“เจี้ยงย่วน” เป็นตำราพิชัยสงครามที่ กล่าวถึงการปกครองบังคับบัญชาทหารระดับต่างๆ โดยประยุกต์เอาตำราพิชัยสงครามของซุนวู ผนวกรวมเข้ากับความรู้และประสบการณ์ของขงเบ้งเอง
"สุดยอดเคล็ดลับตำราพิชัยสงคราม ปรัชญานิพนธ์ของขงเบ้ง"
ในตอนก่อนที่ขงเบ้ง สมุหนายกแห่งอาณาจักรจ๊กจะสิ้นลมหายใจนั้น ขงเบ้งได้มอบตำราวิชาการทางทหารเล่มหนึ่งให้กับ เกียงอุย ลูกศิษย์เอก ซึ่งในหนังสือสามก๊กฉบับต่าง ๆ ได้บรรยายความในตอนนี้ไว้คล้ายคลึงกัน เช่น
ในหนังสือสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน) อธิบายว่า
“ตัวเราตั้งใจจะทำนุบำรุงพระมหากษัตริย์ ก็ไม่สมความคิด เพราะชีวิตเราจะตายอยู่แล้ว แต่เรามีวิชาแลความรู้แลตำราซึ่งได้เรียนมาคิดเป็นอักษร สิบหมื่นสี่พันร้อยสิบสองตัว คิดเป็นความยี่สิบสี่ข้อ การพิชัยสงครามแลตำรา ดูฤกษ์บนฤกษ์ต่ำอยู่ในนั้นสิ้น”
ในหนังสือ พิชัยสงครามสามก๊ก ของ สังข์ พัธโนทัย ความว่า
“ยอดปรารถนาในชีวิตของข้าพเจ้าอยู่ที่การสถาปนาพระบรมเดชานุภาพของราชวงศ์หั้นขึ้นในพระนครลกเอี๋ยง แต่ฟ้าไม่โปรด ความปรารถนาของข้าพเจ้าจึงไม่สำเร็จ ขอท่านจงรับภาระของข้าพเจ้าสืบต่อไปด้วย ตลอดชีวิตของข้าพเจ้า ไม่เคยหยุดเรียน ต้องหาเวลาศึกษาเพิ่มเติมอยู่มิได้ขาด ข้าพเจ้าได้แต่งตำราไว้เล่มหนึ่ง แบ่งออกเป็น 20 บท จำนวน 104,112 คำ ว่าด้วยหลัก 8 ประการที่พึงปฏิบัติในยามบ้านเมืองคับขัน หลัก 7 ประการที่พึงระมัดระวังในการปฏิบัติราชการ อันตราย 6 ประการที่พึงเกรง และภัย 5 ประการที่พึงกลัวในยามสงคราม”
สามก๊กฉบับภาษาอังกฤษ (Romance of the Three Kingdoms) ของ C. H. Brewitt-Taylor ว่า
"My death is very near. My chief desire has been to spend myself to the utmost to restore Han to its glory and to regain the Middle Land. But Heaven decrees it otherwise. My end is not far away. I have written a book in twenty-four chapters, 104,112 words, treating the Eight Needfuls, the Seven Cautions, the Six Fears, and the Five Dreads of war."
อ่านเปรียบเทียบกันหลายเล่ม ก็บังเกิดความสงสัยในตำราฉบับนี้ จึงลองถามอาจารย์กูเกิ้ล ก็เลยพบคำตอบว่าตำราที่ขงเบ้ง เขียนขึ้นมานั้น ยังมีหลงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบัน ชื่อว่า ตำราพิชัยสงคราม “เจี้ยงย่วน” (Jiang Yuan ,将苑)
“เจี้ยงย่วน” เป็นตำราพิชัยสงครามที่ กล่าวถึงการปกครองบังคับบัญชาทหารระดับต่างๆ โดยประยุกต์เอาตำราพิชัยสงครามของซุนวู ผนวกรวมเข้ากับความรู้และประสบการณ์ของขงเบ้งเอง ซึ่งแม้ที่มาที่ไปของตำราพิชัยสงคราม “เจี้ยงย่วน” จะยังไม่ชัดเจนนัก แต่ก็เป็นเอกสารอ้างอิง ฉบับเดียวที่หลงเหลืออยู่และเชื่อกันว่า เป็นผลงานของขงเบ้ง
ส่วนที่แตกต่างจากในนิยายนั้น คือ “เจี้ยงย่วน” แบ่งออกได้มากถึง 50 บท ไม่ใช่ 24 บท และมีเนื้อหามากกว่า 104,112 คำ มีรายละเอียดมากกว่าข้อคิด 8 7 6 และ 5 ประการตามเนื้อเรื่องอยู่มาก
หนังสือ “เจี้ยงย่วน” ในแบบฉบับภาษาไทยนั้น มีนักเขียน นักแปลฝีมือดี แปลไว้หลายฉบับด้วยกัน อาทิเช่น
ปรัชญานิพนธ์และชีวประวัติของขงเบ้ง โดย เธียรชัย เอี่ยมวรเมธ
ยอดขุนพลจากปัญญาขงเบ้ง โดย ทำนุ นวยุค
ตำราพิชัยสงครามขงเบ้ง โดย อมร ทองสุข
หนังสือทั้ง 3 เล่มนี้ มีสำนวนแตกต่างกันไปบ้างตามเทคนิคการแปล แต่เนื้อหาภายในเหมือนกัน นักอ่านและนักศึกษาสามก๊กท่านใดสนใจ ลองไปหามาอ่านได้ตามสะดวก
กรุณาแสดงความคิดเห็น