“ซึ่งเราร้องไห้เพราะเหตุคิดถึงกุยแก แม้กุยแกยังไม่ตายก็จะได้มาด้วยเรา เราก็จะไม่ยากถึงเพียงนี้”
กุยแก (Guo Jia , 郭嘉) เป็น ยอดกุนซือแห่งวุยก๊ก เป็นชาวเมืองอิ่งชวน เอี๋ยงตี๋ (เมืองอวี๋ มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน) ชื่อรองฟ่งเสี้ยว (Fengxiao, 奉孝) เริ่มรับราชการกับโจโฉในวัยเพียง 27 ปี จากการแนะนำของซุนฮกและเทียหยก กุยแกเป็นนักวางแผนคนสำคัญที่ช่วยให้ โจโฉเอาชนะอ้วนเสี้ยว และครองแผ่นดินทางภาคเหนือของแผ่นดินจีนได้สำเร็จ
“ซึ่งเราร้องไห้เพราะเหตุคิดถึงกุยแก แม้กุยแกยังไม่ตายก็จะได้มาด้วยเรา เราก็จะไม่ยากถึงเพียงนี้”กุยแก (Guo Jia , 郭嘉) เป็น ยอดกุนซือแห่งวุยก๊ก เป็นชาวเมืองอิ่งชวน เอี๋ยงตี๋ (เมืองอวี๋ มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน) ชื่อรองฟ่งเสี้ยว (Fengxiao, 奉孝) เริ่มรับราชการกับโจโฉในวัยเพียง 27 ปี จากการแนะนำของซุนฮกและเทียหยก กุยแกเป็นนักวางแผนคนสำคัญที่ช่วยให้ โจโฉเอาชนะอ้วนเสี้ยว และครองแผ่นดินทางภาคเหนือของแผ่นดินจีนได้สำเร็จ
นักอ่านสามก๊กหลายท่าน ชื่นชอบในความสามารถของกุยแก และมากจนขนาดที่ก็เชื่อว่ากุยแกมีสติปัญญาความสามารถมากกว่าขงเบ้ง หากกุยแกไม่อายุสั้นป่วยตายตั้งแต่อายุ 38 ปี โจโฉคงไม่แตกทัพเรือที่สมรภูมิเซ็กเพ็ก เพียงเพราะเมื่อโจโฉพ่ายแพ้ศึกในครั้งนั้น โจโฉได้รำพันดัง ๆ ในงานเลี้ยงปลอบขวัญให้เหล่าขุนนางที่ปรึกษาได้ยินว่า “ซึ่งเราร้องไห้เพราะเหตุคิดถึงกุยแก แม้กุยแกยังไม่ตายก็จะได้มาด้วยเรา เราก็จะไม่ยากถึงเพียงนี้” (ในสามก๊กภาษาอังกฤษว่า “I am thinking of my friend Guo Jia: Had he been alive, he would not have let me suffer this loss, Alas for Guo Jia! I grieve for Guo Jia! I sorrow for Guo Jia!")
คำพูดของโจโฉนี้ได้เสียดแทงใจทั้งคนฟังและคนอ่าน คำรำพันอันนั้น ไม่มีใครทราบว่าโจโฉผู้มากด้วยเล่ห์กล่าวขึ้นด้วยจุดประสงค์ใด อาจจะรักกุยแกจริง หรือเพียงประชดเหล่าที่ปรึกษาที่เหลือ ที่ไม่มีใครช่วยออกความเห็นหรือกล้าคัดค้านตน (ใครจะกล้าท้วง เพราะ เล่าฮก หนึ่งในคณะที่ปรึกษาได้ทักท้วงเตือนโจโฉเรื่องการศึกแล้ว แต่โจโฉยังไม่ฟัง แถมยังแกล้งเมาเอาทวนแทงตาย) และนั่นทำให้ความสำคัญของกุยแกมีเพิ่มขึ้นมากเสียจนมีคนนำชื่อของเขาไปเทียบชั้นกับขงเบ้งเลยทีเดียว ...
