มือสังหารกตัญญูในตำนาน ผู้เป็นแบบอย่างให้กับเทพเจ้ากวนอู
ในแบบเรียนวิชาภาษาไทย เรื่องสามก๊กตอน "กวนอูไปรับราชการกับโจโฉ" โจโฉลังเลใจว่าควรจะเกลี้ยกล่อมกวนอูมาเป็นพวกดีหรือไม่ เพราะกวนอูได้ยื่นข้อเสนอ 3 ข้อที่โจโฉไม่อาจยอมรับได้ โดยเฉพาะข้อที่ว่าหากกวนอูรู้ข่าวว่าเล่าปี่อยู่ที่ใด กวนอูสามารถไปหาเล่าปี่ได้ทันทีโดยไม่ต้องลาโจโฉก่อน
เตียวเลี้ยวขุนพลคนสนิทของโจโฉ จึงได้ยกตัวอย่างของนิทานโบราณเรื่องหนึ่ง มาเกลี้ยกล่อมให้โจโฉรับกวนอูมาทำราชการด้วย นั่นคือเรื่องของ "อิเยียง"
เหตุผลเดียวที่โจโฉรับกวนอูมาทำราชการด้วยคือ "อิเยียง" |
ในหนังสือสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ได้กล่าวถึงความในตอนอิเยียงนี้ว่า
"เตียวเลี้ยวจึงว่า มหาอุปราชไม่แจ้งหรือ ในนิทานอิเยียงซึ่งมีมาแต่ก่อนว่า เดิมอิเยียงอยู่กับต๋งหาง ซึ่งเป็นเจ้าเมือง ต๋งหางเลี้ยงอิเยียงเป็นทนายใช้สอย ครั้นอยู่มายังมีคิเป๊กเจ้าเมืองหนึ่งนั้น ยกกองทัพมารบฆ่าต๋งหางตาย คิเป๊กได้อิเยียงไปไว้ จึงตั้งอิเยียงเป็นขุนนางที่ปรึกษา อิเยียงมีความสุขมาเป็นช้านาน แล้วเซียงจูเจ้าเมืองหั้นก๊กก็ยกทัพมารบฆ่าคิเป๊กตาย อิเยียงนั้นมีใจเจ็บแค้นเป็นอันมาก จึงไปยังเมืองหั้นก๊กแล้วเข้าซ่อนตัวอยู่ในที่ลับ จะลอยทำร้ายเซียงจูให้ถึงแก่ความตาย เซียงจูจับได้ถึงสองครั้ง มิได้เอาโทษให้ปล่อยอิเยียงเสีย ครั้นอยู่มาอิเยียงลอบเข้าไปซ่อนอยู่ถึงที่ข้างใน หมายจะฆ่าเซียงจูเสีย เซียงจูก็จับได้อีกจึงถามอิเยียงว่า ตัวจะทำอันตรายเรา เราจับได้ถึงสองครั้งแล้วก็มิได้เอาโทษ เราให้ปล่อยตัวเสียตัวก็มิได้หลาบจำ รื้อจะมาทำร้ายเราอีกเราก็จับตัวได้ แลตัวผูกใจแค้นเรานั้นด้วยเหตุสิ่งใด อิเยียงจึงบอกว่า เดิมข้าพเจ้าอยู่กับต๋งหาง ต๋งหางเลี้ยงข้าพเจ้าเป็นทนายใช้สอย ครั้นคิเป๊กยกไปฆ่าต๋งหางเสีย เอาตัวข้าพเจ้าไปตั้งให้เป็นขุนนางที่ปรึกษา ได้ความสุขเป็นอันมาก ครั้นนี้ท่านยกไปฆ่าคิเป๊ก ซึ่งเป็นนายมีคุณแก่ข้าพเจ้าเสีย