เรื่องจริงเรื่องแต่ง เรื่องจริงกับเท็จในสามก๊กนั้นมีอะไรบ้าง
ช่วงนี้ข่าวหนังสือพิมพ์และสื่อออนไลน์ หลายสำนักกำลังจับตาประเด็นคดีฆาตกรรมนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพราะนอกจากจะเป็นคดีสะเทือนขวัญ มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศแล้ว การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็เต็มไปด้วยข้อสงสัย“ความจริงนั้นเจ็บปวด แต่เย้ายวน ชวนค้นหา”
แพะชาวพม่า กับผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น คือสาเหตุหลักแห่งความน่าสงสัยทั้งปวง ที่ทำให้มีผู้ติดตามการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างใกล้ชิด และทำให้ชื่อของเพจ “CSI LA” ซึ่งติดตามสืบคดีนี้อย่างใกล้ชิด โด่งดังขึ้นมาชั่วข้ามคืน
“CSI” เป็นชื่อละครโทรทัศน์แนวสืบสวนสอบสวนของสหรัฐอเมริกา ย่อมาจาก “Crime Scene Investigation” มีชื่อเรื่องในภาษาไทยว่า “ทีมปฏิบัติการล่าความจริง” หรือ “ไขคดีปริศนา” แต่เพจ “CSI LA” เขาตีความหมายใหม่ในแบบของเขาว่ามาจาก “Critical Thinking = คิดอย่างมีวิจารณญาณ, Skeptics = ช่างสงสัย, Investigation = สืบสวน และ LA=ลอสแองเจลลิส” ก็ว่ากันไปเข้าทีดี
ภาพหน้าปกของแฟนเพจ CSI LA เรียกร้องให้เลิกนำการเมืองมายุ่งเกี่ยวกับการสืบคดี เลิกแบ่งสีแบ่งฝ่าย |
คือหากสมมติให้บันทึกทางประวัติศาสตร์คือเรื่องจริงทั้งหมด 100% ในวรรณกรรมหรือหนังสือสามก๊กที่เราอ่านในปัจจุบัน จะมีมูลความจริงอยู่เพียง 70% ที่เหลืออีก 30% นั้นคือเรื่องแต่งเติมเสริมให้ได้อรรถรส
การหาความจริงจากเรื่องสามก๊ก จึงเป็นเรื่องที่น่าสนุกอยู่มิใช่น้อย และมีผู้รู้หลายท่านขุดคุ้ยมาให้เราได้อ่านอยู่เสมอ ทั้งอินเตอร์เน็ตและหนังสือแนววิเคราะห์เจาะลึกหลาย ๆ เล่ม อาทิเช่น “101 คำถามสามก๊ก” ของอาจารย์ถาวร สิกขโกศล และ “จดหมายเหตุสามก๊กฉบับเฉินโซ่ว” ของคุณยศไกร ส.ตันสกุล เป็นต้น
การได้อ่านสามก๊กโดยเปรียบเทียบทั้งฉบับประวัติศาสตร์และฉบับนิยาย แม้ไม่มีประโยชน์อะไรมากนักที่จะขุดคุ้ยหาความจริงในสมัยเกือบ 2,000 ปีที่แล้ว แต่ก็ช่วยเสริมสร้างจินตนาการความคิด ที่มาที่ไปของเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ว่าเหตุใด “หลอกว้านจง” ผู้เรียบเรียงวรรณกรรมสามก๊กในภาษาจีน จึงแต่งเติมเสริมแต่งเรื่องให้เกินเลยความเป็นจริง หรือเป็นเพียงเพราะต้องการทำให้ประวัติศาสตร์อันน่าเบื่อ กลายเป็นเรื่องน่าสนใจ ...
