ตำนานเรื่องเล่าของชาวจีน ที่ทำให้ ลกเจ๊ก ตัวละครในเรื่องสามก๊ก ได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในยี่สิบสี่ลูกกตัญญู (ยี่จั้บสี่เหา)
"แม่จ๋า ! แม่กำลังเจ็บ และเราหรือก็ยากจน เราไม่มีปัญญาจะหาส้มอย่างที่เจ้าแคว้นเขากินหรอกแม่จ๋า
แม่ - ร่มเกล้าของลูก ถึงจะยากจนก็แต่ตัว แม่อุตส่าห์สั่งสอนลูกมาจนได้เข้ามานั่ง ยังที่เลี้ยงอันมีเกียรติลูกไม่เคยพบนี้ แต่ได้กินส้มอย่างนี้ยามไข้ ทูนหัวของลูกอาการจะกระเตื้องขึ้นอย่างไร ส้มติดคอลูก กลืนไม่ลงเพราะเหตุนี้"
- สามก๊กฉบับวณิพก , ยาขอบ
เรื่องราวของลูกกตัญญูในวรรณกรรมจีนเรื่องสามก๊ก มีอยู่หลายตอน เช่น ซุนกวนที่รักและเคารพแม่อยู่เสมอ ตั๋งโต๊ะที่เลวแสนเลว แต่ในยามที่ได้ดิบได้ดีก็ไม่เคยลืมพระคุณแม่ ชีซีที่ยอมไปเข้าพวกโจโฉเพราะกังวลเรื่องความปลอดภัยของแม่ ฯลฯ
แต่มีอยู่คนหนึ่งซึ่งสำคัญที่สุด และได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในลูกกตัญญูของจีน เขาผู้นั้นหรือ คือ "ลกเจ๊ก"
ลกเจ๊กในหนังสือสามก๊ก
ครั้งหนึ่งในตอนที่ขงเบ้งไปเกลี้ยกล่อมซุนกวน ให้ร่วมมือกับเล่าปี่ รบโจโฉ ขงเบ้งได้โต้คารมกับบรรดานักปราชญ์กังตั๋ง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ลกเจ็ก ว่า"ท่านนี้หรือชื่อว่าลกเจ๊ก เมื่อยังเป็นเด็กอยู่นั้นลักส้มเขาเอาไปให้แก่มารดา นั่งลงเถิดเราจะเจรจาด้วย"
ประโยคนี้ คือประโยคสัมผัสอันไพเราะติดหู ที่ขงเบ้งได้กล่าวไว้ในที่ประชุมครั้งนั้น แต่ด้วยถ้อยความเพียงเท่านี้ ในหนังสือสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ลกเจ๊ก จึงดูเสมือนเป็นคนร้าย ลักขโมยของ เพราะสามก๊กภาษาไทยไม่ได้เกริ่น ไม่ได้ขยายความในข้อนี้ และตัดจบบทไว้แค่นั้น ให้ลกเจ๊กจนปัญญาจะตอบโต้
ภาพเหตุการณ์ เมื่อครั้งที่ลกเจ๊ก ลักส้มจากอ้วนสุด |
ลกเจ๊กในเรื่อง 24 ลูกกตัญญู
เรื่องลกเจ๊กในหนังสือสามก๊ก นี้ดูเหมือนว่าจะตรงกันข้ามกับตำนานเรื่องเล่าของชาวจีน ที่ลกเจ๊กได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งใน ยี่สิบสี่ลูกกตัญญู (ยี่จั้บสี่เหา) ซึ่งมีเรื่องเล่าอยู่ว่า"ลกเจ๊ก" เป็นชาวเมืองง่อก๊ก มีชื่อรองว่า "กงจี้" ฐานะครอบครัวค่อนข้างยากจน ตัวลกเจ๊กนั้นไม่ค่อยแข็งแรง ขาลีบทั้งสองข้าง แต่ถึงกระนั้นก็มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดและใฝ่รู้ใฝ่เรียนเป็นเลิศ
