33 วิธีมองโลกแบบขงเบ้ง ข้อคิดที่ชี้ว่า ขงเบ้ง มองสิ่งใด ล้วนมองอย่างรอบคอบ มองเห็นทั้งด้านดี ด้านร้าย ทะลุปรุโปร่งทั้งสองด้าน
ในตอนก่อนที่ จูกัดเหลียง ขงเบ้ง สมุหนายกแห่งอาณาจักรจ๊ก ยอดนักการปกครอง นักการทหารสมัย สามก๊ก จะสิ้นลมหายใจนั้น ขงเบ้ง ได้มอบตำราวิชาการทางทหารเล่มหนึ่งให้กับ เกียงอุย ลูกศิษย์เอก ตำราเล่มนั้นมีชื่อว่า “เจี้ยงย่วน” หรือ “ปรัชญานิพนธ์ขงเบ้ง”"33 วิธีมองโลกแบบขงเบ้ง วิธีคิดพิจารณาโลก จากตำราพิชัยสงครามยุค สามก๊ก"
ในปรัชญานิพนธ์ขงเบ้ง แบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือ พิชัยสงคราม อีกส่วนคือกุศโลบาย ซึ่งในบทสุดท้ายของส่วนกุศโลบายนั้น ขงเบ้งได้กล่าวถึง "วิธีการสังเกตสรรพสิ่ง" ให้เห็นถึงแก่นแท้ ด้วยการยกตัวอย่างเปรียบเทียบอุปมาอุปไมยสิ่งต่าง ๆ รอบตัว แบบสั้น กระชับ และเข้าใจง่าย
ต่อไปนี้เป็นวิธีพิจารณา สังเกตสรรพสิ่งทั้งหลาย เพื่อให้เข้าใจในความหมายที่เร้นอยู่ ตามแบบฉบับของ ขงเบ้ง บุรุษผู้ได้ชื่อว่ามีสติปัญญามากที่สุดในยุค สามก๊ก ซึ่งสามก๊กวิทยาได้ลองถอดความ บรรทัดต่อบรรทัด แยกมาเป็นข้อ ๆ แล้วได้ออกมาเป็น 33 วิธีมองโลกแบบขงเบ้ง ดังนี้
33 วิธีมองโลก
- อันสรรพสิ่งนี้ถ้าภายนอกบอบช้ำ ภายในย่อมจะกลวง
- เบื้องบนงมงาย เบื้องล่างย่อมสงสัย
- เมื่อระแวงสงสัย ย่อมช่วงใช้คนผิด
- ความงมงายย่อมบดบังวิสัยทัศน์ เมื่อไร้วิสัยทัศน์ก็ไร้ซึ่งยุทธศาสตร์
- ไร้ซึ่งยุทธศาสตร์ ประเทศชาติจักอันตราย ประเทศชาติมีอันตราย ประชาชนย่อมไร้ความสงบ
- พิจารณาสิ่งใดต้องคิดให้ไกล จะได้มีความปลอดภัย หากไม่คิดการณ์ไกล ก็จักพบเภทภัย
- ยามมั่งมีก็มักประมาท ยามจนยากก็มักสิ้นคิด
- ยิ่งยึดติดก็จักยิ่งเสียหาย ยิ่งสะสมก็จะยิ่งอันตราย
- ผู้ไม่มีความดีความชอบ มักอวดอ้างว่ามีความดีความชอบ
"ผู้ไม่มีความดีความชอบ มักอวดอ้างว่ามีความดีความชอบ" - ขงเบ้ง |
- มีเรื่องห่วงมากมักจะกลุ้มมาก ความกลุ้มมักจะเกิดขึ้นเพราะเฉื่อยชาต่อปัญหา
- เรือรั่วน้ำจะซึม กระเป๋ารั่วเงินจะหาย
