หนังสือสามก๊กกับตำราพิชัยสงครามซุนวู มักจะวางคู่กันอยู่บนหิ้งหนังสือในห้องสมุดหรือห้องนั่งเล่นของใครหลาย ๆ คน นอกจากนี้ในหนังสือสามก๊กยังมีการเปรียบเทียบกลยุทธ์กลศึกต่าง ๆ และอ้างอิงถึงตำราพิชัยสงครามซุนวูอยู่หลายต่อหลายครั้ง แต่เชื่อหรือไม่ว่า ในหนังสือสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ไม่มีการเอ่ยอึงชื่อของ “ซุนวู” แม้สักครั้งเดียว
หนังสือสามก๊กกับตำราพิชัยสงครามซุนวู มักจะวางคู่กันอยู่บนหิ้งหนังสือในห้องสมุดหรือห้องนั่งเล่นของใครหลาย ๆ คน นอกจากนี้ในหนังสือสามก๊กยังมีการเปรียบเทียบกลยุทธ์กลศึกต่าง ๆ และอ้างอิงถึงตำราพิชัยสงครามซุนวูอยู่หลายต่อหลายครั้ง แต่เชื่อหรือไม่ว่า ในหนังสือสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ไม่มีการเอ่ยอึงชื่อของ “ซุนวู” แม้สักครั้งเดียว
เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่น่าคิดเป็นอย่างมาก เพราะผมได้ลองเปิดอ่านหนังสือสามก๊กภาษาไทย ของเจ้าพระยาพระคลัง(หน) อยู่หลายรอบ ก็ไม่เจอชื่อของ “ซุนวู” รวมทั้ง “เง่าคี้” สองนักการทหาร ผู้เป็นเจ้าแห่งตำราพิชัยสงคราม แม้แต่ครั้งเดียว ทั้ง ๆ ที่ในหนังสือสามก๊กต้นฉบับจากจีน และสามก๊กภาษาอังกฤษของ บริวิท เทเลอร์ มีการกล่าวถึง ซุนวู และ เง่าคี้อยู่หลายต่อหลายครั้ง ซึ่งเท่าที่พบและใกล้เคียงที่สุดนั้น พบแต่เพียงชื่อของ “ซุนปิน” (หลานของซุนวู แต่บางตำราอ้างว่าเขาคือคน ๆ เดียวกัน) เท่านั้น
“ซุนปิน” หลานของ "ซุนวู" แต่บางตำราอ้างว่าเขาคือคน ๆ เดียวกัน |
เหตุทั้งนี้ แสดงให้เรารู้ว่า ในสมัยที่มีการแปลหนังสือสามก๊กฉบับภาษาไทยนั้น คนไทยยังไม่มีใครรู้จัก ซุนวูและเง่าคี้ เลย ดังนั้นเนื้อความในหนังสือสามก๊กภาษาไทย จึงตัดชื่อของบุคคลทั้งสองท่านนี้ออกไปเสียสิ้น ส่วนการที่มีชื่อของ ซุนปิน นั้นน่าจะมาจากการที่ได้มีการแปลเรื่อง “เลียดก๊ก” ไว้อยู่แล้วพร้อมกันกับการแปลสามก๊ก
เง่าคี้ หรือ อู๋ฉี่ ยอดนักการทหารผู้ไร้ชื่อเสียงเรียงนามในสามก๊กภาษาไทย |
ทั้งนี้ผมได้รวบรวมเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ในหนังสือสามก๊กภาษาไทย ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ตัดชื่อของซุนวู และ เง่าคี้ ออกไป และตอนที่เกี่ยวข้องกับซุนปิน เท่าที่จะพอสังเกตได้ โดยนำมาเปรียบเทียบกับหนังสือสามก๊กภาษาอังกฤษของบริวิท เทเลอร์ เป็นหลัก มีเหตุการณ์ดังต่อไปนี้
- ตอนที่ 1 เริ่มกล่าวถึงซุนเกี๋ยน (ภาษาอังกฤษบทที่ 2) : เมื่อตอนซุนเกี๋ยนออกมาช่วยรบกับโจรโพกผ้าเหลือง หนังสือสามก๊กไทยบอกแค่ว่า “ซุนเกี๋ยน กิริยาเหมือนเสือ หน้าผากใหญ่ยาว เกิด ณ เมือง ต๋องง่อ” แต่ สามก๊กฉบับอื่นจะมีต่อว่าซุนเกี๋ยนสืบเชื้อสายมาจากซุนวู
