ประวัติย่อ คารมและคำคมของบังทอง
ประวัติย่อของบังทอง
บังทอง (Pang Tong, 庞统) เป็นบุคคลที่หน้าตาขี้ริ้วขี้เหร่ แต่มีสติปัญญาเป็นเลิศ มีชื่อรองว่า "ซื่อหยวน" (士元) เกิดปีเดียวกับสุมาอี้ เป็นชาวเมืองเซียงหยาง เมืองใหญ่ในเมืองเกงจิ๋ว เป็นหลานอาของบังเต็กกง เพื่อนสนิทของสุมาเต็กโช สุมาเต็กโชรักใคร่บังทองมากเหมือนน้องชายตัวเอง บังทองเป็นผู้ที่สุมาเต็กโชแนะนำแก่เล่าปี่เมื่อครั้งหนีภัยจากการตามล่าของโจโฉว่า ปราชญ์ที่จะช่วยให้ท่านพลิกฟ้า คว่ำแผ่นดินได้นั้นมี 2 คน คือ "ฮกหลง" (臥龍, Wolong, มังกรนิทรา-ขงเบ้ง) กับ "ฮองซู" (鳯雛, Fèngchú, หงส์ดรุณ-บังทอง) เท่านั้นบังทอง ปรากฏตัวในสามก๊ก ด้วยเป็นปราชญ์ที่เร้นกายที่ง่อก๊ก โดยทำทีหลอกเจียวก้าน ทูตของโจโฉ ที่ถูกส่งตัวไปง่อก๊ก จนเจียวก้านเชื่อใจ นำพาไปพบโจโฉ โจโฉได้มอบหมายให้บังทองเป็นผู้วางอุบาย เอาชนะศึกง่อก๊ก บังทองแนะนำให้ผูกเรือของวุยก๊ก ต่อกันเป็นทอด ๆ ด้วยโซ่ เรียกว่า "ห่วงโซ่สัมพันธ์" โดยบังทองหลอกโจโฉว่า ทหารวุยก๊กไม่ถนัดการรบทางน้ำ เมื่อเจอคลื่นทำให้ทหารล้มป่วยได้ง่าย การผูกเรือเป็นเข้าด้วยกันด้วยโซ่ จะช่วยให้เรือไม่โคลงเคลง ซึ่งเป็นอุบายที่นำมาซึ่ง การเผาเรือวุยก๊กด้วยไฟ จากความร่วมมือกันของจิวยี่และขงเบ้ง ในศึกเซ็กเพ็ก (ศึกผาแดง) อันเป็นศึกที่โจโฉพ่ายแพ้อย่างย่อยยับที่สุด
ต่อมา โลซกที่ปรึกษาซุนกวน เกรงว่าบังทองจะเข้าร่วมกับวุยก๊ก จึงได้ให้บังทองเข้าร่วมกับฝ่ายง่อก๊ก แต่ซุนกวนไม่ชอบใจในหน้าตา จึงไม่ให้ความสนใจ บังทองจึงเข้าร่วมกับฝ่ายจกก๊ก โดยขงเบ้งเป็นผู้แนะนำไป แต่เมื่อเล่าปี่ เห็นหน้าตาของบังทองแล้วไม่ไว้วางใจ จึงให้ไปเป็นนายอำเภอเมืองลอยเอี๋ยง ที่ห่างไกล บังทองได้แสดงความสามารถทางสติปัญญา ให้เป็นที่ปรากฏ จึงได้เลื่อนชั้นขึ้น เป็นกุนซือคนหนึ่งของจกก๊ก เทียบเท่าขงเบ้ง
บังทองออกอุบายให้เล่าปี่ สังหารเล่าเจี้ยงเพื่อ ยึดเมืองเสฉวนระหว่างกินเลี้ยง แต่เล่าปี่ไม่ยอมทำ ระหว่างเดินทางไปตีเมืองลกเสีย ได้แยกย้ายกับเล่าปี่ไปคนละเส้นทาง โดยเล่าปี่ได้ให้ม้าเต็กเลาที่ตนขี่ประจำแก่บังทอง ศัตรูจึงเข้าใจผิดว่าเป็นเล่าปี่ จึงรุมยิงบังทองตาย ที่เนินลกห้องโห (เนินหงส์ร่วง) ด้วยลูกธนู ระหว่างเดินทางเข้าเสฉวนพร้อมกับเล่าปี่เมื่ออายุได้ 35 ย่าง 36 ปี
คำคม บังทอง
- "เหตุใดท่านมาเจรจาเช่นนี้ อันธรรมดาผู้มีสติปัญญา เมื่อภัยมาถึงตัวแล้ว ถ้าจะไม่คิดเอาตัวรอด ก็จักได้ชื่อว่าหาปัญญามิได้"
- "ความแต่เพียงนี้จะเป็นไร ข้าพเจ้าจะว่าให้มิได้หรือ แต่หากว่ายังไม่สบายใจจึงมิได้ตัดสิน ถึงราชการโจโฉกับซุนกวนก็ดี เหมือนเราจับหนังสือชูไว้บนฝ่ามือ ถ้าเปิดพลิกดูเมื่อใดก็จะเห็นแจ้งสิ้น"
- "อันธรรมดาผู้มีสติปัญญานั้น ถ้าจะคิดอ่านทำการสิ่งใด ถึงจะเต็มใจก็ดี มิเต็มใจก็ดี ก็ย่อมว่ากล่าวให้แตกฉานปรากฏออกมา แลจะนิ่งรำพึงรวนเรอยู่ ก็เหมือนคนหาปัญญามิได้ ตัวท่านก็ประกอบด้วยสติปัญญา จะมานั่งวิตกถอยหน้าถอยหลังอยู่ฉะนี้ หาควรไม่"
กรุณาแสดงความคิดเห็น