- ภูเขาเล็กจะไร้สัตว์อาศัย น้ำตื้นใสจะไร้ปูปลา ต้นไม้เล็กจะไร้นกกาทำรัง
"ภูเขาเล็กจะไร้สัตว์อาศัย น้ำตื้นใสจะไร้ปูปลา ต้นไม้เล็กจะไร้นกกาทำรัง" - ขงเบ้ง
- กำแพงชำรุดบ้านก็จะพัง เขื่อนพังน้ำก็จะทะลัก
- วิ่งก็จะหกล้ม เดินก็จะถึงช้า
- อยู่กลางทะเลมิอาจมั่นคง ย่ำบนน้ำแข็งเท้าก็จะลื่น เดินลงน้ำก็ตัวย่อมจม
- จะข้ามน้ำย่อมต้องอาศัยเรือ แต่หากไร้พาย มีเรือก็ไร้ประโยชน์
- คนไร้เพื่อนย่อมเปลี่ยวเหงา
- ผู้ดูแลเรื่องบำเหน็จอาญา จะต้องรู้พิจารณาความดีความชอบ
- ผู้ใดขาดความซื่อสัตย์ ผู้นั้นย่อมขาดสัจจะ
"ผู้ใดขาดความซื่อสัตย์ ผู้นั้นย่อมขาดสัจจะ" - ขงเบ้ง |
- ไร้ริมฝีปาก ฟันก็จะเปลือย ขนร่วง ผิวก็จะเหน็บหนาว
- ผู้คิดคดย่อมพูดจาไม่มีหลัก ผู้หูเบาย่อมประสบกับเภทภัย
- วางแผนดีย่อมมีชัย วางแผนฉาบฉวยย่อมพ่ายแพ้
- ผู้มีคุณธรรมย่อมตักเตือนผู้อื่นด้วยกุศโลบาย ดั่งสายฝนเย็นฉ่ำหยาดชโลมสรรพสิ่ง
- ม้าพันธุ์ดีจักขี่ง่าย ม้าพันธุ์เลวจักฝึกยาก
- ไม่มองก็เหมือนตาบอด ไม่ฟังก็เหมือนหูหนวก
ไม่มองก็เหมือนตาบอด ไม่ฟังก็เหมือนหูหนวก |
- รากแห้ง ใบจะเฉา ใบเฉา ดอกจะโรย ดอกโรยก็จะไร้ผล
- เสาเล็กบ้านก็คลอน ต้นลีบปลายก็คด ล่างเล็กบนก็พัง
- ไม่รู้แยกแยะดีชั่ว ก็เหมือนกรวดหินปะปนกับหยกงาม เสือร้ายอยู่ร่วมกับฝูงแกะ
- เสื้อผ้าขาดก็จงปะ สิ่งใดสั้นก็จงต่อ
- เล่นมีดก็จักบาดมือ โลดโผนก็จักเจ็บเท้า
- ชำระคราบไคลไม่จำเป็นต้องไปแม่น้ำลำคลอง น้ำที่ไหน ๆ ก็ชำระได้
- ม้าไม่จำเป็นต้องเป็นม้าสายพันธุ์ดี หากมีกำลัง มีฝีเท้ารวดเร็ว ม้าพันธุ์ไหน ๆ เป็นอันใช้ได้
- ผู้มีความสามารถ หาใช่มีเพียงแต่นักปราชญ์ราชบัณฑิต ขอเพียงมีสติปัญญาแจ่มแจ้ง ผู้นั้นย่อมนับเป็นผู้มีความสามารถ
จากวิธีมองโลกทั้ง 33 ข้อนี้ เราจะสังเกตได้ว่า ขงเบ้งมองสิ่งใด ล้วนมองอย่างรอบคอบ มองเห็นทั้งด้านดี ด้านร้าย ทะลุปรุโปร่งทั้งสองด้าน ส่วนการเปรียบเทียบอุปมาอุปไมยของขงเบ้ง ก็มิได้สลับซับซ้อน กลับใช้ภาษาง่าย ๆ ไม่ยากเกินเข้าใจ
ขงเบ้งมองโลกเช่นนี้ ... แล้วเรามีวิธีมองโลกเช่นไร ?
กรุณาแสดงความคิดเห็น