วันเกิดของกวนอู ยังเข้าใจไม่ตรงกัน
กวนอูเป็นขุนพลเอก และเป็นน้องร่วมสาบานของเล่าปี่ เขาเป็นคนซื่อสัตย์ กตัญญู กล้าหาญและเที่ยงธรรม เป็นที่เคารพนับถือจากผู้คนมากมาย รวมทั้งจากศัตรูฝ่ายตรงข้าม เมื่อกวนอูเสียชีวิต เขาจึงถูกยกย่องให้เป็นเทพเจ้า
เรื่องกวนอูเป็นเทพเจ้านี้ เราทราบดีกันอยู่แล้ว เพราะมีศาล มีรูปเคารพ มีเครื่องรางมากมาย รวมทั้งในแต่ละปีจะมีการจัดงาน "วันคล้ายวันเกิดของกวนอู" ถึงปีละ 2 ครั้ง !!!
"วันเกิดกวนอู มีปีละ 2 ครั้ง !?"
เรื่องกวนอูเป็นเทพเจ้านี้ เราทราบดีกันอยู่แล้ว เพราะมีศาล มีรูปเคารพ มีเครื่องรางมากมาย รวมทั้งในแต่ละปีจะมีการจัดงาน "วันคล้ายวันเกิดของกวนอู" ถึงปีละ 2 ครั้ง .... โปรดฟังอีกครั้งว่า ปีละ 2 ครั้ง... !!! ... ???
เรื่องวันเกิดของกวนอูเป็นเรื่องที่มีการเข้าใจผิดอย่างร้ายแรง อันสืบเนื่องลัทธิอื่น นอกจากลัทธิเต๋า ต้องการใช้กวนอูเป็นเทพในลัทธิของตน แต่ก็มิได้เข้าใจถึงประวัติความเป็นมาที่แท้จริง ทำให้เกิดความเชื่อออกเป็น 2 แขนง เป็นว่า กวนอูเกิดในวันที่ "24 เดือน 6" และในวันที่ "13 เดือน 5" ตามหลักจันทรคติ หรือปฏิทินจีน
ในลัทธิเต๋า ต้นตำรับการบูชากวนอูนั้น ถือเอาวันที่ 24 เดือน 6 เป็น "วันคล้ายวันประสูติเทพเจ้ากวนอู" (กว้านอี้กง) ตรงตามบันทึกเรื่องประวัติของกวนอู ในเอกสารและตำนานของจีน แต่ในลัทธิหรือศาสนาอื่นที่ไม่เข้าใจ กลับเลือกใช้วันที่ 13 เดือน 5 มาเป็นวันเกิดของกวนอูแทน ซึ่งนั่นได้สร้างความขัดแย้ง และผิดไปจากเดิมมาก
ในประเทศไทยเองก็มีการใช้ผิด ... เช่น เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2556 ซึ่งตรงกับวันที่ 13 เดือน 5 ของปฏิทินจีน ได้มีการจัดงาน “วันคล้ายวันเกิดเจ้าพ่อกวนอู” ณ บริเวณศาลเจ้าชั่วคราว จ.นครสวรรค์ ที่ได้เลือกใช้วันนี้ในการจัดงานวันเกิดกวนอู มาหลายปีแล้ว
ปฏิทินจันทรคติ หรือปฏิทินจีน ไม่ได้นับตามแบบปฏิทินสากล ดังนั้นวันตามปฏิทินจีน จะเปลี่ยนไปทุกปีหากเทียบกับปฏิทินสากล เดือน 6 แบบจีน จึงอาจจะเป็นเดือน 7 หรือเดือน 5 ก็ได้หากเทียบกับปฏิทินสากล แต่ละปีจะไม่ตรงกัน นี่จึงอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งของความสับสน
แต่โดยแท้จริงแล้ว วันที่ 13 เดือน 5 ตามปฏิทินจีนคือ "วันเกิดกวนเป๋ง" บุตรบุญธรรมของกวนอู การที่ศาลเจ้าหลายแห่งจัดงานเฉลิมฉลอง จึงควรเรียกว่าเป็นงาน "วันคล้ายวันเกิดกวนเป๋ง" (แซยิดเทพกวนเป๋งไท้จื่อ) หรืองาน "แห่" เจ้าพ่อกวนอู ซึ่งที่ใช้ถูก ก็มีให้เห็น อย่างเช่น ที่ศาลเจ้าพ่อกวนอูพัทยา เป็นต้น
ตามตำนานความเชื่อของจีน กวนเป๋งเป็นบุตรคนแรกของกวนอู ไม่ใช่บุตรบุญธรรมแบบในนิยายของหลอกวนตง การจัดงานจึงควรเป็นการแสดงความยินดีกับกวนอูที่มีผู้สืบวงศ์ตระกูล และเป็นการฉลองวันเกิดให้กับกวนเป๋ง ซึ่งเรามักจะพบเห็นได้พร้อม ๆ กับกวนอู ในรูปเคารพ หรือในศาลเจ้า ฯ
นอกจากนี้ในอีกความเชื่อหนึ่งสำหรับวันที่ 13 เดือน 5 ตามปฏิทินจีนซึ่งเป็นวันไหว้เทพเจ้ากวนอู ในหลาย ๆ พื้นที่ เขาเชื่อกันว่าเป็น "วันลับง้าวเทพเจ้ากวนอู" เพราะเขาเชื่อกันว่าวันนี้เป็นวันที่กวนอูควงง้าวมังกรเขียวบุกเดี่ยวไปร่วมงานเลี้ยงที่แดนเมืองกังตั๋ง แล้วเอาตัวรอดปลอดภัยจากการลอบสังหารมาได้
ในวันนี้ประชาชนจะนำง้าวมังกรเขียวของกวนอูมาลับหรือทำความสะอาด จากนั้นก็จะเอาง้าวฟาดฟันภูติผีปีศาจ เป็นการเซ่นบูชาง้าวรับฤดูฝน เพราะมีตำนานเล่ากันว่า "ปีศาจภัยแล้ง" จะออกมาเที่ยวในวันนี้พอดี เมื่อตัดหัวปีศาจได้แล้วนำมาเซ่นไหว้กวนอู ฝนก็จะตกลงมาให้ชุ่มฉ่ำ ชาวจีนจึงมีสำนวนหนึ่งว่า "แล้งแค่ไหนก็ไม่เกินวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 5" และเรียกฝนที่ตกในวันนี้ว่า "ฝนลับง้าวกวนอู"
การจัดงานในวันนี้จึงถือว่าเป็นวันดี มีสิริมงคล ควรเแก่การเอาฤกษ์เอาชัย แต่ก็ไม่ควรจะเรียกเป็น "งานวันเกิดของกวนอู" เลย
ศาลบางแห่งจะจัดงานวันเกิดให้ครบทั้งกวนอู กวนเป๋ง และจิวฉอง |
เรื่องของวันเกิดของกวนอู สุดท้ายแล้ว คงเป็นเรื่องของลัทธิความเชื่อ เพราะการที่จะหาหลักฐานมายืนยันวันเกิดของคนในสมัยพันกว่าปีที่แล้วไม่ใช่เรื่องง่าย ประกอบกับ "ความเชื่อ" มนุษย์คือสิ่งที่แก้ไขได้ยาก ...
