หน้าไม้กลของขงเบ้งตามที่ปรากฏตามสื่อต่าง ๆ มันเล็กและมีอานุภาพน้อยเกินไป คุณลุงชาวจีนท่านหนึ่งจึงลุกขึ้นมาตีความตามบันทึกหลักฐานทางประวัติศาสตร์และลงมือประดิษฐ์มันขึ้นมาใหม่ให้ดูสมเหตุสมผลกว่าเดิม
สามก๊กวิทยา เคยกล่าวถึงเรื่องหน้าไม้กลของขงเบ้ง (Repeating Crossbow, 諸葛弩, Chu-ko nu, Zhuge crossbow, จูเก๋อหนู) มาครั้งหนึ่งแล้วในบทความเรื่อง "หน้าไม้กลของขงเบ้ง : Weapon Masters" ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับที่มาที่ไป และการทดลองทางวิทยาศาสตร์ของรายการ "Weapon Masters" ของ "Military Channel""หน้าไม้กลของขงเบ้ง ถูกสร้างขึ้นใหม่แล้ว"
ล่าสุดในวันนี้ ก็มีแฟนเพจท่านหนึ่งนามว่า KingOtto Mann ได้แจ้งข่าวเข้ามาว่า เว็บไซต์ thaiday.com ได้ลงสกู๊ปข่าวเรื่อง ฟื้นชีพ “ธนูขงเบ้ง” ปล่อยลูกธนูที 10 ดอก พร้อมกัน จึงได้เข้าไปอ่านดูและพบว่ามีคุณลุงชาวจีนท่านหนึ่งกำลังตีความและประดิษฐ์หน้าไม้กลของขงเบ้งใหม่
เรื่องของเรื่องก็คือคุณลุงท่านนี้เห็นว่า อาวุธชิ้นนี้ตามที่ปรากฏตามสื่อต่าง ๆ มันเล็กและมีอานุภาพน้อยเกินไป แกจึงตีความตามบันทึกหลักฐานทางประวัติศาสตร์และลงมือประดิษฐ์มันขึ้นใหม่ทั้งหมด แม้ว่าจะยังไม่สมบูรณ์ดีและยิงได้ไม่ไกลมาก แต่ก็มีความเป็นไปได้และสมเหตุสมผลกว่าอาวุธแบบเดิม ที่ดูเหมือนของเล่นมากกว่าจะใช้งานจริง
เว็บไซต์ thaiday.com ได้แปลข่าวนี้ไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ดีแล้ว จึงขออนุญาตบันทึกไว้ในบล็อกและแจ้งมาให้เพื่อน ๆ สมาชิกของสามก๊กวิทยาได้อ่านโดยทั่วกันครับ
ฟื้นชีพ “ธนูขงเบ้ง” ปล่อยลูกธนูที 10 ดอก พร้อมกัน
ธนูขงเบ้ง แบบสี่คันศร ที่อาจารย์เลี่ยวประดิษฐ์ขึ้น |
อาจารย์เลี่ยวเล่าว่า เขาได้ประดิษฐ์ “ธนูขงเบ้ง” จาก “จดหมายเหตุสามก๊ก” (*1) ซึ่งเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ยุคสามก๊กในปลายราชวงศ์ฮั่น ในบทว่าด้วย จูกัดเหลียง บรรยายถึงธนูของจูกัดเหลียง หรือชื่อที่ชาวไทยคุ้นเคย คือ ขงเบ้ง ว่า เป็นสุดยอดแห่งธนูจอมพลัง ใช้เหล็กตีเป็นลูกธนู ความยาวแปดช่วน*(2) หรือ ราว 26.4 ซ.ม. ปล่อยลูกธนูได้ทีละสิบดอกพร้อมๆกัน บางคนตีความว่าธนูขงเบ้งนี้เป็นคันธนูขนาดเล็กที่ติดตั้งในเครื่องยิงธนู สามารถปล่อยลูกธนูโจมตีอย่างต่อเนื่อง แต่อาจารย์เลี่ยวตีความเกี่ยวกับธนูขงเบ้งว่า สามารถยิงลูกสิบดอกพร้อมๆกัน
