ข่าวการเมืองอ่านแล้วเอือมระอา และระทมทุกข์ จึงต้องหาอะไรสนุก ๆ มาแก้ นึกคันไม้คันมือจึงขอหยิบเอาวิชาสามก๊กมายกเทียบ เลียบเคียงกับมาตรา7 ของการเมืองไทย อ่านแล้วโปรดอย่าถือสา เพราะไม่สันทัดในวิชากฎหมาย ขอให้อ่านเอาสนุก อย่าให้เป็นจริงเป็นจังกันเลย
ในห้วงสุญญากาศ ประเทศสยามเมืองยิ้ม ไร้ซึ่งนายกรัฐมนตรี เพราะทำผิดกฎหมายด้านการปกครอง ทำให้เกิดเป็นปัญหาของการบริหารราชการแผ่นดิน ประชาชน นักการเมือง และนักวิชาการแตกแยกออกเป็นฝักฝ่าย บางฝ่ายเรียกร้องหาการเลือกตั้ง เพื่อให้มีนายกรัฐมนตรีมารับช่วงต่อโดยเร็ว แต่บางฝ่ายก็เสนอให้มีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี มาทำหน้าที่แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ไปพลางระหว่างการปฏิรูปการเมืองแล้วจึงค่อยเลือกตั้ง โดยอ้างอิงใจความตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 ที่ว่าการใช้มาตรา 7 ในวรรณกรรมจีนเรื่องสามก๊ก
"ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
มาเป็น "นายก ม.7" "นายกคนกลาง" "นายกสรรหา" "นายกพระราชทาน" ฯลฯ
สิ่งที่ทำให้เป็นปัญหาก็คือ มาตรา7 นี้ตีความได้กว้างขวาง คลุมเครือ เพราะต่างคนต่างตีความในคำว่า "ไม่มีบทบัญญัติ" , "วินิจฉัย" และ "ประเพณี" แตกต่างกันไป ตามมุมมอง ความรู้และประสบการณ์ของแต่ละคน เราจึงต้องติดตามกันดูว่ามาตรา 7 นี้จะช่วยแก้ปัญหาได้หรือไม่ และไม่รู้ว่าอีกนานเท่าใด ประเทศไทยจึงจะมีนายกรัฐมนตรีสักที
แล้วเรื่องเหล่านี้มันเกี่ยวข้องกับสามก๊กอย่างไร ? ... ก็เพราะในเรื่องสามก๊ก มีการใช้ “มาตรา 7” ทั้งที่ถูกและที่ผิดอยู่หลายครั้งนั่นเอง
มาตรา7 ในสามก๊ก
ข่าวการเมืองอ่านแล้วเอือมระอา และระทมทุกข์ จึงต้องหาอะไรสนุก ๆ มาแก้ นึกคันไม้คันมือจึงขอหยิบเอาวิชาสามก๊กมายกเทียบ เลียบเคียงกับมาตรา7 ของการเมืองไทย อ่านแล้วโปรดอย่าถือสา เพราะไม่สันทัดในวิชากฎหมาย ขอให้อ่านเอาสนุก อย่าให้เป็นจริงเป็นจังกันเลยในวรรณกรรมจีนเรื่องสามก๊ก มีเรื่องราวในทำนองของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญไทย ตามความในมาตรา 7 อยู่หลายครั้ง โดยเฉพาะการแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญ ๆ ดังที่พอจะรวบรวมมาให้ท่าน ช่วยกันวินิจฉัยดังนี้
1. อ้วนเสี้ยวเลือกบุตร
อ้วนเสี้ยว เลือก อ้วนชง สืบทอดอำนาจจึงสร้างความแตกแยกในหมู่พี่น้อง
