ผู้นำตระกูลหยาง ไม่เพียงรบเก่ง รู้จักกันในชื่อขุนศึกตระกูลหยาง ยังเชี่ยวชาญด้านหนังสือ ขึ้นชื่อในความบริสุทธิ์ สมถะ เที่ยงตรง จึงเป็นขุนนางใหญ่สืบต่อกันมาตลอดยุคราชวงศ์ฮั่น
ตอนปลายราชวงศ์ฮั่น การเมืองวุ่นวาย ก็ไม่คล้อยตามกระแส
ตระกูลหยาง ในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาคลัง (หน) ก็คือตระกูล “เอี้ยว” ของเอี้ยวสิ้ว ที่ถูกโจโฉสั่งประหาร
“ฟ้ารู้ ดินรู้ เจ้ารู้ ข้ารู้”
คอลัมน์ "ชักธงรบ" ของ "กิเลน ประลองเชิง" ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 26 มิถุนายน 2557 ได้เขียนเรื่องการเมืองไทย เทียบเคียงกับเรื่องราวจากวรรณกรรมจีน "สามก๊ก"
เป็นอีกครั้งที่คุณ กิเลน ประลองเชิง คอลัมนิสต์คนโปรดของผม เขียนถึงเรื่องสามก๊กไว้อย่างน่าคิด ในชื่อเรื่องว่า "สี่รู้ สามไม่" อันมีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติของ "เอียวสิ้ว" ที่ผูกพันกับ "ขุนศึกตระกูลหยาง" อ่านไปอ่านมา แล้ววกเวียนกลับมาที่การเมืองของประเทศไทย
บทความนี้ให้ข้อคิดหลายประการ เช่นความจงรักภักดี คุณธรรมความรู้ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ "การรักษาตัวรอด"
อ่านแล้วประทับใจ จึงขอบันทึกไว้ในบล๊อก เพื่อไม่ให้บทความนี้จางหายไปตามเวลากาลครับ
สี่รู้ สามไม่
โดย กิเลน ประลองเชิง 26 มิ.ย. 2557สุภาพบุรุษตระกูลหยาง (Saving General Yang) |
ผู้นำตระกูลหยาง ไม่เพียงรบเก่ง รู้จักกันในชื่อขุนศึกตระกูลหยาง ยังเชี่ยวชาญด้านหนังสือ ขึ้นชื่อในความบริสุทธิ์ สมถะ เที่ยงตรง จึงเป็นขุนนางใหญ่สืบต่อกันมาตลอดยุคราชวงศ์ฮั่น
ตอนปลายราชวงศ์ฮั่น การเมืองวุ่นวาย ก็ไม่คล้อยตามกระแส
ตระกูลหยาง ในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาคลัง (หน) ก็คือตระกูล “เอี้ยว” ของเอี้ยวสิ้ว ที่ถูกโจโฉสั่งประหาร
ในหนังสือ 101 คำถามสามก๊ก (สำนักพิมพ์มติชน) อาจารย์ถาวร สิกขโกศล เขียนไว้ในคำถามที่ 62 เอี้ยวสิ้ว ถูกประหารเพราะความฉลาดจริงหรือ?