ข้าพเจ้ามีใจเจ็บแค้นอยู่ คิดอ่านมาหวังจะทำอันตรายท่าน หวังจะแทนคุณคิเป๊ก ซึ่งท่านจับ ข้าพเจ้าได้ถึงสองครั้งแล้วปล่อยเสียนั้น ข้าพเจ้ายังไม่หายแค้น จึงลอบเข้ามาจะทำร้ายท่านอีก ท่านจึงจับได้แลโทษข้าพเจ้านี้ก็ถึงตายตามท่านจะโปรดเถิด เซียงจูจึงว่า เราจะปล่อยเสียตัวจะคิดทำร้ายเราอีกหรือไม่ อิเยียงจึงว่า ท่านปล่อยข้าพเจ้าเสีย ข้าพเจ้าก็ยังจะคิดร้ายแก่ท่านกว่าจะสำเร็จ ข้าพเจ้าจึงจะหาย แค้นถ้าท่านเอ็นดูข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะขอเสื้อซึ่งท่านใส่ แม้ท่านโปรดให้ ข้าพเจ้าจะได้สิ้นความพยาบาทท่าน เซียงจูได้ฟังดังนั้น ก็คิดว่าอิเยียงนี้มีน้ำใจกตัญญู จะใคร่ได้อิเยียงไว้จึงถอดเสื้อให้อิเยียง อิเยียงก็คำนับรับเอาเสื้อมา จึงถอดกระบี่ออกฟันเสื้อเสียสามที แล้วว่าแก่เซียงจูว่า ข้าพเจ้าได้แทนคุณคิเป๊กแล้ว อิเยียงก็เอากระบี่เชือดคอตาย
อันน้ำใจกวนอูนั้น ถ้าผู้ใดมีคุณแล้วเห็นจะเป็นเหมือนอิเยียง อันเล่าปี่กับกวนอูนั้นมิได้เป็นพี่น้องกัน ซึ่งมีความรักกันนั้น เพราะได้สาบานต่อกัน เล่าปี่เป็นแต่ผู้น้อย เลี้ยงกวนอูไม่ถึงขนาด กวนอูยังมีน้ำใจกตัญญูต่อเล่าปี่ จึงคิดจะติดตามมิได้ทิ้งเสีย อันมหาอุปราชมีวาสนากว่าเล่าปี่เป็นอันมาก ถ้าท่านได้ กวนอูมาไว้ทำนุบำรุงให้ถึงขนาด เห็นกวนอูจะมีกตัญญูต่อท่านยิ่งนัก"
ภาพวาดอิเยียงเอาดาบฟันเสื้อของเซียงจู |
โจโฉได้ฟังความเท่านี้ ก็ยอมรับข้อตกลงของกวนอูทันที ซึ่งเนื้อความในตอนนี้หนังสือสามก๊กฉบับภาษาไทยของเราทำไว้ดีมาก เพราะอธิบายถึงเรื่องราวของอิเยียงไว้อย่างละเอียด ในขณะที่สามก๊กฉบับภาษาอังกฤษละเลยรายละเอียดของอิเยียงและกล่าวแต่เพียงว่า
Zhang Liao replied, "You must know of Yu Rang's saying: the difference in behavior brought about by difference of treatment? Liu Bei treats Guan Yu just kindly and liberally; you can surely engage Guan Yu's heart and support by being kinder and more liberal."