เพื่อให้เข้ากับคอนเซ็ปต์ของ CSI “ทีมปฏิบัติการล่าความจริง” เรามา “ไขคดีปริศนา” กันดูเล่น ๆ ว่าเรื่องจริงกับเท็จในสามก๊กนั้นมีอะไรบ้าง
เรื่องจริงเรื่องแต่งในสามก๊ก
- คำสาบานในสวนดอกท้อ : เป็นเรื่องแต่ง เพราะไม่มีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ซึ่งระบุแต่เพียงว่า ทั้งสามสนิทสนมกันมากและนอนร่วมเตียงเดียวกัน
- เตียวหุยโบยผู้ตรวจราชการแผ่นดิน : ความจริงคือเล่าปี่เป็นผู้โบย โดยลากผู้ตรวจราชการออกมาจากห้อง มัดไว้กับต้นไม้ แล้วโบยตีมากกว่า 100 ครั้ง
- โจโฉมอบมีดให้ตั๋งโต๊ะ : ความจริงคือไม่ได้มอบ และไม่มีการลอบสังหารใด ๆ ทั้งสิ้น โจโฉหนีกลับบ้านเกิดไปเฉย ๆ เพราะไม่ต้องการรับราชการกับตั๋งโต๊ะ
- โจโฉถูกจับกุมโดยตันก๋ง : โจโฉหนีราชการและถูกจับโดยเจ้าหน้าที่(ไม่ระบุนาม) และถูกปล่อยตัวไป ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับตันก๋งเลย
- โจโฉสังหารแปะเฉีย : ในบันทึกหลายฉบับได้ระบุว่าระหว่างการหลบหนี โจโฉได้แวะพักที่บ้านของแปะเฉียซึ่งขณะนั้นไม่อยู่บ้าน และได้สังหารคนใจบ้านจริง ตามมูลเหตุต่าง ๆ กัน เช่นคนในบ้านคิดปล้นโจโฉ คนในบ้านคิดจับโจโฉ และโจโฉได้ยินเสียงมีดจึงคิดระแวงและสังหารคนในบ้านก่อน
- กวนอูสังหารฮัวหยง : ในประวัติศาสตร์บันทึกว่า ซุนเกี๋ยนเป็นผู้สังหารฮัวหยง
- วีรกรรมที่ด่านเฮาโลก๋วน : ไม่มีวีรกรรมสามพี่น้องรุมรบลิโป้ มีบันทึกแต่เพียงการรบระหว่างกองกำลังของตั๋งโต๊ะกับกองกำลังของซุนเกี๋ยน ที่ซุนเกี๋ยนสามารถเอาชนะลิโป้ได้ถึงสองครั้ง
- ศึกเมืองเอ๊งหยง : ตั๋งโต๊ะเผาเมืองหลวงจะย้ายราชธานีไปเมืองเตียงอัน โจโฉจึงยกทัพติดตามแต่ถูกซีเอ๋งตีจนแตกพ่าย เมื่อโจโฉหนีไปแล้วซีเอ๋งจึงยกทัพกลับเมืองไปเอง แฮหัวตุ้นสังหารไม่ได้สังหารซีเอ๋งอย่างในนิยาย
- ลิโป้กับเตียวเสี้ยน : ลิโป้ทะเลาะกับตั๋งโต๊ะเพราะเรื่องนางสนมจริง แต่ก็ไม่ได้มีการระบุนามไว้ว่านางชื่อเตียวเสี้ยน
- แฮหัวตุ้นกลืนลูกตา : ในประวัติศาสตร์ระบุแต่เพียงว่าแฮหัวตุ้นถูกยิงที่ตาข้างซ้าย ไม่มีการกล่าวถึงการกลืนกินลูกตาแต่อย่างใด รวมทั้งระบุว่าแฮหัวตุ้นถูกล้อเลียนว่า “แฮหัวตาบอด” ทำให้เขาโกรธมาก ถึงกับขว้างกระจกลงบนพื้นเลยทีเดียว
