สามก๊ก เป็นวรรณคดีจีนที่มีอิทธิพลต่อ สุนทรภู่ ในการสร้างสรรค์เรื่อง พระอภัยมณี มากมายหลายเหตุการณ์ ดังต่อไปนี้
กลิ่นไอสามก๊กในเรื่องพระอภัยมณี
สุนทรภู่ หรือ พระสุนทรโวหาร เป็นนักกวีที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศไทย และได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านงานวรรณกรรม ท่านมีผลงานสำคัญมากมายหลายเรื่อง เช่น นิราศภูเขาทอง นิราศสุพรรณ เพลงยาวถวายโอวาท กาพย์พระไชยสุริยา และ พระอภัยมณี เป็นต้น
โดยเฉพาะเรื่อง "พระอภัยมณี" นี้ได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสร ว่าเป็นยอดของวรรณคดีประเภทกลอนนิทาน และเป็นผลงานที่แสดงถึงทักษะ ความรู้ และทัศนะของสุนทรภู่อย่างมากที่สุด
ในงานประพันธ์เรื่อง พระอภัยมณี นั้นมีผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านได้ให้ความคิดเห็นว่า มีกลิ่นอายของความเป็นจีนอยู่ไม่น้อย เช่น สุนทรภู่เรียกอาวุธว่ากระบี่ เกาทัณฑ์ เหมือนเรื่องจีน นอกจากนี้ ในด้านเนื้อเรื่องและตัวละคร ยังพบว่าวรรณคดีจีนที่มีอิทธิพลต่อสุนทรภู่ในการสร้างสรรค์เรื่องพระอภัยมณี มี 3 เรื่อง คือ สามก๊ก ไซ่ฮั่น เลียดก๊ก
กลิ่นไอของเรื่องสามก๊กจึงพอมีให้เห็นอยู่ในเรื่องพระอภัยมณี ดังนี้
1. สุดสาคร ใส่เสื้อเลียนกวนอู
สุดสาคร ใส่เสื้อเลียนกวนอู |
ในเรื่องพระอภัยมณีนั้น สุดสาคร แสดงความกตัญญูต่อพระฤษีแห่งเกาะแก้วพิสดาร ด้วยการไม่ยอมถอดเสื้อคลุมลายหนังเสือที่พระฤษีมอบให้ออก แล้วสวมเสื้อผ้าชุดใหม่ที่เจ้าเมืองการะเวกมอบให้ไว้ข้างในชุดหนังเสือเก่า ๆ เพราะสุดสาครได้สัญญาว่าจะไม่ถอดจนกว่าจะได้กลับไปหาพระฤษีอีกครั้ง
เรื่องนี้จึงคล้ายคลึงกับเรื่องสามก๊ก ในตอนกวนอูรับราชการกับโจโฉ ที่แม้โจโฉจะซื้อใจกวนอูด้วยการบำรุงบำเรอความสุข ด้วยทรัพย์สิน บริวาร อาหาร พร้อมให้เสื้อผ้าชุดใหม่ แต่กวนอูกลับนำเสื้อชุดใหม่ของโจโฉใส่ไว้ข้างใน แล้วสวมเสื้อเก่า ๆ ขาด ๆ ที่เล่าปี่ให้ไว้ข้างนอก
2. นางวาลี เหมือนเมียขงเบ้ง และใช้กลเรือไฟ
นางวาลี และอุ๋ยซี สองสาวเจ้าปัญญา |
นางวาลี เป็นเมียคนที่ 4 ของพระอภัยมณี นางมีรูปร่างหน้าตาอัปลักษณ์ ตัวดำ ใบหน้ามีแต่รอยแผลเป็น อยู่เป็นสาวโสดจนอายุได้ 34 ปี ซึ่งสุนทรภู่ได้ประพันธ์ไว้ว่า
“อยู่ภายหลังยังมีสตรีหนึ่ง อายุถึงสามสิบสี่ไม่มีผัว ชื่อวาลีสีเนื้อนั้นคล้ำมัว รูปก็ชั่วชายไม่อาลัยแล ทั้งกายาหางามไม่พบเห็น หน้านั้นเป็นรอยฝีมีแต่แผล”
บทประพันธ์ของสุนทรภู่เมื่อเทียบกับบทประพันธ์ในสามก๊กตอนขงเบ้งเลือกคู่ ความว่า
“นางอุ๋ยซีนี้รูปชั่วตัวดำ หน้าออกฝีมีลักษณะวิปริตร ทั้งกายจะหางามสักสิ่งหนึ่งก็มิได้ แต่ทว่ามีสติปัญญาพาทีหลักแหลม รู้วิชาการในแผ่นดินและอากาศ”
เนื้อความจากวรรณคดีทั้งสองเรื่องนี้ ทั้งนางวาลีและนางอุ๋ยซี จึงคล้ายคลึงกันอย่างยิ่ง