นักอ่านสามก๊กชาวไทยจึงได้เปรียบฝรั่งอยู่ในเรื่องของอิเยียง ซึ่งเป็นบุคคลที่เทียบชั้นหรือยกเป็นแบบอย่างของกวนอูเลยทีเดียว แต่ถึงกระนั้นเรื่องของอิเยียงในหนังสือสามก๊กภาษาไทยก็ยังไม่ชัดเจน เพราะยังขาดตกในรายละเอียดอยู่บ้าง สามก๊กวิทยาจึงขออาสาเติมเต็มรายละเอียดนั้น โดยจะเน้นถึงเรื่องราวที่ไม่ได้เขียนไว้ในสามก๊กภาษาไทย รูปภาพเหตุการณ์ พร้อมทั้งวีดีโอที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เราเข้าถึงแก่นว่า เหตุใดเรื่องราวของชายผู้นี้จึงสามารถทลายกำแพงในหัวใจของโจโฉ และตกลงยอมรับกวนอูให้มาทำราชการด้วย
อิเยียง (Yu Rang, 豫讓)
อิเยียง เป็นหนึ่งในตำนานมือสังหารของจีน เขามีชีวิตอยู่ในยุคชุนชิว-จั้นกั๋ว ชีวประวัติของเขามีอยู่ในบันทึก “สื่อจี้” (Shi Ji, 史记) หรือ ”บันทึกประวัติศาสตร์” ของซือหม่าเชียน (Sima Qian, 司马迁) นักประวัติศาสตร์จีนเมื่อประมาณ 2,100 ปีที่แล้ว ในบทว่าด้วย "ประวัติมือสังหาร"
1. อิเยียง อาศัยอยู่ในรัฐจิ้น เป็นผู้มีวิชาความรู้ และพละกำลังเข้มแข็ง เคยรับราชการอยู่กับตระกูลฟ่านและต๋งหาง แต่ฟ่านและต๋งหางไม่เห็นคุณค่าของเขา อิเยียงจึงไปรับราชการอยู่กับคิเป๊ก
คิเป๊กนับถือในความสามารถของอิเยียงและเลี้ยงดูเขาเป็นอย่างดี
2. เกิดวิกฤติการณ์ภายในรัฐจิ้น เหล่าขุนนางตระกูลต่าง ๆ รบราฆ่าฟันกันเอง คิเป๊กได้สังหารฟ่านและต๋งหาง แต่ต่อมา คิเป๊กและครอบครัวทั้งหมดได้ถูกเซียงจูแห่งตระกูลจ้าวสังหารสิ้น
เซียงจูนั้นเกลียดคิเป๊กมาก ถึงขนาดที่ว่านำกระโหลกศีรษะของคิเป๊กไปทำจอกสุราใช้ดื่มกิน
3. อิเยียงทราบข่าวว่าคิเป๊กถูกฆ่าตาย เขากล่าวปฏิญาณตนว่า
"ชายชาติทหารยอมตายเพื่อคนรู้ใจ สตรียอมพลีตนเพื่อคนรัก สักวันหนึ่งข้าจะต้องแก้แค้นแทนคิเป๊กให้ได้"
จากนั้นเขาจึงเปลี่ยนชื่อแซ่ แล้วเข้าไปแฝงกายเป็นคนรับใช้อยู่ในวังของเซียงจู
4. อิเยียงเข้าไปทำความสะอาดห้องน้ำ แล้วซ่อนตัวอยู่ข้างในเพื่อรอจังหวะลอบสังหารเซียงจู
แต่เซียงจูเป็นคนขี้ระแวงและรอบคอบ ก่อนเข้าห้องน้ำเขาจะให้ทหารไปตรวจตราความปลอดภัยก่อนทุกครั้ง
5. ทหารเข้าไปตรวจห้องน้ำแล้วพบอิเยียงถือมีดสั้นแอบซ่อนตัวอยู่ จึงจับกุมตัวไว้
เซียงจูจึงถามว่า "เจ้าประสงค์สิ่งใดหรือ ?"
อิเยียงจึงกล่าวตอบว่า "ข้าหมายจะสังหารท่าน เพื่อแก้แค้นให้คิเป๊ก" ว่าแล้วก็ทำขัดขืน ทหารจึงเงื้องดาบจะฟัน แต่เซียงจูได้ห้ามไว้แล้วว่า
"อิเยียงเป็นคนกล้าหาญและมีคุณธรรม คิเป๊กเป็นผู้มีบุญคุณต่อเขา นี่คือความกตัญญูที่หาได้ยากยิ่งในโลกนี้"