- ตอนที่ 27 เขาฮิว ที่ปรึกษาอ้วนเสี้ยวหนีไปอยู่กับโจโฉ (ภาษาอังกฤษบทที่ 30) : โจโฉเผาเสบียงอ้วนเสี้ยวที่ตำบลอัวเจ๋า เตียวคับกับโกลำซึ่งขณะนั้นเป็นแม่ทัพฝ่ายอ้วนเสี้ยว จะยกทัพไปช่วยป้องกันเสบียง แต่กัวเต๋าห้ามไว้แล้วว่าให้ยกไปตีค่ายโจโฉแทน โจโฉก็จะต้องถอยทัพกลับไปป้องกันค่าย เสบียงเราก็จะไม่เสีย และยังจะได้ค่ายโจโฉอีกด้วย ดังเช่น “กลยุทธ์ล้อมเว่ยช่วยเจ้า ของซุนปิน” ซึ่งตอนนี้ในสามก๊กภาษาไทยมิได้กล่าวถึงซุนปินและกลยุทธ์ล้อมเว่ยช่วยเจ้าเลย
- ตอนที่ 41 จิวยี่ซ้อนกลให้บังทองมาเข้ากับโจโฉ (ภาษาอังกฤษบทที่ 47) : โจโฉส่งเจียวก้านไปสืบราชการที่เมืองกังตั๋งเป็นครั้งที่สอง จึงถูกจิวยี่ซ้อนกล นำไปคุมขังไว้ที่วัดบนเนินเขา ณ ที่นั้นเจียวก้านได้พบกับบังทองซึ่งกำลังนั่งท่องตำราพิชัยสงครามของซุนวูอยู่ แต่ในสามก๊กภาษาไทยบอกแต่เพียงว่า อ่านหนังสือตำราพิชัยสงครามอันล้ำลึก
- ตอนที่ 41 เช่นเดียวกัน : เมื่อบังทองมาอยู่กับโจโฉ ได้ขึ้นไปตรวจค่ายพร้อมกับโจโฉ ชื่อของซุนบิ๋น (ซุนปิน) ปรากฏเป็นครั้งแรกในสามก๊กภาษาไทย เมื่อบังทองแกล้งชมโจโฉว่า “ตั้งค่ายเป็นเชิงแอบพุ่มไม้ เอาเนินเขาเป็นที่พึ่งทุกค่าย แล้วก็มีประตูเข้าออกตลอดถึงกัน เป็นทีหนีทีไล่ อันขบวนทัพซึ่งตั้งค่ายนี้มั่นคงยิ่งกว่าครั้งซุนบิ๋น ตั้งขบวนทัพอันหาผู้อื่นเสมอมิได้ ถึงมาตรว่าซุนบิ๋นจะกลับมีชีวิตมาทำการสงครามด้วยท่านครั้งนี้ ก็ไม่ชนะท่าน” ในตอนนี้สามก๊กฉบับอื่นกลับบอกว่าเป็น “ซุนวูและเง่าคี้” ไม่ใช่ ซุนปิน แบบสามก๊กภาษาไทย
- ตอนที่ 46 ขงเบ้งคิดซ้อนกลจนจิวยี่เสียใจตาย (ภาษาอังกฤษบทที่ 57) : จิวยี่ออกอุบายจะยกทัพไปตีเสฉวน โดยแกล้งขอผ่านทางเมืองเกงจิ๋ว แล้วจะฆ่าเล่าปี่ชิงเอาเกงจิ๋วแทน แต่ขงเบ้งรู้ทันและป้องกันไว้ จิวยี่แค้นใจจนป่วย เท่านั้นไม่พอ ขงเบ้งส่งจดหมายมาเยาะเย้ย มีใจความสำคัญว่า “ทางที่ท่านจะไปตีเสฉวนนั้นไกลแสนไกล ต่อให้ เง่าคี้ หรือซุนวู กลับชาติมาเกิด ก็ไม่อาจประกันความสำเร็จได้” จิวยี่อ่านจบก็แค้นใจจนตาย ซึ่งในหนังสือสามก๊กภาษาไทย ไม่มีซุนวูเง่าคี้แต่อย่างใด
- ตอนที่ 47 ขงเบ้งไปเซ่นศพจิวยี่ (ภาษาอังกฤษบทที่ 57) : ซุนกวนตั้งโลซก แทนจิวยี่ แต่โลซก อยากให้ตั้งบังทองแทน โดยแนะนำว่า “มีบุคคลผู้หนึ่ง มีสติปัญญาประดุจดัง ขวัญต๋ง และงักเย ทั้งยังเชี่ยวชาญกลศึกดุจดัง ซุนวู และเง่าคี้ คนผู้นี้ จิวยี่เองยังให้การยอมรับ ขงเบ้งยังให้การนับถือ” ความตอนนี้สามก๊กไทย บอกแต่เพียงว่า “เป็นคนมีสติปัญญามาก เรียนความรู้ครูเดียวกันกับขงเบ้ง รู้ฤกษ์บนแลการแผ่นดิน...”
