เรื่องราวความรักของขงเบ้ง กับพัดขนนกกระเรียน ที่เขาถือติดตัวอยู่เสมอ
ขงเบ้ง, จูกัดเหลียง (Kong Ming, Zhuge Liang, 诸葛亮) เป็นยอดนักการทหาร การปกครองชาวจีนแห่งยุคสามก๊ก ผู้มีสติปัญญาอันล้ำเลิศราวกับผู้หยั่งรู้ดินฟ้ามหาสมุทร เรื่องราวของเขาจึงถูกถูกเล่าขานสืบต่อกัน อาทิเช่นเหตุการณ์ สามเยือนกระท่อมหญ้า, เรือฟางยืมเกาทัณฑ์, ขงเบ้งเรียกลม, เจ็ดจับเจ็ดปล่อย, ดีดกระจับปี่ลวงทัพสุมาอี้, เสี่ยงเทียนต่อดวงชะตา ฯลฯ
ภาพลักษณ์ของขงเบ้งนั้น สูงสง่า มีราศี ดูทรงภูมิด้วยเครื่องแต่งกายของนักปราชญ์ตามลัทธิเต๋า แต่ที่ขาดไม่ได้คือ “พัดขนนกกระเรียน” ที่เขามักจะถือติดมืออยู่ตลอดเวลา
ต่อไปนี้คือตำนานเรื่องเล่าสนุก ๆ เกี่ยวกับชีวิตในวัยเยาว์และ “พัดของขงเบ้ง”
ขงเบ้งในวัยเด็ก
ขงเบ้ง |
ขงเบ้งตัวน้อยในวัย 9 ขวบ ซุกซนว่องไว ฉลาดเฉียว แต่เป็นใบ้ พูดไม่ได้ ทุก ๆ วัน ขงเบ้งต้องช่วยบิดาพาแกะไปเลี้ยงที่ท้องทุ่งตีนเขา ซึ่ง ณ ยอดเขาลูกนั้นมีวัดของหลวงจีนชราลัทธิเต๋ารูปหนึ่ง ผมขาวโพลน เที่ยวสอนวิชาลัทธิเต๋าและทางหลุดพ้นให้แก่ผู้คน
หลวงจีนเต๋า เดินผ่านทุ่งเลี้ยงแกะของขงเบ้งทุกวัน ก็ทักทายกันด้วยภาษามือ นานวันเข้าก็รักและเอ็นดูเจ้าเด็กน้อยคนนี้ เพราะประทับใจในความเฉลียวฉลาด หลวงจีนจึงช่วยรักษาโรคใบ้ และทำให้ขงเบ้งพูดได้ในที่สุด
ขงเบ้งดีใจมากที่สามารถพูดได้เป็นครั้งแรกในชีวิต เขาขอบคุณหลวงจีนเป็นการใหญ่ หลวงจีนจึงกล่าวว่า
“เมื่อเจ้ากลับบ้าน จงบอกแก่บิดามารดาว่า เราจะรับเจ้าเป็นศิษย์ เราจะสอนให้เจ้าอ่านเขียน จะให้เรียนในสรรพวิชา ดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ขัดเกลาเจ้าด้วยหลักธรรมแห่งเต๋า ทั้งหยินหยางแห่งศึกสงคราม หากบิดามารดาอนุญาต เจ้าต้องมาเรียนทุกวัน อย่าได้ขาดแม้เพียงวันเดียว”
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จะหนาว ร้อนหรือฝน ขงเบ้งก็ขึ้นเขาไปเรียนวิชากับหลวงจีนทุกวัน ไม่เคยย่อท้อ ขงเบ้งเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว เข้าใจและจดจำวิชาต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำ โดยที่หลวงจีนมิต้องอธิบายซ้ำเลย หลวงจีนจึงรักและพอใจในตัวศิษย์ผู้นี้มาก
รักแรกของขงเบ้ง
รักแรกของขงเบ้ง |
แปดปีต่อมา ขงเบ้งอายุ 17 ปี กลายเป็นหนุ่มเต็มตัว ชะตาชีวิตได้พบจุดเปลี่ยน