เมื่ออายุหกขวบ ลกเจ๊กได้ติดตามอาไปเยี่ยมคำนับอ้วนสุด ผู้ว่าราชการเมืองจิ่วเจียง ณ จวนผู้ว่าราชการ ซึ่งจัดงานเลี้ยงอย่างใหญ่โตมโหฬาร
เด็กยากจนอย่าง ลกเจ๊ก เมื่อได้รับประทานส้มในงาน ก็ระลึกถึงมารดาว่า มารดาชอบรับประทานส้ม แต่ไม่มีโอกาสได้ทานเพราะไม่มีเงินซื้อ คิดแล้วจึงแอบซุกส้มสองผลไว้ในแขนเสื้อ จะเอากลับไปให้มารดาได้ชิม
ครั้นพอได้เวลากลับบ้าน อาพาลกเจ๊กไปอำลาอ้วนสุด ขณะก้มกายคารวะอยู่นั้น เผอิญส้มที่ซุกซ่อนอยู่ในแขนเสื้อก็ร่วงหล่นลงพื้น อ้วนสุดเห็นจึงพูดหยอกล้อว่า
"ลกเจ๊กเด็กน้อยเอ๋ย เจ้ามาเป็นแขก ไฉนจึงแอบซุกส้มของเจ้าบ้าน ไม่กลัวคนเขาจะหัวเราะเยาะว่าลักส้มหรือ"
ลกเจ๊กก็คุกเข่าคำนับแล้วว่า
"มารดาของข้าพเจ้านั้นชอบรับประทานส้มนัก ข้าพเจ้าจึงตั้งใจจะเอาไปฝาก หากมารดาของข้าพเจ้าได้รับประทานส้มนี้ ก็จะนับได้ว่าท่านมีเมตตา ได้เลี้ยงแขกเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน"
อ้วนสุดได้ฟังดังนั้นก็ชมเชยว่า เด็กอายุเพียงเท่านี้ยังรู้จักกตัญญูต่อมารดา น่ายกย่องชมเชยยิ่งนัก ว่าแล้วก็สั่งให้บริวารจัดส้มใส่กระเช้า นำไปให้มารดาของลกเจ๊กถึงบ้าน
ภาพวาด ลกเจ๊กลักส้ม ของศิลปินญี่ปุ่น Utagawa Kuniyoshi |
ลกเจ๊กนั้นน่ายกย่อง
ในสามก๊กฉบับวณิพก ของบรมครู "ยาขอบ" ท่านได้รจนายกย่องลกเจ๊กไว้อย่างมาก ตามประโยคเกริ่นนำของบทความ แต่สิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากเรื่องเล่าของจีน คือ อาจารย์ยาขอบท่านเขียนโดยไม่ทราบอายุของลกเจ๊ก และเข้าใจว่าลกเจ๊กลักส้มในวัยหนุ่ม ในยามที่เข้ารับราชการใหม่ ๆ ไม่ใช่ลักส้มตอนอายุ 6 ขวบตามเรื่องของจีนหนังสือสามก๊กฉบับวณิพก ของ ยาขอบ |
กระนั้นก็ดี ไม่ว่าลกเจ๊กจะลักส้ม ตอนอายุเท่าใด หรือไม่ว่าลกเจ๊กจะตอบโต้จูกัดเหลียงขงเบ้งไม่ได้แม้แต่น้อย แต่ลกเจ๊ก ก็คือหนึ่งในตำนาน ที่ตัวละครสามก๊กนับพันทำไม่ไม่อาจเป็นได้ นั่นคือ
ไม่ใช่ด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ กลยุทธ์หรือกลอุบาย แต่ด้วยความรักอันบริสุทธิ์ จากบุตรถึงมารดา นี่คือสิ่งล้ำค่าเหนืออื่นใด จนทำให้ ลกเจ๊ก ได้รับการยกย่องว่าเป็น...
"ลูกกตัญญู"
กรุณาแสดงความคิดเห็น