สังข์ พัธโนทัย ที่ปรึกษาคนสนิทของ จอมพลป.พิบูลสงคราม ใช้เวลาว่างในระหว่างที่ถูกจับเป็นอาชญากรสงคราม(นักโทษการเมือง)หลังมหาสงครามครั้งที่ 2 ในสมัยที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่งหนังสือสามก๊กเล่มหนึ่งชื่อว่า “พิชัยสงครามสามก๊ก”
หนังสือเล่มนี้คุณ สังข์ ได้แต่งขึ้นด้วยใจรัก และความมุมานะเป็นอย่างมาก แม้จะอยู่ในคุก สถานที่ ๆ ซึ่งคนปรกติไม่อาจอยู่ได้อย่างมีความสุข แต่ท่านก็ได้หยิบเอาหนังสือสามก๊กขึ้นมาเรียบเรียงใหม่ โดยเปรียบเทียบกับหนังสือสามก๊กต้นฉบับภาษาจีนและจากฉบับภาษาอังกฤษ ของ เบรวิตต์-เทเลอร์
สังข์ พัธโนทัย |
ความวิปริตของชื่อบุคคล
- ออกเสียงไม่ตรงกัน ทั้ง ๆ ที่เป็นคนเดียวกัน เช่น หมันทอง เรียกเป็น บวนทอง ,เตียนยี่ เรียกเป็น ตงยี่ ,งิมขุน เรียกเป็น ยิมหุน ,ตังเจี๋ยว เรียกเป็น ติ๋วเจี๋ยว , โลติด เรียกเป็น โลจิ๋น , ซัวหยง เรียกเป็น ยีหลงบ้าง ซัวแกบ้าง , กากุ๋ย เรียกเป็นเกียกุย ,กุยห้วย เรียกเป็นกวยหวย ,จงอิ้ว เรียกเป็น จงฮิว , จูกัดเก๊ก เรียกเป็น จูกัดเจ๊ก ,เจาจิ๋ว เรียกเป็น เจียวจิ๋ว ,โจฮิว เรียกเป็น โจหิว ,บิฮุย เรียกเป็น หุยวุย ตัวละครในเรื่องสามก๊กจึงมีเพิ่มขึ้นอีกมาก
- บุคคลหลายคน แต่ออกชื่อเป็นคนคนเดียว เช่น ซุนเจ้ง จริง ๆ ต้องมี 2 คน คนหนึ่งชื่อ สวินเจิ้ง กับ ซุนจิ้ง ,ซุนโห จริง ๆต้องเป็น ซุนเหอ กับ ซุนเฮ้า ,ตันกุ๋ย จริง ๆ เป็นเฉินกุย กับ เฉินฉวิน
- เอาชื่อคนเป็นชื่อเมือง เช่น “สุนาเจ้าเมืองมิตอง” มิตอง ไม่ใช่ชื่อเมืองแต่เป็นชื่อคน ซึ่งมีชื่อเต็ม ๆ ว่า “ต่งถูนา” เหตุเกิดจากแปลผิด แยกคำนี้เป็น สุนา กับมิตอง
- เอาชื่อตำแหน่งบรรดาศักดิ์เป็นชื่อคน เช่น ซัวหยง เป็นขุนนางตำแหน่งยีหลง แต่แปลเรียกในตอนแรกว่าชื่อยีหลง แล้วเรียกเป็น ซัวหยงในภายหลัง มำให้เข้าใจผิดคิดว่ามีสองคน (ยีหลง เป็นตำแหน่งที่ปรึกษา ทำหน้าที่คัดเลือกคนเข้ารับราชการ)
- เอาชื่อผู้ชายเป็นชื่อผู้หญิง เช่น นางไต้เกี้ยวและนางเสียวเกี้ยวเป็นบุตรีของนางเกียวก๊กโล คำว่าเกียวก๊กโลนี้ มาจาก คำว่า “เฉียวโก้วะเหล่า” เป็นชื่อของเฉียวกง (ผู้ชาย) และคำว่า โก้วะเหล่า แปลว่าผู้อาวุโสของประเทศ เป็นคำยกย่องขุนนางผู้ใหญ่
- ไม่มีชื่อในต้นฉบับ แต่ใส่ชื่อเข้าไปเอง เช่น โจเต๊ก อาของโจโฉ
- ชื่อเดียวกัน แต่เรียกต่างกัน เช่น ก๊กเสีย-กักเสีย ก๋งฮาน-เกงฮัน กองอั๋น-กังอั๋น กองเหลง-ก่องเล่ง กังหนำ-กังหลำ กิสุยก๋วน-กีซุน กิมก๊ก-บิต๊ก เกียมก๊ก-เกียมโก๊ะ ไก๋เอียง-ไกซุย ขยกหยง-ขยกเอี๋ยง งีหยง-งีเอี๋ยง งิวจู๋-เอียวจู๋ จูเต๋ง-อูเต๋ง-เฮาเต๋ง เจากุ๋น-เจียวก๋วน เจียงโห-เซียงโห เจียนต๋อง-จีต๋อง เฉงจิ๋ว-เชงจิ๋ว-เชียงจิ๋ว-เซ้งจิ๋ว-ซุนจิ๋ว โฉเหียง-โฉหยง ชีจิ๋ว-ชิวจิ๋ว ชีสอง-ฉสองกุ๋น ซอนเค้า-ฉวนเค้า ซันหยง-ซันเอี๋ยง-ซุนหยง เซียงเท้ง-เสียงเท้ง เซียงสัน-เสียงสัน ตงหยง-ตงเอี๋ยง เตียงฮัน-เตียงอั๋น-เซ่งอั๋น เตียวซุย-เจ้าซุย ยี่สู-ญี่สู-ยูสู ลำซี-น้ำฉี ลิมฉี-ลิมโฉ หับหุย-หับป๋า