- ตอนที่ 49 เล่าเจี้ยงให้เตียวสงไปเจรจาการเมืองกับโจโฉ (ภาษาอังกฤษบทที่ 60) : เตียวสงปรามาสโจโฉต่อเอียวสิ้วว่า “โจโฉนั้นห่างไกลจากคำสอนของขงจื้อ เม่งจื้อ กลศึกก็ห่างชั้นจากซุนวู เง่าคี้” จากนั้น เอียวสิ้วเอาตำราพิชัยสงคราม “บังเต๊ก” ที่โจโฉแต่งขึ้นใหม่โดยปรับปรุงมาจากตำราพิชัยสงครามซุนวู ให้เตียวสงดู เตียวสงจึงว่าโจโฉลอกตำราโบราณมา ไม่ได้แต่งเอง หนังสือเล่มนี้เด็ก ๆ ในเมืองเสฉวนมีไว้อ่านเล่น เป็นของคนโบราณในสมัยเลียดก๊กแต่งไว้ ซึ่งในหนังสือสามก๊กไทย ไม่มีการกล่าวถึง ซุนวู เง่าคี้ เลย
- ตอนที่ 65 ลกซุนตีทัพพระเจ้าเล่าปี่แตกยับเยิน (ภาษาอังกฤษบทที่ 84) : เล่าปี่ให้งอปั้นตั้งค่ายลวง แต่ลกซุนไม่ยอมออกรบเพราะรู้ทันกลอุบายของเล่าปี่ นายทหารในทัพอย่างฮันต๋ง จิวท่าย ซีเซ่ง เตงฮอง ไม่พอใจ ลกซุนจึงสั่งสอนว่า “ท่านเหล่านี้จะทำการสิ่งใดล้วนจะหักเอาด้วยกำลังแรง ไม่ทำโดยความคิดเลย พิชัยสงครามซุนวู เง่าคี้ก็แจ้งไว้ ทัพเขามาวางไว้กองนี้คือเขาลวงเรา ท่านหากไม่รู้เมื่อไรพ้นสามวันแล้วจึงจะรู้ความคิดเรา” ในสามก๊กไทย ตัดประโยค “พิชัยสงครามซุนวูเง่าคี้ก็แจ้งไว้” ออกไป
- ตอนที่ 72 พระเจ้าโจยอยกลับตั้งสุมาอี้เป็นนายทัพ (ภาษาอังกฤษบทที่ 94) : “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” คำคมประจำตัวของซุนวูปรากฏเป็นครั้งแรกในสามก๊กตอนนี้ เมื่อครั้งที่โจจิ๋น เสียค่ายแก่ขงเบ้ง ฝ่ายวุยก๊กระส่ะระสาย จงฮิวจึงทูลเสนอแก่พระเจ้าโจยอยว่า “ผู้เป็นนายทัพนายกองทั้งปวงให้รู้จักทีเสียทีได้ เอาใจบำรุงทแกล้วทหารทั้งปวง ปรมาจารย์ซุนวูได้สรุปไว้ว่า รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง โจจิ๋นชำนาญการศึกก็จริง แต่มิอาจเป็นคู่มือกับขงเบ้ง ข้าพเจ้าเห็นทหารคนหนึ่งมีฝีมือเข้มข้น ขอให้พระองค์เรียกตัวมารบกับขงเบ้ง หากปราชัยกลับมาข้าพเจ้ายอมประกันถวายศีรษะเสียทั้งโคตร...” แล้วจงฮิวก็แนะนำให้เรียกตัวสุมาอี้กลับมาเป็นนายทัพเพื่อรับมือกับขงเบ้ง