- ลิโป้ถูกจับ : โฮ่วฮั่นซู พงศาวดารราชวงศ์ฮั่นยุคหลังได้ระบุว่าก่อนที่ลิโป้จะยอมแพ้ให้กับโจโฉ เขาเสนอให้ลูกน้องตัดศีรษะของเขาไปสวามิภักดิ์กับโจโฉ แต่ลูกน้องของเขาไม่ทำ จะขอยอมแพ้ไปด้วยกัน ลิโป้จึงไม่ได้หลับแล้วถูกจับมัดอย่างในนิยาย
- เตียวเลี้ยวด่าลิโป้ : ไม่มีจริงเพราะเตียวเลี้ยวนำกำลังเข้ามาขอสวามิภักดิ์ต่อโจโฉเอง และได้รับตำแหน่งเป็นนายพล
- สัญญาสามข้อของกวนอู : กวนอูถูกล้อมจับและส่งตัวไปยังเมืองฮูโต๋ โจโฉจึงแต่งตั้งให้เป็นนายพลและดูแลอย่างดี ไม่ได้มีเงื่อนไขอันสลับซับซ้อนอย่างในนิยาย
- งันเหลียงบุนทิว : มีเพียงงันเหลียงเท่านั้นที่ถูกกวนอูสังหาร ส่วนบุนทิวนั้นตายระหว่างการชุลมุนในการปะทะกันกับกองทหารของโจโฉ
- ฝ่าห้าด่านสังหารหกขุนพล : กวนอูตีจากโจโฉเมื่อทราบข่าวว่าเล่าปี่ยังมีชีวิตอยู่ แต่เรื่องฝ่าด่านและสังหารขุนพลคนแล้วคนเล่านั้น ไม่มีบันทึกหลักฐานแต่อย่างใด
- กวนอูสังหารซัวหยง : ในนิยาย กวนอูสังหารซัวหยง ขุนพลของโจโฉที่ไล่ตามมา เพื่อแสดงตนต่อเตียวหุยว่ายังมีใจให้กับเล่าปี่ แต่ในจดหมายเหตุสามก๊กระบุว่า ซัวหยงถูกเล่าปี่ที่ในขณะนั้นอยู่กับอ้วนเสี้ยวสังหารไปก่อนหน้านี้แล้ว
- อุบายยึดเลียวตั๋งของกุยแก : ก่อนกุยแกตายได้เขียนจดหมายวางอุบายให้โจโฉว่าไม่ต้องยกทัพไปตีเลียวตั๋ง เพราะกองซุนของจะตัดศีรษะพี่น้องตระกูลอ้วนมาสวามิภักดิ์เอง แต่เหตุการณ์นี้มีแต่ในนิยายเท่านั้น
- เล่าปี่ทะยานม้าข้ามน้ำตันเข : แม้เล่าเปียวกับเล่าปี่จะแคลงใจกันอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ถึงขนาดจะฆ่าแกงกันอย่างในนิยาย เพราะในประวัติศาสตร์ไม่มีบันทึกเกี่ยวกับความขัดแย้งของทั้งสอง เหตุการณ์ที่เล่าปี่ขี่ม้าเต็กเลากระโจนข้ามลำธารจึงไม่มีจริง
- ชีซี : ในประวัติศาสตร์เล่าปี่มีทั้งชีซีและขงเบ้งอยู่ในสังกัด จนเมื่อโจโฉบุกเกงจิ๋ว เล่าปี่ต้องอพยพชาวเมืองหนี แม่ของชีซีจึงถูกจับ ณ ตอนนั้น ชีซีจึงต้องลาเล่าปี่ไปอยู่กับโจโฉ และชีซีก็รับราชการอยู่ในเมืองหลวงเรื่อยมาจนถึงรัชสมัยของโจยอย