วันนั้น ระหว่างที่ขงเบ้งเดินลงจากเขาผ่านสำนักของแม่ชี เกิดลมพายุแรง ฟ้าคะนอง ฝนตกห่าใหญ่ ขงเบ้งจึงต้องขอเข้าไปหลบอยู่ในสำนักแม่ชีนั้นและได้พบกับ ดรุณีนางหนึ่ง นัยน์ตาใสดวงโต คิ้วเล็กเรียงสวย ใบหน้างดงามราวกับเทพธิดา เธอผู้เดียวเป็นผู้ดูแลสำนักชีนี้ และชงน้ำชาอุ่น ๆ มารับขงเบ้งที่กำลังหนาวจากเปียกฝน
กายนั้นอาจหนาว แต่ใจสิร้อนรุ่ม ... ขงเบ้งหนุ่มน้อยพบรักเสียแล้ว
เสียงฟ้าร้องและพายุสงบลง แต่เสียงหัวใจของเขายังอึกทึกนัก เมื่อหญิงสาวเดินมาส่งเขาที่ประตูแล้วกล่าวว่า
“หากท่านเดินผ่านมาทางนี้เมื่อไหร่ ก็แวะพักดื่มน้ำชาที่นี่ได้เสมอ”
ครั้นเมื่อขงเบ้งเดินกลับบ้าน เขานึกสงสัยที่ไม่เคยสังเกตเลยว่ามีคนอาศัยอยู่ที่สำนักแม่ชีแห่งนี้ แต่นั่นก็มิใช่เรื่องคิดให้เสียเวลา
จากวันนั้นเป็นต้นมา ทุกครั้งที่ขงเบ้งเลิกเรียน เขาจะแวะพักที่สำนักแม่ชีเสมอ
สาวน้อยผู้นั้น มีวัยเพียง 16 แต่นั่นก็มีเสน่ห์มากพอแล้วที่จะรั้งตัวขงเบ้งให้มาเยี่ยมเยือนทุกวัน เธอทำอาหารและรับรองเขาอย่างดี พูดคุย สนทนาและเล่นหมากรุกกัน เมื่อเทียบกับวัดอันคร่ำเคร่งของหลวงจีน สำหรับขงเบ้งแล้วที่นี่ก็คือวิมานดี ๆ นั่นเอง
ไม้ใหญ่ที่ไม่โต
เถาวัลย์น้อยเอาชนะไม้ใหญ่ |
รักในวัยเรียน เป็นอุปสรรค์ยิ่งต่อการศึกษา ขงเบ้งเริ่มไม่สนใจเรียน ขาดสมาธิ และหลงลืมบ่อยครั้ง จนหลวงจีนผู้เป็นอาจารย์สังเกตเห็น ปัญหาของศิษย์ เขาจึงเรียกขงเบ้งมาพบแล้วกล่าวว่า
“ตัดต้นไม้ ย่อมง่ายกว่าการปลูก ! สิ่งที่ข้าเพียรสั่งสอนเจ้า คงไร้ประโยชน์เสียแล้ว”
ขงเบ้งได้ฟังก็รู้ว่าตนกำลังถูกตำหนิ เขาจึงก้มหัวรับแล้วว่า
“ท่านอาจารย์ ข้าน้อยผิดไปแล้ว และจะไม่ทำให้ท่านผิดหวังอีก”
“ข้ามิอาจเชื่อ” หลวงจีนว่าพลางชี้ไปที่ต้นไม้ซึ่งมีเถาวัลย์เกี่ยวเกาะเต็มต้น
“จงดูต้นไม้ต้นนั้น จะโตก็ไม่โต จะตายก็ไม่ตาย เจ้ารู้ไหมว่า เพราะอะไร ?”
“เพราะมีเถาวัลย์ดึงรั้งมันไว้ครับ” ขงเบ้งตอบ
หลวงจีนจึงว่า “สำหรับต้นไม้แล้ว แม้นเกิดบนหินหรือดินที่แข็งแกร่งสักเพียงใด รากของมันก็จะสามารถหยั่งลงลึก เจริญเติบโตใหญ่ขึ้นได้ แต่หากเมื่อใดมันถูกเถาวัลย์อันโอนอ่อนเกาะเกี่ยวไว้ มันกลับไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้อีก น่าแปลกไหม ที่เถาวัลย์น้อยเอาชนะไม้ใหญ่เช่นนี้ได้”
ขงเบ้งได้ฟังคำสอนเพียงเท่านี้ เขาก็รู้ได้ทันทีว่าอาจารย์หมายถึงสิ่งใด พลางอุทานว่า
“ท่านอาจารย์รู้เรื่องของศิษย์ที่สถานนางชีด้วยหรือ !?”