- ตอนที่ 72 สุมาอี้ยกกองทัพไปรบกับขงเบ้ง (ภาษาอังกฤษบทที่ 94) : สุมาอี้ปราบกบฏเบ้งตัดเสียบหัวประจานที่ทางสามแพร่ง พระเจ้าโจยอยจึงชมสุมาอี้ว่า มีสติปัญญาล้ำลึกยิ่งกว่าเง่าคี้ และซุนวูเสียอีก แล้วทรงประทานเครื่องยศสำหรับกษัตริย์ให้สุมาอี้เป็นอันมาก
- ตอนที่ 72 ม้าเจ๊กเตรียมการด้วยความประมาท (ภาษาอังกฤษบทที่ 95) : ม้าเจ๊กตั้งค่ายบนเขา ที่เกเต๋ง อองเป๋งเตือนว่าถ้าข้าศึกปิดล้อม ทหารของเราก็จะอดน้ำและอาหาร แต่ม้าเจ๊กไม่ฟัง ซ้ำยังยกเอาตำราพิชัยสงครามซุนวูมาข่มว่า “ ซุนวูกล่าวว่า ชัยชนะตั้งอยู่ในความสิ้นหวัง แม้ข้าศึกปิดล้อมเราไว้ให้อดน้ำก็เหมือนทำโทษตัวเอง หากทหารเราอดน้ำ ก็จะฮึดสู้ หนึ่งคนจะสู้ได้ตั้งร้อยคน เราก็จะหักออกไปได้โดยง่าย ตัวเราเรียนรู้ในกลสงคราม ทำการศึกมาหลายครั้ง มหาอุปราชก็ได้ปรึกษาหารืออยู่เนือง ๆ แล้วท่านเป็นใคร ใยจึงมาขัดเรา”
- ตอนที่ 73 ขงเบ้งลงโทษม้าเจ๊ก (ภาษาอังกฤษบทที่ 96) : ขงเบ้งสั่งประหารม้าเจ๊ก แต่เจียวอ้วนมาห้ามไว้ ขงเบ้งจึงว่า “ซุนวูกล่าวไว้ว่ารัฐจะดำรงอยู่ได้ด้วยกฎหมายอันเข้มงวด เวลานี้บ้านเมืองระส่ำระสาย หากไม่รักษากฎหมาย บ้านเมืองก็จะยิ่งวุ่นวาย” ในสามก๊กไทยบอกแค่ว่า “แม้จะละโทษม้าเจ๊กเสียทหารทั้งปวงก็จะเอาเยี่ยงอย่าง
- ตอนที่ 74 ขงเบ้งยกกองทัพไปตีวุยก๊กครั้งที่สอง (ภาษาอังกฤษบทที่ 97) : ในตอนนี้เป็นตอนสำคัญตอนหนึ่งที่หายไปจากหนังสือภาษาไทย เพราะเป็น “ฎีกาออกศึกของขงเบ้ง ครั้งที่สอง” ที่ในสามก๊กภาษาไทยเขียนไว้สั้นจนแทบไม่รู้เรื่อง แต่ในสามก๊กฉบับภาษาอังกฤษ ฎีกาฉบับนี้ยาวมากกว่าฎีกาออกศึกในครั้งแรกเสียด้วยซ้ำ (หากมีเวลาอาจจะมาชำระกันเสียใหม่ให้กระจ่าง) ซึ่งในฎีกาออกศึกของขงเบ้งครั้งนี้มีใจความตอนหนึ่งกล่าวยกย่องโจโฉไว้ว่า “โจโฉเป็นผู้นำที่โดดเด่นกว่าคนทั้งปวง เขาบัญชาการทัพได้เข้มแข็งดุจดังซุนวูและเง่าคี้”
