Loading ...

$show=home

จุดเริ่มต้นของการศึกษาสามก๊ก

แหล่งศึกษาเรียนรู้ ทุกเรื่องราวของวรรณกรรมเพชรน้ำเอกของโลก

สามก๊กวิทยา : THREE KINGDOMS ACADEMY

ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่อาณาจักร
"สามก๊กวิทยา"
THREE KINGDOMS ACADEMY

ยุทธศาสตร์ของเกียงอุย

“การรุกคือการตั้งรับที่ดีที่สุด” เป็นปรัชญาทางการทหารที่มีอยู่จริง และมีใช้จริงในยุคสามก๊ก โดยนักการทหารชั้นเอกอย่าง “เกียงอุย” ปัจจัยต่าง ๆ ของเมืองเสฉวน ไม่เอื้ออำนวยให้เป็นฝ่ายรับ เกียงอุยจำจำเป็นต้องกระทำตนเป็นฝ่ายรุก นั่นคือการริเริ่ม การชิงความได้เปรียบ การแปรเปลี่ยนสภาพ จากผู้ที่ควรถูกกระทำให้กลายเป็นผู้กระทำ เกียงอุยเลือกเป็นผู้สร้างสถานการณ์ให้ฝ่ายศัตรูต้องตามแก้ “จ๊กก๊ก” จึงดำรงอยู่ได้โดยไม่มีขงเบ้งถึง 30 ปี …
ยุทธศาสตร์ของเกียงอุย

"The best form of defense is attack."

- Karl von Clausewitz -

เคราเซวิซ

     "The best form of defense is attack." หรือ “การตั้งรับที่ดีที่สุดคือการรุก” เป็นทัศนะเชิงสงคราม ทัศนะหนึ่งในตำราพิชัยสงคราม “On War” ของสุดยอดนักการทหารชาวยุโรปท่านหนึ่ง นามว่า คาร์ล เคราเซวิซ (Carl von Clausewitz ; 1 กรกฎาคม 2323 - 16 พฤศจิกายน 2374)

คาร์ล เคราเซวิซ (Carl von Clausewitz ; 1 กรกฎาคม 2323 - 16 พฤศจิกายน 2374)
คาร์ล เคราเซวิซ
     เคราเซวิซ เป็นนักการทหารปรัสเซียที่เข้าร่วมกองทัพเยอรมัน โจมตีฝรั่งเศสของนโปเลียน หลังสงครามเขาได้เขียนตำราพิชัยสงครามขึ้นมาเล่มหนึ่ง ชื่อ “On War” ซึ่งตำราเล่มนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นดั่ง "ตำราพิชัยสงครามซุนวูเวอร์ชั่นตะวันตก" โดยมีเนื้อหามุ่งเน้นไปที่การมองสภาวะสงครามจากมุมกว้าง การวางแผนที่เน้นไปทางยุทธศาสตร์ การกำหนดนโยบาย และการดำรงอยู่ของรัฐ มากกว่าการเอาชนะข้าศึกศัตรู ในการปะทะยิบย่อย เล็ก ๆ น้อย ๆ

แซมบ้า บราซิล

FIFA World Cup 2014 : Brazil
FIFA World Cup 2014 : Brazil
       “การรุกคือการตั้งรับที่ดีที่สุด” วาทะนี้แฟนฟุตบอลบราซิลคงเคยได้ยินอยู่บ้าง ในสมัยก่อน (ประมาณ 10-20 ปีที่แล้ว) ฟุตบอลสไตล์แซมบ้า เล่นแต่เกมรุกจนแทบแยกไม่ออกว่าใครเป็นกองหน้า กองกลาง หรือกองหลัง จนเมื่อมีคนตั้งคำถามว่าทีมบอลบราซิลเล่นเกมรับไม่เป็นเลยหรือ นักวิเคราะห์เกมฟุตบอลจึงตอบเชิงปรัชญาตามแบบการรบของเคราเซวิซ ที่มีความหมายเดียวกันว่า “การตั้งรับที่ดีที่สุดคือการรุก นั่นเอง

ยุคสิ้นพญามังกร

     "การรุกเพื่อรับ" คือการรุกเพื่อชิงเอาความได้เปรียบ เป็นการรุกเพื่อหวังผลรวมถึงการตั้งรับด้วย โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าฝ่ายเราไม่เหมาะต่อการเป็นฝ่ายรับ ในสงครามผู้ที่ทำการรุก คือผู้ที่มีความพร้อมมากกว่า ฝ่ายรุกจะเป็นผู้เลือกสมรภูมิ เป็นผู้กำหนดจุดเป็นจุดตายในสนามรบ ทำให้ฝ่ายรับเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพราะต้องคอยตามเกม ตามสถานการณ์ที่ฝ่ายรุกกำหนด