- เยือนกระท่อมหญ้าสามครา : บันทึกทางประวัติศาสตร์แบ่งเป็นสองแนวทาง คือมีทั้งเล่าปี่ไปเยือนกระท่อมของขงเบ้งสามครั้ง และขงเบ้งเป็นฝ่ายมาหาเล่าปี่เอง แต่ก็ไม่มีเรื่องจำพวกขงเบ้งไม่อยู่บ้านหรือแกล้งหลับอย่างในนิยาย
- เผาทัพแฮหัวตุ้นที่ทุ่งพกบ๋อง : ในนิยายว่าเป็นอุบายของขงเบ้ง แต่ในบันทึกทางประวัติศาสตร์กลับเป็นอุบายของเล่าปี่ ที่เผาค่ายแล้วแกล้งถอยทัพ ล่อให้แฮหัวตุ้นมาติดกับดัก
- จูล่งฝ่าทัพรับอาเต๊า : บิฮูหยินไม่ได้โดดบ่อน้ำตาย นางอยู่รอดปลอดภัย ส่วนเล่าปี่ก็ไม่ได้โยนอาเต๊าซื้อใจจูล่ง แต่เป็นการโยนอาวุธลงพื้นพร้อมกับร้องว่า “จูล่งไม่มีวันทิ้งเรา” เมื่อมีผู้รายงานว่าเห็นจูล่งไปเข้าพวกกับศัตรู
- เตียวหุยบนสะพานเตียงปันเกี้ยว : เตียวหุยพังสะพานแล้วจึงยืนอยู่พร้อมกับทหารของตน 20 นาย ร้องตวาดกองทหารของโจโฉไม่ให้ไล่ตามจริง ไม่ได้ยืนบนสะพานคนเดียว ทำอุบายฝุ่นฟุ้ง หรือคำรามจนทหารตกม้าตายแต่อย่างใด
- ขงเบ้งโต้คารมกับปวงปราชญ์กังตั๋ง : มีบันทึกแต่เพียงว่าขงเบ้งเข้าพบซุนกวน ไม่ได้มีเวทีโต้คารมแบบในนิยายเลย
- ปราสาทนกยูงทองแดง : ปราสาทนี้สร้างขึ้นในฤดูหนาวของปี ค.ศ.210 หลังศึกเซ็กเพ็กประมาณสามปี ส่วนกลอนของโจสิดก็เขียนในปี ค.ศ.212 เพราะฉะนั้น อุบายยั่วจิวยี่ให้รบของขงเบ้งจึงไม่มีจริง
- จิวยี่ซ้อนกลเจียวก้าน : โจโฉส่งเจียวก้านมาเกลี้ยกล่อมจิวยี่จริง แต่ก็มิได้มีการซ้อนกล เล่นเกมสายลับซ้อนอย่างในนิยาย ทั้งจิวยี่และเจียวก้านต่างนับถือซึ่งกันและกัน เจียวก้านยังยกย่องจิวยี่ให้โจโฉฟังอีกด้วยว่า “น้ำใจจิวยี่กว้างใหญ่เหลือคณานับ ไม่อาจสรรหาถ้อยคำใดมาอธิบายได้”
- เรือฟางยืมเกาทัณฑ์ : ไม่มีบันทึกว่าเป็นอุบายของขงเบ้ง แต่ที่ใกล้เคียงที่สุดเป็นเหตุการณ์ที่ซุนกวนล่องเรือไปสอดแนมค่ายของโจโฉ โจโฉจึงสั่งให้ยิงเกาทัณฑ์ใส่จนเรือเอียง ซุนกวนจึงสั่งให้หันเรือกลับอีกข้าง เมื่อเรือถูกยิงทั้งสองกราบจนสมดุล สามารถหนีกลับค่ายได้อย่างปลอดภัย
- อุบายเจ็บกายของอุยกาย : อุยกายแกล้งยอมสวามิภักดิ์ต่อโจโฉรวมทั้งใช้เรือไฟโจมตีกองทัพเรือของโจโฉจริง แต่ไม่มีบันทึกเรื่องของอุบายทุกข์กาย ยอมถูกโบยตีก่อนแต่อย่างใด
