ตำราพิชัยสงครามของประเทศจีนที่มีชื่อเสียงนั้นมีอยู่มากมายหลายฉบับ แต่ที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในวรรณกรรมเรื่องสามก๊กนั้น โดยมากมักจะมาจาก "ตำราพิชัยสงครามซุนวู" และ "ตำรา 36 กลยุทธ์"
ในตำรา 36 กลยุทธ์ มีกลยุทธ์หนึ่งปรากฎอยู่ในหนังสือสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 57 "ฮองตงรบกับแฮหัวเอี๋ยน" กลยุทธ์นี้มีชื่อว่า "ฮวนเคกอุยจู๋จีอวด"
กลยุทธ์นี้นอกจากจะมีชื่อน่ารักแกมทะเล้นแล้ว ยังเป็นกลยุทธ์ที่พระยาพระคลัง(หน) สร้างสรรค์ไว้อย่างวิจิตรอีกด้วย
"สุดยอดกลยุทธ์ ที่มาจากความคิดสร้างสรรค์แบบไทย ๆ"
ตำราพิชัยสงครามของประเทศจีนที่มีชื่อเสียงนั้นมีอยู่มากมายหลายฉบับ แต่ที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในวรรณกรรมเรื่องสามก๊กนั้น โดยมากมักจะมาจาก "ตำราพิชัยสงครามซุนวู" และ "ตำรา 36 กลยุทธ์"
ในตำรา 36 กลยุทธ์ นั้น มีกลยุทธ์หนึ่งได้ปรากฎอยู่ในหนังสือสามก๊ก เป็นกลยุทธ์ที่มีชื่อว่า "สลับแขกเป็นเจ้าบ้าน"
สลับแขกเป็นเจ้าบ้าน
กลยุทธ์สลับแขกเป็นเจ้าบ้าน (Make the host and the guest exchange roles, 反客為主) อ่านว่า ฝ่านเค่อเหวยจวู่ (Fǎn kè wéi zhǔ) เป็นกลยุทธ์ในลำดับที่ 30 ของกระบวนยุทธ์ทั้ง 36 หมายความได้ว่า "เพราะเจ้าบ้านต้อนรับไม่เป็น แขกจึงแย่งเป็นเจ้าบ้านเสียเอง"ในหนังสือ "36 กลยุทธ์" ของคุณบุญศักดิ์ แสงระวี ได้สรุปใจความสำคัญของกลยุทธ์นี้ไว้ว่า
" สลับแขกเป็นเจ้าบ้าน ก็คือแขกแย่งเป็นเจ้าบ้านเสียเอง เปลี่ยนฐานะจากฝ่ายถูกกระทำ เป็นฝ่ายกุมอำนาจการกระทำ และบงการให้สถานการณ์เป็นไปตามความประสงค์ ในขณะที่ตกอยู่ในภาวะเสียเปรียบ จะต้องยอมเป็น "แขก" ชั่วคราว เพื่อช่วงชิงเวลาสะสมกำลัง อาศัยชัยชนะเล็ก ๆ น้อย ๆ ครั้งแล้วครั้งเล่าโดย "เจ้าบ้าน" จำยอมต้องกลับกลายเป็น "แขก" เพราะมิมีปัญญาที่จะต้านทานได้เลย ฉะนี้ "
แขกกลับมาช่วยเจ้าเรือน
ในหนังสือสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตอนที่ 57 "ฮองตงรบกับแฮหัวเอี๋ยน" กลยุทธ์นี้ปรากฏโดยใช้ชื่อ "ฮวนเคกอุยจู๋จีอวด" แปลว่า "แขกกลับมาช่วยเจ้าเรือน"ความในตอนนี้เป็นเหตุการณ์เมื่อครั้งฮองตงรบกับแฮหัวเอี๋ยนที่เขาเตงกุนสาน แฮหัวเอี๋ยนมีชัยภูมิดีเพราะยึดเขาเตงกุนสานเป็นที่มั่น แล้วซุ่มทหารไว้บนเนินเขาสองข้างทาง หวังจะลอบจับตัวฮองตง โดยให้หลานชายชื่อแฮหัวซงยกออกล่อให้ฮองตงมาติดกับดัก