- ตอนที่ 76 ขงเบ้งทำกลอุบายมิให้สุมาอี้ติดตาม (ภาษาอังกฤษบทที่ 100) : คราวนี้ทั้งสามก๊กภาษาไทยและอังกฤษกล่าวตรงกันในเรื่องซุนปิน กล่าวคือเมื่อพระเจ้าเล่าเสี้ยนเกดระแวงขงเบ้งและเรียกตัวกลับด่วน ขงเบ้งจึงวางอุบายไม่ให้สุมาอี้ติดตามโดยถ้าพักที่ใดให้เพิ่มเตาไฟขึ้นให้มาทุกวันไป เอียวหงีสงสัยจึงถามว่า “ครั้งซุนปินทำศึกกับบังก๋วนนั้นซ่อนเตาไฟเสียจึงอาชัยชนะได้ เหตุไฉนครั้งนี้มหาอุปราชจะเพิ่มเตาไฟเข้าอีกเล่า” ขงเบ้งจึงอธิบายว่า ครั้งนั้นซุนปินจะลวงว่ามีคนน้อย แต่ครั้งนี้เราจะลวงสุมาอี้ให้เข้าใจว่าเรามีทหารมาก และเลิกติดตาม
- ตอนที่ 77 กองทัพจูกัดกิ๋นเลิกกลับไปเมืองกังตั๋ง (ภาษาอังกฤษบทที่ 103) : พระเจ้าโจยอย กษัตริย์หนุ่มที่ทรงนำทัพออกรบด้วยพระองค์เอง มาตั้งยันกองทัพเมืองกังตั๋งที่หับป๋า ทรงตีทัพจูกัดกิ๋นที่เมืองกังแฮแตก ทำให้กองทัพเมืองกังตั๋งต้องล่าถอยไป แต่ก็ไม่กล้ายกติดตามเนื่องจากเกรงอุบายลกซุน และกล่าวว่า “ลกซุนผู้นี้มีสติปัญญาทัดเทียมกับซุนวูและเง่าคี้ เวลานี้ยังไม่เหมาะสมที่จะยกทัพไปปราบปรามแดนกังตั๋ง”
- ตอนที่ 78 ขงเบ้งตาย (ภาษาอังกฤษบทที่ 104) : ในหนังสือสามก๊กภาษาไทยไม่มีบทกวีที่สอดแทรกในเนื้อเรื่อง เหมือนสามก๊กฉบับอื่น ความในตอนที่ขงเบ้งตาย จึงไม่มีบทกวี ที่กล่าวยกย่องขงเบ้งว่า “การเมืองเหนือกว่าขวันต๋ง,งักเย การทหารก็ล้ำหน้าเง่าคี้,ซุนวู”
- ตอนที่ 78 เกียงอุยกับแฮหัวป๋าอาสาไปตีเมืองวุยก๊กแต่ไม่สำเร็จ (ภาษาอังกฤษบทที่ 107) : เกียงอุยอาสาพระเจ้าเล่าเสี้ยนจะยกทัพไปตีวุยก๊ก แต่บิฮุยได้ห้ามปรามว่า “ท่านยังจำคำของอาจารย์ซุนวู ได้อยู่หรือไม่ รู้เขารู้เรารบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง ท่านมหาอุปราชซึ่งเป็นคนดีมีสติปัญญายังมีชีวิตอยู่ก็หาอาจไปทำไม่” แต่เกียงอุยไม่ยอมฟังสุดท้ายจึงต้องปราชัยกลับมา
ปล. ซุนวูไม่ได้ไปไหนไกล อยู่ในมือ ปารีส ฮิลตัน ในรูปภาพแรกนั่นแหละครับ
สารคดี The Art of War Sun Tsu Full Documentary. (Educational)
เพลง ซุนจื่อปิงฝ่า 陶喆 - 孫子兵法 ; The Art Of War by David Tao
กรุณาแสดงความคิดเห็น