เหตุใดเราจึงต้องยกย่องกุยแกถึงขนาดนั้น ทั้ง ๆ ที่ ความเก่งระดับเดียวกับขงเบ้งคือจินตนาการและข้อสันนิษฐาน กุยแกเองมีผลงานน้อยมาก เทียบกับกุนซือคนอื่น ๆ ในก๊กอย่าง สุมาอี้ กาเซี่ยง หรือ ซุนฮกซุนฮิว ยังไม่ได้เลย
งานหลักของกุยแกคือการวิเคราะห์ การทำนาย ... แถวบ้านผมเรียกคนแบบกุยแกว่า “หมอดู”
กุยแก (Guo Jia , 郭嘉) |
ผลงานของกุยแก
ผลงานและเกียรติประวัติของกุยแกมีอะไรบ้างนั้น ขอให้ลองพิจารณาสิ่งเหล่านี้กันดูก่อน- ซุนฮกและเทียหยก แนะนำกุยแกให้กับโจโฉ พอกุยแกสอบสัมภาษณ์เสร็จ ผลงานแรกที่กุยแกทำคือ พาผู้มีสติปัญญาอีกสี่คนมาอยู่กับโจโฉ ได้แก่ เล่าหัว บวนทง ลิเกียน และมอกาย
- เล่าปี่เขียนจดหมายมาขอร้องมิให้โจโฉยกทัพไปตีเมืองชีจิ๋วของโตเกี๋ยม โจโฉโมโหจะตัดหัวพลนำสาร แต่กุยแกห้ามไว้ และขอให้แสร้งตอบจดหมายเอาใจเล่าปี่ไว้ก่อน จากนั้นจึงค่อยลอบตีชีจิ๋ว แต่เผอิญว่าว่าลิโป้ยกทัพมาตีเมืองกุนจิ๋วของโจโฉ กุยแกจึงแนะนำโจโฉอีกครั้งว่า ให้ตอบจดหมายเล่าปี่เป็นไมตรีเอาไว้ก่อน แล้วจึงค่อยบุกตีลิโป้
- สนับสนุนความคิดโจโฉให้ทำอุบายแกล้งตาย ลวงให้ลิโป้ฮึกเหิมบุกเข้าตี แล้วซุ่มกองทัพไว้สกัดจับตัวลิโป้
- โจโฉตั้งตนเป็นมหาอุปราช และตั้งให้ ซุนฮก ซุนสิ้ว(ซุนฮิว) กุยแก เล่าหัว เป็นขุนนางฝ่ายพลเรือน (แต่ในหนังสือสามก๊กภาษาอังกฤษ แยกตำแหน่งของทั้งสี่คนนี้อย่างชัดเจน ซึ่งกุยแกมีตำแหน่งเป็น “Minister of Rites and Religion” แปลว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพิธีกรรมและศาสนา)
- เล่าปี่หนีลิโป้มาขอพึ่งโจโฉ ซุนฮก กับเทียหยกเห็นเป็นโอกาสจึงแนะนำโจโฉให้สังหารเล่าปี่ แต่กุยแกไม่เห็นด้วยแล้วยกเหตุผลมาเกทับความคิดซุนฮก ว่าทุกวันนี้ท่านคิดการใหญ่ จะหาผู้มีสติปัญญาคิดการด้วย หากฆ่าเล่าปี่เสีย ต่อไปใครจะสมัครมาเข้าด้วย โจโฉเป็นผู้นำแบบประชาธิปไตย(ไทย) จึงเลือกเชื่อกุยแก
- โจโฉประกาศห้ามทหารเหยียบย่ำไร่นาของราษฎรแต่ม้าของเขากลับกระโจนเหยียบทุ่งข้าวโพดหักล้มลงเป็นอันมาก เอง โจโฉจึงคิดอุบายหวังให้คนทั้งปวงนับถือ เรียกแม่ทัพนายกองมาปรึกษาลงโทษตน แล้วคว้ากระบี่จะเชือดคอ แต่กุยแกรู้ทันจึงห้ามไว้และกล่าวว่า หากมหาอุปราชตายไปราษฎรก็จะเดือดร้อนไร้ที่พึ่ง โจโฉจึงตัดผมแทน แล้วให้ทหารเอาไปประกาศให้รู้โดยทั่วถึงกัน