อีกทั้งยังใช้มาตร 7 ในเวลาอันไม่เหมาะสม เพราะยังอยู่ระหว่างการสงครามกับโจโฉ ทำให้เกิดความพยาบาทขึ้นในหมู่บุตรหลานและกองทัพ ต่อมาเมื่ออ้วนเสี้ยวล้มป่วยตายลง ลูกหลานก็เข่นฆ่าทำลายกันเอง พ่ายแพ้ให้กับโจโฉหมดสิ้น
2. อ้วนสุดยกตนเป็นเจ้า
อ้วนสุดได้ตราหยกจึงประกาศตนเป็นโอรสสวรรค์
อ้วนสุดได้ตราหยกมาจากซุนเซ็ก แต่ไร้สำนึก ไม่คำนึกถึงประเพณีและกาลเทศะตามมาตรา 7 นึกสนุกตั้งตนเองเป็นเจ้าอยู่ที่เมืองห้วยหนำ แล้วข่มเหงอาณาประชาราษฎรจนทนไม่ไหวอพยพย้ายหนีไปหมด อ้วนสุดจึงเตรียมย้ายไปอยู่กับอ้วนเสี้ยว ณ เมืองกิจิ๋ว
แต่ระหว่างทางจึงถูกเล่าปี่โจมตี อ้วนสุดจึงแตกพ่ายต้องหนีตายอย่างน่าอนาถ เพราะเสบียงอาหารหมด ลูกน้องก็ไม่รักไม่ศรัทธา หุงข้าวทั้งเปลือกให้กิน อ้วนสุดกินไม่ได้ ร้องขอน้ำผึ้ง พ่อครัวจึงตวาดว่า “จะหาน้ำผึ้งได้ที่ไหนในที่กันดารเช่นนี้ มีแต่โลหิตคน” อ้วนสุดได้ยินก็เสียใจจนกระอักเลือดตาย
3. ชัวมอกระหายอำนาจ
ชัวมอสร้างฐานอำนาจโดยการตั้งหลานเป็นเจ้าเมืองต่อจากเล่าเปียว
ชัวมอเป็นน้องเมียของเล่าเปียวเจ้าเมืองเกงจิ๋ว จึงได้มีตำแหน่งใหญ่โต ส่วนเล่าเปียวนั้นมีบุตรสองคนที่เป็นแคนดิเดตรับช่วงต่อ คือเล่ากี๋บุตรคนโตลูกของภรรยาเก่า กับเล่าจ๋องบุตรคนเล็กที่เกิดจากนางชัวฮูหยินภรรยาคนปัจจุบัน เล่าเปียวนั้นป่วยตายโดยไม่ทันได้แต่งตั้งทายาท ชัวมอจึงฉวยโอกาสอยากตั้งหลานของตนเป็นเจ้าเมือง ทั้งที่เป็นการผิดประเพณีตามมาตรา 7
เล่าจ๋องเองจำยอมรับ แม้จะไม่สู้เต็มใจนักเนื่องจากรู้ตัวเองดีว่า ยังมีผู้ที่เหมาะสมกว่า ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าอาเล่าปี่ หรือเล่ากี๋ผู้พี่ และนั่นคอต้นเหตุแห่งหายนะ เพราะเมื่อโจโฉยกทัพมาเล่าจ๋องก็รีบยอมแพ้ยกเมืองให้โดยทันที โจโฉจึงสั่งให้ย้ายเล่าจ๋องและนางชัวฮูหยินออกจากเมือง แล้วส่งอิกิ๋มเป็นมือสังหารไปตามเก็บ ส่วนชัวมอก็ถูกโจโฉหลอกใช้ให้ช่วยฝึกทหารเรือ แต่ต่อมาถูกตัดศีรษะเพราะโจโฉถูกอุบายของจิวยี่ ที่ซ้อนกลลวงให้เจียวก้านนำจดหมายปลอม หลอกว่าชัวมอจะทรยศมาให้โจโฉ
4. โจโฉแต่งตั้งทายาท
โจโฉตั้งโจผีตามประเพณี แม้จะไม่สู้พอใจนัก
โจโฉกังวลใจไม่รู้จะตั้งใครดีระหว่างโจผีและโจสิด จึงปรึกษากับเหล่าขุนนาง กาเซี่ยงจึงชี้ให้เห็นโทษของการละเลยมาตรา 7 ว่า “อันการข้อนี้จะปรึกษานั้นไม่ควร ขอให้ท่านพิเคราะห์ดูอย่างอ้วนเสี้ยวกับเล่าเปียวนั้นเถิด” โจโฉได้ฟังก็หัวเราะแล้วตั้งให้โจผีเป็นทายาท เรียกว่า “เจ้าชีจู๊” ต่อมาเมื่อโจโฉตายลง โจผีก็ขึ้นสืบทอดอำนาจต่ออย่างชอบธรรม
5. เล่าปี่ขึ้นเป็นเจ้าฮันต๋ง