     คำนิยามของการรุกเพื่อรับนั้น อาจจะไม่มีใช้ในตำราพิชัยสงครามของจีน แต่หากประเมินตามสิ่งที่เกิดขึ้น การรุกเพื่อรับก็คือกลยุทธ์การล่อลวงลักษณะหนึ่ง และเมื่อเปรียบเทียบเหตุการณ์ในยุคสามก๊ก ก็จะเห็นว่า "การรุกเพื่อรับ" นี้คือยุทธศาสตร์ที่ “เกียงอุย” นำมาใช้ เพื่อรักษาแผ่นดิน "จ๊กก๊ก" ให้ดำรงอยู่ได้หลังจากที่สิ้น “ขงเบ้ง” ไปแล้ว นานถึง 30 ปี

ยุคสิ้นพญามังกร
ยุคสิ้นพญามังกรขงเบ้ง - เกียงอุยต้องรับผิดชอบการดำรงอยู่ของ จ๊กก๊ก
     ขงเบ้ง คือยอดคนแห่งยุคสามก๊ก ในตอนที่ขงเบ้งตาย หนังสือสามก๊กหลายเล่ม ภาพยนตร์หลายเรื่อง พากันจบลงที่ตรงนั้น ... หากไม่รู้ตอนจบมาก่อน ใครต่อใครก็คงจะพากันคิดว่าพอขงเบ้งตาย จ๊กก๊กก็สลาย ซึ่งนั่นก็ถูกอยู่บ้าง แต่ความจริงก็คือ จ๊กก๊กยังคงอยู่ได้กว่าครึ่งค่อนชีวิตคน

     นับตั้งแต่เล่าปี่เชิญขงเบ้งลงจากเขาโงลังกั๋ง ขงเบ้งมีระยะเวลาเฉิดฉายอยู่ในเรื่องสามก๊กแค่ 27 ปี แต่เกียงอุย ลูกศิษย์เอกของขงเบ้ง สามารถรับช่วงดูแลจ๊กก๊กได้ถึง 30 ปี ทั้ง ๆ ที่จ๊กก๊กแทบจะหมดสิ้นคนดีมีฝีมือที่เคยร่วมกันสร้างประเทศขึ้นมา

     รวมทั้งเมื่อเทียบกำลังกันกับวุย หรือง่อก๊กแล้ว จ๊กก๊กแทบไม่มีอะไรไปสู้ได้ เพราะตัวผู้นำอย่าง “อาเต๊า” เล่าเสี้ยนก็ไม่เอาไหน ประชาชนพลเมืองก็รักความสุขสงบ พื้นที่รอบ ๆ ด้านก็มีแต่คนป่าคนดอย .... เมื่อคิดดูแล้ว หากวุยหรือง่อก๊ก ยกทัพมาตีเสฉวนเมื่อใด จ๊กก๊กจะต้องพังพินาศเมื่อนั้น อย่างแน่นอน

ยุทธศาสตร์ของเกียงอุย

ยุทธศาสตร์ของเกียงอุย
เกียงอุยในวัยชรา
     เกียงอุย คือคนที่ยอดอัศวินจูล่งยอมรับในฝีมือการรบ ขงเบ้งยอมรับในสติปัญญา ชาวบ้านชาวช่องยอมรับในความกตัญญู เกียงอุยผู้นี้มีส่วนสำคัญมากต่อการดำรงอยู่ของจ๊กก๊กภายหลังสิ้นขงเบ้งไปแล้วถึง 30 ปี

     ด้วยสภาพแวดล้อม ลักษณะของผู้นำและเหล่าขุนนางที่รักความสุขสบาย การเมืองภายในเป็นสิ่งที่เกียงอุยเข้าไม่ถึง เพราะเขาเป็นคนจากเมืองอื่น เป็นดังนักการเมืองย้ายค่าย (เคยอยู่ฝ่ายวุยก๊กมาก่อน) เขาไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายหรือเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากนัก คงเหลือแต่เพียงอำนาจทางการทหาร ที่ยังคงอยู่ภายใต้การดูแลของเขา

     แม้การตั้งรับอยู่ในเมืองจะเป็นสิ่งที่จำเป็นและเป็นวิถีทางที่สะดวกสบาย ง่ายดายที่สุด แต่การปล่อยให้ประเทศให้ว่างเว้นจากการฝึกฝนเตรียมการศึก ย่อมไม่เป็นผลดี และในภาวะเช่นนี้ หากมัวแต่อยู่ในบ้านแล้ว วันใดเกิดถูกข้าศึกล้อมไว้ ขวัญและกำลังใจอันน้อยนิดตามแบบฉบับของชาวเสฉวนย่อมไม่คิดสู้รบเป็นแน่ (ดังเช่นที่ปรากฏขึ้นในภายหลัง เมื่อเตงงายนำกำลังพลมาเพียง 2,000 นาย แล้วเล่าเสี้ยนยอมแพ้ง่าย ๆ โดยไม่คิดสู้รบ)

     เกียงอุยรู้ถึงจุดอ่อนนี้ดี ศิษย์เอกของพญามังกรไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากเลือกเป็นฝ่ายรุก เลือกเดินเกมก่อน เพื่อกุมความได้เปรียบ เพื่อให้เขาสามารถเป็นฝ่ายเลือกสมรภูมิ และทำให้ศัตรูต้องคอยไล่ตามแก้ปัญหาที่เขาปล่อยโจทย์เข้าไป รวมทั้งเป็นการขยายแนวรับ โดยใช้แนวรุก ยิ่งไกลเสฉวน ยิ่งมากก็ยิ่งดี นี่คือที่มาถึงข้อสันนิษฐานว่าเกียงอุยใช้ยุทธศาสตร์ “การตั้งรับที่ดีที่สุดคือการรุก

