ประวัติย่อและคารมคำคมของ สุมาอี้
ประวัติย่อของสุมาอี้
สุมาอี้ (Sima Yi, 司马懿) เป็นชาวอำเภออุน เมืองเหอเน่ย (โห้ลาย) มณฑลเหอหนาน มีฉายาว่า ชงต๋ามีบุคลิกลักษณะแปลกกว่าคนธรรมดา แววตาคมราวเหยี่ยว ท่าทางราวสุนัขจิ้งจอก เป็นคนฉลาดเฉียบแหลม ชำนาญในพิชัยสงคราม เป็นคู่ปรับที่ร้ายแรงที่สุดของขงเบ้ง ทำให้ขงเบ้งไม่อาจเข้ายึดวุยก๊กได้ ทั้ง ๆ ที่ได้ใช้ความพยายามอย่างแสนสาหัส บางครั้งก็เกือบจะถูกสุมาอี้จับตัวได้
มีบุตรสองคน คือสุมาสูกับสุมาเจียว ตำแหน่งสุดท้ายของสุมาอี้ คือเซงเสี่ยง (ฉบับอังกฤษแปลว่า Prime Minister คือ สมุหนายก) กับได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้ง 9 ซึ่งเรียกว่า จิ่วซิ ( สามก๊กภาษาอังกฤษแปลว่า Nine Gifts)
เครื่องราชอิสริยยศทั้ง 9 นั้น สามก๊กภาษาไทยแปลไว้ดังนี้
- ให้ขี่รถเข้าเฝ้าเทียมแปดม้า
- แต่งตัวอย่างลูกหลวงเอก (คือ เครื่องยศประจำตำแหน่ง)
- ให้มีดนตรีแตรสังข์ประโคมเช้าค่ำ (จีนไม่มีสังข์เป็นเครื่องดนตรี)
- ที่อยู่ให้ทาชาดอย่างเรือนหลวง (หมายถึง ประตูบ้านทาสีแดง)
- ให้มีท้องพระโรงเป็นที่ออกว่าราชการแก่ขุนนางทั้งปวง
- ให้มีหนู่ทหารสามร้อยรักษาองค์ (เรียกว่าทหารเสือ ตั้งกองรักษาการณ์หน้าประตู)
- ให้แห่แหนโดยขบวนอย่างเสด็จที่มีประพาส (ข้อนี้ไม่ตรงกับต้นฉบับภาษาจีน ซึ่งใช้คำว่า เถ่ย์เมา อันเป็นชื่อของขวานโบราณชนิดหนึ่ง ฉบับภาษาอังกฤษแปลว่า axes)
- ให้มีทหารถือเกาทัณฑ์แซงนอกในซ้ายขวาโดยขนาด (เกาทัณฑ์ลงรักแดง คนหนึ่งถือลูกเกาทัณฑ์ 100 ดอก)
- จะไปแห่งใด ให้มีเจ้าพนักงานชูกระถางธูป แห่ไปข้างหน้าอย่างเสด็จ (ข้อนี้แปลผิด ต้นฉบับภาษาจีน ใช้คำว่า จวี้ชั้ง ฉบับภาษาอังกฤษแปลว่า Libation Vessels หมายถึงที่ใส่น้ำมนต์ ปทานุกรมฌีเหยียนให้อรรถาธิบายว่า เป็นจอกใส่เหล้า เหล้านั้นทำด้วยข้าวโพดดำกับหญ้าชนิดหนึ่ง เรียกว่า ชั่ง)
โจโฉก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ได้รับอิสริยยศดังกล่าว
สุมาอี้สิ้นชีพที่เมืองลกเอี๋ยง หลานชายแย่งราชบัลลังก์ได้จากพระเจ้าโจฮวน ตั้งตัวเป็นกษัตริย์แล้ว ได้สถาปนาสุมาอี้ขึ้นเป็นเซวียนตี้ ( จักรพรรดิ )
คำคม สุมาอี้