ในนิยายสามก๊ก เอี้ยวสิ้วเป็นคนโอ้อวดสติปัญญา ชอบอวดความสามารถต่อหน้าโจโฉ ครั้งหนึ่ง โจโฉ เขียนอักษร หัว-มีชีวิต ไว้ที่บานประตู เอี้ยวสิ้วก็ขยายความ โจโฉตำหนิว่า ประตูกว้างเกินไป
อักษรหัว–มีชีวิต เมื่ออยู่ในอักษรประตู ความหมายจะกลายเป็น “กว้าง”
อีกครั้ง แขกแดนไกลเอาขนมมากำนัล โจโฉเขียนไว้บนกล่อง “ขนมกล่องหนึ่ง” เอี้ยวสิ้วเห็นเข้า ก็เอาขนมกล่องนั้นไปแจกคนอื่นกิน
เพราะอักษรขนมกล่องหนึ่ง เมื่อแยกออกเป็นสองคำ จะมีความหมายใหม่ “กินคนละคำ”
ขนมกล่องหนึ่ง ให้กินคนละคำ ของโจโฉ |
นิยายสามก๊ก ตั้งใจเขียนให้โจโฉเป็นผู้ร้าย เล่าปี่เป็นพระเอก...ก็บอกว่า โจโฉซึ่งมีนิสัยไม่ชอบคนฉลาดรู้ทัน จึงหมั่นไส้เอี้ยวสิ้วเป็นทุนเดิม
จนครั้งสุดท้าย โจโฉ รบเอาชนะศัตรูไม่ไหว หลุดปากสั่งรหัสขานยามทหาร “ขาไก่” (อ.ถาวรว่า ศัพท์ภาษาจีน ซี่โครงไก่) เอี้ยวสิ้วได้ยินแล้วก็เข้าใจ
ขาไก่กินเนื้อหนังหมดแล้วติดคอ อยากกินต่อไปก็ไม่ได้อยากจะคายก็เสียดาย สั่งให้ทหารเก็บข้าวของเตรียมถอยทัพ
โจโฉรู้ก็โกรธมาก ตั้งข้อหาทำให้เสียวินัยทหาร ประหารชีวิตเอี้ยวสิ้วทันที
นิยายสามก๊ก อาจารย์ถาวรบอกว่า อาศัยความจริงในพงศาวดารมาอ้างอิง สัดส่วนจริงเจ็ด เท็จสาม...ความจริงในพงศาวดาร เอี้ยวสิ้ว
ตายเพราะเสนอตัวเข้าไปในวังวนการแย่งชิงอำนาจทางการเมือง
ระหว่างโจโฉลังเล ไม่เลือกรัชทายาท โจผีใช้เล่ห์เหลี่ยม มารยาเสแสร้ง ได้รับแต่งตั้งเป็นรัชทายาท ส่วนโจสิด ทำตามใจตัวเอง ไม่ปรับปรุงและควบคุมตัวเอง ชอบดื่มสุรา ขาดวินัย โจโฉจึงไม่รัก
กวีนิพนธ์บทหนึ่ง โจสิดเขียนว่า “ไม่ควรวุ่นวายในเกียรติยศชื่อเสียง ข้ามั่นอยู่ในความจงรักภักดี และครรลองคลองธรรม” เอี้ยวสิ้วศรัทธา อาสาโจสิด ช่วยคิดวางแผนสารพัด
เอี้ยวสิ้ว |
เมื่อตั้งโจผีเป็นรัชทายาทแล้ว โจโฉกลัวว่า เอี้ยวสิ้วจะใช้สติปัญญาและเล่ห์เหลี่ยม ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงใหญ่ การประหารกุนซือ ก็เท่ากับยับยั้งโจสิดไม่ให้เคลื่อนไหว
ประกอบกับเอี้ยวสิ้ว เป็นลูกของพี่สาวอ้วนสุด ศัตรูสำคัญ เป็นคนตระกูลเอี้ยว จงรักภักดีต่อราชวงศ์ฮั่น การประหารเอี้ยวสิ้วจึงเป็นการตัดไม้ข่มนาม สร้างความสะดุ้งสะเทือนต่อตระกูลใหญ่ทางการเมือง
โจโฉเป็นคนใจดำ เพื่อจุดหมายทางการเมืองแล้ว ความรักระหว่างพ่อลูกยังไม่แยแส
การสั่งประหารเอี้ยวสิ้ว เหมือนยิงกระสุนนัดเดียว แต่ได้นกหลายตัว โจโฉจึงสั่งประหารขุนทหารที่เก่งกาจมีสติปัญญา โดยไม่ลังเล
เรื่องราวที่อาจารย์ถาวรเล่า ดูจะเป็นคำตอบในที...แท้จริง เอี้ยวสิ้ว ก็ถูกสั่งประหาร เพราะความฉลาด จนทำให้ผู้นำประเภท ที่กลัวลูกน้องฉลาดกว่า หวาดระแวง