รุกบุกเหนือ 8 ครั้ง

     เกียงอุยสร้างแนวรับ ด้วยการใช้การรุกบุกเข้าในในดินแดนของศัตรู สร้างความปั่นป่วนให้กับวุยก๊กเป็นอันมาก วุยก๊กในยุคนั้น ตั้งตัวแทบไม่ติด เมื่อเจอกองทัพของเกียงอุยเปิดเกมรุก ซึ่งตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปี วุยก๊กไม่เคยเป็นฝ่ายบุกเลยเพราะต้องเล่นตามเกมของเกียงอุย ในหนังสือสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน) มีการรุกขึ้นเหนือทั้งหมด 8 ครั้ง ตามเหตุและตามผล ดังนี้
  1. เกียงอุยยกทัพครั้งแรก เพราะพระเจ้าโจยอยตาย พระเจ้าโจฮองเพิ่งขึ้นครองราชย์ สุมาอี้ไล่กำจัดกลุ่มอำนาจเก่าอย่างโจซอง จนแฮหัวป๋าต้องหนีมาอยู่ด้วย แต่สุดท้ายก็ต้องแตกพ่ายเพราะกองทัพเกี๋ยงที่นัดไว้ไม่มาช่วย ทำให้แผนต่าง ๆ ที่วางไว้ล้มเหลว
  2. จูกัดเก๊ก มหาอุปราชเมืองง่อทำหนังสือชวนเกียงอุยให้ช่วยกันโจมตีวุยก๊ก จูกัดเก๊กรบกับสุมาสู แต่ตายเพราะถูกการเมืองภายในเล่นงาน ส่วนเกียงอุยรบไล่ต้อนสุมาเจียว จนมุมอดน้ำอดอาหารอยู่บนเขา แต่เทพดาไม่เป็นใจ เสกน้ำให้สุมาเจียวรอดชีวิต เกียงอุยจึงถูกตีแตกพ่ายไป
  3. พระเจ้าโจฮอง และสุมาสูตาย โจมอและสุมาเจียวขึ้นแทน การเมืองภายในวุยก๊กอยู่ในช่วงผลัดเปลี่ยน เกียงอุยจึงบุกเหนือครั้งที่ 3 แต่ไม่อาจตีเตงงายที่เมืองเตกโตเสียได้ และถูกอุบายจนต้องถอยทัพกลับ
  4. เกียงอุยยกทัพไปเขากิสานตามเหตุ 5 ประการ คือ มีกำลังใจดี , ชำนาญสงคราม , บุกทางเรือไม่เหนื่อยล้า , ชัยภูมิได้เปรียบ และ มีเสบียงอาหารบริบูรณ์ แต่เตงงายก็รู้ถึงเหตุทั้ง 5 นี้เช่นกัน และเตรียมรับมือเกียงอุยเป็นอย่างดี สุดท้ายจึงโจมตีเกียงอุยจนล่าถอยไปได้สำเร็จ
  5. สุมาเจียวกำเริบ จูกัดเอี๋ยนทนเห็นพระเจ้าโจมอถูกคุกคามไม่ได้จึงก่อกบฎหวังโค่นล้มสุมาเจียว เกียงอุยเห็นเป็นโอกาสจึงบุกวุยก๊กครั้งที่ 5 ที่เมืองเตียงเสีย แต่ถูกอุบายของเตงงาย แกล้งไม่ออกรบเพื่อถ่วงเวลารอกองทัพหนุนจากเมืองหลวง เกียงอุยรู้ว่าสู้ไม่ได้จึงถอยทัพกลับ 
  6. พระเจ้าซุนฮิว ส่งหนังสือมาเตือนพระเจ้าเล่าเสี้ยนให้ระวังสุมาเจียวที่กำลังจะยึดอำนาจที่เมืองลกเอี๋ยง เกียงอุยเห็นเป็นทีจึงขอยกทัพไปตี ที่เขากิสาน ก็เจอกับเตงงายคู่ปรับเก่า เกียงอุยเอาชนะเตงงายด้วยค่ายกลพยุหะ แต่ต้องถูกเรียกตัวกลับ เพราะเล่าเสี้ยนหลงเชื่อคำของฮุยโฮขันที ว่าเกียงอุยจะหนีไปเข้าอยู่กับสุมาเจียว
  7. สุมาเจียวออกอุบายสังหารพระเจ้าโจมอเพื่อเตรียมการชิงราชสมบัติ เมื่อพระเจ้าโจมอตายก็ยกเอาโจฮวนขึ้นแทนไปพลาง เกียงอุยเห็นว่าวุยก๊กเริ่มสั่นคลอน จึงยกทัพครั้งที่ 7 รบชนะเตงงาย และสังหารอองก๋วนได้ แต่เสบียงหมด จึงต้องยกทัพกลับ
  8. การเมืองในวุยก๊กยังปั่นป่วน ประกอบกับการศึกครั้งล่าสุดเกียงอุยเป็นฝ่ายได้เปรียบ เขาจึงจัดทัพบุกเหนืออีกครั้ง ที่เมืองเตียวเจี๋ยง ครั้งนี้แฮหัวป๋าตายในการรบ แต่เกียงอุยก็ล้อมเตงงายให้จนมุมที่เขากิสาน จวนเจียนจะได้ชัย แต่ก็กลับมีหมายรับสั่งจากพระเจ้าเล่าเสี้ยนเรียกตัวเกียงอุยกลับ รวมถึง 3 ฉบับ เกียงอุยจำใจยอมยกทัพกลับ สาเหตุมาจากเล่าเสี้ยนเชื่อฟังคำฮุยโฮขันที คิดจะปลดเกียงอุย แล้วเอาเงียมอู เด็กในสังกัดเป็นแม่ทัพแทน เกียงอุยน้อยใจและเห็นว่าอยู่ในเมืองเสฉวนไม่ได้แล้วจึงขอไปตั้งกองกำลังอยู่ที่เมืองหลงเส
เกียงอุยจากเกมสามก๊ก 12
เกียงอุย เป็นฝ่ายรุก 8 ครั้ง ไม่เคยทำชาติล่มจม
     เกียงอุยเป็นผู้นำการรุกบุกเข้าตีวุยก๊ก ทั้งหมดรวมถึง 8 ครั้ง เป็นระยะเวลาเกือบ ๆ 30 ปี คิดถัวเฉลี่ยก็จะได้ประมาณ 4 ปีบุกตีครั้งนึง ....  เมื่อเอาเวลามาจับ คิดแล้วก็ไม่มากไม่น้อยเกินไปในภาวะสงครามเช่นนี้