ไม่ว่า กวนอู กวนเป๋ง จะเกิดวันเวลาใด ทั้งคู่ก็คือเครื่องเตือนใจให้เรายึดมั่นในคุณธรรมและความดี ... แก่นแท้ของ "วันเกิด" มีเพียงเท่านี้เอง
หมายเหตุ :
- วันเกิดของกวนอู ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์บางฉบับกล่าวว่า กวนอูเกิดในวันที่ 22 เดือน 6 ปี ค.ศ.160 ตามปฏิทินจีน ซึ่งแตกต่างจากวันเกิดตามลัทธิเต๋า 2 วัน
- วันตาย ของกวนอูและกวนเป๋งคือ วันที่ 7 เดือน 12 ตามปฏิทินจีน
- ศาลเจ้าบางแห่งอาจจะมีการบูชา "จิวฉอง" องครักษ์ของกวนอู ในวันที่ 23 เดือน 10 ตามปฏิทินจีนด้วย (ปีนี้ตรงกับวันที่ 25 พ.ย.56) เพราะถือว่าเป็นวันเกิดของจิวฉอง (บ้างก็ว่าเป็นวันที่จิวฉองพบกับกวนอูครั้งแรก)
- ภาพประกอบจากงานแห่เจ้าพ่อกวนอู เมืองตงเหลง ตงซาน มณฑลฟูเจียน ประเทศจีน เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.56 ที่ผ่านมา โดยสำนักข่าวซินหัว
รวมวันคล้ายวันประสูติของเทพเจ้ากวนอู เทียบตามปฏิทินไทย-จีน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2556-2567
- ปี 2556 วันพุธ ที่ 31 กรกฎาคม 2556 ตรงกับ วัน 24 (廿四) เดือน 6 (六月大) ปีมะเส็ง(癸巳)
- ปี 2557 วันอาทิตย์ ที่ 20 กรกฎาคม 2557 ตรงกับวัน 24 (廿四) เดือน 6 (六月大) ปีมะเมีย(甲午)
- ปี 2558 วันเสาร์ ที่ 8 สิงหาคม 2558 ตรงกับ วัน 24 (廿四) เดือน 6 (六月小) ปีมะแม(乙未)
- ปี 2559 วันพุธ ที่ 27 กรกฎาคม 2559 ตรงกับ วัน 24 (廿四) เดือน 6 (六月大) ปีวอก(丙申)
- ปี 2560 วันจันทร์ ที่ 17 กรกฎาคม 2560 ตรงกับ วัน 24 (廿四) เดือน 6 (六月大) ปีระกา(丁酉)
- ปี 2561 วันอาทิตย์ ที่ 5 สิงหาคม 2561 ตรงกับ วัน 24 (廿四) เดือน 6 (六月小) ปีจอ(戊戌)
- ปี 2562 วันศุกร์ ที่ 26 กรกฎาคม 2562 ตรงกับ วัน 24 (廿四) เดือน 6 (六月小) ปีกุน(己亥)
- ปี 2563 วันพฤหัสบดี ที่ 13 สิงหาคม 2563 ตรงกับ วัน 24 (廿四) เดือน 6 (六月小) ปีชวด(庚子)
- ปี 2564 วันจันทร์ ที่ 2 สิงหาคม 2564 ตรงกับ วัน 24 (廿四) เดือน 6 (六月小) ปีฉลู(辛丑)
- ปี 2565 วันศุกร์ ที่ 22 กรกฎาคม 2565 ตรงกับ วัน 24 (廿四) เดือน 6 (六月大) ปีขาล(壬寅)
- ปี 2566 วันพฤหัสบดี ที่ 10 สิงหาคม 2566 ตรงกับ วัน 24 (廿四) เดือน 6 (六月小) ปีเถาะ(癸卯)
- ปี 2567 วันจันทร์ ที่ 29 กรกฎาคม 2567 ตรงกับ วัน 24 (廿四) เดือน 6 (六月小) ปีมะโรง(甲辰)
กรุณาแสดงความคิดเห็น