- อ้วนเสี้ยวจะยกทัพไปตีกองซุนจ้านจึงส่งสารมาขอเสบียงจากโจโฉ โดยขู่ว่าถ้าไม่ช่วยก็จะยกทัพมาตีโจโฉแทน กุยแกจึงกล่าวถึงข้อด้อยสิบประการของอ้วนเสี้ยว ตามด้วยข้อดีอีกสิบประการของโจโฉ (มีลูกน้องแบบนี้ นายที่ไหนก็รัก) โจโฉจึงเลิกกังวลเรื่องศึกกับอ้วนเสี้ยว แล้วกุยแกจึงแนะให้หันไปปราบลิโป้แทน โดยตอบสารหลอกให้อ้วนเสี้ยวจัดกำลังไปรบกับกองซุนจ้าน แล้วจึงจะยกกำลังไปช่วย
- กุยแกสนับสนุนความคิดของซุนฮิว ให้โจโฉรีบยกไปช่วยเล่าปี่ที่กำลังถูกลิโป้ตี เพราะหากละไว้ ลิโป้จะมีกำลังกล้าแข็งขึ้น โจโฉก็เห็นชอบตามนั้น
- โจโฉล้อมเมืองแห้ฝือของลิโป้อยู่นานก็ยังตีไม่แตก จึงคิดจะยกทัพกลับ กุยแกจึงคิดแผนทดน้ำให้ไหลท่วมเมืองแห้ฝือของลิโป้ ทำให้ลิโป้ต้องพ่ายแพ้ไปในที่สุด
- โจโฉอนุญาตให้เล่าปี่เป็นแม่ทัพยกไปตีเมืองชีจิ๋วของอ้วนสุด เมื่อเล่าปี่ไปแล้ว เทียหยกกับกุยแกจึงรีบเข้ามาหาโจโฉเพราะไม่เห็นด้วยที่โจโฉปล่อยเล่าปี่ให้นำทัพไป โจโฉจึงรีบส่งเคาทูไปตามแต่ไม่สำเร็จ
- สนับสนุนความคิดของโจโฉ ให้จะยกทัพไปตีเล่าปี่ที่เมืองชีจิ๋วก่อน เพราะหากละไว้เล่าปี่จะกล้าแข็งกว่าอ้วนเสี้ยวมาก ส่วนอ้วนเสี้ยวนั้นโลเลและไม่กล้ายกมาตีเมืองฮูโต๋ระหว่างที่เรายกทัพไปตีเล่าปี่แน่นอน
- เตียวเหียนลูกน้องเก่าของซุนเซ็กที่ถูกโจโฉกักตัวไว้ หวังดีไม่เข้าท่า ส่งสารมาบอกซุนเซ็กว่า โจโฉและเหล่าขุนนางล้วนแต่เกรงฝีมือท่าน เว้นเสียแต่กุยแก ที่ดูถูกท่านว่า “เหตุใดจะมาเกรงซุนเซ็ก อันซุนเซ็กหาปัญญามิได้ เป็นคนใจเร็ว จะคิดสิ่งใดก็โอหัง กำเริบตั้งตัวว่าเป็นใหญ่ นานไปจะตายด้วยฝีมือทหารเลว” ซึ่งต่อมาก็เป็นจริงตามคำนั้น
- อ้วนเสี้ยวตาย อ้วนถำ อ้วนชงผู้บุตร แก่งแย่งชิงดีกัน แต่เพราะโจโฉบุกตี จึงกลับมาร่วมมือกันป้องกันเมืองกิจิ๋ว จนโจโฉหมดหนทางตี กุยแกจึงแนะนำว่า ให้แกล้งถอนทัพกลับและยกไปตีเมืองเกงจิ๋วทางใต้ก่อน พออ้วนถำ อ้วนชงว่างศึก ก็จะเข่นฆ่ากันเอง
- แนะให้โจโฉใช้ทหารเก่าของอ้วนเสี้ยว อย่างเตียวเหียน เตียวหลำ ลิกอง ลิเซียง ม้าเอี๋ยน เตียวคี ยกทัพตามจับอ้วนชง อ้วนฮี เพื่อแสดงให้ทหารอ้วนเสี้ยวรู้ว่า หากยอมสวามิภักดิ์ก็ยังมีงานทำแน่นอน ซึ่งก็ทำให้โฮห้วนเจ้าเมืองเลียวไส ยอมสวามิภักดิ์แต่โดยดี