- “เรามาทำการทั้งนี้ ใช่จะปรารถนาเอาความสุขแต่ตัวก็หามิได้ คิดจะให้เป็นความสุขแก่บุตรภรรยาท่านทั้งปวง เหตุใดมาเจรจาฉะนี้ มิได้มีความภักดีต่อเจ้า กินเบี้ยหวัดมาร้อยวันพันวันจะเอาการแต่วันเดียว ก็มิได้ ซึ่งจะเอาไว้ในกองทัพนี้มิได้ นานไปจะกลับเป็นศัตรู จึงสั่งให้ทหารเอาตัวไปฆ่าเสีย”
- “แลตัวขงเบ้งนี้ เป็นชาวบ้านนอก อยู่ในแว่นแคว้นแดนเมืองลำหยง ควรหรือจะมาขืนแข่งให้เกินชาติภูมิของตัว บังอาจยกทหารล่วงเข้ามาย่ำยีถึงแดนเมืองเราเป็นหลายครั้งมิบังควรนัก ให้ท่านเร่งคิดห้ามใจ อย่าได้กำเริบ จงยกพลทหารกลับไปรักษาเมือง ตามประเพณีจะดีกว่า แม้มิกลับไป จะขืนล่วงเข้ามาย่ำยีขอบขัณฑสีมาให้ได้ ชีวิตท่านก็จะมิได้คืนไปเมืองด้วยฝีมือทหารของเรา”
- “ซึ่งข้าศึกถอยไปเป็นธรรมเนียม กองหน้าได้ติดตามนั้นก็จริงอยู่ แต่ทางซึ่งจะไปนั้นเป็นซอกธารเขากันดารนัก เราเกรงว่าขงเบ้งจะให้ซุ่มทหารอยู่คอยตีกระหนาบ เราจึงห้ามท่านไว้หวังจะให้มีสติ ท่านจะไปก็ตามเถิด แต่จงประหยัดอย่าเบาความ แม้ครั้งนี้เสียทีมาภายหน้าจะทำการสืบไปท่านก็จะย่อท้อต่อข้าศึก”
- “สุมาอี้จึงห้ามว่าอย่าออกไปเลย อันโบราณกล่าวไว้ว่า เหตุการณ์นิดนึงจะพาให้เสียการใหญ่ ทหารทั้งนั้นก็ฟังคำสุมาอี้”
- “ท่านหนุ่มแก่ความนัก จึงไม่ล่วงรู้ความคิดเรา ซึ่งเราให้ปล่อยทหารขงเบ้งเสียนั้น หวังจะให้เลื่องลือว่าใจเรานี้มิได้พยาบาทแก่ทหารเลว ถึงมาตรว่าทำการศึก ก็คิดเอาแต่นายทัพนายกองซึ่งเป็นตัวการ”
- “ซึ่งขงเบ้งคิดการศึกดังนี้ก็มีความทุกข์ใหญ่หลวง เห็นอายุขงเบ้งจะสั้นเสียแล้ว เราคิดวิตกอยู่ ถ้าหาขงเบ้งไม่ อันจะทำการสงครามด้วยผู้ใดเห็นจะไม่สู้สนุก”
- “ซึ่งขงเบ้งตายเสียบัดนี้ บรรดาเราท่านจะได้นั่งเป็นสุข จะได้นอนตาหลับ”
- “อันการสงครามนั้น ใช่มีทหารมากจึงได้ชัยชนะนั้นหามิได้ ซึ่งข้าพเจ้าจะยกไปครั้งนี้ ถึงมาตรว่าทหารน้อย ก็จะขอทำด้วยความคิดแลเอาบารมีของพระองค์ปกไปเป็นที่พึ่ง เห็นจะมีชัยชนะแก่ข้าศึกเป็นมั่นคง”
- “เมื่อยกไปรบเมืองซงหยงนั้นทหารเราก็มาก แต่เสบียงก็น้อยกว่าเขา เราจึงรีบทำการโดยเร็ว ก็จับตัวเบ้งตัดได้ เรายกมาครั้งนี้ทหารกองซุนเอี๋ยนมีมาก แต่เสบียงนั้นน้อยกว่าเรา เราจึงคิดอ่านหนักหน่วงไว้มิได้รบพุ่ง ซึ่งยกออกมาตั้งอยู่ไกลเมืองนี้ เพราะจะให้ทหารกองซุนเอี๋ยนซึ่งอดอยากข้าวปลาอาหารหนีออกจากเมือง เมื่อเห็นกำลังกองซุนเอี๋ยนน้อยลงแล้ว เราจึงจะให้ยกกองทัพเข้าโจมตีเอาเมือง ก็จะจับตัวกองซุนเอี๋ยนได้โดยง่าย”