     ทั้งนี้การบุกแต่ละครั้ง เกียงอุยจะเลือกบุกในช่วงที่วุยก๊กอ่อนแอที่สุด หรือมีปัญหาภายในแทบทุกครั้ง เพราะนี่คือโอกาสทองที่เหมาะสมที่สุดในการโจมตี เห็นได้ว่าเกียงอุยมีความเข้าใจในจังหวะแห่งการริเริ่มสงครามเป็นอย่างดี ไม่ได้สุ่มสี่สุ่มห้า โยนหัวโยนก้อยบุกแต่อย่างใด

     ในศึกครั้งสุดท้ายซึ่งนับเป็นศึกครั้งที่ 9 ไม่ใช่การรุกแต่เป็น "การตั้งรับครั้งแรก" ของจ๊กก๊ก สุมาเจียวรู้ว่าการเมืองในราชสำนักจ๊กก๊กเหลวแหลก เกียงอุยต้องลี้ภัยไปอยู่หลงเส เขาไม่รอช้า มอบหมายให้จงโฮยและเตงงาย บุกเข้าตีเสฉวนทันที

     เกียงอุยจัดทัพตั้งรับอย่างสุดความสามารถ รวมทั้งมีใบบอกแจ้งข่าวให้พระเจ้าเล่าเสี้ยนเตรียมการรับศึก แต่ฮุยโฮกลับยุยงไม่ให้เล่าเสี้ยนเชื่อเกียงอุย รวมทั้งยังนัดหมายคนทรงมาดูดวงเมืองให้ ว่าจะอยู่รอดปลอดภัยไร้กังวล ... ผลก็เป็นอย่างที่ทราบ ... จ๊กล่มเป็นก๊กแรก "หมอดูคู่หมอเดา"

การบุกทำให้ประเทศอ่อนแอ ?

อนุสาวรีย์เกียงอุยที่เมืองเทียนซุย ประเทศจีน
อนุสาวรีย์เกียงอุยที่เมืองเทียนซุย ประเทศจีน
      นักวิเคราะห์เรื่องสามก๊กหลาย ๆ ท่าน มักกล่าวโทษเกียงอุยว่า เป็นเพราะเขาดันทุรัง ดื้อดึง บุกมหาอำนาจอย่างวุยก๊กถึง 8 ครั้ง ทำให้จ๊กก๊กต้องอดอยากยากจน ประชาชนเหนื่อยล้า ขุนนางข้าราชการคัดค้าน เกียงอุยก็ไม่เคยรับฟัง คิดแต่จะสร้างสงครามอยู่ตลอดเวลา เป็นความสูญเสียที่นำไปสู่การล่มสลาย

     เรื่องอดอยากยากจนนี้ ขอให้ตีตกไปได้เลย เพราะเมื่อครั้งเตงงายบุกเข้ามาเสฉวนอย่างสบายอารมณ์นั้น เขาได้ตรวจบัญชีเมืองเสฉวน แล้วก็ต้องตกตะลึงเมื่อพบว่า เสฉวนมีบ้านเรือนถึง 180,000 ครัวเรือน มีประชากร 940,000 คน มีทหาร 102,000 คน มีข้าวอยู่ในยุ้งฉางกว่า 400,000 เกวียน (จำนำได้เยอะใช่เล่น) มีทองและเงินอย่างละ 2,000 ชั่ง มีผ้าแพรชั้นดีสี่อย่าง ๆ ละ 100,000 พับ และอื่น ๆ อีกจำนวนมาก .... ยากจนที่ไหนกัน ?

