สามก๊กฉบับนายทุน เป็นชื่อชุดของหนังสือสามก๊กของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และบุคคลสำคัญของโลก ใน 4 สาขา ได้แก่ การศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน ซึ่งในสามก๊กฉบับนายทุนนี้ ประกอบด้วยหนังสือ 2 เล่มคือ เบ้งเฮ็กผู้ถูกกลืนทั้งเป็น และโจโฉนายกตลอดกาล
สามก๊กฉบับนายทุน เป็นชื่อชุดของหนังสือสามก๊กของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และบุคคลสำคัญของโลก ใน 4 สาขา ได้แก่ การศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ และสื่อสารมวลชน ซึ่งในสามก๊กฉบับนายทุนนี้ ประกอบด้วยหนังสือ 2 เล่มคือ เบ้งเฮ็กผู้ถูกกลืนทั้งเป็น และโจโฉนายกตลอดกาล
โดยทั่วไป เรามักจะทราบกันดีว่า อาจารย์คึกฤทธิ์ ท่านเขียนสามก๊กฉบับนายทุนนี้ เพื่อยกย่องโจโฉ และเบ้งเฮ็ก ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามของพวกเล่าปี่ขงเบ้ง และตั้งใจจะวางตัวให้อยู่ตรงข้ามกับสามก๊กฉบับวณิพกของยาขอบ ดังในคำนำเล่มเบ้งเฮ็กว่า “...เคยมีท่านที่เคารพของข้าพเจ้าเขียนสามก๊กฉบับวณิพกเอาไว้แล้ว โดยใช้วิธีเล่านิทานข้างถนนหาสตางค์ ข้าพเจ้าถึงแม้ว่าจะไร้ทรัพย์ คนยังนับถือว่าเป็นเจ้าสัว จะเล่านิทานแบบนั้นบ้างก็ละอายใจ กลัวเสียยี่ห้อ จึงต้องเล่าแบบใหม่ เป็นแบบเจ้าสัวหรือแบบนายทุน...”
แต่เบื้องหลังของสามก๊กฉบับนายทุนนั้น ที่แท้จริงแล้วมีกำเนิดจากวงสุรา และสุราที่เป็นเหตุ ก็คือ “ตราดำ” Johnnie Walker Black Label วิสกี้นอกชั้นดี ราคาแพง ซึ่งอาจารย์คึกฤทธิ์ ท่านไม่ได้นำมากิน แต่นำมาทาแขนทาขาเพื่อกันยุง จากนั้นก็สั่งอาหารราคาแพงมาดู มาดม เป็นกับแกล้ม และเรียกว่าเป็นวิธีกินแบบ “นายทุน” ซึ่งก็เป็นที่มาของสามก๊กฉบับนายทุนที่ก่อนเล่าเรื่องหรือตอนจบในแต่ละตอน อาจารย์คึกฤทธิ์มักจะเรียกบ๋อยมาเสริฟเหล้าเสริฟอาหาร
ผู้ที่นำเรื่องนี้มาเปิดเผยคือคุณสละ ลิขิตกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง และบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ผู้เป็นดั่งสหายคนสนิทของอาจารย์คึกฤทธิ์ ซึ่งท่านได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับเบื้องหลังหรือกำเนิดของสามก๊กฉบับนายทุนไว้ในหนังสือ “ต้นกำเนิดสยามรัฐ” ดังนี้
“ ...เรื่องที่คุณชายจะเขียนนั้น เกิดจากวงเหล้า วงข้าว และพูดกันอย่างเล่นๆมากกว่าจะเป็นจริง เรื่องของเรื่องที่จะเกิดขึ้นนั้น วันหนึ่งคุณชายกับผมไปหาเหล้ากินอย่างธรรมดาที่เคยปฏิบัติกันมาตามปกติ วันนั้น ออกจากสำนักงานเกียรติศักดิ์ที่หลังวังบูรพา ก็เข้าไปที่ร้านเทียนห้อย อยู่แถว ๆ เฉลิมกรุงนั่นแหละ
ตามปกติผมไม่ชอบกินเหล้าอย่างอื่นเพราะราคาแพง ผมกินแต่แม่โขงเป็นประจำ ถ้าวันไหนครึ้ม ๆ อยากกินเหล้าฝรั่ง ก็ต้องกินเหล้าฝรั่งที่มีชื่อว่า “วิคตอเรียวัท 69” เหล้าฝรั่งอย่างอื่นไม่ชอบ ถ้าจะกินก็ฝืนใจกินไปยังงั้นเอง
วันที่คุณชายพาไปเลี้ยงที่เทียนห้อย ผมเกิดครึ้มอยากกินเหล้าฝรั่งขึ้นมาถามเจ๊กว่า มี วิคตอเรียวัท 69 ไหม เจ๊กบอกว่าไม่มี คุณชายก็เลยสั่งวิสกี้ตราดำมาขวดหนึ่ง เมื่อสั่งเอามาแล้ว เจ๊กเปิดขวดแล้วผมก็ใส่จริตของนักเลงเหล้าว่า ไม่อยากกิน เอาแม่โขงดีกว่า
คุณชายชักจะฉุนในความดัดจริตไม่ได้เรื่องของผม จึงสั่งแม่โขงมา แล้วยังไงไม่รู้ คุณชายเลยกินแม่โขงเหมือนกับผม ส่วน “ตราดำ” ที่เปิดแล้วคุณชายไม่กิน แต่กลับรินใส่ชามข้าว แล้วก็เอามาลูบแขนขา ผมถามว่าทำอะไรอย่างนั้น คุณชายบอกว่าทากันยุงกัด แล้วก็พูดต่อไปอีกว่า อย่างนี้เขาเรียกว่ากินแบบนายทุนละ วันนี้มากินเหล้าแบบ “นายทุน” กันไม๊?