ตันเซ็กนายทหารรองของฮองตง อาสาออกรบแทนเพราะเห็นว่าแฮหัวซงก็เป็นแค่นายทหารรอง มิสมควรที่นายทัพจะออกรบเอง ตันเซ็กจึงหลงกลถูกทหารที่ซุ่มอยู่โจมตีด้วยก้อนศิลาและท่อนไม้ ทำให้ได้รับบาดเจ็บและถูกแฮหัวเอี๋ยนจับตัวไปเป็นเชลยศึก
หวดเจ้ง ผู้เสนอกลยุทธ์ฮวนเคกอุยจู๋จีอวด |
"แฮหัวเอี๋ยนคนนี้มีกำลังก็จริง แต่โมโหมากจะทำการสิ่งใดหาพินิจไม่ เราจะคิดกลศึกอันหนึ่ง ชื่อฮวนเคกอุยจู๋จีอวด แปลภาษาไทยว่า แขกกลับมาช่วยเจ้าเรือน เราจะตั้งค่ายเรียงออกไป ไว้ระยะห่างกันหนึ่งเส้นจงหลายค่าย เอาทรัพย์สินเงินทองไว้ในค่ายให้ทหารรักษาแต่น้อย แฮหัวเอี๋ยนเห็นว่าเราตั้งค่ายประชิดเรียงเข้าไปใกล้ก็จะยกออกมาตี เราจะให้ทหารซึ่งรักษาค่ายอยู่นั้นทำแตกหนีทิ้งค่ายเสีย แฮหัวเอี๋ยนได้ทรัพย์สิ่งของเป็นอันมากก็จะตีล่วงลามเข้ามา เราจึงยกทหารออกตีล้อมวงสกัดไว้ เห็นจะจับตัวแฮหัวเอี๋ยนได้โดยง่าย"
ฮองตงเห็นชอบด้วย แล้วจึงตั้งค่ายเรียงเข้าไปห่างกันเส้นหนึ่ง แต่ละค่ายก็จัดแจงของมีค่าหลอกตาไว้ แฮหัวเอี๋ยนเห็นดังนั้นจึงคิดว่าฮองตงจะเข้าตี จึงสั่งทหารให้ออกรบ เตียวคับจึงเตือนว่านี่เป็นอุบายชื่อ ฮวนเคกอุยจู๋จีอวด หากหลงกลยกทัพออกไป ก็เห็นจะเสียทีแก่ฮองตงเป็นมั่นคง
แฮหัวเอี๋ยนไม่ฟัง และส่งแฮหังซงออกไปตีค่ายของฮองตง แต่ละค่ายก็แกล้งทำเป็นแตกตามแผน แฮหัวซงได้ใจก็รุกตีเข้ามาเรื่อย ๆ ฮองตงจึงออกมารบและสามารถจับตัวแฮหัวซงเป็นเชลย ซึ่งต่อมาจึงได้ใช้แลกเปลี่ยนตัวตันเซ็ก นายทหารที่ถูกจับคืนมา และต่อมาได้เกิดการรบพุ่งกัน แฮหัวเอี๋ยนสู้ฮองตงไม่ได้และเกรงอุบายจึงต้องถอยทัพกลับไปค่ายไป
ภาพวาดฮองตงรบกับแฮหัวเอี๋ยน ผลงานของครูเหม เวชกร |
แตกต่างอย่างสร้างสรรค์
"ฮวนเคกอุยจู๋จีอวด" เป็นชื่อที่ฟังดูน่ารักแกมทะเล้น แต่ก็เป็นกลยุทธ์ที่เจ้าพระยาพระคลัง(หน) สร้างสรรค์ไว้อย่างวิจิตร เพราะนอกจากจะแปลชื่อกลยุทธ์เป็น "แขกกลับมาช่วยเจ้าเรือน" แล้ว ท่านยังได้ดัดแปลงรายละเอียดของกลยุทธ์ไว้อีกด้วย !ทั้งนี้ในสามก๊กต้นฉบับรวมทั้งฉบับภาษาอังกฤษของบริวิทเทเล่อร์ ได้อธิบายแผนของหวดเจ้งว่า
