"ความเงียบ วิทยา ศึกษา สุมาอี้ เป็น ลกซุน แปรต๋อม เป็นพลัง" เป็นบทความวิเคราห์กลการเมืองไทย ที่ยกเอาเนื้อหาจากวรรณกรรมจีนเรื่องสามก๊ก มาเป็นข้อเปรียบเทียบ ซึ่งแม้ในบทความมีได้แสดงหรือระบุว่าเป็นห้วงการเมืองใด แต่หากได้ติดตามข่าวบ้านการเมืองอย่างสม่ำเสมอ ก็คงไม่ยากที่จะตีความ
"ความเงียบ วิทยา ศึกษา สุมาอี้ เป็น ลกซุน แปรต๋อม เป็นพลัง" เป็นบทความวิเคราะห์กลการเมืองไทย ที่ยกเอาเนื้อหาจากวรรณกรรมจีนเรื่องสามก๊ก มาเป็นข้อเปรียบเทียบ ซึ่งแม้ในบทความมิได้แสดงหรือระบุว่าเป็นห้วงการเมืองใด แต่หากได้ติดตามข่าวบ้านการเมืองอย่างสม่ำเสมอ ก็คงไม่ยากที่จะตีความณ จุดอันแน่นอน "ความเงียบ" ก็แปรเป็น "พลานุภาพ"
บทความนี้ได้มาจากเว็บไซต์มติชนออนไลน์ ประจำวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2558 เห็นว่าจะเป็นประโยชน์สืบไปในภายหน้า จึงขอบันทึกไว้
ความเงียบ วิทยา ศึกษา สุมาอี้ เป็น ลกซุน แปรต๋อม เป็นพลัง
ความเงียบ-บางมุมมองอันมาจาก "ลาว คำหอม" เจ้าของรวมเรื่องสั้น "ฟ้าบ่กั้น" เจ้าของไร่ธารเกษมแห่งปากช่องอาจเสมอเป็นเพียง "ต๋อม"
อันหนังสือพจนานุกรม ฉบับมติชน ที่หน้า 350 บรรทัดแรก สดมภ์ 1 อยู่บนสุดเลยให้คำอธิบายว่า
ว. เสียงดังอย่างเสียงของหนักที่เป็นก้อนตกน้ำ
พร้อมกับบอกด้วยว่า "โดยปริยาย" หมายความว่า เงียบหายไป เช่น หายต๋อมไปเช่นเดียวกับที่หนังสือ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ระบุในวงเล็บว่า
ใช้แก่กริยาหาว่า หายต๋อม
กระนั้น หากนำเรื่องนี้ไปสอบถาม "ขงเบ้ง" หากนำเรื่องนี้ไปสอบถาม "เล่าปี่" หากนำเรื่องนี้ไปสอบถาม "โจผี"
ก็จะปฏิเสธ สำแดงความไม่เห็นด้วย
เพราะขงเบ้งเมื่อปะเข้ากับ "สุมาอี้" ที่รู้สึกว่าเป็น "ความเงียบ" กลับมิใช่ เพราะเล่าปี่และโจผีเมื่อปะเข้ากับ "ลกซุน" ที่รู้สึกว่าเป็น "ความเงียบ"
กลับ "ไม่ใช่" กลับเป็น "ความอึกทึก"
สุมาอี้ และ ลกซุน |
ทัพจกต้องการรบอย่างยิ่ง
ท้าแล้วท้าเล่า เคลื่อนไหวแล้วเคลื่อนไหวเล่า ออกไปด่าทอหน้าค่าย เชิญชวนให้สุมาอี้ออกมาต่อตี
น่าสนใจก็ตรงที่สุมาอี้กลับ "เงียบ"
น่าสนใจก็ตรงที่ทัพวุยสงบนิ่งอยู่ในที่ตั้ง ไม่มีการเคลื่อนไหว ไม่แสดงอะไรให้เห็นว่าขาดความอดทนขาดความอดกลั้น
แม้ขงเบ้งส่งพัสราภรณ์ "หญิง" ไปให้
สุมาอี้ก็ออกมาต้อนรับอย่างเยือกเย็น ทั้งยังสอบถามถึงธุรกิจ ธุรกรรมประจำวันของท่านสมุหนายก
เมื่อได้คำตอบจากพลเดินสารก็ร้อง "ฮ้อ"
ยุทธวิธีของสุมาอี้เป็นยุทธวิธีตั้งรับเพราะรู้ว่าทัพขงเบ้งมาจากเสฉวนสู่เขากีสานไกลอย่างยิ่งการส่งกำลังบำรุงยากลำบาก จึงจำเป็นต้องรบเร็ว ชนะเร็ว หากทัพวุยรั้งดึงให้นานเท่าใดเสบียงอาหารย่อมร่อยหรอ ขวัญกำลังใจทหารย่อมตกต่ำ เสื่อมทรุด
ยิ่ง "เงียบ" เท่าใด โอกาส "ชนะ" ยิ่งมากเท่านั้น
เช่นเดียวกับเมื่อเล่าปี่ยกทัพ 75 หมื่นจากเสฉวนรุกเข้าไปยังแคว้นเกงจิ๋วของกังตั๋ง เช่นเดียวกับเมื่อโจผียกทัพ 3 เส้นทางเข้าประชิดดินแดนแคว้นง่อที่หับป๋า
กับเล่าปี่ ลกซุนใช้วิธีเดียวกับสุมาอี้
เมื่อประจันหน้ากันที่อิเหลง ลกซุนใช้ความเฉียบขาดบัญชาให้ไพร่พลน้อยใหญ่อยู่ในฐานไม่ออกรบ
แม้เล่าปี่จะร้อนรนอย่างไร ก็ไม่แปรเปลี่ยน
รอจนจากฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน กำลังพลของทัพจกต้องถอยไปอยู่ในป่าริมแม่น้ำ ตั้งค่าย 40 ค่ายเรียงรายนั่นแหละ
จึงได้โอกาสใช้ "เพลิง" ในการรุกเข้า "ทำลาย"
ขณะเดียวกัน เมื่อประสบเข้ากับทัพของโจผีและไม่มีอะไรคืบหน้า แท้จริงแล้วลกซุนต้องการถอยแต่สารที่นำกราบทูลซุนกวนถูกจับได้จึงจำเป็นต้องใช้กลยุทธ์อย่างใหม่ สร้างความสงสัยแม้กระทั่งต่อจูกัดกิ๋น พวกเดียวกัน
นั่นก็คือ ให้ทหารปลูกถั่ว ปลูกผัก
นั่นก็คือ เมื่อจังหวะเวลาหนึ่งก็สั่งการเหมือนกับจะมีการเคลื่อนพลรุกเข้าโจมตี ไม่ว่าทัพบก ไม่ว่าทัพเรือ ทั้งๆ ที่แท้จริงคือการถอยและค่อยๆ ถอนทัพ
สร้างอาการ "ตะลึง ตึง" ให้กับโจผีในที่สุด
คล้ายกับสุมาอี้กับลกซุนจะดำเนินกลยุทธ์อย่างเดียวกัน นั่นก็คือ ใช้ความสงบ สยบการเคลื่อนไหว
กระนั้น หากศึกษาอย่างลงลึกไปภายใน "ความเงียบ" ก็มีการตระเตรียม ลกซุนยังฝึกทหารอย่างสม่ำเสมอ สุมาอี้ยังเสาะหาข่าวอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
ณ จุดอันแน่นอน "ความเงียบ" ก็แปรเป็น "พลานุภาพ"
เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง
กรุณาแสดงความคิดเห็น