู้กันทางกลอุบายในระหว่างการต่อสู้กันด้วยความกล้าหาญ เขียนถึงการต่อสู้กันทางกลวิธีในระหว่างการต่อสู้กันด้วยพลังในการรบใหญ่น้อยทั้งปวง ที่ผันแปรเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ล้วนแต่มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างกันนานา ในความขัดแย้งระหว่างขุนศึกที่สลับซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง การต่อสู้ทางการทหาร การเมือง เศรษฐกิจ การทูต ได้หล่อหลอมไว้ด้วยกัน ยิ่งทำให้ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีที่พลิกแพลงมีชีวิตชีวา แสดงออกเป็นหลายรูปแบบ การแสดงรูปลักษณ์ การสร้างสถานการณ์ การใช้กลวิธี การรุกรับ การคำนวณประเมิน การใช้เล่ห์กล การรบพิสดาร การใช้จารชนในตำราพิชัยสงครามโบราณ ได้ปรากฏแก่สายตาเราเป็นภาพลักษณ์ จริงจังและอย่างเต็มที่ จึงมีผู้กล่าวว่า การอ่าน ตำนานสามก๊ก ของหลัวก้วนจง เหมือนกับได้เข้าไปอยู่ในห้องเรียนใหญ่วิชาการทหาร การปกครอง ที่ตื่นเต้นมีชีวิตชีวาห้องหนึ่งทีเดียว
นักวิชาการซึ่งสนใจค้นคว้า ตำนานสามก๊ก ระดับโลก มีความเห็นกันในทำนองว่า นิยายสงครามที่เขียนถึงการต่อสู้ทางการทหารในโลกนี้มีมากมาย แต่สามารถสะท้อนถึงการใช้อุบายต่อสู้ด้วยกลศึก การใช้ศิลปะการบัญชาทัพ สมรรถนะ ในการทำศึก ยากที่จะหาเล่มใดเทียบกับ ตำนานสามก๊ก เล่มนี้
การที่หลัวก้วนจงได้รับความสำเร็จใน ตำนานสามก๊ก ก็เพราะเขายึดกุมข้อมูล ทางประวัติศาสตร์ไว้อย่างสมบูรณ์ ในขณะเดียวกันตัวของหลัวก้วนจงเองก็เป็นนักวางแผนกลอุบายการทหาร และมีความเชี่ยวชาญในด้านนี้เป็นอย่างยิ่ง มิฉะนั้นแล้ว ก็ยากที่หลัวก้วนจงจะเขียน ตำนานสามก๊ก นี้ออกมาได้
หลัวก้วนจงเป็นคนเมืองไท่เหวียนแห่งซานซี ชีวประวัติของเขาเลือนหายไปพร้อม ๆ กับประวัติศาสตร์ เรารู้แต่เพียงว่า เขามีชีวิตอยู่ในช่วงปลายราชวงศ์หยวน ต้นราชวงศ์หมิง (ประมาณ ค.ศ. 1330–1400) เวลานั้น ชาวต่างชาติเข้ารุกรานราษฎรบ้านแตกสาแหรกขาด การผลิตเสื่อมทรุด ประชาชนตกอยู่ในความเดือดร้อน อดอยากแสนสาหัส ภาวะดังนี้คล้ายคลึงกับสังคมในสมัยสามก๊ก (ค.ศ. 220–280) ซึ่งกลุ่มขุนศึกรบพุ่งกันพัลวัน ประชาชนร้องระงมไปทุกหย่อมหญ้า
