ด้วยพระปรีชาสามารถของ สมเด็จพระปิยมหาราช พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ประเทศสยามจึงรอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้น และรักษาเอกราชด้วยยุทธวิธีจาก ตำราพิชัยสงครามสามก๊ก
"การที่ประเทศสยามรอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นนั้น ก็อาจจะด้วยยุทธวิธี สามก๊ก ?"ในปี ร.ศ.112 (พ.ศ.2436, ค.ศ.1893) เกิดเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่ง ที่เรียกว่า “วิกฤตการณ์ ร.ศ.112” อันเป็นเหตุการณ์ที่นำไปสู่การเสียดินแดนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติสยาม นั่นคือเราต้องเสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขง (ประเทศลาวในปัจจุบัน) ให้กับประเทศฝรั่งเศส เป็นพื้นที่ถึง 143,000 ตารางกิโลเมตร
การเสียดินแดนของสยาม |
การเสียดินแดนในครั้งนั้นมีการปะทะกันระหว่างทหารสยามกับทหารฝรั่งเศสหลายครั้ง แต่มีอยู่เหตุการณ์หนึ่งที่กองทัพสยามได้นำยุทธวิธีจากเรื่อง "สามก๊ก" มาใช้
เหตุการณ์นั้นคือ การรบที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา
กลยุทธ์สามก๊ก
ในหนังสือสามก๊ก ตอนใกล้กาลอวสาน กองทัพไต้จิ๋น (จิ้นก๊ก) ของพระเจ้าสุมาเอี๋ยน ได้ยกทัพไปตีง่อก๊ก เป็นครั้งสุดท้ายเพื่อรวมแผ่นดินจีนให้เป็นหนึ่ง ซึ่งในการยกทัพครั้งนี้ ไต้จิ๋นยกทัพมาด้วยกำลังทางเรือเป็นหลัก ขนาบอ้อมด้วยกำลังทางบก เรียกได้ว่าเป็นการรบที่ใช้จุดอ่อนตีจุดแข็ง เข้าตีง่อก๊ก ที่เชี่ยวชาญการรบทางน้ำ ด้วยกองกำลังที่ตนเองอ่อนด้อยที่สุด เสริมด้วยกำลังทหารราบเพื่อสร้างการรวมอำนาจการโจมตีพร้อมกันทั้งทางบกทางทะเลง่อก๊กในเวลานี้ ปกครองด้วยพระเจ้าซุนโฮ กษัตริย์วิกลจริต ผู้ชอบตัดปากตัดจมูกขุนนางตงฉิน พระองค์ทรงลุ่มหลงมัวเมาในสุรานารีและเชื่อฟังแต่คำของ ยิมหุนขันที และในศึกครั้งนี้ได้ทรงปรึกษา ยิมหุน ว่าจะรับมือกับทัพเรือของไต้จิ๋นอย่างไร ยินหุนเป็นขันที ไม่คิดรบคิดแต่เพียงรับ โดยยิมหุนได้ทูลว่า
“ข้าพเจ้าคิดจะขอให้เอาเหล็กมาตีเป็นสายโซ่สักห้าร้อยสาย สายละห้าสิบวาขึงกั้นแม่น้ำกังตั๋งเสีย แล้วจะได้ปักขวากเหล็กไว้ใต้น้ำนอกสายโซ่ออกไป ถ้ากองเรือยกมาก็จะโดนขวากเหล็กเข้าติดอยู่ เรือก็จะทะลุล่มลง ทแกล้วทหารก็จะล้มตายฉิบหายกันไปเอง”
องโยย แม่ทัพเรือผู้พิชิตง่อก๊ก |
กองทัพเรือของไต้จิ๋น นำมาโดยแม่ทัพเรือนามว่า องโยย เมื่อ องโยย ได้เห็นอุบายตั้งรับของกังตั๋ง ก็หาวิธีแก้กลได้โดยสั่งการให้ทหารตัดไม้มาทำแพเป็นจำนวนมาก แล้วให้เอาดินถมหลังแพเสียและตั้งเตาชักสูบบนหลังแพ แล้วให้ใช้ใบเข้ามาตามลำคลอง แล่นนำหน้าเรือรบ