เซียงจูว่าแล้วก็ให้ทหารปล่อยอิเยียงเป็นอิสระไป
6.อิเยียงยังไม่ละความพยายาม เขาเกรงว่าเซียงจูจะจำรูปพรรณสัณฐานของเขาได้ เขาจึงปลอมตัวเป็นยาจกสกปรก เอาสิ่งปฏิกูลทาตัว แล้วเดินเที่ยวขอทานอยู่ในตลาด
จนวันหนึ่งเดินไปพบภรรยาของตนโดยบังเอิญ เมื่อได้สนทนากัน แม้แต่ภรรยาของอิเยียงก็ยังจำเขาไม่ได้ แต่นางก็ได้กล่าวกับเขาว่า
"น้ำเสียงของท่านคล้ายเสียงสามีข้าเหลือเกิน"
อิเยียงจึงคิดว่าแค่ปลอมตัวนั้นคงไม่เพียงพอเสียแล้ว
7. อิเยียงจึงหาวิธีแก้ไขโดยกลืนกินถ่านไฟร้อน ๆ เพื่อทำให้เสียงเปลี่ยน
เพื่อนของอิเยียงทราบความแล้วรู้สึกสงสาร จึงเข้ามาหาแล้วกล่าวว่า "ท่านเป็นคนมีความรู้ความสามารถ เหตุใดจึงไม่แสร้งไปสวามิภักดิ์กับเซียงจู แล้วค่อยลอบสังหารมันเล่า"
อิเยียงจึงตอบว่า
"ข้าเป็นคนของคิเป๊ก ข้าแก้แค้นให้เขา เพราะยึดมั่นในความซื่อสัตย์กตัญญู แต่ถ้าหากข้าไปสมัครเป็นคนของเซียงจูแล้ว ข้ากลับทรยศหักหลังสังหารเขา ความซื่อสัตย์และกตัญญูที่ข้ายึดถือไว้จะมีประโยชน์อันใด แม้สิ่งที่ข้ากระทำอยู่จะเป็นเรื่องยาก แต่ข้าก็ละอายนัก หากจะต้องอยู่อย่างคนเนรคุณ"
8. เมื่อวันลอบสังหารมาถึง อิเยียงได้ไปซ่อนตัวอยู่ใต้สะพาน หมายใจจะลอบสังหารเซียงจูในขณะที่กำลังขี่ม้าผ่านมา
แต่เมื่ออิเยียงกระโดดพรวดเข้าไป ปรากฏว่าม้าของเซียงจูหยุดและกระโดดหลบคมอาวุธได้ทัน อิเยียงจึงถูกทหารเข้าจับกุมตัวอีกครั้ง
9. เซียงจูถามอิเยียงว่า "เจ้าเคยอยู่กับฟ่านและต๋งหาง แต่ต่อมาคิเป๊กได้สังหารพวกเขา เหตุใดเจ้าจึงไม่แก้แค้น"
อิเยียงตอบว่า "ข้าเคยอยู่กับฟ่านและต๋งหางก็จริงอยู่ แต่พวกเขาไม่เคยไว้เนื้อเชื่อใจ ไม่เคยมองเห็นคุณค่า ข้าจึงไม่เคยนับถือพวกเขา แต่กลับกัน คิเป๊กได้ดูแลข้าอย่างดี มอบความไว้เนื้อเชื่อใจและให้ความสำคัญแก่ข้า ข้าจึงเคารพนับถือ"
10. เซียงจูได้ฟังดังนั้นก็ชื่นชมในน้ำใจของอิเยียงยิ่งนัก แล้วกล่าวว่า
"อิเยียงเอ๋ย เจ้าช่างซื่อสัตย์กตัญญูต่อคิเป๊กนัก แต่ข้าเคยปล่อยเจ้าไปครั้งหนึ่งแล้ว ครั้งนี้จึงไม่อาจอภัยให้ได้"
ว่าแล้วเซียงจูก็สั่งให้ทหารล้อมตัวอิเยียงไว้
11. อิเยียงจึงกล่าวว่า "โบราณว่าไว้ เจ้านายผู้มีสติปัญญาย่อมยึดถือคุณธรรม ผู้สัตย์ซื่อถือตรงย่อมไม่เกรงกลัวความตาย ครั้งหนึ่งท่านเคยปล่อยข้า ผู้คนต่างสรรเสริญในคุณธรรมของท่าน ครั้งนี้ข้าพเจ้าจึงยินดีรับความตาย แต่ข้าพเจ้าอยากจะขอเสื้อคลุมของท่านนำมาฟันเพื่อแสดงความซื่อสัตย์กตัญญูต่อคิเป๊ก แม้ข้าตายก็จะไม่เสียใจเลย"