" แฮหัวเอี๋ยนคนนี้ยั่วยุง่าย และเมื่อโมโหจะทำการสิ่งใดก็หาพินิจไม่ สิ่งที่เราควรทำก็คือสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ไพร่พล ตั้งค่ายแล้วเดินทัพ เดินทัพแล้วตั้งค่าย ทำเช่นนี้รุกคืบเข้าไปในดินแดนข้าศึก เราจะสามารถยั่วยุให้แฮหัวเอี๋ยนโมโหจนออกรบ และจับตัวมันได้ในที่สุด นี่เป็นอุบายที่มีชื่อว่าสลับแขกเป็นเจ้าบ้าน "
ฮองตงจึงจัดแจงสุราอาหาร และทรัพย์สิ่งของแจกให้ทหารเพื่อบำรุงขวัญ ทำให้ทหารของฮองตงส่งเสียงรื่นเริงดังไปทั่วหุบเขา จากนั้นก็เคลื่อนทัพแล้วหยุด เมื่อหยุดพักได้สองสามวันก็เคลื่อนทัพ ทหารของฮองตงจึดสดชื่นและอยู่ในสภาพพร้อมรบเต็มที่ พร้อมกับที่รุกเข้าไปใกล้ค่ายของแฮหัวเอี๋ยนเรื่อย ๆ
แฮหัวเอี๋ยนเห็นทัพฮองตงเข้ามาใกล้ก็โกรธจะออกรบ เตียวคับจึงเตือนว่านี่เป็นอุบายสลับแขกเป็นเจ้าบ้าน ทหารฮองตงได้พักและมีการสร้างขวัญกำลังใจมาตลอดทาง เราไม่ควรเข้าปะทะและควรตั้งรับอยู่ในค่าย หาไม่แล้วจะต้องพบกับความพ่ายแพ้ แต่แฮหัวเอี๋ยนไม่เชื่อฟัง แล้วส่งแฮหัวซงออกรบ บุกตีค่ายของฮองตง แฮหัวซงประมือกับฮองตงเพียงเพลงเดียว ก็ถูกฮองตงจับเป็นเชลย
อ่านแล้วอาจจะไม่เข้าใจ จึงขออธิบายเพิ่มเติมด้วยรูปภาพเปรียบเทียบความแตกต่างของ "แขกกลับมาช่วยเจ้าเรือน" และ "สลับแขกเป็นเจ้าบ้าน" 2 ภาพตามนี้ครับ
เปรียบเทียบความแตกต่างของ "แขกกลับมาช่วยเจ้าเรือน" และ "สลับแขกเป็นเจ้าบ้าน"
สรุป
"ฮวนเคกอุยจู๋จีอวด" ตามต้นฉบับคือกลยุทธ์สลับแขกเป็นเจ้าบ้าน โดย "แขก" คือฮองตง ค่อย ๆ รุกคืบเข้าในดินแดนของ "เจ้าบ้าน" แฮหัวเอี่ยน ทำให้แฮหัวเอี๋ยนโกรธจนยกทัพออกมารบ ทั้ง ๆ ที่การตั้งรับอยู่ในบ้าน(เขาเตงกุนสาน) เป็นการได้เปรียบกว่าตามที่เตียวคับได้เตือนไว้ส่วนในหนังสือสามก๊กฉบับภาษาไทยแปลเป็น "แขกกลับมาช่วยเจ้าเรือน" และมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ผมขออนุญาตสันนิษฐานว่า มาจากแนวคิดที่ให้ "แขก" คือแฮหัวเอี๋ยน (และแฮหัวซง) ที่ถูกหลอกให้เข้ามาบุกตี "เจ้าเรือน" คือค่ายที่ตั้งเรียงรายของฮองตง ทีละส่วน ๆ แล้วจึงถูกล้อมตี เป็นการช่วยเจ้าเรือนให้ได้ชัยชนะในที่สุด