- กลผูกเรือของบังทอง : มีแต่ในนิยายเท่านั้นที่บังทองไปหลอกโจโฉให้ผูกเรือถึงค่าย เพราะในบันทึกทางประวัติศาสตร์บังทองเริ่มต้นจากการเป็นเพียงที่ปรึกษาของจิวยี่ เมื่อจิวยี่ตายจึงไปอยู่กับเล่าปี่ แต่ก็ไม่มีบทบาทพิเศษใด ๆ จนโลซกและขงเบ้งต้องแนะนำให้เล่าปี่รู้ว่าบังทองมีความสามารถมากกว่าที่เห็น
- ขงเบ้งเรียกลมบูรพา : ไม่มีเอกสารใดบันทึกไว้
- กวนอูปล่อยโจโฉที่ตำบลฮัวหยง : โจโฉแตกทัพพ่ายหนีมาทางตำบลฮัวหยงจริง แต่ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุแต่เพียงความยากลำบากของภูมิประเทศ ที่เป็นดินโคลน ทหารของโจโฉต้องขนฟางไม้มาทำทางเดิน บ้างติดโคลนตายก็มี โจโฉหัวเราะเมื่อนึกขึ้นว่าเล่าปี่ปัญญาน้อย ไม่ได้จุดไฟเผาที่นี่ เขาจึงหนีรอดไปได้สำเร็จ
- ไทสูจู้ตาย : ในวรรณกรรมไทสูจู้ถูกเกาทัณฑ์ในการรบกับเตียวเลี้ยวเมื่อครั้งศึกเมืองหับป๋าเป็นเหตุให้เสียชีวิตในเวลาต่อมา แต่ในประวัติศาสตร์ไทสูจู้เสียชีวิตในปี ค.ศ.206 คือ 2 ปีก่อนหน้านี้ ส่วนสาเหตุการตาย ไม่ได้ระบุไว้
- ศึกเมืองเตียงสา : ฮันเหียนเจ้าเมืองเตียงสายอมแพ้ให้กับเล่าปี่เอง ไม่ได้ถูกอุยเอี๋ยนสังหารแล้วยกเมืองให้เล่าปี่แต่อย่างใด
- การแต่งงานกับซุนฮูหยิน : เล่าปี่ได้เมืองเกงจิ๋ว ซุนกวนยำเกรงจึงส่งน้องสาวให้เป็นภรรยา เล่าปี่ไม่ได้เดินทางไปที่กังตั๋งอย่างในนิยาย ส่วนที่ใกล้เคียงที่สุดคือแผนของจิวยี่ที่จะลวงเล่าปี่มาเสวยสุขในแผ่นดินกังตั๋ง แต่ซุนกวนไม่เห็นด้วย แผนนี้จึงล้มเลิกไป
- จิวยี่ตาย : จิวยี่ป่วยตายเองระหว่างที่เตรียมการบุกตีเสฉวนและฮันต๋ง ไม่ได้ถูกขงเบ้งยั่วให้โกรธจนกระอักเลือดตาย
- พิชัยสงครามโจโฉ : โจโฉเผาทำลายทิ้งเพราะเอียวสงท่องจำได้หมด แต่ในประวัติศาสตร์ตำราเล่มนี้มีอยู่จริง และเพราะเจ้าถังไท่จงยังได้ใช้ปรึกษาการศึกกับหลี่จิ้งด้วย
- ม้าเฉียวก่อกบฏ : ศึกตงก๋วน ในนิยายม้าเฉียวออกรบกับโจโฉเพื่อแก้แค้นแทนบิดา ม้าเท้งที่ถูกลวงไปประหาร แต่ในประวัติศาสตร์ ม้าเฉียวก่อการกบฏต่อราชสำนักก่อน จึงเป็นเหตุให้บิดาที่อยู่ในเมืองหลวงถูกประหารชีวิต
- ม้าเฉียวประลองกำลังกับเคาทู : ในนิยายทั้งสองรบกันหามรุ่งหามค่ำ เคาทูต้องถอดเกราะรบ แต่ในประวัติศาสตร์ไม่มีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น เพราะเมื่อม้าเฉียวเผชิญหน้ากับโจโฉซึ่งมีเคาทูเป็นองครักษ์ ม้าเฉียวไม่กล้าออกม้าเข้าไปจับตัวโจโฉตามแผนที่คิดไว้ ด้วยเกรงฝีมือเคาทู
