วาจาฆ่าคนในเรื่องสามก๊ก ใช้การเสียดสีและน้ำเสียง... แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง ถ้อยคำหวาน ๆ ก็อาจทำให้คนตายได้เช่นกัน
ในเรื่องสามก๊ก นอกเหนือจากการประหัตถ์ประหารกันด้วยอาวุธแล้ว อีกอาวุธหนึ่งก็คือ วาจา ดังเช่น ขงเบ้งที่ใช้วาจาเสียดสี จนข้าศึกเคียดแค้นใจตาย แต่นอกจากการใช้คำเสียดสียั่วยุ ก็ยังมีอยู่อีกเหตุการณ์ ที่มี ผู้แผดเสียงฆ่าคน
การใช้พลังเสียงเป็นอาวุธ ในเรื่องสามก๊กอย่างนี้ จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก 'เตียวหุย'
เตียวหุย เป็นน้องร่วมสาบานของเล่าปี่ และกวนอู ซึ่งในหนังสือสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน) บรรยายลักษณะของเตียวหุยเอาไว้ว่า
"สูงประมาณห้าศอก ศีรษะเหมือนเสือ จักษุกลมใหญ่ คางพองโต เสียงดังฟ้าร้อง กิริยาดังม้าควบ"
รูปร่างนับว่าประหลาดพิกล แถมยังพูดจาเสียงดังมาก ราวกับเสียงฟ้าร้องอีกด้วยวีรกรรมของเตียวหุย
![]() |
เตียวหุยแต่ผู้เดียว หยุดกองทัพโจโฉ |
ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่เตียวหุยใช้เสียงฆ่าคนนี้ไม่มีในหนังสือสามก๊กฉบับภาษาไทย ทั้งของเจ้าพระยาพระคลัง(หน) และ ฉบับวณิพกของยาขอบ
แต่ถ้าได้อ่านในฉบับภาษาจีน หรือสามก๊กภาษาอังกฤษของบริวิท เทเลอร์ (C. H. Brewitt-Taylor) จะพบว่า เสียงของเตียวหุยเคยทำให้คนตายมาแล้ว
เหตุการณ์ที่เตียวหุยใช้เสียงฆ่าคนนี้ อยู่ในตอนที่เตียวหุยยืนม้าสกัดทัพโจโฉที่สะพานเตียงปันเกี้ยว หลังจากจูล่งฝ่าทัพรับอาเต๊า
เตียวหุยทำอุบายให้ทหารเอากิ่งไม้ผูกหางม้า วิ่งฝุ่นตลบอยู่ในป่าด้านหลังสะพาน เมื่อกองทัพโจโฉยกมาถึง ก็สังเกตุเห็นฝุ่นคลุ้งอยู่ในป่า มีเตียวหุยยืนม้าบนสะพานแต่ผู้เดียว ทำให้โจโฉระแวงใจคิดว่าเป็นอุบายของขงเบ้ง ที่แอบซุ่มทหารเอาไว้ในป่า จึงพากันยั้งม้าไว้ปลายสะพาน ไม่กล้ารุกเข้าไป
ในหนังสือสามก๊กภาษาไทย บรรยายไว้ว่า เตียวหุยร้องตวาดออกไปด้วยเสียงอันดัง
"ตัวกูชื่อเตียวหุย ผู้ใดซึ่งมีฝีมือเข้มแข็ง จงมาสู้กันลองกำลังดูให้ถึงแพ้แลชนะ"
ทหารโจโฉได้ยินเสียงเตียวหุยก็ตกใจ ตกตะลึงอยู่มิได้เข้ารบ
![]() |
กองทัพของโจโฉ เกรงกลัวเตียวหุย |
แต่ในหนังสือสามก๊กภาษาจีนและภาษาอังกฤษ มีเหตุการณ์ต่อท้ายว่า
โจโฉ สังเกตุเห็นถึงความประหวั่นพรั่นพรึงในสายตาทหารหาญ คิดถึงสิ่งใดไม่ได้นอกจากการถอยทัพ
เตียวหุยเห็นดังนั้น จึงตะโกนไล่หลังด้วยพลังเสียงราวกับฟ้าร้อง
"ไอ้พวกขี้ขลาดตาขาว เอาแต่ถอยหนี ... !"
สิ้นเสียงนั้น แฮหัวเจี๋ย (Xiahuo Jie) หนึ่งในแม่ทัพของโจโฉก็ตกใจตาย ร่วงลงจากหลังม้า
ครั้งแฮหัวเจี๋ยตกม้าตาย ทหารของโจโฉก็ขวัญกระเจิง ต่างคนต่างวิ่งหนีเอาตัวรอด ประดุจดัง
"ลูกสุกรกลัวฟ้าผ่า คนหาฟืนกลัวพฆัคฆ์" (a suckling babe at a clap of thunder or a weak woodcutter at the roar of a tiger)
ต่างคนต่างวิ่งหนี ทิ้งอาวุธถอดเกราะ เตลิดเปิดเปิงทั้งคนทั้งม้า เหยียบย่ำศพของแฮหัวเจี๋ยอย่างไม่ใยดี
![]() |
เสียงของเตียวหุยทำให้ แฮหัวเจี๋ยตกม้าตาย |
-------------------------
เหตุการณ์นี้ จึงนับเป็นวีรกรรมที่ไม่มีในหนังสือสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ของ เตียวหุย พฆัคฆ์คำราม ผู้แผดเสียงฆ่าคน
วาจาฆ่าคนในเรื่องสามก๊ก ใช้การเสียดสีและน้ำเสียง... แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง ถ้อยคำหวาน ๆ ก็อาจทำให้คนตายได้เช่นกัน... นะจ๊ะ
หมายเหตุ : ประเทศไทยในปี พ.ศ.2564 ด้วยภาวะทางการเมือง ทำให้คำสุภาพไพเราะอย่าง "นะจ๊ะ" กลายเป็นคำที่น่าชิงชังสำหรับคนบางกลุ่ม
กรุณาแสดงความคิดเห็น