- หลายชื่อแต่เรียกเป็นชื่อเดียวกัน เช่น แคว้นจิงโจว-ติ้งโจว-อิ่งโจว-เจียงโจว เรียกเป็นชื่อเดียวกันคือ เกงจิ๋ว , ภูเขาฉีซาน-ภูเขาจีซาน-ภูเขาเทียะซาน เรียกเป็นชื่อเดียวคือ ภูเขากิสาน , ด่านสื้อสุยกวน กับด่านอี้สุ่ยกวน เรียกเป็นด่านกิสุยก๋วน , เมืองเซียงหยัง กับเมืองส้างหยง เรียกเป็นเมือง ซงหยง , เมืองเซียงสัน-เมืองฉางซัน เรียกเป็น เสียงสัน
- คำสามานยนาม แปลผิดเป็นวิสามานยนาม เช่น ตำบลเตโก๊ะ เตโก๊ะไม่ใช่ชื่อตำบล แต่แปลว่าคลังเสบียงอาหารและคลังสรรพาวุธในสนาม , ตำบลเพ้งฉวน เพ้งฉวน แปลว่า ทุ่งราบ ไม่ใช่ชื่อตำบล
- เอาชื่อคนเป็นชื่อเมือง เช่น กิมห้วนเจ้าเมืองสำกิก สำกิกไม่ใช่ชื่อเมืองแต่เป็นชื่อคน ต้นฉบับเขียนว่า “จินหวนซานเจี๋ย” คือชื่อคนสองคน กิมห้วน กับ ซานเจี๋ย
- เอาชื่อต่าง ๆ เป็นชื่อเมือง เช่น “ลงต่อต๋อง” เป็นชื่อถ้ำชื่อหุบเขา แต่เอามาเรียกเป็นเมือง , “เตียงเสีย” คือกำแพงเมืองจีน แต่กลับเรียกเป็นเมือง , “ตันอู” ไม่ใช่เมืองแต่เป็นจำแหน่งของชาวเฮียงนู้ , “กำลอ” เป็นชื่อรัชกาลในสมัยพระเจ้าโจมอ ไม่ใช่เมือง
เรื่องสามก๊กมีอะไรแปลก ๆ อีกมากมายให้จับผิด |
การแปลหนังสือสามก๊กเป็นภาษาไทยในครั้งนั้น กล่าวได้ว่าเป็นการแปลเอาความ ไม่ได้เน้นการแปลตามภาษาจีนต้นฉบับ จึงได้มีการกลายวัฒนธรรมจีนให้เป็นแบบวัฒนธรรมไทย โดยมีการแต่งเติมเสริมต่อตัดทอนถ้อยคำต่าง ๆเป็นอันมาก เริ่มตั้งแต่เปิดเรื่อง เนื้อความของสามก๊กจีน-ไทย ก็ไม่ตรงกันแล้ว เช่น
ต้นฉบับภาษาจีนเขียนว่า “ธรรมดาสรรพสิ่งในใต้ฟ้า เมื่อแตกแยกกันนาน ๆ ก็กลับเข้ารวมกัน เมื่อรวมกันนาน ๆ เข้า ก็แตกแยกกันอีก” ส่วนฝ่ายไทยแปลว่า “เดิมแผ่นดินเมืองจีนทั้งปวงนั้นเป็นสุขมานานแล้วก็เป็นศึก ครั้นศึกสงบแล้วก็เป็นสุข” ไทยเราแปลใต้ฟ้า เป็นเมืองจีน
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายบทหลายตอนที่เรียกได้ว่า สามก๊กฉบับภาษาไทย คือสามก๊กที่แต่งขึ้นใหม่ ไม่ใช่การแปล รวมทั้งชื่อ ตำแหน่งราชการ ต่าง ๆ ในสามก๊กภาษาไทยก็ยังไม่สามารถนำมาใช้อ้างอิงเลยได้เนื่องจากแปลอย่างคลุมเครือ
คุณ “อาท ชี้ชัด” ชัชวนันท์ สันธิเดช แชมป์ "แฟนพันธ์แท้" แผ่นดินมังกร ปี 2007 และแชมป์ "แฟนพันธ์แท้" สามก๊ก ปี 2008 ได้เขียนบทความแนะนำ หนังสือสามก๊ก ที่ผู้เริ่มต้นควรจะอ่าน หนังสือเล่มนั้นก็คือ “พิชัยสงครามสามก๊ก” ของคุณ สังข์ พัธโนทัย เล่มนี้แหละครับ ถ้าเป็นเรื่องสามก๊กนี่ต้องยกให้เขา คุณอาท เขาชี้ไว้ชัด ไม่เคยผิด
หนังสือสามก๊กภาษาไทยฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน) เป็นหนังสือสามก๊กอันดับหนึ่ง ที่ควรมีไว้ประดับความรู้ เป็นหนังสือสามัญที่ควรมีไว้ประจำบ้านครับ แต่ถ้าจะอ่านให้สนุก และเข้าใจมากขึ้น ควรมีหนังสือ “พิชัยสงครามสามก๊ก” ของคุณ สังข์ พัธโนทัย วางอ่านไว้คู่กัน
กรุณาแสดงความคิดเห็น