ในยุคสมัยที่หลัวก้วนจงดำรงชีวิตอยู่ นิยายต่าง ๆ เกี่ยวกับสามก๊กซึ่งเป็นยุคสมัยก่อนหน้าเขานานถึงพันกว่าปี ก็แพร่อยู่ในหมู่ประชาชนแล้ว ประชาชนยกย่อง เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย ขงเบ้ง ซึ่งเป็นวีรชนในอุดมคติของพวกเขา ซึ่งพวกเขามีความประสงค์ที่จะเห็นวีรชนแบบนี้ปรากฏออกมาขจัดความทุกข์เข็ญที่พวกเขาต้องเผชิญอยู่ ซึ่งหลัวก้วนจงได้รวบรวมเอาคำบอกเล่า คำเล่าลือ เรื่องราว และนิยาย ของสามก๊กที่แพร่อยู่ในประชาชนไว้มากมาย เรื่องราวในสามก๊กเหล่านี้มิใช่แต่เป็นการตระเตรียมข้อมูลทางวรรณกรรมของ ตำนานสามก๊ก ที่เขาจะเขียนในเวลาต่อมาเท่านั้น มันยังเป็นอาจารย์คนแรกของหลัวก้วนจงในการค้นคว้าตำราพิชัยสงครามและกลยุทธ์ทางการทหารอีกโสดหนึ่งด้วย
ความขัดแย้งต่าง ๆ ในสังคมปลายสมัยราชวงศ์หยวนแหลมคมยิ่งนัก การลุกขึ้นสู้ของชาวนาเกิดขึ้นไม่หยุดหย่อน หลัวก้วนจงถูกดึงดูดชักพาให้เข้าไปสู่วังวนแห่งการต่อสู้เหล่านี้โดยตรง หลัวก้วนจงเป็นคนมีความหวังตั้งใจของตนเองอย่างแรงกล้า ในกระแสแห่งการลุกขึ้นสู้ปฏิวัติทางประชาชาติ ปลายราชวงศ์หยวนเขาได้เข้าร่วมอยู่ในกองทัพลุกขึ้นสู้ของชาวนาด้วยตนเอง เคยรับหน้าที่สำคัญในกองบัญชาการของจางซื่อเฉิง (ค.ศ. 1321–1367) ผู้นำของกองทัพลุกขึ้นสู้ ได้รับรู้และได้เข้าร่วมการรบที่สำคัญ ๆ ในสมัยนั้นด้วยตนเอง ในระหว่างที่หลัวก้วนจงอยู่ในกองทัพลุกขึ้นสู้ของชาวนา สิ่งที่เขาได้รู้ได้เห็น มิใช่แต่จะมีอิทธิพลแก่งานสร้างสรรค์ทางวรรณกรรมอย่างใหญ่หลวงของเขาภายหลังเท่านั้น ยังเป็นการฝึกฝนหล่อหลอมทางการทหารให้แก่เขาอีกทางหนึ่งด้วย
ด้วยเหตุนี้เอง ศึกใหญ่ ๆ ที่สำคัญ ๆ ใน ตำนานสามก๊ก เป็นต้นว่า “ศึกกัวต๋อ” “ศึกเซ็กเพ็ก” “ศึกจูเต๋ง” ซึ่งต่างระดมพลกันมาสัประยุทธ์ฝ่ายละหลายสิบหมื่น จึงเขียนได้อย่างมีชีวิตชีวาและมีการพัฒนาไปตามลำดับ ส่วนการรบย่อยเช่น “ฝ่าด่านบั่นขุนพล” “ลอบตีเกงจิ๋ว” “ม้าเจ๊กเสียเกเต๋ง” เป็นต้น ก็เขียนได้อย่างสมจริงน่าเชื่อถือ อีกทั้งการรบทางบก ทางน้ำ ทางภูเขา ทางที่ราบ การซุ่มตี การปล้นค่าย การโจมตีด้วยไฟ การโจมตีด้วยน้ำ เป็นต้นเหล่านี้ ก็ล้วนเขียนได้อย่างมีการจำแนกและมีลักษณะพิเศษของตัวเอง ซึ่งกล่าวได้ว่า เป็นการแสดงถึงอัจฉริยะทางศิลปะและเผยให้เห็นถึงความปรีชาสามารถในความคิดกลศึกของหลัวก้วนจงในขณะเดียวกัน
ตำนานสามก๊ก ได้ข้อมูลพื้นฐานมาจาก จดหมายเหตุสามก๊ก ของเฉินโซ่ว (ค.ศ. 233–297) นักประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์จิ้น (ค.ศ. 265–420) จึงกล่าวได้ว่า ตำนานสามก๊ก กับ จดหมายเหตุสามก๊ก มีความเกี่ยวพันกันอย่างแน่นแฟ้นดุจเลือดกับเนื้อ ถ้านำเอา จดหมายเหตุสามก๊ก กับ ตำนานสามก๊ก มาเปรียบเทียบกันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเค้าโครงเรื่องและภาพลักษณ์ก็ดี จะเห็นได้ว่าหนังสือเล่มหลังมิใช่เป็นเพียงการเล่าตำนานอย่างพื้น ๆ เท่านั้น