นอกจากนี้ นางวาลี ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนจนมีความรู้แตกฉาน เมื่อพระอภัยมณี ประกาศรับสมัครคนดีมีฝีมือเข้ารับราชการ นางวาลีก็ไปสมัคร และขอให้พระอภัยมณีแต่งงานกับนางด้วย พระอภัยมณีเห็นว่านางมีสติปัญญาเป็นเลิศและมีความรู้ดี จึงแต่งตั้งให้นางเป็นสนมเอก ต่อมาเมื่อเจ้ากรุงลังกากับอุศเรน ยกทัพมาตีเมืองผลึกด้วยกองทัพเรือ นางวาลีก็ออกอุบายปล่อยกำปั่นติดไฟเผาทัพเรือของเจ้ากรุงลังกา เหมือนตอน “โจโฉแตกทัพเรือ” ยังไงยังงั้น
3. อุศเรนกระอักเลือดแบบจิวยี่ และเป็นผีแบบกวนอู
อุศเรนกระอักเลือดแบบจิวยี |
หลังจากเจ้ากรุงลังกาและอุศเรนแตกทัพ นางวาลีก็ออกอุบายจับตัว อุศเรน ไว้ได้ พระอภัยมณีใจดีจะให้ปล่อยตัวเสีย แต่นางวาลีเห็นว่าจะปล่อยก็เหมือนปล่อยเสือเข้าป่า นางจึงใช้วาจาพูดเยาะเย้ยจนอุศเรน อกแตกตาย
คล้ายกันกับที่ขงเบ้งยั่วยุจิวยี่จนรากเลือดตาย แต่เรื่องยังสนุกไม่พอ สุนทรภู่จึงให้อุศเรนที่ตายเพราะความแค้น กลายเป็นผีมาสิงนางวาลี นางวาลีถูกผีอุศเรนเข้าสิง ก็ป่วยหนักและถึงแก่ความตาย เหมือนผีกวนอู ที่เข้าสิงร่างลิบองจนตายนั่นเอง
4. เทพมหิงขสิงขร กับเทพดาเจ้าของตำราไทเผงเยาสุด
เทพดาผู้วิเศษกับหัวหน้าโจรโพกผ้าเหลือง เตียวก๊ก |
เทพมหิงขสิงขร ปรากฏกายขึ้นในตอนพระอภัยเป่าปี่สังหารนางผีเสื้อสมุทรได้แล้ว นางผีเสื้อตายกลายเป็นหินแล้ว กำลังจะเอาไฟเผาศพ แต่เทพมหิงขสิงขร เข้ามาห้ามไว้ เพราะจะทำให้นางผีเสื้อฟื้นคืนชีพ ซึ่งสุนทรภู่บรรยายลักษณะของเทพองค์นี้ว่า
"พอได้ยินเสียงระฆังข้างหลังเขา เห็นผู้เฒ่าออกจากชะวากผา ดูสรรพางค์ร่างกายแก่ชรา แต่ผิวหน้านั้นละม้ายคล้ายทารก ทรงเสื้อโขมพัสตรานุ่งผ้าขาว ผมนั้นยาวย้อยสยายประปรายปรก ถือไม้เท้าเนารัตน์พัดขนนก"
ลักษณะของเทพมหิงขสิงขรนี้ตรงกับเทพดาเจ้าของตำราไทเผงเยาสุด ที่มอบให้หัวหน้าโจรโพกผ้าเหลือง เตียวก๊ก ดังที่ว่า
“เตียวก๊กนั้นไปเที่ยวหายาบนภูเขา พบคนแก่คนหนึ่ง ผิวหน้านั้นเหมือนทารก จักษุนั้นเหลือง มือถือไม้เท้า”
5. ย่องตอด กับแฮหัวตุ้น
แฮหัวตุ้น |
ย่องตอด เป็นทหารของนางละเวงวัณฬา อดีตนั้นย่องตอดเป็นลูกเศรษฐี มีนิสัยขี้อายและโง่เขลา พ่อแม่หาภรรยาให้ แต่ย่องตอดอาย จึงไม่ได้เข้าหอ คืนหนึ่งตัดสินใจเข้าไปปลุกปล้ำ นางตกใจดิ้นรนและถีบย่องตอดไปถูกตาข้างขวาจนตาบอด
ย่องตอดเสียดายจึงคว้าดวงตากลืนกินเข้าไป แล้วหนีเข้าป่าไปฝึกวิชาคาถาอาคม สุนทรภู่บรรยายตอนย่องตอดกลืนลูกตาไว้ว่า
“ทั้งถีบถูกลูกตาข้างขวาบอด อ้ายย่องตอดเต็มโกรธกระโดดหนี เสียดายนักควักออกมาว่าตานี้ เป็นของดีกว่าอื่นเอากลืนไว้”
กลืนลูกตาอย่างนี้ แฮหัวตุ้น ในสามก๊กเขาทำมาก่อนในตอนที่ แฮหัวตุ้นสู้กับโกซุ่น แล้วถูกโจเสงเอาเกาทัณฑ์ยิง มีความว่า
“แฮหัวตุ้นร้องขึ้นด้วยเสียงอันดัง แล้วชักลูกเกาทัณฑ์ออกมาดู เห็นลูกตานั้นติดปลายเกาทัณฑ์อยู่ แฮหัวตุ้นจึงร้องว่า ลูกตานี้เป็นดวงแก้วอันประเสริฐ ไม่ควรทิ้งเสีย แฮหัวตุ้นก็ดูดเอาลูกตานั้นกลืนเข้าไป”
-------------------------------
ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างของเรื่องและเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า สามก๊ก นั้นมีอิทธิพลต่อ สุนทรภู่ ในการสร้างสรรค์เรื่อง พระอภัยมณี
กรุณาแสดงความคิดเห็น