โฉมหน้านาง
นกกระเรียนสวรรค์ คือสตรีผู้นั้น |
“เฒ่าหาปลารู้วิถีปลา พรานป่ารู้จักเสียงนก ข้าอบรมสั่งสอนเจ้าตั้งแต่เล็กจนใหญ่ ย่อมล่วงรู้จิตใจของเจ้าเป็นธรรมดา”
“ สตรีผู้นั้นหาใช่มนุษย์ไม่ เดิมนั้นเป็นนกกระเรียนอยู่บนสวรรค์ แต่กลับขโมยลูกท้อสวรรค์กิน จึงถูกลงโทษให้มาอยู่ในร่างของสาวงาม บนโลกมนุษย์คอยพิสูจน์และล่อลวงผู้คนด้วยกิเลส ตัณหา หากเจ้าหลงกลของนาง ชีวิตของเจ้าก็จะไร้จุดหมาย ไม่เจริญก้าวหน้า แต่เมื่อใดที่ความลับนี้แพร่งพราย นางก็จะทำร้ายเจ้า”
อาจารย์สอนขงเบ้ง พร้อมกับแนะนำต่อเมื่อเห็นศิษย์มีอาการตื่นตระหนกว่า
“ นางนกกระเรียน จะกลายร่างเป็นนกในเวลาเที่ยงคืนและบินขึ้นไปอาบแสงจันทร์ที่ทางช้างเผือกเสมอ เจ้าจงอาศัยช่วงเวลานั้นเข้าไปในสำนักแม่ชี แล้วเผาเสื้อผ้าของนางเสีย ผ้านี้เป็นอาภรณ์สวรรค์ นางใส่แล้วจึงแปลงกายเป็นสาวงามได้ เมื่อทำลายแล้วนางก็จะไม่สามารถแปลงกายได้อีก”
“ให้เจ้าจงนำไม้เท้าเศียรมังกร ของข้าติดตัวไปด้วย เพราะเมื่อนางกระเรียนรู้ว่าเสื้อของนางถูกเผา นางจะโกรธแค้นและรีบบินกลับมาสังหารเจ้า ... จงใช้ไม้เท้านี้ตีนาง !”
พัดขนนก
ขงเบ้งถือพัดขนนกเพื่อเตือนสติ |
เที่ยงคืนวันนั้น ขงเบ้งลอบเข้าไปเผาเสื้อของนางนกกระเรียนตามคำของอาจารย์ ครั้นเมื่อนางนกกระเรียนรู้ตัวก็รีบบินกลับมาทันที นางพยายามบินเข้ามาจิกตีขงเบ้ง แต่ไม่สำเร็จและถูกขงเบ้งตีด้วยไม้เท้าเข้าอย่างจัง จนลงไปกองอยู่ที่พื้น
ขงเบ้งถลาเข้าไปคว้าหางของนาง หมายจะจับตัวไว้ไม่ให้ไปสร้างความเดือดร้อนกับใครอีก แต่นางสะบัดหลุดหนีออกไปได้ ทิ้งไว้แต่เพียงขนหางจำนวนมากอยู่ในกำมือของขงเบ้ง เขานำมันไปเก็บไว้เป็นเครื่องเตือนใจ
นางกระเรียน หนีไปได้แต่กลายเป็นนกหางด้วน ต้องอับอายขายหน้าบรรดานกสวรรค์ด้วยกัน ไม่กล้าบินไปอาบแสงจันทร์ที่ทางช้างเผือกหรือโผล่หน้าไปที่สวรรค์อีกเลย ได้แต่แฝงตัว หลบซ่อนอยู่กับฝูงนกกระเรียนบนโลกมนุษย์ ซึ่งมีหางสั้นเหมือน ๆ กัน
หลังจากกำจัดนางนกกระเรียน ขงเบ้งก็สำเร็จวิชาทั้งมวลในเวลาเพียง 1 ปี หลวงจีนผู้เป็นอาจารย์จึงกล่าวว่า