- โจโฉตามตีอ้วนฮี อ้วนชง จนเกือบสุดขอบประเทศจีน โจหองจึงแนะนำว่าให้เลิกตามอ้วนฮีอ้วนชงที่หมดพิษสงไปแล้ว และยกทัพกลับเพื่อไประวังภัยด้านเล่าปี่เล่าเปียวทางทิศใต้ดีกว่า แต่กุยแกไม่เห็นด้วย และชี้ว่าอ้วนฮีอ้วนชงยังมีพิษภัยอยู่ อีกทั้งหัวเมืองตะวันตก ที่อ้วนฮี อ้วนชงหนีไปอาศัยอยู่ด้วย นั้นก็มิได้มีการเตรียมการทำศึกสงคราม จึงสามารถบุกตีได้โดยง่าย นอกจากนั้นเล่าเปียวกับเล่าปี่ก็จะไม่มีความสุจริตใจต่อกัน คงจะคิดระแวงระวังตัวกันอยู่ ท่านจึงควรจะปราบปรามหัวเมืองฝ่ายตะวันตกให้ราบคาบก่อนจึงจะควร
- กุยแกป่วยระหว่างการเดินทางอันธุระกันดาร โจโฉสงสารจึงคิดจะยกทัพกลับ กุยแกจึงกล่าวว่า “ อันคุณของท่านมีอยู่แก่ข้พเจ้าเป็นอันมาก อย่าวิตกถึงข้าพเจ้าเลย ถึงมาตรว่าข้าพเจ้าจะตายก็จะเอาชีวิตแทนคุณท่าน อันคำโบราณกล่าวไว้ว่า การสิ่งใดเห็นได้การแล้ว ก็ให้เร่งคิดอ่านทำการไปจนกว่าจะสำเร็จ” แล้วให้โจโฉรีบหาชาวบ้านมานำทาง เพื่อใช้ความรวดเร็วในการเข้าตี
- กุยแกตายแล้ว แต่ส่งจดหมายน้อยมาให้โจโฉ ความว่า ไม่ต้องตามตีอ้วนฮี อ้วนชง เข้าไปยังเมืองเลียวตั๋ง เพราะกองซุนของ เจ้าเมืองเลียวตั๋งจะระแวงอ้วนฮี อ้วนชง แล้วนำศีรษะของมันมาให้ท่านเอง
หมอดูทำนายผิด
ผลงานการวิเคราะห์สถานการณ์ของกุยแกมีมากมาย และแม่นราวกับตาเห็น แต่กระนั้น ก็มีอยู่อย่างน้อย 2 ครั้ง ที่กุยแกทำนายผิด นั้นคือ- เมื่อครั้งที่โจโฉรบลิโป้ กุยแกเคยวิเคราะห์ว่าลิโป้จะซุ่มทหารไว้ที่ซอกเขาไทสัน และขอให้โจโฉหยุดทัพไว้ก่อน แล้วแต่งม้าใช้ให้ไปสอดแนมดูก่อน โจโฉได้ยินดังนั้นก็หัวเราะแล้วว่า ลิโป้นั้นเป็นคนหาความคิดมิได้ ซึ่งจะให้ทหารมาซุ่มนั้นเห็นเหลือความคิดลิโป้ ซึ่งก็เป็นจริงตามที่โจโฉว่า
- โจโฉล้อมเมืองแห้ฝือของกวนอู และอยากได้ตัวกวนอูมารับราชการด้วย แต่กุยแกปรามว่า “อันน้ำใจกวนอูนั้นซื่อสัตย์ต่อเล่าปี่นัก ซึ่งจะให้คนไปเกลี้ยกล่อมเห็นกวนอูจะมิลงใจด้วย แลผู้ใดซึ่งจะไปเกลี้ยกล่อมนั้นกวนอูก็คงจะฆ่าเสีย” ซึ่งผิดเพราะต่อมาเทียหยกได้ออกอุบายให้เตียวเลี้ยวเกลี้ยกล่อมกวนอูได้สำเร็จ
กุยแกอาจเทียบขงเบ้งได้เพียงด้านเดียวคือ สติปัญญา |
กุยแก ไม่อาจเทียบขงเบ้ง