     อีกทั้งเมื่อเทียบกับหนังสือสามก๊กฉบับภาษาอังกฤษของบริวิท เทเลอร์ ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะเสฉวนเมืองที่มีสงครามมาตลอดนี้ มีทรัพย์สินจำนวนมหาศาล มากกว่าที่หนังสือสามก๊กฉบับภาษาไทยบรรยายไว้ ดังนี้

      “2,800,000 households, 9,140,000 souls, 102,000 active armed soldiers of all ranks, and 40,000 civil employees. Besides, there were granaries with 4,000,000 carts of grain, treasuries with 3,000 pounds of gold and silver and 200,000 rolls of silks of many qualities, and many unenumerated but precious things in the various storehouses.”

     เตงงายพอทราบความจริงเข้าดังนั้นก็จัดงานเลี้ยงอย่างใหญ่โตทันที... เล่าแล้ว ชวนหัวเราะไม่ออก ที่เคยหลงคิดไปว่า เพราะเกียงอุยก่อสงคราม ชาวเสฉวนจึงลำบากยากไร้ ... จนพ่ายแพ้

     ดู ๆ ไปแล้ว "ที่ชาวเสฉวนยากไร้นั้นหาใช่เงินทอง แต่เป็นน้ำใจรักชาติต่างหาก" จึงยอมแพ้ให้แก่ เตงงาย อย่างง่ายดาย  

เกียงอุยก่อสงคราม
เกียงอุยก่อสงคราม จนบ้านเมืองพังพินาศจริงหรือ ?

สรุป

     “การตั้งรับที่ดีที่สุดคือการรุกเป็นปรัชญาทางการทหารที่มีอยู่จริง และมีใช้จริงในยุคสามก๊ก โดยนักการทหารชั้นเอกอย่าง “เกียงอุย” ปัจจัยต่าง ๆ ของเมืองเสฉวน ไม่เอื้ออำนวยให้เป็นฝ่ายรับ เกียงอุยจำเป็นต้องกระทำตนเป็นฝ่ายรุก นั่นคือการริเริ่ม การชิงความได้เปรียบ การแปรเปลี่ยนสภาพ จากผู้ที่ควรถูกกระทำให้กลายเป็นผู้กระทำ เกียงอุยเลือกเป็นผู้สร้างสถานการณ์ให้ฝ่ายศัตรูต้องตามแก้ “จ๊กก๊ก” จึงดำรงอยู่ได้โดยไม่มีขงเบ้งถึง 30 ปี …

     มีกำลังน้อยอย่ามัวตั้งรับเพื่อรอวันแพ้ แต่จงรุกเข้าไป !! ... เกมกระดานนี้ จึงจะเป็นของท่าน

หมายเหตุ : บทความนี้ไม่อิงประวัติศาสตร์ และเป็นบทวิเคราะห์สามก๊กตามวรรณกรรมเท่านั้น

The romance of three kingdoms - Jiang Wei

กรุณาแสดงความคิดเห็น

BLOGGER: 21
  1. ต้องเล่นเกมส์ Travian แล้วจะเข้าใจ กลศึกสามก๊กมากขึ้น อิอิ

    ตอบลบ
  2. +1 ครับ
    ชอบ ๆ

    ตอบลบ
  3. ชอบมากๆๆครับ ผมชอบเกียงอุยนะตัวโปรดเหมือนกัน พึ่งเคยเห็นตอนแก่ เท่ดี
    แต่อ่านประวัติเกียงอุยทีไร รู้สึกสงสารแทนทุกที มาเกิดปลายยุค ทั้งที่มีแววเทพขนาดนี้

    ตอบลบ
  4. อารมคล้ายๆจิวยี่ เกิดมาเก่งแต่ดันต้องมาชนกับขงเบ้ง ถ้าเกิดพร้อมลกซุนละก็ ง่อตรองแผ่นดินแน่

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ตอนจิวยี่เป็นแม่ทัพ ลกซุนเกิดแล้วครับ แต่เป็นลูกน้องจิวยี่อยู่

      ลบ
  5. วิเคราะห์ ได้เฉียบคม น้ำใจกว้างขวาง ครั้งนี้ ขอคาราวะด้วยใจจริง ไม่มีขอโต้แย้ง ใดๆทั้งสิ้นครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. อาจารย์ฮกหลงเข้ามาเชียร์ลูกศิษย์เอกหรือครับ

      ลบ
    2. ของเขาดีจริง เก่งจริง อะไรจริง ครับ 55555+

      ลบ
  6. ขนลุกเลยครับ

    ตอบลบ
  7. อ่านแล้วประทับใจมากครับ โดยเฉพาะ "ที่ชาวเสฉวนยากไร้นั้นหาใช่เงินทอง แต่เป็นน้ำใจรักชาติต่างหาก" เห็นด้วยครับ