“ขงเบ้ง, เจ้าอยู่กับข้ามา 9 ปี ร่ำเรียนวิชาทุกสิ่งทุกอย่างจากข้าไปหมดสิ้น ตอนนี้เจ้าก็อายุ 18 แล้ว ถึงเวลาที่เจ้าจะต้องออกเดินทาง ไปเรียนรู้ด้วยตนเองแล้ว”
“อาจารย์เพียงเปิดประตูชี้ทาง แต่ศิษย์เป็นผู้ก้าวเดิน, จงเรียนรู้จากการใช้ชีวิตจริง จงประยุกต์ใช้ศาสตร์และศิลป์ในการแก้ปัญหา ดูเอาเถิดว่าเจ้าได้บทเรียนครั้งสำคัญจากนางนกกระเรียนมากขนาดไหน ชีวิตจริงเต็มไปด้วยสิ่งล่อลวง จงระมัดระวัง อย่าหลงใหลแต่เปลือกนอก ให้พิเคราะห์สรรพสิ่งให้เห็นจริง นี่คือสิ่งที่ข้าจะสอนเจ้าเป็นครั้งสุดท้าย”
ตราแปดเหลี่ยม ปากัว หรือโป๊ยก่วย (bagua) |
ขงเบ้งร้องไห้ รับคำอาจารย์แล้วก้มลงกราบ แต่เมื่อเงยหน้าขึ้นมา ก็ต้องประหลาดใจเพราะอาจารย์ของเขาหายตัวไปแล้ว ทิ้งไว้เพียงเสื้อคลุมที่มีตราแปดเหลี่ยม ปากัว หรือโป๊ยก่วย (bagua) ไว้ให้ดูต่างหน้า ซึ่งเขามักนำมาใส่อยู่เสมอเพื่อระลึกถึงบุญคุณของอาจารย์
นอกจากนี้เขายังนำหางของนางนกกระเรียนสวรรค์มาทำเป็นพัด ถือติดตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อเตือนสติว่า อย่าได้ประมาทและหลงใหลในสิ่งลวง
เรื่องตำนานขงเบ้ง และพัดนกกระเรียน จึงจบลงแต่เพียงเท่านี้
ที่มา : The legend of Zhuge Liang’s Feather Fan and the Mysterious Young Lady | China GazeChina Gaze
สุดยอดเลยครับ สงสัยตั้งนานว่าทำไมต้องขนนก 55+
ตอบลบเป็นเรื่องแต่งหรือเป็นเรื่องจริงครับ
ตอบลบนิทานครับ อย่าถือเป็นจริงเป็นจัง
ลบแต่ถ้าเป็นเรื่องจริง ผมว่าขงเบ้ง ไม่รอดจากกระเรียนสาวหรอก
เห็นด้วยๆๆ ชีวิตจริงเสร็จทุกรายครัช
ลบแหม่ ก็เป็นเรื่องแต่งหมดละครับ สามก๊กก็เป็นเรื่องแต่ง
ตอบลบเรื่องนี้ก็คงจะแต่งเหมือนกัน แต่จริงๆเวลาเราอ่านอะไรต้องอ่านเพื่อดูเป็นเยี่ยงอย่าง หรือ อ่านเพื่อจะพินิจพิเคราะห์ เพื่อคิดต่อยอดหรือให้เห็นประโยชน์ครับ
เฮ้อ! อันที่จริงหญิงก็ม้วยลงด้วยชาย ชายก็ตายเพราะหญิงจริงดังนี้
ตอบลบเลยประชดชีวิต มารักสาวรูปไม่งามแต่ฉลาดสินะ โอ้สวรรค์ แต่ก็ยังอุตส่าห์เก็บพัดขนนกไว้ข้างกาย แต่ยอมทิ้งบ้านทิ้งภรรยาตามเล่าปี่ไปทุกที่ ตลอดจนตายพัดจึงหล่นจากมือ พอจะรู้ได้เลยว่าใครเป็นเจ้าของหัวใจอาจารย์ฮกหลก
ตอบลบถ้าจับเรื่องความรักของขงเบ้งมาเขียนเป็นนิยาย ก็คงสนุกมิใช่เล่น
ลบ