แพถมดินติดเตาไฟนี้เองที่ทำลายกลปิดทะเลด้วยสายโซ่และขวากเหล็ก เพราะเมื่อแพแล่นเข้ามา ก็จะติดกับขวาก เมื่อทะเลมีคลื่นลม ขวากเหล็กเหล่านั้นก็จะหลุดลอยออกจากพื้นทะเล ส่วนสายโซ่เมื่อถูกความร้อนจากเตาก็กลายเป็นของอ่อน ทหารไต้จิ๋นจึงเอาขวานมาตัดขาดโดยง่าย และนำเรือผ่านเข้ามาได้อย่างง่ายดาย
กองทัพกังตั๋งซึ่งขึ้นชื่อลือชาเรื่องกองทัพเรือ ณ บัดนี้ไม่มีแม่ทัพเรืออย่างจิวยี่ ลิบอง หรือลกซุน ในหนังสือสามก๊กจึงไม่มีบทการรบกันด้วยเรือ ระหว่างทัพจิ้นกับทัพง่อแม้แต่น้อย เพราะเมื่อ องโยย ฝ่าสายโซ่ขวากเหล็กเหล่านั้นได้แล้ว ก็สามารถบุกเข้าล้อมเมืองกังตั๋งได้โดยทันที และยึดกังตั๋ง รวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่นได้สำเร็จ
กลยุทธ์ ร.ศ.112
เรือรบของฝรั่งเศสบุกเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา |
ย้อนกลับมาที่การรบระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อฝรั่งเศสคิดจะนำเรือรบบุกเข้ามาชักธงฝรั่งเศสยังเมืองหลวงของประเทศสยามนั้น ฝ่ายสยามได้คิดการป้องกันโดยสร้างป้อมปืน ฝึกหัดคน เตรียมเรือรบ เตรียมทุ่นระเบิด และสิ่งที่เหมือนกับวิธีของยิมหุนขันที นั่นคือ การวางสายโซ่และขวากเหล็ก เพื่อขัดขวางการนำเรือแล่นฝ่าเข้ามา
ในหนังสือ “กรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส และการรบที่ปากน้ำเจ้าพระยา สมัย ร.ศ.112” ของพลเรือตรี แชน ปัจจุสานนท์ และ นาวาเอกสวัสดิ์ จันทนี ได้อธิบายวิธีการของฝ่ายสยาม เอาไว้ว่า
"พระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์ ผู้บัญชากองทัพเรือในขณะนั้น ได้บัญชาการให้นำเรือเก่า ๆ มาจมลงเพื่อใช้เป็นเครื่องกีดขวาง และได้ปักไม้หลักแพ ต้นหนึ่งเป็นขาทราย ค้ำด้วยไม้อีกสองต้น ไม้เหล่านี้ปักลงไปในดินลึก 8 ศอก ขัดด้วยโซ่เชื่อมโยงกันไว้ ให้ดูเป็นการหนาแน่น"
การวางแนวป้องกันของฝ่ายสยาม จากบันทึกของฝรั่งเศส |
การวางแนวป้องกันนี้ มีแนวคิดและที่มา ราวกับถอดแบบมาจากเรื่องสามก๊ก และแน่นอนว่า ผลของมันก็ลงเอย ดังเช่นเรื่องสามก๊ก เพราะพอถึงเวลาจริง เรือรบของฝรั่งเศสซึ่งเป็นเรือขนาดใหญ่ สามารถแล่นฝ่าสายโซ่ และซากเรือ เหล่านี้ได้อย่างง่ายดาย โดยไม่ต้องมีพิธีรีตอง สร้างแพ สร้างเตาอย่าง องโยย ด้วยซ้ำ
ซึ่งการในครั้งนี้ เป็นไปตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงคาดคะเนไว้ และรับสั่งเมื่อครั้งทรงเสด็จตรวจแนวป้องกันว่า