ถ้าเอี้ยวสิ้ว มีความรู้ธรรมดา ฟังรหัส “ขาไก่” ไม่ทวนคำสั่ง “ขาไก่” ก็คงไม่ต้องตาย
ตามประวัติ คนในตระกูลเอี้ยว ยึดมั่นในหลัก 3 ไม่ ไม่มัวเมาในสุรา นารี และเงินทอง และหลัก 4 รู้ “ฟ้ารู้ ดินรู้ เจ้ารู้ ข้ารู้” คือไม่รับสินบนใคร... เอี้ยวสิ้ว เป็นคนดี
แต่สิ่งที่เอี้ยวสิ้วไม่มี ก็คือ การรู้รักษาตัวรอด... เมื่อรักเลือกข้างฝ่ายแพ้ คนดีแค่ไหนก็อยู่ไม่ได้ ไปด้วยประการฉะนี้
กิเลน ประลองเชิง
เอียวสิว, เอียวสิ้ว (หยังชิว, Yang Xiu, 杨修) |
ประวัติย่อของเอียวสิว
ประวัติของเอียวสิว จากหนังสือ "พิชัยสงครามสามก๊ก" ของ "สังข์ พัธโนทัย"
เอียวสิว, เอียวสิ้ว (หยังชิว, Yang Xiu, 杨修) : เป็นชาวเมืองหัวะอิน มณฑลส่านซี มีฉายาว่า เต๋อะจู่ (Dezu, 德祖) เป็นบุตรเอียวปิว
คิ้วเรียว ตาเล็ก หน้าเกลี้ยงเกลา ไหวพริบดี มีความรู้ความสามารถมาก แต่มักใช้ปัญญามากกว่าสติ รับราชการอยู่กับโจโฉ ตำแหน่งหลังจง ผู้ถือบัญชีทรัพย์สินของแผ่นดิน
เป็นคนรู้ลูกไม้โจโฉทุกอย่าง ครั้งหนึ่งโจโฉทำนอนหลับ ผ้าห่มตกจากตัว คนใชัสนิทเข้ามาหยิบผ้าห่มให้ โจโฉทำละเมอชักกระบี่ฟันคอคนใช้ตาย แล้วทำเป็นตกใจตื่นร้องไห้อาลัยรัก กำชับคนอื่นๆว่า เวลานอนอย่าเข้าใกล้ เพราะนอนร้ายมักละเมอฆ่าคน เอียวสิวรู้ท่า พูดกับศพคนใช้เปรย ๆ ว่า “มหาอุปราชหานอนฝันร้ายไม่ เป็นกรรมของท่านจึงตาย” โจโฉรู้ข่าวก็โกรธ
เอียวสิ้ว |
โจสิดบุตรชายคนที่ 3 ของโจโฉชอบพอเอียวสิว เอียวสิวสอนลูกไม้การเมืองและการทหารให้โจสิดเป็นอันมาก โจโฉเห็นโจสิดคล่องแคล่วเฉียบแหลมก็ดีใจ ภายหลังทราบว่าศึกษาจากเอียวสิว ก็ยิ่งเกรงขามมากขึ้น เห็นว่าจะเลี้ยงคนที่ฉลาดเฉียบแหลมเกินควรไว้ใกล้ ๆ มิได้
ครั้นโจโฉปราชัยการรบกับขงเบ้งที่ทุ่งหันซุย และด่านเองเปงก๋วน คิดจะยกทัพกลับขณะกำลังกินไก่ ใช้ตะเกียบหยิบขาไก่ชูขึ้นนั้น พอดีแฮหัวตุ้นเข้ามาถามว่า คืนนี้จะขานยามว่าอย่างไร โจโฉพลั้งปากออกไปว่าขาไก่ เอียวสิวรู้เข้าก็บอกทหารได้ทันทีว่า เตรียมเลิกทัพได้แล้ว เพราะขาไก่นั้นจะทิ้งเสียก็เสียดาย ด้วยยังมีรสอยู่ เปรียบดังสงครามคราวนี้จะเลิกเสียก็อัปยศ จะเอาชนะก็ไม่มีทาง ในที่สุดก็ต้องเลิก ความทราบถึงโจโฉก็ตกใจมาก เพราะเอียวสิวทายใจถูกเผง จึงสั่งให้เอาตัวเอียวสิวไปประหารชีวิตเสีย อ้างว่าทำให้ทหารเสียขวัญ
เพื่อแสดงให้ทหารเห็นว่า เอียวสิวพูดผิด โจโฉออกรบเอง เผอิญถูกอุยเอี้ยนใช้เกาทัณฑ์ยิงถูกปาก ฟันหน้าหักสองซี่ ตกจากม้า เลยจำต้องรีบสั่งเลิกทัพกลับทันที
เอียวสิ้วกินขนม |
เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง
กรุณาแสดงความคิดเห็น