- บังทองตาย : ในนิยายคือเรื่องดราม่า ตั้งแต่เล่าปี่ให้ม้าเต็กเลา รวมถึงเนินหงส์ร่วง เพราะในประวัติศาสตร์บังทองตายด้วยเกาทัณฑ์ขณะที่กำลังบุกโจมตีเมืองลั่ว เมืองด่านทางตอนเหนือของนครเซงโต๋
- ม้าเฉียวรบเตียวหุย : ในนิยายทั้งสองประลองกำลังกันถึง 200 เพลงที่ด่านแฮบังก๋วน แต่ในเรื่องจริง ม้าเฉียวเป็นผู้เขียนจดหมายขอยอมสวามิภักดิ์ต่อเล่าปี่เอง ไม่ได้รบกันอย่างเอิกเกริกเลย
- กวนอูถือกระบี่ไปงานเลี้ยงเพียงคนเดียว : จดหมายเหตุสามก๊กระบุว่ากวนอูและโลซกได้เจรจาเรื่องการแบ่งเมืองเกงจิ๋งจริง แต่ระหว่างการเจรจานั้น อยู่ท่ามกลางนายทหารของทั้งสองฝ่าย และมีกองทหารตั้งอยู่ไม่ไกล
- หมอฮัวโต๋ขูดกระดูกรักษากวนอู : สันนิษฐานกันว่าหมอฮัวโต๋เสียชีวิตในปี ค.ศ. 208 นับเป็นเวลา 11 ปีก่อนการรบที่เมืองอ้วนเสียจะเกิดขึ้น การขูดกระดูกกวนอูจึงอาจจะเป็นผลงานของหมอท่านอื่น
- ลิบองตาย : ลิบองป่วยตายอย่างเงียบสงบ ไม่ได้ถูกผีกวนอูเข้าสิงจนตายย่างในนิยาย
- ผีกวนอูทวงศีรษะ : ในนิยายเล่าว่าวิญญาณกวนอูไปร้องหาศีรษะที่วัดของหลวงจีนเภาเจ๋ง ตีนเขาจวนหยกสัน วัดแห่งนี้มีชื่อว่าวัด อวี่ฉวน (Yuquan Temple ,玉泉寺) แต่ในเรื่องจริงวัดแห่งนี้เริ่มสร้างขึ้นในปีสุดท้ายของราชวงศ์ฮั่น และไปแล้วเสร็จในสมัยราชวงศ์สุย
- โจโฉตาย : บางหลักฐานเล่าเหมือนในนิยายว่าโจโฉเจออาถรรพ์จากการตัดต้นไม้ทำให้ล้มป่วยลง แต่เรื่องหมอฮัวโต๋จะผ่ากะโหลกรักษาโรคให้โจโฉนั้น คล้ายกับกรณีขูดกระดูกกวนอู เพราะหมอฮัวโต๋ตายไปก่อนหน้านั้นนานแล้ว โดยมีหลักฐานว่า โจโฉสั่งประหารชีวิตหมอฮัวโต๋เพราะไม่ยอมรักษาโรคให้ตน แต่ต่อมาภายหลังนึกเสียดาย เมื่อโจชง ลูกชายคนโปรดล้มป่วยจนเสียชีวิต ในปี ค.ศ.208 เพราะโจโฉเชื่อว่าถ้าหมอฮัวโต๋ยังอยู่หมอคนนี้จะช่วยชีวิตลูกชายเขาได้
- เล่าปี่ยกทัพแก้แค้นแทนน้องชาย : ในวรรณกรรมเล่าปี่ยกทัพบุกเมืองง่อด้วยกำลังพลมากถึง 750,000 คน แต่ในประวัติศาสตร์ระบุว่ามีทหารจากเมืองจกประมาณ 43,000 คน รวมกับชนเผ่าต่าง ๆ อีกหลายหมื่น รวมแล้วประมาณ 100,000 คนเศษ ๆ เท่านั้น