- “อันธรรมดาการสงครามนี้มีอยู่ห้าประการ ประการหนึ่งเห็นว่าจะต้านทานได้ ก็ให้คิดอ่านออกมารบพุ่งจนสามารถ ประการหนึ่งถ้าเห็นสู้มิได้ ก็อย่าออกมารบพุ่งให้รักษาเมืองจงมั่นคง ประการหนึ่งถ้ารักษาเมืองไว้ไม่ได้ให้หนีเอาตัวรอด ประการหนึ่งแม้ไม่หนีก็ให้ออกมาอ่อนน้อม โดยดีจะมีชีวิตสืบไป ประการหนึ่งถ้าไม่ออกมาอ่อนน้อมโดยดีก็ควรที่จะตาย เหตุใดกองซุนเอี๋ยนจึงบิดพลิ้วอยู่ ให้แต่ทหารออกมาเจรจาว่า จะเอาบุตรมาไว้เป็นจำนำก่อนไม่ควร ตัวจงเร่งกลับไปบอกกองซุนเอี๋ยนให้เร่งคิดอ่าน โดยดีจึงจะรอดชีวิต ถ้าขัดขวางอยู่เราจับได้ ก็จะให้ตัดศีรษะเสียบไว้ที่ประตูเมือง”
- “ข้าพเจ้ามาถึงกลางทาง แจ้งกิตติศัพท์ว่าพระองค์ประชวรหนัก ก็ไม่มีความสบายเลย แม้มีปีกก็จะรีบบินมาให้ถึงก่อน ซึ่งข้าพเจ้าได้มาทันถวายบังคม เป็นบุญของข้าพเจ้านัก”
- “เราทำการทั้งนี้ หาได้คิดทำร้ายแก่เจ้าแผ่นดินแลโจซองไม่ ท่านอย่าแคลงเลย เราเห็นว่าทหารสมัครพรรคพวกท่านมากนัก ละไว้นานไปเกลือกจะเป็นอันตราย เราทำทั้งนี้หวังจะยกทหารสมัครพรรคพวกพี่น้องของท่านมาเป็นของหลวง”
- “อันการขบถจะนิ่งอยู่ช้านั้นไม่ได้ ข้าศึกจะมีกำลังมากขึ้น เราคิดอ่านยกกองทัพไปจับตัวเบ้งตัด แล้วจึงมากราบทูลพระเจ้าโจยอยต่อภายหลัง”
- “ตัวเจ้าหนุ่มแก่ความ ยังมิรู้สันทัดเคยกลขงเบ้ง อันขงเบ้งเป็นคนมีสติปัญญาชำนาญในการสงครามนัก จะทำการสิ่งใดก็แน่นอน เคยทำกลศึกมีชัยมาหลายครั้ง เจ้ามีสติปัญญาแต่เพียงนี้ จะล่วงดูหมิ่นขงเบ้งเป็นผู้ใหญ่ แก่ในการศึกนั้นมิบังควร แม้จะขืนทำล่วงเกินไปก็จะต้องด้วยกลของขงเบ้งพากันตายเสียสิ้น”
- “ขงเบ้งทำกลลวงเราครั้งนี้รู้มิทันเลย ตัวเรามีปัญญาน้อย ซึ่งจะทำศึกไปเบื้องหน้านั้น ยากที่จะประมาณกลศึกขงเบ้งได้”
- “อันกลศึกขงเบ้งนั้นลึกลับนัก ท่านอย่าตามไปรบพุ่งเลย จงไปตั้งอยู่ ณ เขากิสานเถิด แม้กองทัพขงเบ้งขาดเสบียงอาหารเมื่อใด ก็จะยกกลับไปเอง”
- “ข้าพเจ้าดูดาวแลตำราเห็นว่า ฝ่ายเมืองเรารุ่งเรืองสุกใสอยู่ อันดาวสำหรับเมืองเสฉวนนั้นเศร้าหมองนัก ซึ่งขงเบ้งยกมาครั้งนี้ เหมือนหนึ่งหาภัยใส่ตัว พระองค์อย่าคิดวิตกเลย ไว้ข้าพเจ้าจะอาสาไปต้านทานเอาชัยชนะให้ได้”
กรุณาแสดงความคิดเห็น