งานของกุยแกคือการให้คำแนะนำ ปรึกษา วิเคราะห์ คาดการณ์และทำนาย ซึ่งเมื่อนำมาเทียบกับขงเบ้งแล้ว สิ่งที่กุยแกทำ ขงเบ้งก็สามารถทำได้หมด กุยแกมีบทบาทเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเท่านั้น แต่ขงเบ้งครบเครื่องมีทั้งความกล้า ลูกบ้าลูกชน อย่างที่เขาแสดงไว้ในแผ่นดินกังตั๋ง นอกจากนี้ขงเบ้งยังสามารถทำงานเบื้องหน้า นำทหารออกรบในสมรภูมิต่าง ๆ อย่างโชกโชน ต่างจากกุยแกที่อยู่แต่ในกระโจม และตามโจโฉเป็นเงา กุยแกไม่เคยดูดาว ไม่เคยใช้ไสยศาสตร์มนต์ดำ ไม่เล่นกระจับปี่ ไม่สร้างหน้าไม้กลหรือโคยนต์ .... ในภาพรวม ดูอย่างไรก็แล้วกุยแกก็ไม่อาจเทียบกันกับขงเบ้งได้เลยยีเอ๋ง หนุ่มสมองใสไอคิวสูง ผู้แก้ผ้าตีกลอง (อีคิวต่ำ) ได้วิจารณ์กุยแกอย่างเจ็บแสบว่า “กุยแกนั้นชอบแต่ให้แต่งโคลงแลอ่านบัตรหมาย” ประกอบกับตำแหน่งที่โจโฉแต่งตั้งให้ตอนที่ขึ้นเป็นมหาอุปราช คือ “Minister of Rites and Religion” แปลว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพิธีกรรมและศาสนา ก็เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า กุยแกเหมาะกับตำแหน่ง “หมอดู” เป็นอย่างยิ่ง
กุยแก เด่นดังขึ้นมาได้เพราะคำยอของโจโฉ ... ดังเพราะทำนายได้แม่นราวกับมีจิตสัมผัส ดังเพราะชอบฟันธงสวนทางกับความเห็นคนอื่น... ดังเพราะชอบคอนเฟริมสนับสนุนไอเดียชาวบ้าน .... ถ้ากุยแกมาเกิดในสมัยนี้ คงขอหวยกันได้สนุกและมีลูกศิษย์ลูกหาเป็นนักการเมืองหรือนายทหารใหญ่
สุดท้าย... อย่าเชื่อบทความนี้มากนักเพราะวันนี้ 1 เมษายน คือวันโกหก April Fool Day ครับ (ผมโดนกูเกิลหลอกให้ใช้ Google Nose ดมกลิ่นขนสุนัขเปียกน้ำทางหน้าจอมาแล้ว)
บทบาทน้อยจริงๆ พอๆกับบังทองยอกอัจฉริยะ
ตอบลบขอบคุณมากครับ
ตอบลบตกลงคือโกหกรึเปล่าเนี่ย = ="
ตอบลบเรื่องกุยแกเป็นหมอดู...โกหกครับ
ลบแต่รายละเอียดปลีกย่อยในบทความ นำเนื้อหามาจากวรรณกรรมทั้งสิ้นครับ
บทความดีมากครับ
ตอบลบช่วยวิเคราะห์
- กาเซี่ยง
- บังทอง
- จิวยี่
- ลกซุน
- หวดเจ้ง
- ซุนฮก
- ซุนฮิว
- เล่าหัว
ให้บ้างครับ
อยากเหมือนกันครับ แต่ตัวละครพวกนี้ส่วนใหญ่มีคนวิเคราะห์ไว้เยอะและดีอยู่แล้ว
ลบตอนนี้ยังคิดมุขไม่ออก ว่าจะสร้างมุมมองใหม่ ๆ ให้พวกนั้นได้ยังไง ต้องรอสะสมความรู้และประสบการณ์อีกนิดนึงครับ