จดหมายเหตุสามก๊ก ที่เฉินโซ่วเป็นผู้เรียบเรียงเขียนเริ่มขึ้นจากข้อเท็จจริงได้บันทึกโฉมหน้าทางประวัติศาสตร์ของยุคสามก๊กไว้อย่างค่อนข้างตรงกับความจริง ส่วนหลัวก้วนจงได้อาศัยเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ใน จดหมายเหตุสามก๊ก ดูดรับเอาคำบอกเล่าในหมู่ประชาชนจำนวนมาก ดำเนินการขยายความทางศิลปะและการดัดแปลงประมวลสรุปอย่างแนบเนียน ดังเช่นการวาดภาพลักษณ์ของขงเบ้ง กล่าวได้ว่าผู้เขียนได้รวบรวมเอาสติปัญญาอันหลากหลายมารวมศูนย์ไว้ที่นั่น จึงได้สร้างบุคคลอย่างขงเบ้ง ซึ่งมีความสามารถในการรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าและคาดการณ์ดังหนึ่งเทวดาขึ้นมา จนทำให้ภาพลักษณ์ของขงเบ้ง มีชีวิตชีวาติดอกติดใจผู้อ่านมาจนถึงทุกวันนี้ การที่หลัวก้วนจงเขียนการต่อสู้ทางกลอุบายด้านต่าง ๆ ระหว่างวุยก๊ก จ๊กก๊ก และง่อก๊กได้อย่างยอดเยี่ยม ยังเป็นการแสดงให้เห็นว่า ตัวของหลัวก้วนจงเอง ก็เป็นผู้เชี่ยวชาญทางกลอุบายและตำราพิชัยสงครามชั้นยอดที่หาตัวจับได้ยากคนหนึ่ง
กลศึกสามก๊ก เล่มนี้ ก็คือการนำเอาเรื่องราวการใช้กลอุบายต่าง ๆ นานาในตำนานสามก๊ก มาวิเคราะห์อย่างเป็นรูปธรรมจากแง่มุมต่าง ๆ ตามลำดับก่อนหลัง ซึ่งประกอบไปด้วยการแสดงอานุภาพ การใช้เล่ห์เพทุบาย การพิชิตทางการทูต การใช้ยุทธวิธี การรับมือกับการเปลี่ยนแปลง การใช้จารชน การเสริมขวัญผู้ใต้บังคับบัญชา การโจมตีทางใจ การใช้คน การรบพิสดาร และการฝึกฝนของบรรดาแม่ทัพนายกองทั้งหลาย พร้อมกับได้นำเรื่องราวใน ตำนานสามก๊ก ที่กล่าวพาดพิงถึง ไปเปรียบเทียบกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ด้วย ซึ่งผู้แปลได้แปลมาจากหนังสือชื่อ ว่าด้วยกลอุบายในสามก๊ก เขียนโดย หลี่ปิ่งเยี่ยน กับ ซุนจิง อาจารย์สถาบันการทหารของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน พิมพ์โดยสำนักพิมพ์กองทัพปลดแอกในปักกิ่ง
ก่อนหน้าการรวมเล่มเป็น กลศึกสามก๊ก ผู้แปลได้แปลเป็นตอน ๆ ลงในนิตยสารดอกเบี้ยรายสัปดาห์มาแล้ว
ญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศ มิใช่แต่จะถือ ตำนานสามก๊ก เป็นตำราพิชัยสงคราม ที่เป็นรูปธรรมอย่างเดียว หากได้นำไปใช้ในปริมณฑลต่าง ๆ จนได้รับความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่มาแล้ว ขอย้ำว่า ตำนานสามก๊ก ไม่ใช่เป็นเรื่องการทำศึกสงครามอย่างเดียว ยังเป็นการประลองฝีมือกันในทางการทหาร การเมือง เศรษฐกิจ ตลอดจนกลยุทธ์ กลอุบายนานา มีทั้งปรัชญาการปกครอง การใช้คน การปฏิบัติตนและอื่น ๆ อีกมากมาย
