เป็นบุคคลสาธารณะ ผิวบาง - หน้าหนา ไม่ได้
“คำภีร์หน้าด้าน ใจดำ” (Thick Black Theory, 厚黑学) เป็นหนังสือที่เขียนโดย หลี่จงอู๋ (Li Zongwu, 李宗吾) นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ชาวเสฉวน เป็นหนังสือที่ว่าด้วยศาสตร์แห่งความใจดำ อำมหิต และหน้าหนามีมารยา เป็นงานเขียนแนวเสียดสีสังคมและการเมืองในยุคก่อตั้งสาธารณรัฐจีน หลังสงครามโลกครั้งที่สองโดยเฉพาะ
หลี่จงอู๋ (Li Zongwu, 李宗吾) |
ในคำภีร์หน้าด้าน ใจดำ ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์หลายท่าน เช่น เล่าปัง เซียงอวี่ หานซิ่น รวมทั้งสุดยอดผู้นำจากเรื่องสามก๊กอย่าง โจโฉ เล่าปี่ และซุนกวน ด้วยมุมมองในแง่ลบ เต็มเปี่ยมไปด้วยอคติ เช่น
โจโฉ
เป็นคนใจดำอำมหิตอย่างสุดขั้ว สังหารแปะเฉีย ผู้บริสุทธิ์อย่างเย็นชา ประหารชีวิต ขงหยง เอียวสิ้ว ตังสิน ฮกอ้วน ฯลฯ อย่างไร้ความเป็นธรรม อีกทั้งยังประกาศก้องไม่อายใครว่า “ข้ายอมทรยศคนทั้งโลก แต่ไม่ยอมให้คนทั้งโลกทรยศข้า” คนที่มีจิตใจอำมหิตเช่นนี้ ย่อมเป็นจอมคนได้
เล่าปี่
เป็นคนเสแสร้งแกล้งทำ หน้าหนา มีมารยาร้อยเล่มเกวียน กินบนเรือนขี้บนหลังคา ทั้งโจโฉ อ้วนเสี้ยว ลิโป้ เล่าเปียว เล่าเจี้ยง ซุนกวน ล้วนถูกเล่ห์กลหยดน้ำตาของเล่าปี่เล่นงานทั้งสิ้น จนมีคำกล่าวว่า “แผ่นดินของเล่าปี่นั้นได้มาจากการร้องไห้” หากนำมารวมกับโจโฉ จะได้คู่มหัศจรรย์ ดังเช่นตอนอุ่นสุราถามหาวีรบุรุษ คนหนึ่งใจดำอำมหิต อีกคนหน้าหนามีมารยา ดังที่โจโฉกล่าวว่า “จอมคนในแผ่นดิน มีเพียงท่านกับข้าเท่านั้น”
ซุนกวน
เป็นทั้งพันธมิตรและพี่เขยของเล่าปี่ แต่ก็ยังคิดแย่งชิงเกงจิ๋วและสังหารกวนอู นี่คือความใจดำ สังหารกวนอูแล้วยังทำไม่รู้ไม่ชี้ โยนความผิดไปให้โจโฉ และขอคืนดีกับเล่าปี่ นี่คือความหน้าด้าน หน้าหนา ซุนกวนมีนิสัยของทั้งโจโฉและเล่าปี่รวมกัน เพียงแต่ด้อยกว่าหนึ่งระดับ จึงต้องนับเป็นยอดจอมคนอีกคนหนึ่ง
เมื่อจอมคนทั้งสามมาเจอกัน แผ่นดินจึงต้องแตกแยกออกเป็นสามส่วน
“คำภีร์หน้าด้าน ใจดำ” (Thick Black Theory, 厚黑学) |
คำภีร์หน้าด้าน ใจดำ มีผู้นำมาการแปลเป็นภาษาไทยแล้วในชื่อว่า "ศาสตร์แห่งความหน้าด้านใจดำ" แปลและเรียบเรียงโดยคุณ ส.สุวรรณ
นอกจากนี้ยังมีการนำอ้างอิงถึงด้วยหลายแห่ง เช่นในหนังสือ “อ่านสามก๊ก ถกบริหาร” ของ คุณ ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ CEO ของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือในหนังสือ "สุมาอี้คนชั่วช้าของแผ่นดิน" ของ อ.โชติช่วง นาดอน(ทองแถม นาถจำนง) ส่วนภาษาอังกฤษมีการแปลแล้วหลายเล่ม เช่น “Thick Black Theory” และ "Thick Face Black Heart"
คำภีร์หน้าด้าน ใจดำ Thick Black Theory เหมาะกับผู้บริหาร ผู้นำทุกระดับชั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักการเมือง เพราะมีอดีตนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งได้ให้เหตุผลไว้ว่า
"เป็นบุคคลสาธารณะ ผิวบาง - หน้าหนา ไม่ได้"
กรุณาแสดงความคิดเห็น