อ่านดูแล้วแม้จะแปลชื่อผิด และดัดแปลงรายละเอียด แต่ผมคิดว่า "ฮวนเคกอุยจู๋จีอวด" ของเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ละเอียดรอบคอบ และสุขุมลุ่มลึกกว่าแผนต้นฉบับเสียอีก นับเป็นการสร้างสรรค์กลยุทธ์ขึ้นใหม่ในแบบไทย ๆ และแสดงความเหนือชั้นของบรมครูแห่งวิชาสามก๊ก
สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เป็นสุดยอดตำราของไทย ! จริง ๆ
ผมละเสียดายแฮหัวเอี๋ยนจริงๆ ในบรรดาญาติของโจโฉผมว่าคนนี้เป็นสุดยอดแม่ทัพคนหนึ่งนะ ถ้าเทียบกับฝ่ายเล่าปี่ก็คงเป็นกวนอู ไม่น่ามาพลาดให้หวดเจ้งกับฮองตงเลย
ตอบลบหวดเจ้งก็เหมือนกัน ถ้าเขายังอยู่ จ๊กก๊กมีหรือจะเป็นไปได้ถึงเพียงนั้น =_=
"หากหวดเจ้งยังอยู่ คงรั้งพระองค์ได้เป็นแน่"
ลบเป็นคำพูดของขงเบ้ง ที่แสดงถึงความสำคัญของหวดเจ้ง ในตอนที่เล่าปี่จะบุกตีกังตั๋ง ล้างแค้นให้กวนอู
เขาเป็นคนที่เล่าปี่รักและเคารพมาก ขงเบ้งนั้นสำคัญกับเล่าปี่แค่ช่วงแรก ๆ เซ็กเพ็ก - ได้เกงจิ๋ว
แต่หวดเจ้งนี่ทำให้เล่าปี่ได้ครองเสฉวนและขึ้นเป็นฮันต๋งอ๋อง ถ้าเล่าปี่เกิดในสมัยเราคงต้องทำป้ายทองติดหลังบัลลังค์ ประมาณว่า "มีวันนี้เพราะพี่ให้"
เคยอ่านของคุณเล่า ชวน หัว หวดเจ้งนี่มีตำแหน่งสูงและใกล้ชิดกับเล่าปี่ยิ่งกว่าขงเบ้งอีกหรือปล่าวครับ รู้สึกจะได้เป็นราชเลขาธิการ
ลบขงเบ้งตำแหน่งสูงกว่าเพราะเป็นอัครมหาเสนาบดี มีอำนาจรองจากเล่าปี่ ดูแลทุกเรื่อง
ลบแต่หวดเจ้งก็เป็นราชเลขาธิการ ใกล้ชิดเล่าปี่มากกว่าขงเบ้งเพราะมีหน้าที่ดูแลแนะนำเล่าปี่โดยตรง
ตามประวัติแล้วน่าจะสูสีพอฟัดพอเหวี่ยง มีเถียง มีชื่นชมกันตลอด ทั้งคู่ช่วยกันร่างกฎหมายใหม่สำหรับปกครองเมือง
ส่วนภาพลักษณ์ยังไง หวดเจ้งก็เทียบขงเบ้งไม่ได้ เพราะหวดเจ้งเป็นหนึ่งในลูกน้องขายนาย ที่หักหลังเล่าเจี้ยง แล้วยกเสฉวนให้เล่าปี่ครับ
พึ่งรู้ว่าหวดเจ้งจะเก่งขนาดนี้น่ะเนี้ย
ตอบลบหวดเจ้งนี่เป็น Key Man ช่วงยึดเสฉวนกับฮันต๋งเลยครับ
ลบกลยุทธนี้ ชูวิทย์ พรรคฝ่ายค้านกำลังดำเนินกลยุทธ อยู่ รอดูกันต่อไป ว่าแขกจะได้เป็นเจ้าบ้านตอนไหน
ตอบลบเห็นว่าล่าสุดแกแจกหนังสือชื่อ "การเมืองแบบหมา ๆ" อยากได้อยู่เหมือนกัน เพราะข้างในน่าจะมีอะไรแรง ๆ สนุก ๆ เยอะ
ลบ