- คัดค้านศึกอิเหลง : ก่อนศึกแก้แค้นแทนน้องชายของเล่าปี่จะเกิดขึ้น มีเพียงจูล่ง และจินปิดเท่านั้นที่ออกมาคัดค้าน ไม่มีบันทึกว่าขงเบ้งก็คัดค้านแต่อย่างใด
- ฮองตงตาย : ในนิยายฮองตงได้ร่วมทัพไปรวบกับซุนกวนแล้วถูกเกาทัณฑ์เสียชีวิต แต่ในบันทึกทางประวัติศาสตร์นั้น เขาตายตั้งแต่ศึกฮันต๋งแล้ว ส่วนสาเหตุการตายไม่ได้ระบุ
- กวนหินสังหารพัวเจี้ยง : ในนิยายกวนหินตัดหัวพัวเจี้ยงมาเซ่นไหว้วิญญาณกวนอู แต่ในเรื่องจริง พัวเจี้ยงตายหลังจากศึกครั้งนี้ถึง 10 ปี ส่วนกวนหินมีประวัติแต่เพียงว่าเป็นข้าราชการอยู่ในที่ว่าการเมืองตั้งแต่วัยรุ่น(อายุประมาณ 19 ปี) แต่อายุสั้นตายหลังจากทำงานได้เพียง 2-3 ปีเท่านั้น
- จูล่งสังหารจูเหียน : เล่าปี่แตกพ่าย จูล่งมาช่วยได้ทันและสังหารจูเหียน แม่ทัพฝ่ายง่อที่ไล่ติดตามมา แต่ในประวัติศาสตร์ จูเหียนตายในปี ค.ศ. 249 ด้วยอายุ 68 ปี หรือหลังเหตุการณ์ศึกอิเหลงนี้ถึง 27 ปี ส่วนจูล่งนั้นตายในปี ค.ศ.229 ตายก่อนจูเหียนเสียอีก
- ซุนฮูหยินตาย : ในวรรณกรรม ซุนฮูหยินโดดแม่น้ำแยงซี เมื่อทราบข่าวว่าเล่าปี่เสียชีวิต แต่ในประวัติศาสตร์ไม่ได้กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ไว้เลย
- ลกซุนถูกค่ายกลขงเบ้งที่อิปักโป้ : ลกซุนไล่ตามเล่าปี่มา แต่ถูกค่ายกลของขงเบ้งทำให้ไม่สามารถไล่ตามได้อีกต่อไป แต่ในประวัติศาสตร์ ลกซุนเลิกติดตามเล่าปี่เพราะเกรงว่าโจผีกำลังจะบุกตีเมืองง่อ ซึ่งในเวลาต่อมาโจผีก็ยกทัพมาถึงสามทางจริง ๆ
- เตียวเลี้ยวตาย : โจผียกทัพตีเมืองง่อแต่พลาดท่าเสียที ส่วนเตียวเลี้ยวถูกเตงฮองยิงที่บั้นเอว เสียชีวิตในเวลาต่อมา แต่ในประวัติศาสตร์เตียวเลี้ยวป่วยตั้งแต่ก่อนทำศึก แต่ก็ยังฝืนออกรบและป่วยตายไปเอง ไม่ได้ถูกยิง
- เจ็ดจับเจ็ดปล่อยเบ้งเฮ็ก : มีบันทึกว่าเหตุการณ์นี้มีจริง แต่ไม่ระบุว่ามีรายละเอียดอย่างไร รวมทั้งตัวละครที่เกี่ยวข้องอย่าง งากฟัน, นางจกหยง,เบ้งฮิว และบกลกไต้อ๋อง ล้วนเป็นตัวละครที่แต่งเติมขึ้นทั้งสิ้น
- กบฏเบ้งตัด ณ เมืองซินเสีย : ไม่มีประวัติศาสตร์เล่มใดบันทึกว่าซิหลงยกทัพไปปราบเบ้งตัดและตายเพราะถูกยิงที่หน้าผาก รวมทั้งซินต๋ำกับซินหงีก็ไม่ได้มีส่วนร่วมในการก่อกบฏครั้งนี้ด้วย