    ตอบลบ
  8. เกียงอุย คือผู้สมบูรณ์แบบที่สุด ใน สามก๊ก เพราะเขามีความสามารถทุกด้าน

    ตอบลบ
  9. คารวะ 1 จอกค่ะ ดูเกียงอุย สามก๊ก 1994 ก็ชอบเกียงอุย(ทั้ง 2 คนเลย ตอนหนุ่มกับตอนมีอายุ) ชอบเหมือนที่ขงเบ้งชอบเขา ขงเบ้งพิเคราะห์แล้วว่าเกียงอุยนั้นเหมาะสม ทั้งอุปนิสัย ความคิด ความกล้าหาญ ไว้ใจมอบหมายให้สืบต่อปณิธานได้ ยิ่งอ่านบทความนี้ก็ยิ่งรักเกียงอุย

    ขอเพิ่มเติมเรื่องบทความเรื่องเต้าหู้เจี้ยนเหมินของคุณปริวัฒน์ มีตำนานว่า ตอนเกียงอุยสู้กับจงโอยแล้วเกียงอุยและทหารต้องล่าถอยมาปิดประตูด่านเกียมก๊ก นั้นทั้งทหารและม้าอิดโรย บาดเจ็บ ชาวบ้านจึงช่วยกันนำถั่วเหลืองมาปรุงเป็นอาหารให้ทัพของเกียงอุย สามวันเหล่าทหารและม้ามีกำลังขึ้น ยกทัพออกจากด่านเกียมก๊ก ขับไล่ทหารวุยก๊กถอยร่นไปไกลสิบลี้ นับเป็นการที่ชาวบ้านมีส่วนช่วยร่วมแรงร่วมใจกัน

    ยิ่งดู mv นี้ กับ mv ที่เกียมก๊ก ก็น้ำตาซึมทุกที

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขอบคุณแม่นางเตียวที่แวะมาทักทายครับ
      ผมชอบเรื่องเต้าหู้มาก เดี๋ยวจะลองค้นคว้ามาอ่านบ้าง
      เกียงอุย เป็นคนที่น่านับถือคนหนึ่งในเรื่องสามก๊ก สิ่งที่เขาทำนั้นออกมาจาก "ปณิธาน" ล้วน ๆ ไม่มีผลประโยชน์อื่นใด
      แต่ถึงขนาดดู MV แล้วน้ำตาซึมนี่ ท่านแม่นางเตียวรักขงเบ้งกับศิษย์เอกคนนี้จริง ๆ

      ลบ
  10. สวัสดีครับครับคุณ Samkok Wittaya
    พอดีคืนนี้เสิจเรื่องของเกียงอุยก็มาเจอ blog ของคุณ Samkok Wittaya พอดีเลยถือโอกาสเข้ามาทักทายอย่างเป็นทางการครับ
    อย่างที่เคยบอกกล่าวใน blog ผมนะครับผมเป็นผู้ที่ชื่นชอบศึกษาประวัติศาตร์อย่างกว้างขวาง และหลงไหลในการสงคราม
    แต่คงไม่นับว่าเป็นแฟนพันธุ์แท้ของสามก๊กซะทีเดียว เพราะสำหรับผมแล้วเป็นช่วงนึงของประวัติศาตร์จีนที่น่าศึกษาทีเดียว
    อ่านแล้วก็ลืมเลือนรายละเอียดแต่ซึมซับจดจำวิธีคิดแทน เรียกว่าอ่านเพื่อดึงดูดแนวคิดมาเป็นประโยน์ส่วนตนมากกว่า ฮะๆๆ ^^" ประมาณนั้นครับ

    คืนนี้ไม่ทราบอารณ์ไหนนึกถึงจูล่งแล้วพาลมาถึงเกียงอุยเลยลองเสิจๆดูปรากฏว่ามุมมองในหมู่นักอ่านสามก๊กชาวไทยก็วิพากษ์เกียงอุยเป็นสองกระแส คือชื่นชมและตำหนิ
    1.ชื่นชมเกียงอุยเป็นผู้มีความสามารถและยึดมั่นอุดมการณ์สืบทอดปนิธานเล่าปี่และขงเบ้งใช้ยุทธการรุกแทนการรับในการรับมือวุยก๊ก
    2.ตำหนิเกียงอุยแม้เป็นผู้มีความสามารถแต่ ยึดติดหัวแข็ง ดื้อรั้นก่อสงคราม วางกลยุทธผิดพลาดและเป็นและเป็นเหตุให้รัฐตกต่ำลง

    แต่สำหรับผมแล้วเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับสองกระแสนี้ แต่จะไม่ขอวิพากษ์ยุทธดารของเกียงอุยเพราะคงจะร่ายยาวและมีอีกหลายเหตุผลที่ผมไม่สามารถอธิบายได้หมด(แค่จะแวะมาทักทายเฉยๆ ^^")
    ผมให้คำจำกัดความสั้นๆสำหรับบุรุษในประวัติศาตร์ผู้นี้ คือ
    "เป็นผู้มีความสามารถกตัญญูและยึดมั่นในอุดมการณ์คำสอน"
    สำหรับคำจำกัดความสั้นๆของผมนี้เมองได้หลายมุมมองนะครับ อยู่ที่คนมองเลือกมองจากมุมไหน