เล่าปี่ขึ้นเป็นอ๋องเพราะประชาชนพลเมืองยอมรับ
เล่าปี่ได้ครองเมืองใหญ่อย่างเสฉวนและฮันต๋ง ขับไล่โจโฉออกจากดินแดนเรียบร้อย ประชาชนพลเมืองพร้อมเหล่าขุนนางต่างยกย่อง พร้อมใจกันใช้สิทธิ์ใช้เสียง จะยกเล่าปี่ขึ้นเป็นเจ้าฮันต๋ง เล่าปี่นั้นปฏิเสธอยู่หลายครั้งแต่ก็ขัดมิได้ จึงยอมเป็นเจ้าเมืองฮันต๋งตามคำปรึกษา เพราะบ้านเมืองจะสงบสุขได้ต้องมีผู้นำที่ประชาชนยอมรับ ตามหนังสือที่เล่าปี่ไปให้กราบทูลพระเจ้าเหี้ยนเต้ เป็นใจความว่า
“บัดนี้ข้าพเจ้าตีเมืองฮันต๋ง เมืองเสฉวนได้แล้ว ฝ่ายทหารแลไพร่พลเมืองทั้งปวง มีขงเบ้งเป็นประธานปรึกษาพร้อมกันให้ยกข้าพเจ้าเป็นเจ้าเมืองฮันต๋ง ข้าพเจ้ากลัวความผิดด้วยหามีรับสั่งไม่ คนทั้งปวงก็มิฟังจึงว่า ถ้าข้าพเจ้ามิยอมเป็นเจ้า คนทั้งปวงต่างคนต่างว่าจะไปเสียสิ้น ข้าพเจ้าเห็นว่าราชการสงครามนั้นยังจะทำไปอยู่ เกลือกผู้คนจะระส่ำระสาย กลัวจะเสียราชการไป จึงยอมตามคำปรึกษา ซึ่งข้าพเจ้ากระทำบังอาจทั้งนี้มิควรนัก”
5. ซุนกวนตั้งตนเป็นเจ้า
ซุนกวนรอเวลาที่เหมาะสม ประกาศตนเป็นกษัตริย์
ซุนกวนตั้งตนเป็นกษัตริย์ต่อจาก พระเจ้าโจผี และพระเจ้าเล่าปี่ เพราะต้องการบุกเข้าตีเมืองลกเอี๋ยงราชธานีของวุยก๊ก อีกทั้งมีนิมิตหมายอันดีตามความเชื่อปรากฏขึ้นในเมืองกังตั๋ง คือมีฝูงหงส์เข้ามาร้อง มีมังกรสีเหลืองสำแดงฤทธิ์ในท้องมหาสมุทร ประชาชนและเหล่าขุนนางก็เห็นชอบพร้อมใจให้มีพิธีราชาภิเษกขึ้น
ข้างฝ่ายจ๊กก๊กเมื่อทราบข่าวซุนกวนตั้งตัวเป็นกษัตริย์ ก็ยินดี แต่งหนังสือทำไมตรีและเครื่องบรรณาการไปถวายเป็นอันมาก การใช้มาตรา 7 ของซุนกวนจึงใช้ได้ถูกต้อง ถูกจังหวะเวลา ได้รับการยอมรับจากประชาชนและมิตรประเทศ
แนวทางการใช้มาตรา 7
อ่านจากสามก๊กแล้ว การใช้มาตรา 7 จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย หากวินิจฉัยให้ดีก็คือ อย่าไปยึดติดกับตัวบทกฎหมายอันสับสนวุ่นวายนัก เพราะนักกฎหมายเองก็ยังมึนงงและตีความแตกต่างกัน แต่ควรใช้อย่างยืดหยุ่น ใช้ให้เป็นไปตามธรรมนองคลองธรรม ให้เป็นไปตามขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ใช้แล้วให้ทุกคนยอมรับ ทุกคนมีความสุข ความสงบก็จะบังเกิด
ประเพณีทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทย เริ่มขึ้นในปี พ.ศ.2475 และสิ่งที่เราปฏิบัติจนคุ้นชินเป็นประเพณี ก็มีทั้ง การเลือกตั้ง การปฏิวัติรัฐประหาร การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการแต่งตั้งผู้ที่เหมาะสมมาปฏิบัติหน้าที่