“ธนูขงเบ้งเป็นอาวุธขนาดใหญ่ที่สามารถโจมตีได้ไกลเป็นร้อยๆเมตร ถ้าหากเป็นการยิงแบบต่อเนื่อง ประกอบกับกำลังแรงแขนที่จำกัด พลังการโจมตีก็จะไม่ร้ายกาจสมดั่งคำร่ำลือในประวัติศาสตร์”
อาจารย์เลี่ยวยังวิเคราะห์บันทึกเกี่ยวกับธนูขงเบ้ง (*3) ที่ระบุว่า ความยาวแปดช่วน (26.4 ซ.ม.) (矢长八寸) เทียบกับแรงโจมตีของลูกธนูแบบขนนกแล้วยังยังด้อยกว่ามาก เลี่ยวจึงวิเคราะห์ว่า น่าจะเป็นความยาวเฉพาะหัวลูกธนู ดังนั้น ความยาวของลูกธนูทั้งสิ้นก็น่าจะยาวกว่า 3 เมตร จึงจะสอดคล้องกับที่บักทึกประวัติศาสตร์กล่าวขานว่า “เป็นสุดยอดจอมสังหาร”
ฟื้นชีพธนูขงเบ้ง สามารถโจมตีไกลกว่า 9 เมตร
อาจารย์เลี่ยวได้ลงมือประดิษฐ์ธนูขงเบ้งตั้งแต่เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อที่จะพิสูจน์การตีความของตน “ธนูมหากาฬจัดเป็นสุดยอดอาวุธในยุคโบราณ เทคนิคการประดิษฐ์จะถูกเก็บไว้เป็นความลับสุดยอด แม้ใน “คัมภีร์อาวุธ” ของยุคซ่งเหนือมีภาพธนูไม่น้อย แต่ก็ไม่เปิดเผยรายละเอียดขั้นตอนการประดิษฐ์เลย”อาจารย์เลี่ยววิเคราะห์บันทึกเกี่ยวกับธนูขงเบ้ง และก็เริ่มทำคันธนูที่สามารถปล่อยลูกธนู 6 ดอก พร้อมกัน ปรากฏว่า สามารถยิงไกล 7.3 เมตร “คันธนูแรงน้อยไป” จากนั้นเขาก็ทำคันธนูที่ปล่อยลูกธนู 10 ดอกพร้อมกัน และทดลองยิง ประสบความสำเร็จ ลูกธนูบินไปไกลกว่า 10 เมตร
ต้นเดือนพ.ย. อาจารย์เลี่ยงได้ประดิษฐ์ “ธนูขงเบ้ง” แบบสี่คันศร “ตอนนี้ยังหาสถานที่ทดลองไม่ได้ แต่คาดว่าธนูขงเบ้งนี้ จะโจมตีได้ไกลกว่า 50 เมตร”
หมายเหตุ
(*1) จดหมายเหตุสามก๊ก 《三国志》 เป็นบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ยุคสามก๊ก (ค.ศ.220-280) รวบรวมโดย เฉินโซ่ว ขุนนางแห่งราชวงศ์จิ้น ที่ถูกนำมาเป็นเค้าโครงเรื่องวรรณกรรมสามก๊ก ที่ประพันธ์ โดยหลอกว้านจงในยุคราชวงศ์หมิง นิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องามก๊ก นับหนึ่งในสี่ยุคสุดยอดวรรณกรรมคลาสสิคจีน
(*2) ช่วน (寸) หน่วยวัดจีน 10 ช่วน กับ 1 ฟุต
(*3)“损益连弩,谓之元戎,以铁为矢,矢长八寸,一弩十矢俱发”
อาจารย์เลี่ยวทดลองธนูขงเบ้ง ที่เขาประดิษฐ์ขึ้น |
กรุณาแสดงความคิดเห็น