การอ่าน ตำนานสามก๊ก ก็เหมือน “สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม คนหนึ่งตาแหลมคม มองเห็นดาวอยู่พราวพราย” ใครที่อ่านเป็นและรู้จักนำไปใช้ ก็จะเกิดประโยชน์แก่ตนอย่างมหาศาล
ด้วยความเคารพ
บุญศักดิ์ แสงระวี
สารบัญ
- สังเขปเหตุการณ์สมัยสามก๊ก
- อย่าไล่สุนัขจนตรอก หลีกเลี่ยงจุดแข็งเข้าตีจุดอ่อน
- รอดตายด้วยไหวพริบ ปฏิภาณของโจโฉเมื่อคับขัน
- 18 หัวเมืองปราบตั๋งโต๊ะไม่สำเร็จ ต่างแย่งชิงพื้นที่ตั้งตนเป็นใหญ่
- กลยุทธ์ “ยืมทางพรางกล” อ้วนเสี้ยวทำสำเร็จ แต่จิวยี่ล้มเหลว
- กลสาวงามกับกลลูกโซ่ ล้วนเพื่อตีศัตรูให้แตกพ่ายไป
- ยุทธวิธีรบติดพัน มัดมือมัดตีนข้าศึก
- สองเสือแย่งเหยื่อ กระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว
- ไล่เสือกลืนสุนัข ยุให้รำตำให้รั่ว
- สายตายุทธศาสตร์ของซุนเซ็ก สร้างอำนาจรัฐตระกูลซุนครองกังตั๋ง
- แผนซ้อนแผน กลซ้อนกล กาเซี่ยงรู้เท่าทันแผนการโจโฉ
- ปรัชญาแห่งการไล่ตามตี ทวนย้อนแทงย้อนแทงทวน
- แผนลวงของตันเต๋ง ลิโป้เสียสามเมืองในคราวเดียว
- ตันก๋งเลือกนายผิด มีแผนดีแต่มีนายเลว
- ลูกเล่นของเตียวหุย ต้านการดักซุ่มตีอย่างแนบเนียน
- ยั่วยุให้หยิ่งผยอง บุนทิวหลงกลโจโฉ
- คนในมืด คนนอกสว่าง อยู่กลางขุนเขามีแนวเนินเป็นม่านบังตา
- ยุทธการ “ปล้นเสบียงที่อัวเจ๋า” หัวเลี้ยวหัวต่อการเติบใหญ่ของโจโฉ
- ใช้สงครามข่าวสาร กระจายกำลังข้าศึก โจโฉตีอ้วนเสี้ยวด้วยรบพิสดาร
- เมตตาอาทร-บุญคุณความแค้นของนักการเมือง การทหาร
- แผน “ซุ่มตี 10 ทิศ” ของเทียหยก โจโฉล้างแสนยานุภาพอ้วนเสี้ยว
- เหตุแห่งความปราชัยของอ้วนเสี้ยว บทเรียนที่มีค่าของผู้นำ
- โจโฉ “ดูไฟชายฝั่ง” สองครั้ง จบสิ้นอำนาจตระกูลอ้วน
- ความรอบรู้ของขงเบ้ง แผ่นดินนี้จะแยกเป็นสาม
- คบเพลิงสองอันของขงเบ้ง จากทุ่งพกบ๋องถึงเมืองซินเอี๋ย
- อ่อนไม่ควรแสดงว่าพรั่นพรึง แข็งกล้าต้องลึกซึ้งกลอุบาย
- เจียวก้านตกหลุมจิวยี่ ข่าวตรงมักสงสัย ข่าวซุบซิบมักเชื่อถือ
- ขงเบ้งยืมเกาทัณฑ์ อาศัยธรรมชาติเป็นพันธมิตร
- จิวยี่โบยอุยกาย ยอมรับการยอมจำนน = ยอมรับศัตรู
- โจโฉพ่ายหนีที่ฮัวหยง ความผิดพลาดหลังการหัวเราะครั้งที่ 3
- การทูตในศึกเซ็กเพ็ก สร้างพันธมิตรด้วยวาจาจี้ใจ
- โจหยินพ่ายทัพจิวยี่ที่ลำกุ๋น ชนะบ่อยครั้งมักประเมินข้าศึกต่ำต้อย
- จิวยี่เหนื่อยเปล่า ขงเบ้งชุบมือเปิบ
- “ยิงเกาทัณฑ์ดอกเดียวได้นก 2 ตัว” ขงเบ้งยึด 2 เมืองมิเปลืองแรง
- เหตุใดขงเบ้งจึงต้อง “ยืม” เกงจิ๋ว พันธมิตรในแดน “ยุทธภูมิสัญจร”
- ไถ้แพรสามใบของขงเบ้ง การคาดการณ์ล่วงหน้าของนักยุทธศาสตร์