- กลเมืองร้างของขงเบ้ง : นักประวัติศาสตร์จีนหลายท่านลงความเห็นในทำนองเดียวกันว่านี่เป็นเรื่องแต่ง เพราะเนื้อหามีความขัดแย้งจากความเป็นจริงหลายส่วน ศึกเกเต๋งอันเป็นเหตุของกลเมืองร้างเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 228 ซึ่งในปีนั้นสุมาอี้เพิ่งทำศึกปราบกบฏเบ้งตัดเสร็จ และเข้าไปพำนักอยู่ในเมืองลกเอี๋ยง กว่าสุมาอี้จะได้เผชิญหน้าขงเบ้งก็คือปี ค.ศ.230 หรือ 2 ปีหลังจากนั้น
- ฯลฯ อีกมากมาย ไม่อาจสรุปไว้หมดสิ้น
ขงเบ้ง คือตัวละครหนึ่งที่ถูก "ความจริง" เล่นงานมากที่สุด |
"หัวใจสลาย" ที่เหตุการณ์ประทับใจในวรรณกรรมหลายห้วง ถูกทำลายยับเพราะ “ความจริง”
กระนั้นก็เอาเถิด ... เราจะ “ปฏิบัติการล่าความจริง” และ “ไขคดีปริศนา” เหล่านี้ให้กระจ่างชัดได้อย่างไร ในเมื่อตัวเราไม่ได้อยู่ในสถานการณ์นั้น ตาก็ไม่ได้เห็น หูก็ไม่ได้ฟัง สัมผัสก็ไม่ได้รับรู้ ได้แต่คิดวิเคราะห์คาดเดากันไปเองตามกำลังสติปัญญา
ประวัติศาสตร์มันจึงเปลี่ยนแปลงได้เรื่อย ๆ ตามหลักฐานที่ค้นพบ หักล้าง และคัดคานตัวมันเองอยู่เสมอ.... เป็นจริงได้แค่เพียงชั่วเวลาหนึ่ง สักพักก็กลายเป็นเท็จ แล้วมีความจริงชุดใหม่มาแทนที่
อีกทั้งเมื่อศึกษาที่มาที่ไปของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่เราเชื่อกันว่าคือ “ความจริง” ก็ยิ่งไม่อยากปักใจเชื่อ เพราะเอกสารเหล่านี้ มีอิทธิพลของ “การเมือง” อยู่เบื้องหลังมิใช่น้อย
สิ่งใดก็ตามที่มี “การเมือง” มาเกี่ยวข้อง ความน่าเชื่อถือก็ดูจะลดลงไปกว่าครึ่ง
ว่าแล้วก็ขอตัวไปช่วยลุ้นเพจ “CSI LA” ให้หลบเลี่ยง “การเมือง” และตามจับคนร้ายกันต่อ เพราะอย่างไรเสีย คนเราก็รักและอยากรู้ความจริง แม้ความจริงบางอย่างจะทำให้เราและประเทศชาติ “เจ็บปวด” ก็ตามที ......
เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง
เคยได้ยินมาว่า ลิโป้ ยอมแพ้ เพื่อแลกกับชีวิต ลูกน้องของตัวเองเหมือนกันครับ
ตอบลบรวมถึงวีรชนผู้สังหารฮัวหยง ที่แท้จริงก็คือ ซุนเกี๋ยน
ขอบพระคุณ Admin มากครับที่ช่วยตอกย้ำความรู้ ที่เคยลืมไปแล้วของผม
ขอบพระคุณสำหรับการเข้ามาเยี่ยมชมและแสดงความคิดเห็นครับ :)
ลบ