“อย่าว่าแต่จะจมเรือ หรือทำเขื่อนเพียงเท่านี้เลย อย่างไร ๆ เรือของเขาก็คงจะเข้ามาได้ ที่ทำลงไปนี้พอเป็นเขตสำหรับที่จะห้าม ถ้าขืนดึงดันเข้ามา ก็ต้องยิงกันเท่านั้น”
สยามต้องเสียดินแดนไปบางส่วน รวมทั้งสินไหมสงครามอีกหลายล้านบาท แต่เราก็ยังคงรักษาเอกราชไว้ได้ และเป็นประเทศเดียวในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งต่างชาติ
นอกเหนือจากกลยุทธ์นี้แล้ว คุณไกรฤกษ์ นานา นักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่อง ร.ศ.112 ได้เคยสันนิษฐานไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงใช้ “ตำราพิชัยสงครามซุนวู” ในการดำรงรักษาเอกราชของประเทศ เอาชนะโดยไม่ต้องรบ
เพราะหลังเหตุการณ์ ร.ศ. 112 พระองค์ทรงแสวงหาพันธมิตรจากประเทศยุโรป อย่างเยอรมัน เดนมาร์ก และรัสเซีย เพื่อคานอำนาจนักล่าอาณานิคม อย่างฝรั่งเศส และอังกฤษ
อีกทั้งการเสร็จประพาสยุโรปยังเป็นการแสดงให้ชาวโลกเห็นว่า สยามถูกรังแกจากฝรั่งเศส อย่างไร้ความชอบธรรมและไร้เหตุผล สุดท้ายประเทศฝรั่งเศสจึงถูกประนามจากประเทศต่าง ๆ ให้เป็นตัวร้ายในสายตาสังคมชาวโลก ว่าเป็นหมาป่าเจ้าเล่ห์ที่รังแกลูกแกะน้อย
หมาป่าฝรั่งเศสกับลูกแกะสยาม - ภาพล้อที่แสดงว่าฝรั่งเศสคือตัวร้ายในสายตาประชาคมโลก |
แม้ยุทธวิธีตั้งรับด้วยสายโซ่และขวากเหล็กจากสามก๊ก จะใช้การไม่ได้เลยก็ตามที แต่เราก็ยังเราสามารถรอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นด้วยพิชัยสงครามซุนวู ตามทัศนะของคุณ ไกรฤกษ์ ฯ ซึ่งในวรรณกรรมเรื่องสามก๊กก็มีให้พบเห็นอยู่หลายครั้ง และด้วยพระปรีชาสามารถขององค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงงัดเอากลยุทธทางการเมืองต่าง ๆ มากมายมาใช้
เห็นอย่างนี้แล้ว ก็ทำให้อดคิดไปไม่ได้ว่าการที่ประเทศสยามรอดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นนั้น ถ้าหากไม่ใช่ด้วยตำราพิชัยสงครามซุนวู ก็อาจจะด้วยยุทธวิธีจาก “ตำราพิชัยสงครามสามก๊ก” ก็เป็นได้ ...
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 - วิกิพีเดีย
- วิกฤตการณ์ปากน้ำ - วิกิพีเดีย
- พลเรือตรี แชน ปัจจุสานนท์ และ นาวาเอกสวัสดิ์ จันทนี, กรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส และการรบที่ปากน้ำเจ้าพระยา สมัย ร.ศ.112. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2519.
- ไกรฤกษ์ นานา, สยามกู้อิสรภาพตนเอง ทางออกและวิธีแก้ปัญหาชาติบ้านเมือง เกิดจากพระราชกุศโลบายของพระเจ้าแผ่นดิน; ทึ่ง! กลยุทธ์ศึก รัชกาลที่ 5. กรุงเทพฯ : ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิเศษ มติชน, 2550.
กรุณาแสดงความคิดเห็น