- ขงเบ้งยั่วโทสะจิวยี่ตายจริงหรือ สายตาสั้น-ชีวิตสั้น
- โลกชกแนะนำบังทองให้เล่าปี่ นักวางแผนต้องเล็งการณ์ไกล
- หมากตาสำคัญของขงเบ้ง สามจุดตรึงหนึ่งจุด
- ม้าเฉียวเสริมกำลัง โจโฉกลับชอบใจ
- เล่าปี่ชนะใจเตียวสง สร้างมิตรผูกใจได้ทุกสิ่ง
- งานเลี้ยงที่ด่านโปยสิก๋วน ทัศนะการเมืองอันล้ำลึกของเล่าปี่
- ลกห้องโหปลิดชีวิตบังทอง ความริษยาบดบังความปราดเปรื่อง
- เตียวหุยตีปากุ๋น ความละเอียดในความหยาบ
- เมื่อขงเบ้งปกครองเสฉวน เข้มงวดประสานผ่อนปรน
- โจโฉยึดเองเปงก๋วน กลยุทธ์ถอยลวงรุกจริง
- โจโฉหยุดเมื่อควรหยุด ยื่นมือยาวไปยิ่งสุ่มเสี่ยง
- ขงเบ้งคาย 3 เมืองให้ซุนกวน ยอมเสียเล็กเพื่อได้ใหญ่
- การใช้คนก็มีศิลปะ วางแผนในกระโจมชนะไกลพันลี้
- ทหารกล้าเพราะนายหาญ การกระทำของผู้นำคือคำสั่งที่มีพลัง
- จุดอ่อนก็ใช้ลวงข้าศึกได้ กลอุบายที่คาดไม่ถึง
- ความแยบยลในการยั่วยุขุนพล จี้จุดอ่อนปลุกจุดแข็ง
- แขกกลับกลายเป็นเจ้าบ้าน พลิกจากโจมตีเป็นตั้งรับ
- เลี่ยงความฮึกโหม-ตีเมื่ออิดโรย หนักแน่นรู้จักรอคอยโอกาส
- ความห้าวหาญของจูล่ง ความกล้ากับสติปัญญาต้องเชื่อมโยงกัน
- ซิหลงพ่ายเพราะเลียนแบบ ประวัติศาสตร์มิซ้ำรอยเดิม
- โจโฉสงสัย 3 ครั้งรบแพ้ 3 หน จงสร้างความผิดพลาดให้ข้าศึก
- กวนอูทดน้ำท่วม 7 ทัพ ดึงธรรมชาติเป็นพันธมิตร
- แผนลวงของลิบองกับลกซุน อย่าวัดคุณค่าคนจากความโด่งดัง
- ลิบองลอบตีเกงจิ๋วฉับพลัน จู่โจมเมื่อไม่ระวัง-รุกรบเมื่อไม่คาดคิด
- กวนอูเข้าตาจน ลิบองใช้แผน “เพลงฉู่ 4 ทิศ”
- โศกนาฏกรรมของกวนอู ไร้กลอุบาย-ไร้การตระเตรียม
- ซุนกวนกับโจโฉโยนความผิดให้กัน ต้องแยกศพกวนอูฝัง 3 แห่ง
- ไม่ควรทำศึกเพราะเหตุส่วนตัว บทเรียนจากความแค้นของเล่าปี่
- ซุนกวนกล้าเผชิญความอัปยศ ยอมงอรอผลการณ์ไกล
- ทำศึกไม่ควรเสียโอกาสรบ โจผีพลาดนาทีทอง
- ลกซุนรอโอกาส “ลงมือทีหลัง” พลังซ่อนเร้นสยบความฮึกเหิม
- รู้จักพอคือความฉลาด ไม่ต้องรบก็สยบข้าศึกได้
- ใช้กลอุบายแทนการรบ สยบทัพพันธมิตร 5 ทิศทาง
- ขงเบ้งฟื้นความสัมพันธ์กับซุนกวนสร้างความสมดุลการทหารรูปสามเหลี่ยม
- ศิลปะการ “ขอยืม” ของขงเบ้ง วิธีการเก่ารูปแบบใหม่
- สำคัญที่รบชนะทางใจ ชนะใจชนะอย่างสมบูรณ์
- 7 จับ 7 ปล่อยเบ้งเฮ็ก รบทางใจกำลังทหารต้องหนุนข้างหลัง
- ขงเบ้งคลอกทหารเกราะหวาย รบแบบซุ่มตี-น้อยชนะมาก
- รอบคอบเกินไปก็เสียหาย ขงเบ้งมิใช่หยกปราศจากรอยตำหนิ
- การศึกไม่หน่ายเล่ห์ ข่าวสารปัจจัยชี้ชัยชนะ
- สุมาอี้จัดการเบ้งตัด รุกรบเมื่อไม่คาดคิด
- ซ้อนแผนการลอบโจมตี มองไกลกว่า ก้าวไกลกว่า-ชนะ !