ผมว่าทำนายไม่ผิดหรอก เพราะว่ากวนอูแกก็ไม่ได้มีใจเข้าฝ่ายโจโฉจริงๆนั้นแหละ ส่วนการคาดการนั้น มันต้องกันไว้ดีกว่าแก้สิครับ ถ้ารอให้เพลี่ยงพล้ำแล้วค่อยแก้สถานการณ์มันยากกว่านะครับ
ตอบลบDeletejavascript:BLOG_CMT_subscription.toggle()
ถ้าโจโฉเชื่อกุยแกตอนนั้น แล้วไม่ไว้ชีวิตกวนอู เรื่องสามก๊กจะดำเนินไปทางไหน...? น่าคิดดีเหมือนกัน
ลบด้านความซื่อสัตย์และการเมืองขงเบ้งด้อยกว่ากุยแกครับ แต่แรกขงเบ้งเป็นคนเสนอให้เล่าปี่ยึดอำนาจเล่าเปียว ทั้งๆที่ขงเบ้งเองก็เคยได้รับการช่วยเหลือจากเล่าเปียว และก็เป็นคนที่สนับสนุนให้เล่าปี่ทรยศซุนกวน ขงเบ้งต้องการอำนาจมากกว่ากุยแก จากบันทึกจดหมายที่เขียนสั่งสอนและทวงบุญคุณพระเจ้าเล่าเสี้ยนนั้นแสดงว่าต้องการยึดอำนาจไว้เอง ลูกชายขงเบ้งก็จูกัดเจี๋ยมก็แต่งกับธิดาพระเจ้าเล่าเสียน วางเส้นทางอำนาจไว้ พรรคพวกเก่ามักถูกบีบให้ไร้อำนาจจูล่งเองก็เป็นเหยื่อเช่นกัน ก่อนเล่าปี่ตายตอนถามลองใจขงเบ้งเล่าปี่เองยังให้จูล่งอยู่ด้วยแถมถือดาบรอไว้อีกหากเห็นว่าตอบผิดคงโดน เล่าปี่เองไม่ค่อยไว้ใจขงเบ้งเท่าไหร่นัก เสฉวนก็ได้มาเพราะความทุ่มเทของหวดเจงกับบังทอง จ๊กก๊กที่ขงเบ้งบริหารนั้นแตกเป็นสามส่วน ส่วนแรกของเสฉวนเก่า ส่วนสองพวกเล่าปี่ที่ตามาแต่ก่อน ส่วนสามพวกขงเบ้งเองที่ปั้นมาหมายยึดอำนาจ ซึ่งทำให้จ๊กก๊กเองอ่อนแอจากปัญหาภายในอย่างมาก ขนาดขงเบ้งยึดอำนาจได้แล้วเวลาออกรบก็มักมีปัญหาภายในบางเรื่องแค่เรื่องไม่เป็นเรื่องขงเบ้งกลับรีบถอนทัพกลับแสดงว่าปัญหาภายในรุนแรง การดำเนินการสงครามก็พลาดอย่างมากเสฉวนเป็นส่วนที่รุกเข้าตียาก การทหารเสียหายจากสงครามขุนศึกน้อยมากเมื่อเทียบกับส่วนภาคกลางและภาคเหนือเพราะขุนศึกรบกันตลอด แต่ขงเบ้งมักจะขนคนไปตาย นำความเดือดร้อนมาสู่เสฉวนที่เคยสงบ ศึกสร้างชื่อใช้น้อยสู่มากอย่างเซ็กเพ็ก ส่วนใหญ่ก็กองกำลังของง่อก๊กทั้งนั้นการวางแผนก็จิวยี่เป็นหลัก เพราะอย่าลืมว่าความจริงจิวยี่เก่งด้านการรบในน่านนํ้าจริงๆและเลือกที่จะรบเพราะเห็นว่ามีทางชนะ ซุนกวนกับซุนเซ็กคงไม่ได้ให้จิวยี่มาเป็นเพราะจับฉลากได้ และขงเบ้งเองก็เพิ่งลงมาจากเขาไม่เคยทำศึกจริง ไม่มีประสบการณ์ วรรณกรรมส่วนใหญ่มักชอบสรรเสริญขงเบ้งเพราะคนชอบขายได้เยอะเลย"อวย"กันซะเป็นส่วนใหญ่ เรื่องโกหกคนชอบยิ่งฟังบ่อยๆดันคล้ายว่าเป็นเรื่องจริง ส่วนนี้เป็นเพียงมุมมองของผมครับ อาจจะเขียนไม่ดีบ้างต้องขออภัย