    ผมไม่เห็นด้วยกับกระแสติทั้งหมดเพราะเกียงอุยในแง่ความสามารถเชิงยุทธได้รับการยอมรับจากจูล่ง ในแง่สติปัญญาได้รับความชื่นชมจากขงเบ้งเรียกว่าเพียบพร้อมทั้งสติปัญญาและความสามารถทั้งยังแตกฉานในพิชัยสงคราม คนประเภทนี้ย่อมไม่ถึงกับดื้อรั้นหัวแข็ง ยอมหักไม่ยอมงอ โดยไม่ทำความเข้าใจในความเหมาะสมของสถานการณ์ต่างๆ ในขณะที่ดินแดนเสฉวนเป็นที่ยอมรับของนักภฺมิศาสตร์ทั่วทั้งแผ่นดินในอดีตถึงปัจจุบันว่าเป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ ประชากรที่อาศัยในดินแดนนี้ถือว่าค่อนข้างมีฐานะชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆโดยเฉพาะภาคเหนือของจีน อีกทั้งภูมิประเทศล้อมรอบด้วยหุบเขาสูงชันหวาดเสียวอันตราย ง่ายต่อการตั้งรับและยากต่อการบุกรุก หลายช่วงของประวัติศาตร์จีนดินแดนเสฉวนจึงไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากไฟสงครามเท่าใดนัก ดังนั้นนักพิชัยสงครามเช่นเกียงอุยย่อมไม่มีเหตุผลที่จะใช้ยุทธวิธีรุกแทนการรับ หากเป็นเหตุของการเตรียมความพร้อมสร้างประสบการณ์รบของกองทัพ ชายแดนตะวันตกมีชนเผ่ามากมายที่สมัยนั้นชาวฮั่นมองว่าเป็นคนเถือนมากมายให้เลือกซ้อมรบซึ่งตรงนี้เป็นจุดที่ผมไม่เห็นด้วยกับกระแสชื่นชม เมื่อพูดถึงตรงนี้อยากให้นึกถึงยุทธศาสตร์ของดาบสวรรค์ซ่งเสวีย ที่เปนตัวละครของอาจารย์หวงอี้ในเรื่อง"มังกรคู่สู้สิบทิศ" (ผมไม่อยากเปรียบเทียบกับบุคคลจริงในประวัติศาตร์คนอื่น ^^") ที่ทำการปราบปรามชนเผ่าลีเหลียวและอื่นๆ สร้างความมั่นคงให้รัฐและสั่งสมเสบียงและกำลังทหาร ..ขอสั้นแค่นี้นะครับ^^"

    ทั้งหลายทั้งปวงเกียงอุยสำหรับคิมฮวง เป็นบุคคลที่มากความสามารถ จุดแข็งคือเพียบพร้อมทั้งบุ๋นและบู๊เชื่อมั่นในตนเอง ในขณะที่จุดอ่อนคือความอดทนและการเมือง ..ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ว่าท่านใดจะชื่นชมหนือติเตียน แต่มิอาจลืมว่าเกียงอุยเป็นแม่ทัพไม่ใช่กษัตริย์หรือผู้ครองรัฐ "วิศัยทรรศ" ของเกียงอุยจึงเป็นเรื่องสำคัญหากจะมองว่าบุคคลในประวัติศาตร์ผู้นี้สำเร็จหรือล้มเหลว แต่ไม่ว่าอย่างไร เกียงอุยนับเป็นบุคคลที่มากความสามารถผู้หนึ่งอย่างมิต้องสงสัยครับ

    ยาวจนได้สิน่า.. ^^" คิมฮวงขอแวะมาทักทายเท่านี้ก่อนนะครับ หากมีโอกาสจะแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมเยียนสหายร่วมแนวอีก

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. คารวะท่านคิมฮวง

      ก่อนอื่นต้องขอขอบพระคุณ ที่ท่านได้กรุณาแวะมาเยี่ยมเยียนและแสดงความคิดเห็นอันล้ำค่าไว้
      ความเห็นของท่าน เป็นสิ่งที่แสดงถึงความรักและความจริงใจที่ท่านมีต่อการศึกษาวรรณกรรมจีนเรื่องสามก๊ก
      มองตัวละครอย่างเป็นธรรม ว่าไปตามความผิด - ถูก
      สามก๊กวิทยายินดีรับฟังความคิดเห็นของท่านด้วยความปิติเป็นอย่างยิ่งครับ

      ปล. ผมแวะไปอ่านบทความของคุณคิมฮวงในบล๊อก สำนวนเขียนคุณคิมฮวงดีมาก อ่านแล้วเหมือนเดินท่องไปในยุทธจักรเลย

      ลบ
  11. ข้าน้อยขอ คาราวะศิษย์พี่ Samkok Wittaya นับถือ นับถือ ^_^

    ตอบลบ
  12. แวะมาโหวตให้บล็อกสามก๊กวิทยา อีกหนึ่งบล็อกคุณภาพ (คะแนนที่ 202)