- ม้าเจ๊กกับอองเป๋งในศึกเกเต๋ง รู้หลักการว่ายน้ำมิสู้คนว่ายน้ำเป็นแล้ว
- การแสดง “ละครหลังเวที” ฝีมือไม่เข้าขั้นก็มีช่องโหว่
- คำนวณก่อนข้าศึกจักชนะ คาดการณ์ล่วงหน้าแม่นยำจักชนะ
- ขงเบ้ง “ถอยให้สามช่วง” กลยุทธ์เคลื่อนย้ายทำลายข้าศึก
- แม่ทัพอยู่ภายนอก ประมุขไม่ระแวงจะชนะ
- ขงเบ้งเลียนแบบอวี๋สวี่ ถอยทัพทุกวันเพิ่มเตาทุกวัน
- ขงเบ้งทำกลเอาเสบียงจากข้าศึก สุมาอี้เผชิญขงเบ้ง 4 คน
- สำคัญที่การรักษาคำมั่นสัญญา วาจาสัตย์สามารถกำหนดแพ้ชนะ
- กลศึกโคยนต์ของขงเบ้ง ขนส่งเสบียงด้วยเทคโนโลยี
- ขงเบ้งแพ้ความหนักแน่นของสุมาอี้ในสงครามยืดเยื้อ ใครอึดกว่า-ชนะ !
- ถอยทัพก็ต้องมีศิลปะ ขงเบ้งตายหลอกสุมาอี้เป็น
- พันธมิตรง่อก๊กกับจ๊กก๊กในศึกเขากิสาน ความผิดพลาดของขงเบ้ง
- ตีจุดที่ต้องช่วยกับล้อมจุดตีหนุน แผนศึกเฉียบแหลมของสุมาอี้
- วิภาษวิธีระหว่าง “เร็ว” กับ “ช้า” ควรเร็วให้รีบฉวย ควรช้าให้ถ่วงไว้
- การใช้เล่ห์และการคาดคะเนข้าศึกเกียงอุยกับเตงงายคู่ต่อสู้ที่ทัดเทียมกัน
- แม่ทัพควรเข้าใจสนามรบให้ถ่องแท้ ความเฉียบคมของเตงงาย
- “ตีจ๊กก๊ก บุกง่อก๊ก” แผนศึกร้อยเล่ห์ของจงโฮย
- เกียงอุยย้อนรอยสุมาเจียว ทำผิดซ้ำรอยขงเบ้ง
- เตงงายตลบหลังทางอิมเป๋ง ทางลัดสู่ชัยชนะ
- จ๊กก๊กล่ม–ง่อก๊กหนาว เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล
- อวสานสามก๊ก รวมแล้วแยก แยกแล้วรวม
- ชื่อเรื่อง : กลศึกสามก๊ก
- ผู้เขียน : บุญศักดิ์ แสงระวี
- พิมพ์ครั้งแรก: มกราคม 2558 (พิมพ์ครั้งที่ 4 ปรับปรุงใหม่)
- ISBN: 9786167105956
- Barcode: 9786167105956
- สำนักพิมพ์: สุขภาพใจ
- ขนาด: 14.5 x 21 ซ.ม.
- จำนวนหน้า: 448 หน้า
- ปก: ปกอ่อน
- เนื้อใน: ถนอมสายตา
- ราคาปก: 280.00 บาท
กรุณาแสดงความคิดเห็น