ตอบลบถ้าตามเนื้อเรื่องนิยาย 3 ก๊กที่บิดพริ้วไปมาตามกาลเวลา ขงเบ้งก็ดูจะเหนือกว่าครับ แต่ตามเรื่องจริงผมว่า กุยแกกินขาดโดยเฉพาะเรื่องกลยุทธ์ ไม่แพ้บ่อยเรี่ยราดเหมือนขงเบ้ง ดังจะเห็นได้จากหนังสือรวม 10 สุดยอดกุนซือของจีน จะมีชื่อของกุยแกครับ แต่ไม่มีชื่อ ขงเบ้ง แค่นี้ก็น่าจะพอเดาๆได้แล้วว่ามันต่างกันยังไง ^^
ตอบลบผมว่าไม่เป็นธรรมกับกุยแกเลย เพราะกุยแกตายตั้งแต่อายุยังน้อยถ้าเกิดเขาอยู่ต่อไปอาจจะได้แสดงความสามารถออกมามากกว่านี้ เรื่องด้านนำทัพออกศึกเพราะมีโจโฉนำทัพอยู่ตลอดและกุยแกก็ไม่ได้มีอำนาจหรือหน้าที่ในตำแหน่งที่ต้องนำทัพเหมือนขงเบ้ง ขงเบ้งรวมอำนาจทั้งทางพลเรือนทางทหารไว้หมดถึงได้คุมทัพออกรบเองได้เป็นแม่ทัพเองแต่ก็ไม่ปรากฏว่าขงเบ้งต่อสู้เป็น ผมว่าเรื่องนี้อยู่ที่หน้าที่และโอกาสมากกว่า ผมว่าบทความนี้ไม่ยุติธรรมกับกุยแกเลย
ตอบลบกุยแกแค่หมอดู ถุย!!! การคาดคำนวนกับการเดาส่งเดชมันแตกต่างกัน กุยแกออกสืบความเคลื่อนไหวของสกุลอ้วนอยู่ตลอดจึงรู้ว่าเกิดบาดหมางภายในจนทำให้โจโฉยึดภาคเหนือได้ ก็เหมือนกับที่ขงเบ้งสืบว่าเล่าเจียงอ่อนแอบริหารเมืองไม่เป็นจนทำให้เล่าปี่สามารถยึดครองเสฉวนได้
ตอบลบขอบพระคุณมากครับ สำหรับความคิดเห็น รวมทั้งต้องขออภัยหากบทความนี้ทำให้ท่านขุ่นข้องหมองใจมา ณ ที่นี้ด้วยครับ
ลบบทคำ "กุยแกก็แค่หมอดู" อาจะดูแรงไป
ตอบลบแต่เหตุผลที่เชื่อได้ว่าขงเบ้งเหนือกว่ากุยแกคือ ตอนอายุใก้ลเคียงกันการเปิดตัว ขงเบ้งมองสามก๊กทั้งแผ่นดิน(หมากทั้งกระดาน)ด้ายการเสนอ(master plan)แผนยุทธศาสตร์แยกแผ่นดินออกเป็นสามก๊ก แค่นี้ก็พอรายละเอียดยิบย่อยอย่างอื่นไม่ต้องพูดถึงแลัว แต่เด็กไทยสมัยนี้ต้องรอบรู้ทุกอย่างเหมืนขงเบ้งที่จะเอาตัวรอดได้ลำพังความรู้ทางวิชาการไปไม่รอดในยุคนี้มันเป็นเรื่องของศิลปศาสตร์
ขอบพระคุณมากครับสำหรับความคิดเห็น ชื่นชอบและเห็นด้วยอย่างยิ่งกับประโยคท้ายที่ว่า ยุคนี้เป็นเรื่องของศิลปศาสตร์ มันเป็นเช่นนั้นจริง ๆ
ลบ"กุยแกเคยวิเคราะห์ว่าลิโป้จะซุ่มทหารไว้ที่ซอกเขาไทสัน และขอให้โจโฉหยุดทัพไว้ก่อน แล้วแต่งม้าใช้ให้ไปสอดแนมดูก่อน" ที่วิเคราะห์เช่นนี้เพราะลิโป้มีตันก๋งอยู่ด้วยครับ
ตอบลบหมอดูบ้านผมไม่เหนแม่นแบบนี้เลยอะครับ5555
ตอบลบ