คำว่า “นายทุน” ของคุณชายจะมีความหมายอย่างไรผมไม่รู้ แต่เมื่อพูดถึง “นายทุน” แล้ว คุณชายก็อธิบายลักษณะและการกินแบบนายทุน และไม่พูดเปล่า แถมยังแสดงตัวอย่างให้ดูเสียด้วย กล่าวคือ ได้เลือกสั่งอาหารอย่างดี ๆ มากินบ้าง ดูบ้าง ดมบ้าง จนกระทั่งอิ่มทั้งปากและตาจนเกือบจะอ๊วก เมื่ออิ่มกันทุกอย่างจนเกือบจะได้ที่ และแทบจะต้องหามกันกลับแล้ว ตอนดึกวันนั้นเอง คุณชายก็บอกผมว่า ผมจะเขียนหนังสือแบบ “นายทุน” ให้ดีไม๊ (คำว่า “ดีไม๊” คุณชายยังชอบพูดอยู่จนตราบเท่าทุกวันนี้ เป็นต้นว่า เอาเงินไปใช้บ้างดีไม๊...กินเหล้ากันดีไม๊...ฯลฯ)
คุณชายอธิบายต่อไปว่า คือก่อนจะเขียนกันที ก็เลี้ยงโต๊ะกันที เขียนแล้วก็เลี้ยงกันที เอาอย่างนี้ไปจนจบเรื่อง ซึ่งผมก็ไม่ว่าอะไร เพราะไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องปฏิเสธ แล้วเรื่อง “สามก๊กฉบับนายทุน” ก็เกิดขึ้นด้วยประการละฉะนี้”
วิสกี้ตราขาว วิคตอเรียวัท และแม่โขงสุราไทย อีกสองส่วนผสมสำคัญของสามก๊กฉบับนายทุน |
เรื่องต้นกำเนิดของสามก๊กฉบับนายทุนจึงมีที่มาด้วยประการฉะนี้ ส่วนคนที่อ่านสามก๊กฉบับนายทุนแล้วนิยมชมชอบโจโฉ กับพาลเกลียดเล่าปี่ เกลียดขงเบ้ง ก็ขอให้ระมัดระวัง เพราะอาจารย์คึกฤทธิ์ ท่านเตือนไว้ในคำนำเช่นกันว่า “เขียนไปด้วยอารมณ์สนุก ในการเขียนนั้นก็มิได้ใช้ความพินิจพิจารณาให้รอบคอบแต่ประการใด”
นอกจากนี้สภาพเหตุการณ์บ้านเมืองในยุคนั้น (พ.ศ.2490-2493) ท่านเองเป็นคู่กัดของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งทำการรัฐประหาร เป็นเหตุให้อาจารย์คึกฤทธิ์ต้องพ้นตำแหน่ง จึงอาจจะเป็นไปได้ว่าท่านจงใจเขียน ยกยอฝ่ายโจโฉให้สูงส่งเกินจริง ซึ่งก็หมายถึงเพื่อประชด จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกตลอดกาลของประเทศไทยนั่นเอง
ใช้ภาษาได้มั่วมาก มั่วจนพ่อผมเชื่อว่า เม่งเต้ เป็นฉายาที่แทนความยิ่งใหญ่ของโจโฉ นั่นมันผิด ที่จริงแล้ว ชื่อ เมิ่งเต๊อะ ต่างหาก
ตอบลบแต่จริงๆแล้ว ไม่มีใครเขาเอาชื่อจองไว้หน้าชื่อจริง
เขียนให้ถูกคือ โจโฉ/ เมิ่งเต๊อะ เพราะความที่ไม่รู้จักต้นฉบับ เจ้าของภาษาที่แท้จริง ทำให้คนไทยเราหลงงมงาย มาหลายชั่วคน
ผิดกับคนยุคนี้ ที่แปลสามกีกมาจากจีนตรงๆ ใช้ภาษาจีนกลางเป็นหลัก
ความผิดพลาดอย่างที่คึกฤทธิ์หรือยาขอบเขียนไว้จึงแทบจะเป็นศูนย์
ขอบพระคุณสำหรับความคิดเห็นครับ ส่วนเรื่องชื่อเรียกตัวละครนั้น ส่วนตัวแล้วผมคิดว่าไม่ควรไปซีเรียสอะไรกับการที่นักเขียนรุ่นก่อน ๆ กำหนด
ลบหนึ่ง คือเป็น "คำครู" เป็นชื่อที่บรรพบุรุษเรียกมานานสืบต่อกันมาหลายร้อยปี เราควรยกย่องและให้เกียรติท่าน
สอง คือชื่อคน ชื่อสิ่งของในภาษาต่างชาติ ที่เรียกด้วยเสียงสำเนียงไทย เพี้ยนได้เสมอ และไม่ใช่เรื่องเสียหายร้ายแรง
สาม ชื่อตัวละครสามก๊ก คนจีนด้วยกันเองยังเรียกเพี้ยนเสียง คนอ่านทั่วโลกก็เรียกเพี้ยน แตกต่างกันไปตามภาษาของตน
คนไทยเราโชคดีมี "คำครู" ท่านตั้งไว้ให้แต่โบราณ ใช้กันมาหลายร้อยปีไม่มีติดขัด นักอ่านสามก๊กรุ่นใหม่หลายท่านอาจขัดหูขัดตา ทั้งที่จริงแล้วเรื่องเช่นนี้เราควรภาคภูมิใจเสียมากกว่าครับ
สามก๊กๆๆๆๆ โทษทีเขียนผิด
ตอบลบ