เซียงจูยอมรับในความซื่อสัตย์กตัญญูของอิเยียง เขาจึงมอบเสื้อคลุมให้แต่โดยดี
อิเยียงจึงชักกระบี่มาฟันเสื้อตัวนั้นสามครั้ง แล้วเงยหน้า ร้องไห้ตะโกนสู่ฟ้าว่าบัดนี้เขาได้แทนคุณคิเป๊กแล้ว
12. หลังจากนั้นอิเยียงก็ชักกระบี่มาเชือดคอตัวเองตาย ณ ที่นั้น ทหารของเซียงจูต่างเศร้าสลดและยอมรับนับถือในความซื่อสัตย์กตัญญูของอิเยียง
เรื่องราวของอิเยียงได้ถูกยกย่องและบอกเล่ากันเรื่อยมา ชื่อเสียงของเขาจึงล่ำลือมาจนถึงปัจจุบัน
-------------------------------
"อิเยียง คนต้นแบบของกวนอู" คนนี้ จึงไม่ใช่คนธรรมดา เขาเป็นหนึ่งในตำนานความซื่อสัตย์กตัญญูของประเทศจีน ซึ่งความซื่อสัตย์กตัญญูของอิเยียงนี้ ก็ถูกเตียวเลี้ยวนำมาเปรียบกับกวนอู โดยเตียวเลี้ยวหมายใจว่า "เล่าปี่เป็นแค่ต๋งหาง ส่วนโจโฉจะเป็นดังคิเป็ก" หากโจโฉยกย่องให้เกียรติและชุบเลี้ยงกวนอูอย่างดี กวนอูก็จะตอบแทนโจโฉด้วยชีวิต
การคะเนของเตียวเลี้ยวได้ถูกพิสูจน์ในศึกยุทธนาวีที่ผาแดง กองทัพเรือโจโฉถูกเผาวอด โจโฉต้องหนีหัวซุกหัวซุน แต่มาพบทางตันที่ตำบลฮัวหยง ที่นั่นเขาได้พบกับกวนอูสกัดทางไว้ และกวนอูก็ตอบแทนโจโฉ ด้วยการปล่อยให้โจโฉเป็นอิสระ ทั้ง ๆ ที่เขาทำสัญญากับขงเบ้งแล้วว่า จะเอาชีวิตเป็นประกัน หากปล่อยโจโฉให้หนีรอดไป
อนุสาวรีย์อิเยียงที่เมืองเหอเป่ย์ ( 河北邢台豫让公园 豫让像) |
ทั้งอิเยียง และกวนอู เป็นตำนานของประเทศจีน พวกเขาคือคนดี เป็นคนต้นแบบที่ควรค่าแก่การยกย่อง สรรเสริญ และนำมาเป็นแบบอย่าง นี่จึงเป็นอีกบทพิสูจน์ที่ว่า ...
"ความกตัญญู คือเครื่องหมายของคนดี"
《東周列國·戰國篇》 The Warring States period
อิเยียง (Yu Rang, 豫讓) |
เรื่องราวของอิเยียง สามารถรับชมได้จากละครโทรทัศน์เรื่องจั้นกั๋ว ตอนโจวตะวันออก 《東周列國·戰國篇》 (The Warring States period) ซึ่งเป็นละครซีรีย์เรื่องยาว ตั้งแต่ตอนที่ 1 - 3 จะเล่าเรื่องของ "อิเยียง" พระเอกในบทความนี้ของเราครับ
หมายเหตุ
- ทนายใช้สอย : คำว่า "ทนาย" ในที่นี้คือ "ผู้รับใช้ หรือ ผู้แทนนาย" ไม่ใช่ ทนายความ ,คำว่า ทนายใช้สอยจึงหมายความว่า ผู้ที่คอยรับใช้ คอยรับเรื่องราว ดำเนินการ ในกิจทั้งปวงแทนผู้เป็นนายของตน
ขอบคุณสำหรับบทความครับ สนุกดี
ตอบลบขอบคุณครับ ที่แวะมาเยี่ยมชม
ลบขอบคุณครับ เนื้อเรื่องน่าสนใจมากเลย
ตอบลบขอบคุณอีกครั้งสำหรับเรื่องราวดีๆ
ละครซีรีย์นี้ถ้าจำไม่ผิดช่อง 3 เคยเอามาออก แต่จำไม่ได้ว่าชื่อไทยว่าอะไร
ตอบลบ