มาตรา 7 ไม่ใช่สิ่งเลวร้ายน่ารังเกียจ แต่เป็นคนที่ตีความเข้าข้างตัวเองสร้างความแตกแยกให้สังคมต่างหาก ทั้งนี้ไม่ว่าจะใช้วิธีการใดตามมาตรา 7 ก็ขออย่าให้ลืม หัวใจสำคัญคือ “ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย และเป็นสิ่งดีงามตามจารีตประเพณี” เพราะปัญหาบ้านเมืองเวลานี้ ทำให้ไปซ้าย ไปขวา เดินหน้า ถอยหลังไม่ได้เลย
ท่านผู้มีอำนาจ มีมวลชนทั้งหลายโปรดลดอัตตาและความเห็นแก่ตัว ... ทำเพื่อชาติด้วยการพิจารณาความตาม "สามก๊ก มาตรา 7" ให้ถี่ถ้วนดูสักครา
สุดย๊อดอะพี่ท่าน...ผมหละรู้สึกอายเขมรกับพม่าเค้าแว้ว..หรือว่าอีก 30 ปีข้างหน้าเค้าจะเดินตามความแตกแยกทางการเมืองเหมือนเรา แต่คิดไปคิดมาก็ไม่ใช่เรื่องแปลกสักเท่าไหร่
ตอบลบเขาตามเราน่ะไม่เท่าไหร่ แต่อย่าให้เราตามเขาเลยครับ ... น่ากลัว
ลบขอขอบคุณเว็บสามก๊กวิทยา ที่มอบข้อมูลและเกร็ดความรู้ พร้อมทั้งพระราชดำรัสขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาณที่นี้ครับ
ตอบลบยินดีครับ เพราะเวลานี้ชอบมีคนอ้างถึง "นายกพระราชทาน" ซึ่งไม่ควรอย่างยิ่ง
ลบชัวมอไม่ได้ตายเพราะหลงอุบายเกาทัณฑ์นะครับ ช่วยแก้ด้วย ตายเพราะจิวยี่แกล้งเขียนจดหมายถึงชัวมอเพื่อก่อการ แล้วเจียวก้านเห็นเป็นใจความสำคัญ จึงรับหยิบจดหมายนี้ แล้วล่องเรือหนี นำจดหมายแผนลวงของจิวยี่ไปให้แด่โจโฉ โจโฉก็คิดว่าเป็นจริง จึงสั่งฆ่าชัวมอ เตียวอุ๋น ช่วยแก้ด้วยครับ แถมตอนอุบบายยืมเกาทัณฑ์ เหมือนจะเป็นแม่ทัพอิกิ๋ม มอกาย สั่งการจากบัญชาโจโฉด้วยซ้ำครับ
ตอบลบขอบคุณมากครับ เขินเลยถูกจับผิดได้ สงสัยดูหนังสามก๊กแตกทัพเรือมากไปหน่อย แล้วจะรีบดำเนินการแก้ไขครับ
ลบโจโฉฉลาดกว่าอ้วนเสียวมากนัก แต่ยังไม่เท่าเล่าปี่ที่บอกว่าถ้าลูกไม่ได้เรื่องก็ให้ขงเบ้งเอาเมืองเสฉวนไว้เอง แล้วที่ซุนเซ็กมอบแดนใต้ให้ซุนกวนก็มองการไกลมากเห็นแก่ส่วนรวมไม่เห็นแก่ตัวเลยแม้แต่น้อย
ตอบลบพอจะทราบมั้ยครับว่าทำไมคุณหลอกว้านจงแกเขียนให้เล่าจ๋องโดนโจโฉสั่งฆ่า เพราะในประวัติศาสตร์จริงเล่าจ๋องก็ทำงานกับก๊กโจโฉตามปกติ
ตอบลบปล. ซุนกวนตั้งตนเป็นกษัตริย์ถูกที่ถูกเวลา แต่พอตั้งตนเป็นฮ่องเต้ก็ออกทะเลไปซะงั้น น่าเสียดายแทน
ไม่ทราบครับ เขาไม่ได้เขียนไว้
ลบแต่ถ้าให้เดาก็คงประมาณว่า "คนขายชาติ" ควรจะได้รับจุดจบเยี่ยงนั้นครับ
ส่วนประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงก็ต้องอย่าลืมว่าเป็นเอกสารราชการของฝ่ายวุย และจิ้น
ใช้ศึกษาหาแนวคิดได้ แต่อย่าคาดหวังหาความจริงความจังเลย