    ตอบลบ
  13. ขอบคุณมากนะครับ ที่โหวดสะกิดบล๊อกในปีที่แล้ว ปีนี้ผมมาโวดให้แล้วนะครับ

    ตอบลบ
  14. ขอบพระคุณ คุณพี่ ๆ มากเลยค่ะ หนูหาประวัติเกียงอุ้ย มานานแล้ว หาอ่านยากมาก (ขอ ขอบคุณอีกครั้งนะคะ)

    ตอบลบ

ชื่อ

กวนอู,67,การ์ตูน,19,การเมือง,77,กิจกรรม,18,เกม,160,ขงเบ้ง,94,ของสะสม,40,ข่าวสาร,118,คำคมสามก๊ก,77,จิวยี่,5,จูล่ง,21,โจโฉ,66,ซุนกวน,7,เตียวหุย,11,เนื้อหาสามก๊ก,5,บทความ,353,บุคคลภาษิตในสามก๊ก,12,แบบเรียน,8,ปรัชญา,45,เพลง,41,ภาพยนตร์,53,รูปภาพ,67,ลิโป้,9,เล่าปี่,18,วิดีโอ,66,วิธีคิดวิธีทำงาน,13,เว็บไซต์,14,สถานที่,21,สามก๊ก12,14,สามก๊ก13,32,สามก๊ก14,3,สามก๊ก2010,95,สามก๊ก8,1,สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน),87,สุมาอี้,15,หงสาจอมราชันย์,13,หนังสือ,173,อาวุธ,7,แอป,43,Dynasty Warriors,57,E-book,87,
ltr
item
สามก๊กวิทยา : Three Kingdoms Academy: ยุทธศาสตร์ของเกียงอุย
ยุทธศาสตร์ของเกียงอุย
“การรุกคือการตั้งรับที่ดีที่สุด” เป็นปรัชญาทางการทหารที่มีอยู่จริง และมีใช้จริงในยุคสามก๊ก โดยนักการทหารชั้นเอกอย่าง “เกียงอุย” ปัจจัยต่าง ๆ ของเมืองเสฉวน ไม่เอื้ออำนวยให้เป็นฝ่ายรับ เกียงอุยจำจำเป็นต้องกระทำตนเป็นฝ่ายรุก นั่นคือการริเริ่ม การชิงความได้เปรียบ การแปรเปลี่ยนสภาพ จากผู้ที่ควรถูกกระทำให้กลายเป็นผู้กระทำ เกียงอุยเลือกเป็นผู้สร้างสถานการณ์ให้ฝ่ายศัตรูต้องตามแก้ “จ๊กก๊ก” จึงดำรงอยู่ได้โดยไม่มีขงเบ้งถึง 30 ปี …
https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEg-4HKw1Qpx1ZKsx9IJN8M8694KEpmwk5WspDti7hhS3W0t8ZRlX3RZjcdAtAnBxwUKpqC9chGrXIE3DA9cdXC_cQV4GJJP_XTEVeC0gT-RbkQotNJ-aTubPJhpXB05Je0xbKuw5CBV2x0/s640/%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%A2.jpg
https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEg-4HKw1Qpx1ZKsx9IJN8M8694KEpmwk5WspDti7hhS3W0t8ZRlX3RZjcdAtAnBxwUKpqC9chGrXIE3DA9cdXC_cQV4GJJP_XTEVeC0gT-RbkQotNJ-aTubPJhpXB05Je0xbKuw5CBV2x0/s72-c/%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%A2.jpg
สามก๊กวิทยา : Three Kingdoms Academy
https://www.samkok911.com/2013/06/Jiang-Wei-Strategy.html
https://www.samkok911.com/
https://www.samkok911.com/
https://www.samkok911.com/2013/06/Jiang-Wei-Strategy.html
true
4216477688648787518
UTF-8
โหลดเนื้อหาทั้งหมด ไม่พบเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง ดูทั้งหมด อ่านเพิ่ม ตอบ ยกเลิกการตอบ ลบ โดย หน้าแรก หน้า โพสต์ ดูทั้งหมด เรื่องแนะนำสำหรับคุณ หมวดหมู่บทความ เนื้อหาในช่วงเวลา ค้นหา บทความทั้งหมด ไม่พบเนื้อหาที่คุณต้องการ กลับหน้าแรก Sunday Monday Tuesday Wednesday Thursday Friday Saturday Sun Mon Tue Wed Thu Fri Sat January February March April May June July August September October November December Jan Feb Mar Apr May Jun Jul Aug Sep Oct Nov Dec just now 1 minute ago $$1$$ minutes ago 1 hour ago $$1$$ hours ago Yesterday $$1$$ days ago $$1$$ weeks ago more than 5 weeks ago Followers Follow THIS PREMIUM CONTENT IS LOCKED STEP 1: Share to a social network STEP 2: Click the link on your social network Copy All Code Select All Code All codes were copied to your clipboard Can not copy the codes / texts, please press [CTRL]+[C] (or CMD+C with Mac) to copy สารบัญ